เมื่อบทสักวาเก่าๆ คือจุดเริ่มต้นของ “จระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก”

เมื่อบทสักวาเก่าๆ คือจุดเริ่มต้นของ “จระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก”

โดย : YVP.T

Loading

คีตาญชลี แสงสังข์ สาวสุโขทัยที่เรียนจบ มช. ใจอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน แต่ทักษะการวาดยังไม่ชำนาญ  แล้วทำไมสุดท้ายงานเขียนจึงเป็นสิ่งที่เลือกทำ เพราะหากค้นลงลึกดูแล้ว เธอเคยทำงานมาหลายอาชีพ ตั้งแต่เปิดร้านหนังสือเช่า เจ้าหน้าที่ดูแลเด็กในสถานบำบัดยาเสพติด เลขา ช่างภาพ ก่อนที่จะหยุดมาเป็นแม่บ้านเต็มตัวเมื่อมีลูกคนที่สอง และ “จระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก” คือเรื่องราวนวนิยายล่าสุดของ คีตาญชลี แสงสังข์

“จริงๆ แล้วงานเขียนมีมากมายนะคะ แต่ที่ชอบงานนวนิยายมากๆ น่าจะเพราะชอบอ่านนวนิยายมากกว่างานเขียนประเภทอื่นนะคะ นิยายเลยดึงดูดใจเรามากที่สุด แล้วการที่เราอ่านนิยายมากๆ เลยซึมซับรูปแบบการเขียน และกลวิธีต่างๆ ของนิยายมาโดยไม่รู้ตัว นิยายเปิดโอกาสให้ตัวละครต่างๆ ได้เสนอตัวเองในมุมต่างๆ ไปสู่ผู้อ่านได้ แล้วให้ผู้อ่านตัดสินเอาเองว่าจะรักจะเกลียด จะชื่นชมหรือสมเพชตัวละครนั้นๆ นิยายจึงเหมือนบ้านหลังหนึ่งที่คนอ่านเดินเข้ามาแบบ พจมาน สว่างวงศ์ มีเวลามีโอกาสได้เรียนรู้ผู้คนในบ้าน ว่าใครเป็นอย่างไรด้วยตัวของคนอ่านเองค่ะ”

และความที่ คีตาญชลี แสงสังข์ ทำมาแล้วหลายอาชีพ เธอจึงได้นำประสบการณ์จากการทำงานสารพัดอาชีพมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในงานเขียน

“ที่นำมาใช้และปรากฏให้เห็นมากๆ ก็นวนิยายชุดสืบสวนสอบสวน ที่ตัวเอกเป็นช่างภาพแม่ลูกหนึ่ง มีเพื่อนเป็นหมอนิติเวช เรียกได้ว่าทุกตัวละครในเรื่องไม่ได้คิดอะไรมาก ขโมยอาชีพคนรอบตัวมาเขียนทั้งนั้น จะว่าเป็นเคล็ดลับก็ได้เลยค่ะ เพราะไม่ต้องทำชาร์ตตัวละคร ไม่ต้องมากลัวว่าบุคลิกตัวละครตอนต้นเรื่องกับท้ายเรื่องจะหลุด เพราะแค่หลับตาก็เห็นหน้าตัวละครของเราแล้ว อย่างจระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก บางตัวก็ดึงมาจากคนบุคลิกน่าสนใจที่เราเจอ ทำแบบนั้นภาพมันชัดดีค่ะ ง่ายต่อการเขียน

“การผ่านงานมาหลายอย่าง เจอผู้คนหลากหลายจึงเป็นเรื่องที่ดีต่อการเขียนมาก รู้ว่าคนแต่ละอาชีพพูดจากันอย่างไร เวลาเขียนเราจะไม่ค่อยตัน ไหลลื่นไปเรื่อยๆ ตอนนี้อยากรู้จักตำรวจมากๆ เลยค่ะ ไม่มีคนรู้จักที่สนิทสนมเป็นตำรวจสักคนเดียว ถ้ามีสักคน เรื่องหน้าอาจจะได้เขียนเรื่องสืบสวนสอบสวนที่พูดถึงการทำงานในโรงพักได้เต็มที่หน่อย”

นักเขียนกับงานประกวดคือส่วนช่วยพัฒนาตัวเอง

“ผลงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นงานส่งประกวด ที่ส่งประกวดเพราะคิดว่าเป็นงานที่เหมาะกับนักเขียนเมื่อพร้อมอย่างตัวเอง เพราะเราไม่ได้ออกงานสม่ำเสมอเลยไม่มีกลุ่มแฟนนักอ่าน คิดว่าเลือกเดินสายนี้น่าจะเหมาะกว่า ได้รางวัลก็ได้พิมพ์ ถ้าไม่ได้ก็ลองส่งสำนักพิมพ์ ผ่านก็ได้พิมพ์ ไม่ผ่านก็เก็บเอาไว้ คิดอย่างนี้เราจะได้ไม่กดดันตัวเอง โอกาสไหนผ่านมาก็ทำตามโอกาสค่ะ

“แต่ถ้าพูดถึงแนวถนัดก็คือเรื่อง นักสืบหลังเลนส์, รักเร้น-ตำรับอาหาร, เป็นงานสืบสวนที่ใช้ตัวละครชุดเดียวกัน จริงๆ คดีที่สามเขียนจบแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ส่งที่ไหน ยังไม่ได้พิมพ์ค่ะ มีแฟนตาซีจ๋าๆ แนวต่างโลกชื่อเรื่องเดริก้า เรื่องนี้ก็รอออกภาคสองอยู่เหมือนกัน แต่ทุกเรื่องที่เขียนออกมาก็จะรักทุกเรื่องนะคะ และเชื่อว่า นักเขียนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นอย่างนี้ เพราะตอนเขียนเราก็ทุ่มเททั้งหมดที่มีจริงๆ

“เรื่องที่ภาคภูมิใจที่สุดคือ น้ำตาแม่มด เพราะเป็นการทำงานอย่างมีเป้าหมาย และใช้ความพยายามอยู่ 3 ครั้งกว่าจะทำสำเร็จ เขียนเพราะอยากได้โล่รางวัลจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สักครั้งในชีวิต ซึ่งพองานออกมาก็รู้สึกพอใจมาก ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนอ่าน มีคนรีวิว มีคนส่งข้อความมาหา บางคนก็กระทบใจเรื่องวัยเด็ก บางคนก็บอกว่าถ้าเจอเรื่องนี้ก่อนจะเลือกรักษามะเร็งแบบคุณนายวัลย์ อะไรแบบนั้น เราก็ดีใจทุกครั้งที่ได้รับฟีดแบคจากคนอ่าน”

โครงการช่องวันอ่านเอา และ “จระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก” ผลงานแห่งการเรียนรู้ครั้งใหญ่

“จระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก เริ่มมาจากบทสักวาเก่าๆ บทหนึ่งที่เราไปเจอ ลองถามแม่ แม่ก็รู้จักและเล่าว่าเคยท่องตอนเย็นหลังเลิกเรียน ตอนสมัยเราไม่มีแล้ว ซึ่งสักวาบทนี้เก่าแก่มาก เราค้นเจอว่าเป็นบทสักวาที่มีมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ก็ไม่ทราบว่าจริงไหม แต่แอบประทับใจไม่อยากให้สูญหาย อยากให้คนรุ่นหลังจำได้ เลยคิดพล็อตต่อยอดจนกลายเป็นเรื่องจระเข้ฯ นี่แหละค่ะ

“เรื่องจระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือกสำหรับตัวเองแล้วถือเป็นการเรียนรู้ครั้งใหญ่จริงๆ และคิดว่าตัวเองก็โชคช่วยและดวงดีด้วย เพราะก่อนจะมาเข้าโครงการช่องวันอ่านเอาได้มีโอกาสเข้าโครงการอบรมกับสนาคมนักเขียนบทโทรทัศน์ วิทยากรสุดยอดทั้งนั้น เลยได้เรียนรู้วิธีการสร้างเรื่องให้เหมาะกับการเป็นละครและมาได้ใช้กับการประกวดครั้งนี้

“การได้เข้าร่วมโครงการช่องวันอ่านเอาก็เหมือนได้ต่อยอดขึ้นไปอีก ซึ่งขอใช้พื้นที่ตรงนี้ชื่นชมเลยนะคะ เพราะการอบรมช่องวันอ่านเอาดีมาก วิจารณ์ให้ทีละเรื่อง ทำหน้าที่เสมือน บก. การระบุเป็นรายเรื่องเพื่อชี้ชัดให้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย ทำให้พัฒนางานง่าย และการได้คำวิจารณ์จากนักเขียนบทในพาร์ทช่องวันที่ผู้อบรมต้องได้พบ ทำให้เห็นมุมมองของคนทำงานโทรทัศน์ที่มีต่อเรื่องของเรา สำหรับคนที่มาเรียนรู้การเขียนงานเพื่อเป็นละครอย่างตัวเอง ก็นับว่าได้รับประการณ์ที่ดีสำหรับการเขียนอย่างมากเลยค่ะ

“การอบรมทั้งเขียนบทและเขียนนิยายเพื่อเป็นละครสอนเราหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า การทำหน้าที่ของบทโทรทัศน์และนวนิยายนั้นต่างกัน ถึงจะเขียนเพื่อเป็นละครเหมือนกันแต่โทรทัศน์เล่าเรื่องด้วยภาพ งานเขียนบทเราเขียนเพื่อสื่อสารกับทีมงานไม่ใช่คนดู แต่นิยายหรืองานวรรณกรรมเล่าเรื่องด้วยวรรณศิลป์และสื่อสารโดยตรงกับคนอ่าน ลักษณะการเล่าเรื่องของบทและนิยายจึงต่างกันมาก และพี่ๆ อ่านเอาก็บอกเสมอว่าให้รักษาคุณภาพความเป็นงานนิยายในฐานะนักเขียน ส่วนจะได้เป็นละครหรือไม่อย่าเพิ่งไปคิดมาก

“ทั้งหมดที่ว่าไปแล้ว คือความพิเศษที่ตัวเองได้รับจากประสบการณ์ในการเขียนเรื่องจระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือกค่ะ แต่ในส่วนของนักอ่านนั้น คิดว่าคนที่ไม่รู้จักสุโขทัยจะได้ไปเยือนผ่านตัวอักษร ไม่ใช่แค่สถานที่ แต่รวมไปถึงเกร็ดประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน บางทีอ่านเรื่องนี้แล้วอาจจะทำให้อยากไปเยือนสุโขทัยกันบ้างก็ได้นะคะ”

 

เข้าใจความนัย “จระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก”

“จระเข้ในเรื่องคือดวงดาวที่มีความสำคัญกับสังคมชนบทของไทยมาแต่โบราณ ซึ่งในเรื่องดาวจระเข้ก็แสดงถึงความรักความผูกพันธ์ในครอบครัวของเจ๋งซึ่งเป็นคนเล่าเรื่องด้วย และคำว่าจระเข้พอฟังแล้วมันจะทำให้เรานึกถึงอันตราย กัดเราถึงตายได้ เหมือนความรักนั่นแหละค่ะ ให้ทั้งสุขและทุกข์กับเรา  ส่วนทางช้างเผือกพอพูดปุ๊บก็จะทำให้นึกถึงโกโบริและอังศุมาลิน ในเรื่องได้ใช้นวนิยายชั้นครูเรื่องคู่กรรมเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องด้วย ถ้าอ่านจะพบตัวละครชื่ออังศุมาลินมาตั้งแต่ตัวต้นเรื่อง ถึงเธอจะตายไปแล้วแต่ก็สำคัญกับเนื้อเรื่องไปจนบทสุดท้าย

“ทางช้างเผือกไม่ใช่แค่ทำให้นึกถึงเรื่องคู่กรรมเท่านั้น แต่เราต่างก็อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก เพียงแต่เราไม่ตระหนักเรื่องนี้ พูดถึงทางช้างเผือก เราก็มักจะนึกถึงฝุ่นสีขาวที่พาดผ่านท้องฟ้าในเวลากลางคืนกันเป็นส่วนใหญ่

“ชื่อ ‘จระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก’ เชื่อมโยงไปถึงอังศุมาลินจากเรื่องคู่กรรมและดาวจระเข้ และอีกนัยหนึ่งสื่อถึงว่า ความรักรอเจ๋งอยู่และจริงๆ มันก็มีอยู่รอบตัวเจ๋งอยู่แล้วนั่นแหละ เพียงแต่เจ๋งต้องมองจระเข้อย่างเข้าใจ หมายถึงเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่มีความต้องการ มีรัก โลภ โกรธ หลง ถ้าเจ๋งเข้าใจเจ๋งก็จะตระหนักว่ามีจระเข้เชื่องๆ ของตัวเองในทางช้างเผือก ซึ่งมันก็อยู่ตรงนั้นของมันอย่างนั้นมาตั้งนานแล้ว  แต่ถ้าเจ๋งไม่เข้าใจ เจ๋งก็ไม่อาจตระหนักถึงทางช้างเผือกที่ตัวเองอยู่ จระเข้หรือความรักก็เป็นได้แค่สัตว์ร้ายที่คอบขย้ำหัวใจของเจ๋งเท่านั้น

“ส่วนชื่อบทที่ใช้เป็นวรรณกรรมเรื่องดังเป็นส่วนใหญ่นั้น  เพราะในเรื่องเราใช้ชื่ออังศุมาลินมาประกอบ เลยจงใจใช้ชื่อบทเป็นงานเขียนที่มีชื่อตรงกับเนื้อหาของบทนั้นๆ เพื่อให้พ้องไปกับการที่เราเอาเรื่องคู่กรรมมาเล่นในเนื้อเรื่อง หาชื่อเรื่องอยู่นานพอสมควร ก็ทั้งสนุกทั้งเหนื่อย แอบคาดหวังว่าคนอ่านจะสนุกไปกับการที่จะได้พบชื่อนิยายเรื่องโปรดในชื่อบทด้วย …คิดว่าชื่อบทต้องมีเรื่องในใจของใครหลายคนรวมอยู่ด้วยแน่ๆ”

“จระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก” นวนิยายที่ให้ทั้งความสนุกและแง่คิดในการใช้ชีวิต

“ความน่าสนใจของเรื่องนี้ น่าจะเป็นกลวิธีการเล่าและฉาก เพราะพยายามหากลวิธีในการเล่าให้สอดคล้องกับเรื่อง อย่างเปิดด้วยมุมของพ่อก็ปิดด้วยมุมของพ่อ  ในส่วนเนื้อหาที่เล่าผ่านมุมมองบุรุษที่หนึ่งของเจ๋งเมื่อต้องการจะเล่าผ่านมุมมองของพ่อบ้าง ให้คนอ่านเห็นความคิดของพ่อบ้าง ตัวเองก็คิดอยู่นานว่าจะเขียนอย่างไรดี จู่ๆ จะแทรกมาเลยมันก็ดูทื่อๆไป ก็เลยเขียนเป็นกลอน เพราะกลอนเล่าได้กระชับ น้ำเสียงของกลอนก็สื่อสารได้ดี ความน่าสนใจของเรื่องก็คงจะเป็นกลวิธีการเล่าเพื่อการสื่อสาร และการที่คนสุโขทัยตัวจริงเสียงจริงมาเล่าเรื่องบ้านเมืองตัวเอง

“ส่วนตัวเองที่เขียนก็อยากจะนำเสนอในมุมที่ว่า จริงๆ แล้วเราต่างไม่มีใครสมบูรณ์พร้อม และคำว่าสมบูรณ์ คำว่าความสุข ของคนแต่ละคนมันเป็นปัจเจก ของใครของมัน ถ้าเรารู้ตัวว่าเราชอบอะไรนั่นก็นับว่าดีแล้ว แต่ถ้าเรายอมรับผู้อื่น เคารพกันและกันนั่นนับว่าประเสริฐ

“คนจำนวนไม่น้อยตัดสินคนอื่นจากมุมมองของตัวเอง ความเชื่อ ความรักความชอบของตัวเอง อ่านแล้วก็อยากให้ทุกคนอยู่อย่างเข้าใจและรอมชอม และจะเห็นว่าความรักความปรารถนาดีที่มีให้กัน ในที่สุดก็จะชนะทุกอย่าง ชนะแม้แต่ทิฐิของมนุษย์” 

 

สุดท้ายนี้ คีตาญชลี แสงสังข์ ได้ฝากคำขอบคุณมากับอ่านเอาถึงคุณผู้อ่านทุกท่าน ที่ไม่ว่าจะอ่านเรื่องนี้หรืออ่านเรื่องไหนก็ตาม เพราะจำนวนนักอ่านและการถูกพูดถึงเป็นกำลังใจให้นักเขียนเสมอ เธอจึงอยากให้ช่วยกันแชร์เรื่องอื่นๆ ที่อาจไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องจระเข้ฯ เท่านั้น แต่แชร์ทุกเรื่องที่ท่านอ่านแล้วชอบ

“…เพราะอ่านเอาเป็นเว็บไซต์ไม่แสวงหากำไรและมีเจตนาดีต่อวงการวรรณกรรม คัดสรรเรื่องต่างๆ มาให้ผู้อ่าน อ่านได้อย่างปลอดภัย อ่านได้อย่างสนุก แต่ถ้าจะกรุณาแชร์เรื่องจระเข้ฯ พ่วงไปด้วย และเข้ามาพูดคุยกันบ้าง ก็จะขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ ^^”

Don`t copy text!