เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 4 : จากเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์สู่การสัมผัสสถานที่จริง

เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 4 : จากเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์สู่การสัมผัสสถานที่จริง

โดย : อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีบทความอ่านเอาสบายอีกเพียบ อย่างซีรี่ย์สารคดีท่องเที่ยวศรีลังกาจากมุมมองของตุ๊กตาบันนี่กระต่ายน้อยชุดนี้ โดย อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์ ให้ได้ อ่านออนไลน์กันเพลินๆ 

——————————————————

 

พวกเราใช้เวลากับพิพิธภัณฑ์ไม่นาน ก็รีบมุ่งหน้าสู่อุทยานประวัติศาสตร์โปลอนนารูว่าซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ความรู้สึกแรกเมื่อผมไปถึงที่นั่นเหมือนกับความรู้สึกเมื่อครั้งไปเยือนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ซึ่งอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย นั่นก็คือความประทับใจและหดหู่ เพราะที่โปลอนนารูว่าในปัจจุบัน เหลือแค่เพียงซากปรักหักพังให้พวกเราดูต่างหน้าเท่านั้น

ลุงมหินทร์พาเราเดินไปดูพระราชวังหลวง (Royal Palace) เป็นอันดับแรก กระต่ายน้อยอย่างผมเดินชมไปพลางคิดว่าผู้คนสมัยโบราณเขาช่างมานะอุตสาหะเหลือเกิน เพราะในสมัยนั้น เทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างคงไม่ได้มีให้เลือกมากมายนัก น่าจะมีเพียงแค่ไม้และหินเท่านั้น และแม้ส่วนที่เป็นไม้อาจสูญหายมลายไปตามกาลเวลาแล้วก็ตาม แต่ส่วนก่อสร้างที่เป็นหินต่างๆ ก็ยังคงแข็งแกร่ง ยังเหลือเค้าโครงร่างที่ผมเดาเอาว่ามันคงจะสวยงามไม่น้อย เมื่อในสมัย 1,000 กว่าปีก่อนแหงๆ

นอกเหนือจากฐานของพระราชวังแล้ว ที่นี่ยังมีสิ่งก่อสร้างน้อยใหญ่ที่เหลือให้พวกเราชมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสระสรงที่เชื้อพระวงศ์ในสมัยนั้นใช้ในการอาบน้ำ หรือว่าจะเป็นบ่อน้ำที่มีการแยกระบบบ่อน้ำดี และบ่อน้ำเสียออกจากกัน คล้ายๆ กับเป็นระบบชลประทานขนาดย่อมนั่นละฮะ และยังมีท้องพระโรง ที่พระมหากษัตริย์ใช้สำหรับว่าราชการอีกด้วย

ถัดจากกลุ่มสิ่งก่อสร้างวังหลวงแล้ว พวกเราก็นั่งรถต่อไปยังส่วนที่เป็นศาสนสถาน จริงๆ เราจะเดินไปต่อก็ได้นะฮะ แต่ผมนี่ละที่เป็นคนโอดครวญและหว่านล้อมพวกพี่ๆ ว่า “แดดก็ร้อน ฝุ่นก็เยอะ ไกลก็ไกล นี่ยังไม่ทันไรก็ใกล้จะหมดแรงแล้วนะฮะ นั่งรถไปเถอะ นะ นะ นะ”

หลังจากนั่งรถมาเพียง เอ่อ… ไม่ถึงนาที ลุงมหินทร์ก็พาพวกเรามาจอดที่ศิวะเทวาลัย ศาสนสถานของฮินดู ผมเห็นมีศิวลึงค์และโยนีประดิษฐานอยู่ภายในด้วย แต่ถึงแม้ศาสนสถานที่ว่านี้จะดูใหญ่โตเพียงไร แต่ผมว่ายังไม่ยิ่งใหญ่อลังการเท่ากับศาสนสถานอีกแห่งที่ตั้งอยู่ข้างๆ ซึ่งดูแล้วท่าทางน่าจะเป็นโบสถ์หรือวิหารของชาวพุทธมากกว่า

“ศาสนสถานแห่งนี้ พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นให้กับพระมเหสีชาวอินเดียซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ส่วนอีกหลังซึ่งตั้งอยู่ถัดไป เราจะเห็นว่าใหญ่กว่าและสวยงามกว่า เพราะว่าเป็นศาสนสถานของชาวพุทธ เห็นหรือยังว่าศาสนาพุทธของที่นี่รุ่งเรืองมากมายกว่าศาสนาอื่นๆ” พี่โอ๊ตบอกให้พี่กรู๊ฟฟัง โดยมีผมที่พยายามเงี่ยหู และพยักหน้าหงึกๆ อยู่ใกล้ๆ

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งของที่นี่ ผมหมายความถึงของที่ศรีลังกาทั้งหมดนะฮะ ไม่ใช่แค่โปลอนนารูว่า ก็คือ เวลาที่จะเข้าวัดหรือเข้าไปยังศาสนสถานใดๆ ก็ตาม ทุกคนจะถอดรองเท้าและถอดหมวกออก นอกจากนั้นยังจะต้องสวมกางเกงขายาวหรือกระโปรงยาวเท่านั้น และเวลาถ่ายรูป ที่นี่จะมีข้อห้ามไม่ให้หันหลังให้กับองค์พระ เพราะถือว่าการกระทำเช่นนั้นไม่สุภาพ ซึ่งผมว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีมากและเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทุกคนควรจะยึดถือปฏิบัติ ส่วนใครที่กำลังสงสัยว่ากระต่ายน้อยอย่างผมนั้นนับถือศาสนาพุทธกับเขาด้วยหรือ ผมบอกให้ก็ได้ ว่าถ้าพี่กรู๊ฟนับถือศาสนาอะไร ผมก็นับถือด้วยตามนั้นด้วยนั่นละฮะ เลิกสงสัยได้แล้วล่ะ

แต่ถึงจะเห็นด้วยกับการถอดรองเท้ามากมายเพียงไรก็ตาม กระต่ายน้อยอย่างผมก็รู้สึกปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณอุ้งเท้าน้อยๆ ทุกที ที่ต้องขึ้นไปยืนอยู่บนพื้นที่ทำจากหิน ซึ่งตั้งอยู่กลางแสงแดดที่แผดจ้าอยู่ดี

“ร้อนๆๆๆ รีบถ่ายรูปแล้วรีบไปกันเถอะ ผมร้อนจนจะกลายเป็นกระต่ายย่างแล้วนะเนี่ย” ผมโวยวายเสียงดังจนพี่กรู๊ฟต้องหันมาทำตาเขียวใส่ เป็นทำนองห้ามปรามไม่ให้ผมส่งเสียงดังในศาสนสถานอย่างนี้ ก็แหม มันร้อนนี่ฮะ แต่กระนั้นกระต่ายน้อยอย่างผมก็ยอมหุบปากอย่างว่าง่ายในที่สุด “เพราะบันนี่เป็นกระต่ายน้อยแสนดี” ผมได้แต่ท่องแบบนี้อยู่ในใจซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้ลืมความร้อนที่แผดเผาอยู่ตรงอุ้งเท้าทั้งสี่ข้าง

ถัดจากศาสนสถานทั้ง 2 หลังแล้ว ที่มองเห็นไม่ไกลก็คือวิหารทรงกลมที่ชื่อว่า ‘วัตตะดา-เก’ (Vatadage) ซึ่งเป็นวิหารขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน 4 องค์ ซึ่งหันหน้าไปทาง 4 ทิศ โดยที่พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์นี้จะครองจีวรแบบไม่มีริ้ว ส่วนพระเกศาหรือเส้นผมก็ไม่ขมวดเป็นวงกลม นอกจากนั้นตรงบริเวณทางขึ้นวิหารยังมีรูปสลักของทวารบาล ที่คาดว่าเป็นรูปของมนุษย์กึ่งนาค เพราะเป็นรูปผู้ชายที่มีหัวของนาคแผ่อยู่ด้านหลัง โดยที่มือของทวารบาลนั้นถือคนโทน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์เอาไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่าโปลอนนารูว่า ในยุคนั้นเจริญรุ่งเรืองมากมายจริงๆ

ตรงข้ามกับวัตตะดา-เก ยังมีวิหารอีกหลังหนึ่งซึ่งชื่อว่า ‘อาตะดา-เก’ (Atadage) ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุเขี้ยวแก้วหรือพระทันตธาตุ (ฟัน) ของพระพุทธเจ้า นับว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่หลงเหลืออยู่ ที่ใกล้ชิดกับองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงชิ้นเดียว ซึ่งศรีลังกาครอบครองอยู่ ดังนั้นบางครั้ง อาตะดา-เก จึงถูกเรียกว่า ‘วิหารพระเขี้ยวแก้ว’ ด้วย

หลังจากดื่มด่ำกับความสวยงามของศาสนสถานนับสิบแห่งที่เรียงรายอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ก็ถึงเวลาต้องโบกมืออำลาเหล่าวิหารต่างๆ เพื่อมุ่งหน้าไปสู่สถานที่ถัดไปเสียที

ถึงตรงนี้กระต่ายน้อยอย่างผมก็แอบยิ้มในใจ เพราะไม่ต้องทนร้อนอีก จะได้ขึ้นไปนั่งตากแอร์เย็นฉ่ำบนรถของคุณลุงมหินทร์อีกที แต่ลุงมหินทร์ขับรถต่อไปได้ไม่ถึงนาที ก็ถึงจุดหมายต่อไปเสียแล้ว อะไรกัน… ผมยังไม่หายเหนื่อยเลยนะ ไม่ดงไม่ดูอะไรแล้ว ไม่ไหวแล้วนะฮะ หัวเด็ดตีนขาดยังไงผมก็ขอเลือกนอนตากแอร์อยู่ในรถต่อไปดีกว่า

แต่ความมหัศจรรย์ของสิ่งก่อสร้างซึ่งอยู่ตรงหน้า ก็ทำให้ผมต้องถอนคำพูด เพราะ ‘Demala Maha Seya’ คือสถูปหรือเจดีย์ขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านท้าทายสายตาของผมอยู่ในเวลานั้น

Demala Maha Seya ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1153-1186 โดยใช้แรงงานของทาสชาวทมิฬ ซึ่งพระเจ้าปรกรมพาหุ (Parakramabahu) ได้สู้รบกับชาวอินเดียตอนใต้และจับพวกเขามาเป็นตัวประกัน และด้วยเหตุผลที่ไม่ปรากฏแน่ชัดนัก ได้บันทึกเอาไว้ว่าพระสถูปแห่งนี้ก่อสร้างไม่สำเร็จ แต่ถึงกระนั้นก็ตามที ด้วยความสูง 186 เมตร และเส้นรอบวงขนาด 650 เมตรโดยประมาณ ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าปรกรมพาหุต้องการสร้างให้สถูปทรงระฆังคว่ำแห่งนี้ เป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดและสามารถมองเห็นได้จากทางตอนใต้ของอินเดีย ก็ทำให้กระต่ายน้อยอย่างผมและพี่กรู๊ฟต้องร้อง “ว้าว” ออกมาพร้อมๆ กัน แต่ที่หลังจาก “ว้าว” ได้ไม่นาน พวกเราก็ต้องกลับมาร้อง “โอ๊ย” อีกหลายสิบครั้ง เมื่อต้องถอดรองเท้าเพื่อเข้าไปเดินรอบสถูปแห่งนี้ ซึ่งตลอดทางนั้นเต็มไปด้วยก้อนหินและเม็ดทรายอันร้อนระอุ

หลังจากทรมานเพื่อแลกกับความอยากรู้อยากเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเราจึงมุ่งหน้าไปสู่สถานที่ต่อไปก็คือ กัลวิหาร (Gal-Vihara)

กัลวิหารอยู่นอกเมืองโปโลนนารูว่าไปทางทิศเหนือ ในบริเวณที่เรียกว่า อุตตราราม หรือพระอารามเหนือ สร้างโดยพระเจ้าปรกรมพาหุที่ 1 เป็นสถานที่ที่มีพระพุทธรูปแกะสลักจากภูเขาหินก้อนเดียวกัน ขนาดใหญ่จำนวน 4 องค์ ซึ่งอยู่ในอิริยาบถที่แตกต่างกันออกไป

องค์แรกทางซ้ายมือ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ส่วนถัดไปนั้นเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเช่นกัน แต่มีขนาดเล็กกว่าองค์แรกและสลักเอาไว้ในถ้ำที่ขุดเจาะเข้าไปในภูเขา พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์ซึ่งมีเทวดาขนาบอยู่เคียงข้าง และถ้าใครสังเกตให้ดีก็จะเห็นภาพเขียนเฟรสโก้ที่เขียนเอาไว้อยู่ภายในบริเวณริมสองฝั่งของผนังถ้ำอีกด้วย

ส่วนองค์ที่สามเป็นพระพุทธรูปปางรำพึงซึ่งมีความสูงกว่า 7 เมตร และองค์สุดท้ายเป็นพระพุทธขนาดใหญ่ที่มีความยาวถึง 14 เมตร ซึ่งยังคงถูกถกเถียงอยู่ทุกวันนี้ว่าเป็นปางอะไรกันแน่ ระหว่างปางปรินิพพาน กับปางไสยาสน์

คุณลุงมหินทร์บอกให้เราลองสังเกตดูให้ดี เราจะเห็นว่าอิริยาบถของพระพุทธรูปนั้นคล้ายกับว่าพระองค์กำลังบรรทมอยู่ เพราะปลายเท้าไม่เสมอกัน ตรงส่วนแขนนั้นก็ลู่ลงลีบไปกับลำตัวเหมือนกับพระองค์กำลังบรรทมอย่างสบาย

แต่ที่น่าแปลกและขัดแย้งกันก็คือตรงบริเวณหมอน มีการแกะสลักรูปของพญามารที่กำลังหัวเราะอย่างมีความสุข ประหนึ่งว่าพญามารกำลังดีใจให้กับการปรินิพานขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผมมองๆ ดูแล้ว ก็เห็นด้วยกับทั้งสองความคิดเห็น แต่ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาว่าเป็นปางอะไร ผมก็ยังคงรู้สึกว่า กัลวิหารแห่งนี้ นั้นช่างน่ามหัศจรรย์จนอยากจะร้อง “ว้าว” ให้อีกเป็นพันๆ ครั้งเลยละฮะ

และสถานที่สุดท้ายสำหรับโปลอนนารูว่า ก็คือ ‘วิหารติวังกา’ (Thivanka Image House) ซึ่งชื่อดังกล่าวนั้นมีความหมายถึงความงดงามอ่อนช้อยของท่วงท่า ที่มีส่วนโค้งและส่วนเว้า 3 ส่วนของพระพุทธรูป นั่นก็คือส่วนเข่า ส่วนเอว และส่วนไหล่ ภายในวิหารติวังกานั้นยังมีภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น ซึ่งอาจจะมองยากหน่อย แต่ก็พอมองเห็นได้อยู่บ้าง น่าเสียดายในวันที่พวกผมไป ทางเจ้าหน้าที่กำลังทำการบูรณะวิหารแห่งนี้อยู่ จึงมีนั่งร้านเหล็กอยู่เต็มไปหมด ซึ่งบดบังความสวยงามของที่นี่ไปมากพอดูเลยละฮะ

จริงๆ แล้วที่โปลอนนารูว่านั้นยังมีสิ่งก่อสร้างและโบราณสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง แต่ดูท่าแล้วทั้งคุณลุงมหินทร์และพวกเราทุกคนคงจะหมดแรงโรตีที่กินมาเมื่อเช้าเสียแล้ว จึงตัดสินใจออกจากโปโลนนารูว่า เพื่อมุ่งหน้าไปยังจุดหมายต่อไปที่ชื่อว่า ‘ดัมบุลล่า’ (Dambula) ที่ต้องใช้เวลานั่งรถอีกนานพอสมควรเลยล่ะ

 

ทิปการเดินทางจากกระต่ายน้อย 🙂

  1. พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นดี ที่เหมาะสำหรับการ pre-introduction แต่อย่าใช้เวลาอยู่ในนั้นมากนัก ถ้าหากว่ามีของจริงให้เราดูอยู่ไม่ไกล
  2. โปรดอย่าลืมว่าเวลาถ่ายรูปคู่กับพระพุทธรูปที่ศรีลังกา ห้ามยืนหันหลังให้กับองค์พระ เพราะถือว่าไม่สุภาพ และในบางวัดอาจไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในวิหาร ดังนั้น โปรดถามเจ้าของสถานที่เสียก่อน ถ้าหากไม่แน่ใจ

 

อ่านตอนต่อไป  –

Don`t copy text!