จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล และ “เจเน็ต…ดวงมณีแห่งลำน้ำโขง”
โดย : YVP.T
หลังจากที่ชาวอ่านเอาได้ทำความรู้จักกับ “เจเน็ต ดวงเนตร” หรือ “จันทร์นวล” จาก “เจเน็ต…ดวงมณีแห่งลำน้ำโขง” กันมาแล้ว วันนี้อ่านเอาได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตที่ผกพันของเธอคนนี้ มาพูดคุยถึงการทำงานในฐานะนักเขียน และแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเป็นชีวประวัติเรื่องนี้
รศ.ดร. จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล หรือคุณป้าเหน่ง เริ่มเข้าสู่แวดวงการเขียนในฐานะนักแปลตั้งแต่อายุได้ 26 ปี ควบคู่ไปกับอาชีพหลักคือ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้ทำงานแปลเรื่อยมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ และมีบ้างบางโอกาสที่เขียนนวนิยายออกมาให้ผู้อ่านได้สัมผัสเรื่องราวที่แสนสนุกลงตีพิมพ์ในนิตยสารแพรว และพลอยแกมเพชร
และแม้วันนี้กับวัย 76 ปี ไฟแห่งการเป็นนักเขียน ความรักในภาษาไทยและรักที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ก็ยังคงไม่เคยหมดไป
“ดิฉันจบอักษรศาสตร์บัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและปริญญาเอก จากประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และทำงานแปลควบคู่ไปด้วย โดยเริ่มแปลหนังสือตั้งแต่อายุ 26 จนกระทั่งถึงปัจจุบันอายุ 76 ปีก็ยังแปลอยู่ แต่การแปลของดิฉันเป็นการแปลแล้วเขียนด้วยมือมาตลอด เพราะเราพิมพ์ไม่เป็น โดยเฉพาะภาษาไทย พิมพ์ไม่เป็นเลย แต่ถ้าภาษาอังกฤษยังพอทำได้ ไม่ใช่ว่าไม่รักภาษาไทยนะคะ แต่เป็นเพราะความไม่ใฝ่รู้ของเราเอง เวลาพิมพ์เครื่องพิมพ์ดีดสมัยก่อน ต้องกดแป้นยกเพื่อใส่สระและวรรณยุกต์ พอมีพิมพ์ดีดไฟฟ้าเข้ามาก็ยังเหมือนเดิม ทำให้รู้สึกว่าต้องกดอะไรมากมาย เลยไม่ใฝ่รู้ที่จะพิมพ์ภาษาไทยให้ดีกว่านี้ เพราะฉะนั้นเวลาแปลหนังสือหรือเขียนหนังสือก็จะเขียนด้วยมือตลอด ซึ่งพอเขียนด้วยมือก็จะไปจ้างเลขาของคณะที่เขารับพิมพ์ดีด พิมพ์มาให้เราอ่าน เราก็แก้ด้วยมือกลับไป เขาก็พิมพ์ฉบับแก้ไขกลับมาให้ สลับไปมาแบบนี้ จนกระทั่งเราพอใจก็จะบอกให้เขาปริ้นออกมา จากนั้นก็จะส่งไปรษณีย์ไปให้สำนักพิมพ์
“ต้องเรียนตามตรงค่ะว่า ไม่ทราบจริงๆ ว่า การแก้มันลำบากขนาดไหน ก็เห็นใจเขานะคะ แต่พอตอนหลังเมื่อมีเครื่องไฟฟ้าจากนั้นเป็นคอมพิวเตอร์ก็สะดวกขึ้นเยอะ แต่ดิฉันก็ยังใช้วิธีเดิมอยู่ดี ซึ่งในการเขียนเรื่อง ‘เจเน็ต…ดวงมณีแห่งลำน้ำโขง’ ก็ยังคงเขียนด้วยมือค่ะ พอเขียนเสร็จแล้วก็ส่งไปให้คุณเกศินี-คุณเจริญ บุณยจันทรานนท์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่อยู่ในจังหวัดเชียงราย โดยทั้งสองคนเป็นญาติสนิทของคุณป้าเจเน็ต เพื่อให้จัดการพิมพ์ต่อไป
“เมื่อพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงส่งไปให้คุณกุลธิดาและคุณหมอชาตรี ดวงเนตร ซึ่งเป็นลูกสาวและลูกชายของคุณป้าเจเน็ตได้อ่านเรื่องราวต่างๆ ที่ได้เขียนไปทั้งหมด”
“เจเน็ต ดวงเนตร” เรื่องจริงและจินตนาการ
อย่างที่หลายๆ ท่านได้อ่านเรื่องราวของ “เจเน็ต ดวงเนตร” ไปแล้ว อ่านเอาเชื่อว่า ทุกท่านน่าจะมีคำถามหรืออาจเรียกว่าความสงสัยคล้ายๆ กัน นั่นคือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แล้วใครคือผู้ให้ข้อมูล ทั้งหมดนั้น เรามีเฉลยให้กับทุกท่านตรงนี้ค่ะ
“ก่อนอื่นต้องขอย้อนความให้ฟังก่อนนะคะว่า จุดเริ่มต้นของการเขียนเรื่องนี้คือ ดิฉันรู้จักกับครอบครัวนี้มาตั้งแต่เรียนสมัยที่อยู่ที่จุฬาฯ ก็ราวๆ 50 ปีมาแล้ว เนื่องจากทั้งคุณกุลธิดาและคุณหมอชาตรีก็เรียนอยู่ที่จุฬาฯ เช่นกัน ก็เลยได้รู้จักกับครอบครัวนี้ และได้รู้เรื่องราวของคุณป้าเจเน็ตจากเพื่อนสนิท ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องสนิทสนมกับครอบครัวของคุณป้า เพราะเป็นบ้านที่อยู่ติดกัน เพื่อนก็จะเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟัง ยิ่งโดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น คนที่คอยดูแลคุณป้าก็คือเพื่อนคนนี้ เพราะทั้งคุณกุลธิดา คุณหมอชาตรีและน้องน้อย ซึ่งเป็นคนสุดท้องของครอบครัวนี้ ถ้าไม่อยู่กรุงเทพฯ ก็อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อนคนนี้ก็เลยมีเรื่องมาเล่าอยู่เรื่อยๆ ประกอบกับตัวดิฉันเองก็มีโอกาสได้ไปเจอคุณป้าเจเน็ตด้วยทำให้ได้เคยพูดคุยกับท่านบ้าง
“แต่ความรู้สึกที่ทำให้เราอยากเขียนเรื่องราวของท่านเกิดขึ้นตอนที่ได้ไปร่วมพิธีศพของคุณป้า ซึ่งตามพิธีของศาสนาคริสต์ จะมีกระดาษแจกให้กับแขก โดยเป็นแผ่นเนื้อเพลงที่ใช้สวดถวายพระพรพระผู้เป็นเจ้า อีกส่วนหนึ่งจะมีชีวประวัติของผู้ตาย ซึ่งมีอยู่เพียงหน้าครึ่ง ในแผ่นนั้นจะบอกว่าคุณป้าเป็นลูกใคร สามีคือใคร ลูกเป็นใคร นั่นทำให้เรารู้ข้อมูลของคุณป้ามากขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของคุณป้าก็จะเป็นการรู้มาทีละนิดละหน่อย ด้วยความที่คุณป้าเป็นคนไม่ชอบเล่า เวลาท่านเล่าก็จะเล่าน้อยมาก จากนั้นลูกหลานที่อยู่กับท่านก็เอามาปะติดปะต่อแล้วเรื่องรวมเป็นเรื่องได้ แม้แต่ลูกท่านก็ไม่รู้เรื่องของท่าน อย่างคุณกุลธิดาก็ยังไม่รู้เรื่องราวของแม่เท่าไหร่นัก เพราะท่านเป็นคนถ่อมตัวมาก จึงไม่เคยเล่าเรื่องอะไรให้ลูกฟังเท่าไหร่นัก ทั้งๆ ที่ชาติกำเนิดก็สูงแต่ไม่เคยเล่าเลย อย่างเรื่องเจ้ามหาชีวิตก็พูดบ้าง ทำให้เราพอจะเดาออกว่าท่านอยู่ในจุดไหนของสังคมลาวในตอนนั้น
“เมื่อนำข้อมูลมารวมกัน ทำให้รู้สึกว่า ท่านเป็นผู้หญิงคนหนึ่งในโลกที่สำหรับเราแล้ว เป็นคนที่มีชีวิตมหัศจรรย์มาก ท่านเป็นหลานของเจ้ามหาชีวิตของลาว คุณพ่อก็เป็นข้าหลวงอยู่ที่นั่น แต่ท่านกลับตัดสินใจเดินออกมาและเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ท่านต้องการ แม้แต่ในช่วงหลังที่สามีเสียชีวิตไปแล้ว พี่น้องในครอบครัวและคนจากราชวงศ์ลาวเดินทางมาหาท่าน แต่คุณป้าก็ปฏิเสธความช่วยเหลือทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ท่านก็เล่าให้ฟัง นั่นแสดงถึงความแข็งแกร่ง และมุ่งมั่นในสิ่งที่ท่านได้เลือกทางเดินของท่าน ยิ่งทำให้เราประทับใจมากถึงกับออกปากขอลูกๆ ของท่านเขียน ซึ่งทุกคนก็ยินดี ดิฉันจึงได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวของท่านให้ทุกท่านได้อ่านกัน โดยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเล่ม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่านจริงๆ นะคะ แต่สำหรับบทพูดต่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่ดิฉันใส่รายละเอียดเข้าไป
“เนื้อหาทั้งหมด เป็นชีวประวัติของท่านจริงๆ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย เราเป็นคนใส่เข้าไปเช่นบทพูดต่างๆ เพื่อให้มีความน่าสนใจ และสัมผัสถึงความมีชีวิตของผู้คนในเรื่องราวที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุผลว่า ดิฉันไม่สามารถเขียนว่า เมื่อลูกของคุณป้าเจเน็ตทั้งสามโตขึ้นมาแล้วมีชีวิตอย่างไร เพราะทุกท่านยังมีชีวิตอยู่ ดิฉันไม่มีความสามารถพอที่จะสร้างบรรยากาศครอบครัวให้เหมือนได้
“เพราะฉะนั้นถ้าผู้อ่านได้อ่านก็จะเห็นได้ว่า จะจบตอนที่ลูกทั้งสามคนเกิดแล้วแต่ไม่โตขึ้นกว่านั้นแล้ว คือหยุดอยู่แค่นั้น โดยบทส่งท้ายก็เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวคุณป้าจนกระทั่งสามีเสียชีวิต หลังจากนั้นเราไม่สามารถสร้างจินตนาการได้ถึงแม้ว่าจะมีรายละเอียดมากมายที่รู้ แต่บรรยากาศของครอบครัวไม่ว่าจะอย่างไรก็เขียนไม่ได้ และดิฉันไม่นึกว่านักเขียนจะเขียนได้นะ แต่เราเขียนประวัติของคุณป้าเจเน็ตได้เพราะท่านเสียแล้วเราก็สามารถสร้างจินตนาการได้แต่อยู่ในขอบเขตที่อยู่ในประวัติของท่านที่อนุญาตเท่านั้น”
บั้นปลายชีวิตจริง “เจเน็ต ดวงเนตร”
เราเชื่อเหลือเกินว่า เมื่ออ่านถึงหน้าสุดท้ายของ “เจเน็ต…ดวงมณีแห่งลำน้ำโขง” แล้ว ผู้อ่านหลายๆ คนคงอยากรู้ว่า แล้วในช่วงบั้นปลายของชีวิตล่ะ “เจเน็ต ดวงเนตร” เป็นอย่างไร คงต้องบอกว่า เป็นธรรมดาของโลก ที่ทุกคนต้องเผชิญกับสัจธรรมแห่งวัฏจักรชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ตอนที่คุณป้าเจเน็ตยังมีชีวิตอยู่ ดิฉันได้มีโอกาสเจอกับท่านในช่วงบั้นปลายชีวิต ในตอนนั้นท่านมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ จึงทำให้มีความรู้สึกของการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ท่านเริ่มร้องเพลงเป็นภาษาฝรั่งเศส เหมือนตอนที่ท่านเป็นเด็ก และพูดภาษาฝรั่งเศส มีอาการหลงลืมอะไรหลายๆ อย่าง จนสุดท้ายท่านก็จากไปในเวลาของท่าน แต่สิ่งที่เหลืออยู่คือ ทุกเรื่องราวในชีวิตของท่านที่จะไม่เลือนหายไป แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม”
อาจารย์จิตราภรณ์ได้ทิ้งท้ายกับอ่านเอาว่า ความยากที่สุดของ “เจเน็ต…ดวงมณีแห่งลำน้ำโขง” ไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลของคุณป้าเจเน็ต หากแต่เป็นการเขียนของนักเขียนเอง ที่แม้ว่าจะเขียนไปแล้วถึง 80 หน้า แต่เมื่ออารมณ์สะดุด ทำให้ต้องหยุดเขียน และเมื่อเวลาผ่านไปก็กลับมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ซึ่งกว่าที่จะเขียนออกมาได้นั้น อาจารย์จะ
อ่านนวนิยายของนักเขียนท่านอื่นเยอะมาก เช่นของ ทมยันตี พนมเทียนหรือพงศกร ด้วยเหตุผลที่ว่า
“การอ่านก็เพื่อให้มีจินตนาการให้เขียนไปถึงจุดที่ผู้อ่านสามารถซึมซับสิ่งที่เขียนได้ เพราะฉะนั้น แม้จะผ่านงานเขียนมาบ้าง หรือทำงานแปลมามากมาย แต่สำหรับดิฉัน นักเขียนคนอื่นๆ มีบุญคุณกับเราทุกคน เพราะเราอ่านงานของคนอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในงานของเรา ซึ่งทำให้มีจินตนาการคล้องไปได้ ภายใต้สำนวนการเขียนในแบบของเรา”
เคล็ดลับนี้ ไม่ห่วงกัน ใครที่อยากเขียนได้เขียนเป็น หรือกำลังหาแรงบันดาลใจ อยากจะลองใช้วิธีนี้ก็ย่อมได้ ไม่แน่นะคะว่า คุณอาจเป็นอีกคนหนึ่งที่เขียนงานดีๆ ออกมาประดับวงการวรรณกรรมบ้านเรา เช่นเดียวกับ รศ.ดร.จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล ท่านนี้