ระลึกคุณ คุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ : ตอนที่ 4
โดย : ศรัณยา ชินะโรจน์
หลงรักตัวอักษร จึงเลือกทำงานสายสื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มต้นที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า นิตยสารโลกวรรณกรรม แล้วมายืนหยัดยาวนานร่วมยี่สิบปีที่กองบรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย ปัจจุบันรับเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากเขียน
“เราทำหนังสือ ไม่ใช่ขายก๋วยเตี๋ยว ลวกเส้นลวกถั่วงอกแล้วใส่ชามได้…”
หลักใหญ่ใจความของท่านไม่มีอะไรสลับซับซ้อน คุณป้ากล่าวอุปมาอุปไมย
เพราะฉะนั้น ทีมงานจงรอ…
ได้เล่าเป็นงานเป็นการเกี่ยวกับ ‘ต้นฉบับนวนิยาย’ มาพอสมควร อยากขออนุญาตแฉลบถึงเบื้องหลังบางมุม เนื่องจากฉันนึกขึ้นมาทีไร ก็รู้สึกขันตัวเอง แต่ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะเห็นขันด้วยหรือไม่
อย่างที่ทราบกันดี สกุลไทย ผลิตเป็นรายสัปดาห์ ไม่เคยมีอาทิตย์ไหนขาดจากแผง มีแต่วางล่วงหน้า โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ทีมงานต้องทำงานหนักกว่าปกติ
ทีนี้ตอนหลังก็มีบ้างที่ต้นฉบับนิยายของนักเขียนบางท่านยังไม่ถึงมือฝ่ายศิลปกรรม ฉันคอยจดจ้องเหมือนกัน (ต้องรอดึงโปรย) เมื่อต้นฉบับเพียงเรื่องหรือสองเรื่องยังไม่มา เราก็ถูกฝ่ายศิลปกรรมกดดัน ทั้งที่บอกไปแล้วว่านักเขียนท่านมีปัญหาสุขภาพ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว ซึ่งตามความจริงก็ยังพอมีระยะเวลายืดหยุ่นให้รอได้
นี่เป็นหนึ่งความท้าทายของรายสัปดาห์ ต่อให้ทุกสิ่งในโลกนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่ ณ เวลานั้นสัญญาประชาคมระหว่าง สกุลไทย กับผู้อ่านยังต้องดำเนินต่ออย่างไม่มีวันแปรเปลี่ยน
คำพูดหนึ่งของคุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ยังติดในหูไม่เคยลืม ท่านเคยบอกกับผู้จัดการฝ่ายผลิต บังเอิญฉันได้ยินด้วย
“เราทำหนังสือ ไม่ใช่ขายก๋วยเตี๋ยว ลวกเส้นลวกถั่วงอกแล้วใส่ชามได้…”
หลักใหญ่ใจความของท่านไม่มีอะไรสลับซับซ้อน คุณป้ากล่าวอุปมาอุปไมย
เพราะฉะนั้น ทีมงานจงรอ…
ล่วงเข้าอีกวัน ฝ่ายศิลปกรรมกดดันมาอีก
ฉันเลยบอกไปว่า “นี่ๆ ถ้าฉันเขียนเองได้ ฉันเขียนให้นายแล้วล่ะ ทำไมฉันจะไม่อยากเป็นประภัสสร เสวิกุล ทำไมฉันจะไม่อยากเป็นว.วินิจฉัยกุล เอาปะล่ะ ฉันเขียนให้นายเดี๋ยวนี้เลย” (ตอนที่พูดไม่แน่ใจคนฟังจะฮาบ้างมั้ย หรือฉันฮาอยู่คนเดียว)
พอถูกกดดันหนักเข้า อดรนทนไม่ไหว ตีผลัวะด้วยถ้อยคำจริงใจและจริงจัง
“เราทำหนังสือ ไม่ใช่ขายก๋วยเตี๋ยว…” เลียนแบบประโยคของคุณป้าสุภัทร ส่วนประโยคต่อมา ฉันเติมเอง “อย่างนายน่ะ มีเป็นสิบ แต่ประภัสสร เสวิกุล ว.วินิจฉัยกุล มีหนึ่งเดียว…”
เพราะฉะนั้น คำเดียว… รอ…
ฝ่ายศิลปกรรมคนนั้นคงโกรธฉันน่าดู ข่าวว่าหลังจากนั้นน้อยอกน้อยใจ ร้อนถึงคุณสันติ ส่งเสริมสวัสดิ์ ต้องช่วยปลอบใจ เรียกขวัญกำลังใจเขากลับมา
จากการนึกย้อนเหตุการณ์ ทำให้ฉันรู้สึกว่าคุณป้าสุภัทรเป็นแบบอย่างของบรรณาธิการและเป็นคนทำหนังสือที่เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าใจคุณค่าของงานศิลปะประเภทวรรณกรรม เข้าใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างลึกซึ้ง
มันน่าภูมิใจไหมเล่าถ้าเราก็ได้เป็นส่วนน้อยส่วนนิดของงานแฮนด์เมดที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก!
……………………………………………………………
หลังจากทำงานที่ สกุลไทย มาระยะหนึ่ง คุณป้าสุภัทรเปิดโอกาสให้ฉันเรียนรู้การสัมภาษณ์และการเขียนบทสัมภาษณ์นักเขียน
ท่านมอบหมายฉันติดตามอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ไปสัมภาษณ์คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (ว.วินิจฉัยกุล / แก้วเก้า) ที่จังหวัดนครปฐม
ฉันเตรียมสมุดคู่ใจสำหรับจดบันทึกรูปแบบประโยคคำถามของอาจารย์ชมัยภร ขณะเดียวกันก็สังเกตการณ์ท่วงทำนองและวิธีการสัมภาษณ์จากท่านปรมาจารย์ไปด้วย
บางช่วงบางตอนก็เผลอโพล่งถามออกมาซะงั้น
คุณป้าสุภัทรจึงต้องสอนถึงจังหวะจะโคนในการยิงคำถาม
ต่อมา ท่านลองส่งฉันลงสนามสัมภาษณ์นักเขียนดูบ้าง ด้วยการมอบหมายให้ฉันและพิชามญชุ์ เป็นผู้สัมภาษณ์อาจารย์ชมัยภรในฐานะผู้สวมหมวก ‘บุณฑริกา’ อีกใบหนึ่ง โดยคุณป้าเดินทางไปสังเกตการณ์ด้วยเช่นกัน
จากนั้นฉันเป็นคนเขียน เรียบเรียงต้นฉบับ ปรากฏว่า… อยากให้ท่านผู้อ่านลองทายดู…
ปรากฏว่า… บทสัมภาษณ์นักเขียนชิ้นแรกในชีวิต…!
บรรณาธิการในดวงใจของฉันรื้อหมดทั้งเรื่อง! แล้วท่านเขียนเรียบเรียงใหม่ด้วยลายมือท่านเอง ฉันเดาว่าท่านคงตรึกตรองแล้วว่าเขียนใหม่ยังไม่เหนื่อยเท่ารีไรต์ใหม่หมด
คุณป้ามีวาทศิลป์ในการตักเตือนสอนงาน “หนูอย่าคิดมาก”
ท่านยื่นบทสัมภาษณ์เดิมของฉันกับบทสัมภาษณ์ที่ท่านเขียนใหม่ให้ฉันดูเปรียบเทียบ “หนูเอาไปศึกษาดู”
ฉันรับบทสัมภาษณ์ทั้งสองชิ้นกลับมาก้มหน้าก้มตาพินิจพิจารณาอย่างตั้งใจ
แปลกมากที่ฉันไม่รู้สึกหวั่นวิตกหรือใจเสียว่าตัวเอง ‘สอบไม่ผ่าน’ ฉันกลับเกิดแรงบันดาลใจและแรงศรัทธามากยิ่งขึ้น และไม่เคยกลัวการทำงานเลย ยิ่งยาก ยิ่งชอบ ยิ่งรู้สึกท้าทาย
ฉันอาจจะมีลูกบ้าเยอะ บวกกับมองคุณป้าเป็นไอดอล ท่านเปรียบเสมือนแสงส่องใจในชีวิตการทำงานให้แก่ฉัน ฉันเองก็รอเวลาว่าเมื่อไหร่เราจะได้ออกรบอีก
ช่วงระหว่างรอโอกาสการสัมภาษณ์เหล่าขุนพลสำคัญของสำนัก สกุลไทย ฉันก็ได้ฝึกฝนเขียนบทสัมภาษณ์บุคคลแวดวงอื่นๆ เป็นการเรียนรู้และฝึกวิทยายุทธ์ไปเรื่อยๆ
ประกอบกับเตรียมพร้อมอยู่เสมอด้วยการหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับงานสัมภาษณ์ระดับมืออาชีพเพื่อศึกษาเป็นแนวทาง พิมพ์ออกมากี่เล่ม ฉันกว้านหมด ซึ่งความเป็นจริงมีเพียงไม่กี่เล่มหรอก เพราะกลุ่มลูกค้าแคบมาก แค่วงเล็กๆ ในสายอาชีพเท่านั้น
มีอยู่เล่มหนึ่ง ปากไก่ลายทอง ของคุณไพลิน รุ้งรัตน์ เป็นงานเขียนรวบรวมบทสัมภาษณ์นักเขียนระดับศิลปินแห่งชาติ
ฉันกอดไว้เป็นคัมภีร์เลยทีเดียว!
เวลานั้นฉันเก็บผลงานของคุณไพลิน รุ้งรัตน์ ไว้เป็นไอดอลนำทางการทำงานด้านบทความวรรณกรรม รวมถึงบทพิเคราะห์วรรณกรรมของอาจารย์นักวิชาการท่านอื่นๆ ด้วยอีกหลายเล่ม สำหรับต่อยอดความรู้ความคิดเพื่อตัวเองจะได้ไม่เดินไปพบกับทางตัน!
…………………………………………………………………..
ในที่สุดฉันก็ได้ออกรบจริงเสียที ยังจำวันนั้นได้แม่นยำ เนื่องจากคุณป้าเริ่มอาการป่วยขั้นต้น ท่านต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ใกล้กับโรงพิมพ์ สกุลไทย ท่านนัดหมายให้ฉันนำถุงใส่แฟ้มงานไปให้ท่านที่โรงพยาบาล
ฉันนั่งรอเพียงชั่วครู่ ท่านก็เดินตรงมาหาด้วยใบหน้าแจ่มใสเฉกเช่นเดิม คุณป้าไม่มีร่องรอยความเครียดจากการเจ็บป่วยเลยแม้แต่น้อย ฉันนับถือหัวใจท่านจริงๆ
เมื่อมอบถุงงานแด่ท่านเสร็จเรียบร้อย คุณป้าบอกว่าจะให้คุณลุงบำเหน็จขับไปส่งที่ สกุลไทย เพียงแต่ท่านไม่ลงไป ระหว่างนั่งมาในรถด้วยกัน ท่านมอบหมายงานให้ฉันนัดสัมภาษณ์คุณประภัสสร เสวิกุล เนื่องจากกำลังจะเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่อันทรงเกียรติที่ประเทศชิลี
คุณป้ากำชับว่า “ป้าอยากให้มีบรรยากาศในบทสัมภาษณ์ด้วย”
ฉันจึงสนองอย่างจัดเต็ม บรรยากาศมาเพียบ ฉายภาพผ่านตัวอักษรตั้งแต่ก้าวเข้าประตูบ้านคุณประภัสสร มีพี่ต๋อย ชุติมา ยิ้มแย้มต้อนรับ ตลอดจนแมกไม้ธรรมชาติร่มครึ้มปกคลุมเย็นสบายทั่วบ้าน กระรอกกระแตวิ่งซนตามกิ่งไม้ เสียงนกร้องประสานกันเป็นหมู่ ไปจนถึงคนสั่งพิซซ่า…
อะไรที่ผ่านเข้ามาในกรอบสายตา ฉันบรรจุลงในบทสัมภาษณ์ โดยเฉพาะไฮไลต์โต๊ะเขียนหนังสือของคุณประภัสสร ฉันซักละเอียดถึงการสร้างงานเขียนของท่าน ลามไปถึงซักพี่ต๋อย ชุติมา ด้วยว่ามีส่วนช่วยงานคุณประภัสสรอย่างไร
จบการซักถามในวันนั้น ฉันตั้งหน้าตั้งตาถอดเทป และเรียบเรียงบทสัมภาษณ์ประภัสสร เสวิกุล ส่งคุณป้า ทั้งหมดใช้เวลาไม่นาน
ดีใจอย่างที่สุด บทสัมภาษณ์ถูกรีไรต์ไม่มาก จึงนำส่งผู้จัดการฝ่ายผลิต
แต่แล้วฝ่ายศิลปกรรมผู้จัดหน้าบทสัมภาษณ์เดินมาบอกว่าหน้ากระดาษ สกุลไทย ไม่พอ
สมัยนั้นเรื่องต่างๆ ใน สกุลไทย แน่นเอี้ยดมาก
“ทำไงอะ” ฉันถามกลับไป
“เธอต้องตัดออกหนึ่งแผ่น”
“ตัดตรงไหนอะ”
“เธอก็เอากระรอกกระแตของเธอออกไป” ศิลปกรรมใจร้ายบอก
เป็นอันว่าหลัก ‘Hit to the point’ ยังใช้ได้เสมอ ฉันจำต้องเฉือนต้นฉบับออกหนึ่งหน้าเอสี่ คืนกระรอกกระแตกลับสู่บ้านคุณประภัสสร ไหนจะคนส่งพิซซ่าอีก กลายเป็นบทสัมภาษณ์ที่สงัดมาก ไร้ฝูงนกร้องประสานเสียงจุ๊บจิ๊บ
ปัจฉิมลิขิต – ตั้งแต่นั้นต่อมา ฉันได้รับโอกาสเขียนงานบทสัมภาษณ์นักเขียน สกุลไทย อีกหลายชิ้น
ในวันที่ไม่มีคุณป้าสุภัทรคอยตรวจต้นฉบับ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของตัวเรา ดีที่สุดคือส่งบทสัมภาษณ์ให้ท่านเจ้าของเรื่องเป็นผู้ตรวจสอบต้นฉบับเองก่อนลงพิมพ์
และได้พบว่า ‘มือวาง’ ยอดนักรีไรต์ต้นฉบับที่น่าพรั่นพรึงไม่แพ้คุณป้าสุภัทร ได้แก่… ๑.คุณกฤษณา อโศกสิน ๒.คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ๓.คุณปิยะพร ศักดิ์เกษม