ตรอกบ้านจีน ชุมชนโบราณ @ ตาก (1)

ตรอกบ้านจีน ชุมชนโบราณ @ ตาก (1)

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ลมหนาวเย็นพัดมาปลายธันวาคม พ.ศ. 2562 จังหวะเหมาะพอดีกับที่พาเพื่อนๆ วิศวะ จุฬาฯ 2517 ไปร่วมงานการกุศลวิ่งพิชิตสันเขื่อนภูมิพล 13 กม. พร้อมมอบเงินสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ แก่โรงพยาบาลสามเงา จ.ตาก และมอบผ้าอ้อมผู้ป่วยติดเตียงกับเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ยากไร้ในชนบท จ.ตาก ให้กับมูลนิธิยันฮี ที่พวกเรามอบให้ต่อเนื่องกันมา 3 ปีแล้ว บ่ายวันอาทิตย์มีโอกาสเข้าเมืองตากแวะไปเที่ยวตรอกบ้านจีน เพื่อนๆและครอบครัวชอบและประทับใจกันมาก หลายคนไม่รู้ว่ามีชุมชนโบราณที่ยังมีสภาพสมบูรณ์และสวยงามที่ จ.ตาก

พรรคพวกค้นข้อมูลแล้วเคยขับรถหลงเข้าไป หวังจะเจออย่างตลาดสามชุก ตลาดโบราณบ้านสวน ตลาดท่านาและเเห่งอื่นๆ ไม่ได้เจออะไร ตรอกเงียบเหงา บ้านก็ปิดหมด ไม่มีร้านค้าและไม่มีคนเดินเที่ยวคึกคักอย่างที่เห็นในเพจโซเชียลฯ ฟาล์ว กินแห้วกันไปหลายกลุ่มหลายครอบครัว แต่ก็ยังชื่นชอบบรรยากาศกับงานสถาปัตยกรรม แม้เพียงแค่เดินชมภายนอกเท่านั้น

โดนเพื่อนๆ ทวงให้เล่าเรื่องชุมชนตรอกบ้านจีน ให้รู้จักกันหน่อย…

ตรอกบ้านจีนนี้อยู่ไม่ไกลจากบ้าน (ในอดีต) ของผมเลย วันนี้ยินดีจะพาไปทำความรู้จักชุมชนโบราณแห่งนี้ ที่นี่ไม่ใช่เมืองโบราณจำลอง แต่เป็นของจริง อาคารทุกหลังพื้นที่ตรอกซอกซอยทุกตารางนิ้ว ปลูกสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 100 ปี…

“ตรอกบ้านจีน” ที่เรียกว่าตรอก เพราะทางเข้าเล็กมาก รถยนต์สวนกันไม่ได้ เพราะเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ถนนคงมีเพียงคนเดินเท่านั้น ด้านข้างมีแม่น้ำปิงไหลผ่านติดชิดหลังบ้าน เลยกลายเป็นเส้นทางเดินเรือ เป็นย่านการค้าที่มีคนจีนมาตั้งรกรากและเจริญรุ่งเรืองสุดๆ บ้านเรือนในชุมชนมีลักษณะเด่นแตกต่างจากที่อื่น ทั้งศิลปะสมัยสุโขทัย อยุธยา และคลาสสิกสไตล์ยุโรป สมัยรัชกาลที่ 5 เทศบาลและจังหวัดไม่ได้แก้ไขตกแต่งอะไรเพิ่มเติม ทุกสิ่งยังเป็นสภาพเก่าแก่เหมือนเดิม สนใจไปเที่ยวเมืองตากบ้านผม ก็ตามมาเลยครับ

ปี พ.ศ. 2553 ต้องกลับไปทำงานที่จังหวัดตากทุกสัปดาห์ และเป็นเวลาเดียวกับที่มีการฟื้นฟูตรอกบ้านจีนให้กลับมามีชีวิตชีวาเป็นถนนคนเดิน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วันนั้นเดินจากต้นตรอกไปจนถึงท้ายซอย เห็นสภาพทั่วไปๆ ก็ดูดีและถูกใจนักท่องเที่ยวต่างถิ่น รวมทั้งคนตากเอง ไปเที่ยวกันอย่างคึกคัก มีบ้าน 5-6 หลัง เปิดประตูต้อนรับแขกอนุญาตให้เข้าไปชมภายในบ้าน ดูเครื่องเรือน รูปภาพ ของใช้ และเล่าถึงประวัติของบ้าน ตระกูลของเจ้าบ้าน ส่วนอีก 30-40 หลังเจ้าของไม่อยู่ที่บ้านนี้แล้วและปิดตายถาวร

การเดินชมภายนอก หน้าบ้านทั้งสองฟากของตรอก ถือว่าเป็นการเดินย้อนยุคไปสู่อดีตกาลผ่านบรรยากาศที่ยากจะพบเห็นได้ในปัจจุบันนี้ มีหนุ่มสาวๆ มาเปิดร้านขายของที่ระลึก เสื้อผ้า อาหาร ขนม หน้าบ้าน ริมตรอกและที่ว่าง ผ่านไปไม่ถึง 2 ปี ทราบข่าวว่าถนนคนเดินตรอกบ้านจีนเลิก บางคนบอกว่าไม่ประสบผลสำเร็จ น่าเสียดายมาก ไม่รู้สาเหตุของความล้มเหลว ว่าขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้คนมาเที่ยวกันน้อยลง หรือไปกระทบความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยทั้งในตรอกและพื้นที่ใกล้เคียง ชุมชนจึงไม่ให้ความร่วมมือ หรือมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากราชการ… ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครบอก… มารู้จัก ‘ตรอกบ้านจีน’ กันดีกว่า

จากแหล่งที่อยู่อาศัยและค้าขายของคนจีนที่รุ่งเรืองในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราวๆ ประมาณ พ.ศ. 2400 มาจนถึง พ.ศ. 2479 (นับยุคสมัยก็เริ่มจากปลาย ร.4 เป็นต้นมา) อยู่ไม่ไกลจากบ้านของผมที่อยู่ ถัดไปทางเหนือ คือ ต.หนองหลวง เป็นคนละตำบล กับที่นี่ ต.ระแหง อ.เมือง อยู่ด้านทิศใต้ของที่ทำการศาลากลางจังหวัด ห่างไม่ถึง 100 เมตร ถ้าให้เห็นภาพของ อ.เมืองตาก ที่ตั้งของตรอกบ้านจีนอยู่ด้านใต้ ขึ้นไปทางเหนือคือตำบลหนองหลวง เป็นย่านตลาดสด ที่ทำการธนาคาร ร้านค้า บ้านเกิดผมเป็นห้องแถวอยู่เหนือตลาดสด ไป 300-400 เมตร ซึ่งในปัจจุบันตลาดสดกลายเป็นตลาดใน (เรียกกันว่าตลาดคุณนาย) ขายแต่อาหารปรุงสำเร็จ สด ขนม และเหลือร้านค้าไม่มากเพราะเทศบาลเมืองตากปลูกสร้างตั้งตลาดใหม่ (ช่วงปี พ.ศ. 2512-2514 ) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ที่ดูดทรายขึ้นมาถมลำแม่น้ำปิง กลายเป็นที่ดินใหม่ของกรมธนารักษ์ ขยายพื้นที่เขตเมืองชั้นใน จัดคิวรถโดยสารจากต่างอำเภอรอบนอก และสร้างตึกแถวให้เซ้งเช่า ทำเอาถนนตากสินสายหลักเดิม (ที่เลียบหน้าอาคารพาณิชย์ริมแม่น้ำปิง) เงียบเหงาไปใน 10-15 ปีต่อมา แม้ยังเป็นที่ตั้งของธนาคารพาณิชย์ บริษัทห้างสรรพสินค้าเก่า ร้านค้าส่ง ค้าปลีกเดิม โรงหนังก็ตาม

ในวัยเด็กจาก พ.ศ. 2499-2509 จำความได้ว่าไม่เคยแวะเวียนผ่านไปตรอกบ้านจีนเลย เพราะไม่มีญาติพี่น้องอาศัย ไม่ใช่ย่านการค้าหลักของจังหวัด มีแต่บ้านเรือนไม้เก่า คนพักอยู่อาศัยลดน้อยลงๆ เนื่องจากลูกๆ หลานๆย้ายออกไปเรียนหนังสือ ไปทำงานที่กรุงเทพหรือจังหวัดอื่นๆ ทำให้ตรอกบ้านจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ยาวเลียบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงเกือบ 200 เมตร ขนานกับถนนตากสิน ถนนสายหลักภายในตัวเมือง มีถนนแคบๆ ผ่ากลางชุมชน กว้างประมาณ 2.5 เมตร อาคารส่วนมากเป็นเรือนไม้สักชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องแป้นเกล็ดดินเผา สีส้มและกระเบื้องว่าว ฝาบ้านกรุไม้สัก พื้นปูด้วยไม้เนื้อแข็ง บานประตูเป็นบานเฟี้ยม ผนังทุกหลังมักปิดทึบไม่มีหน้าต่างบานกระจก มองแล้วประเมินในใจว่าอายุเกิน 100 ปีแน่นอน  มีเพียงไม่กี่หลังเป็นบ้าน 2 ชั้น เข้าใจว่าคงมาต่อเติมภายหลัง งานไม้ดูมีฝีมือละเอียด ละเมียดละไมทั้งการจัดวางเข้ามุม ต่อฉากต่อแผ่น งานวิจิตรศิลป์ที่เตะตามาก คือพวกบันไดไม้ มีไม้ดัดโค้งราวและขั้นบันไดหน้าบ้าน มีระเบียงไม้ทรงหรูหรา ไม้ปิดชายคากันสาดที่ตกแต่งประณีตสวยงามผสมศิลปไทยกับตะวันตก เพลินตา สำหรับคนชอบงานไม้ งานบ้านโบราณ

ปี 2510 จบชั้นประถม ต้องมาเรียนโรงเรียนชายล้วนประจำจังหวัด คือโรงเรียนตากพิทยาคม ซึ่งอยู่ใกล้ๆ สี่แยกท่าเรือ ปั่นจักรยานมา 500 เมตร ก็เจอหัวถนนต้นทางเข้าตรอกบ้านจีน ที่สี่แยกตัดถนนตากสิน สายหลักของตลาดเมืองตาก ขี่จักรยานมาเรียนหนังสือ เลยต้องผ่านสี่แยกนี้ทุกวัน และเริ่มคุ้นตา คุ้นเคยรู้จักสถานที่ดีขึ้น บางวันต้องเข้าไปเที่ยวเยี่ยมเยียนบ้านคุณครูชั้นอนุบาล ชั้นประถมและมัธยม ซึ่งคนรุ่นเก่าในชุมชนตรอกบ้านจีนนี้จะมีการศึกษาที่ดี ด้วยพื้นเพจากปู่ยาตาทวด ที่เป็นข้าราชการ วิศวกร ทนายความ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สรรพกร ห้องคลัง ตอนนั้นที่นี่ไม่มีภาพย่านคนจีนเลย แต่โดยประวัติของบรรพบุรุษ ล้วนก่อกำเนิดมาจากกลุ่มคนจีนที่เข้ามาปลายสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วได้ขึ้นมาทำงานให้ราชการ รับสัมปทาน ทำการค้าขาย ขยายตัวจากเชียงใหม่ลงมา พอสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดการค้าเสรีกับฝรั่งตะวันตก ตามสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง จึงเกิดหัวเมืองการค้า ตาก เชียงใหม่ นครราชสีมา ก่อนสร้างทางรถไฟอีก ประชาชนภาคกลางและเหนือใช้เรือสัญจรขนส่งสินค้าท้องถิ่นไปกรุงเทพฯ เพื่อส่งออก มีชาวจีน 3 คนที่มีหัวการค้าและมองการณ์ไกล จับมือกันก่อร่างสร้างตัวเป็นบริษัทที่ชุมชนตรอกบ้านจีนแห่งนี้ ค่อยๆ ขยายงานจากจังหวัดตาก ออกไปมีกิจการที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ในเวลาต่อมา… จนเป็นต้นตระกูลมีชื่อเสียงในภาคธุรกิจของประเทศไทย ส่วนครอบครัวอื่นๆ ก็มีลูกหลานรับราชการและภาคเอกชน จนมีตำแหน่งสูงถึงอธิบดี รัฐมนตรี ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร จะมีใครบ้าง ท่านเหล่านั้นชื่อ ละนามสกุลอะไรบ้าง สังคมไทยรู้จักคนตากกันหลายท่านโดยไม่ทราบภูมิลำเนา ขอพักยกไปเล่าต่อในภาค 2 ครับ

 

ขออนุญาตกล่าวถึงคุณครูที่เคยสอนและยังอาศัยอยู่ในชุมชนตรอกบ้านจีนนี้ คือ

  • คุณครูศรีรวญ โสภโณดร (ร.ร.อนุบาลตาก)
  • คุณครูลักษณา วงศ์เสรี (ร.ร.ตากสินราชานุสรณ์) ทราบว่าท่านยังมีชีวิตอยู่ครับ ยังคิดถึงท่านเสมอเช่นเดียวกับคุณครูท่านอื่นๆ ขอให้ท่านดำรงชีพในบั้นปลายอย่างมีความสุขด้วยครับ

Don`t copy text!