แมกไม้ลายอักษรของนักเขียนที่ชื่อ ‘ณรัญชน์’

แมกไม้ลายอักษรของนักเขียนที่ชื่อ ‘ณรัญชน์’

โดย : ชวลิต อรุณทัต

เพราะกลิ่นหอมหวนของแวดวงน้ำหมึก มันช่างจรุงฟุ้งหวามเย้ายวนใจของ “ณรัญชน์” หรือ “ณรัญญา กาญจนรุจี” หญิงสาววัย 47 ปีจากอำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาครคนนี้ยิ่งนัก เธอจึงเป็นอีกหนึ่งนักเขียนหน้าใหม่ที่พาตัวเองเข้ามาอบรมกับโครงการ ‘อ่านเอาก้าวแรก’ เพื่อนำประสบการณ์และหลักสูตรการเขียนนิยายแบบเข้มข้น พร้อมส่งผลงาน ‘คดีรักข้ามเวลา’ เข้าประกวดในโครงการนี้ กระทั่งผลงานของเธอไปเข้าตาค่ายละครชื่อดังจนนำไปสู่การสร้างเป็นละครโทรทัศน์ที่พร้อมจะให้นักอ่านทุกคนได้พิสูจน์ฝีมือ  แต่ก่อนจะถึงวันนั้นผมจะพาคุณมาทำความรู้จักกับตัวตนของ ‘ณรัญชน์’ ในแบบที่คุณยังไม่รู้จัก…

“ตอนเด็กๆ พี่อ้ออยู่มหาชัยถึงแค่ ป.6 เองค่ะ หลังจากนั้นก็มาอยู่กรุงเทพฯ ตลอด เริ่มเรียนที่โรงเรียนหอวังแล้วมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คณะมนุษย์ศาสตร์ สื่อสารมวลชน เพราะชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ คือไม่ค่อยมีเพื่อน (หัวเราะ) ก็เลยอ่านหนังสือพวกวรรณกรรมเยาวชนที่ห้องสมุดโรงเรียนอย่าง ‘เมืองในตู้เสื้อผ้า’ (The Chronicles of Narnia ตอน The Lion, the Witch and the Wardrobe) แต่พวกนิยายนี่ไม่ได้อ่านเลย เพราะที่บ้านเขาจะไม่ให้อ่านเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ตอนนั้นเลยได้อ่านแต่วรรณกรรมเยาวชน เช่น แก้วจอมแก่น, นกกางเขน อ่านเรื่องใสๆ  แต่พี่ชอบอ่านนิยายเกาหลี ญี่ปุ่น หรือนิยายกำลังภายใน เพราะนิยายญี่ปุ่น, เกาหลี นี่เขาจะมีความลึกซึ้งด้านอารมณ์เยอะมากๆ เรื่องที่ชอบมากๆ คือเรื่อง Kitchen ซึ่งจะพูดถึงอาหารการกิน พูดถึงแต่เรื่องทำกับข้าว แต่มันจะมีความลึกซึ้งในอารมณ์ เวลาเราอ่าน เราจะรู้สึกเติบโต ซึ่งนิยายไทยส่วนมากจะเป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ประโลมโลก ส่วนใหญ่มันจะเป็นโลกีย์วิสัย ซึ่งมันไม่ถูกจริตของเรา ส่วนตัวก็ชอบอ่านการ์ตูนนักสืบ พวกโคนัน อ่านนิยายกำลังภายในของโกวเล้งด้วยไงคะ พอมาเขียนนิยายของตัวเอง ก็จะเป็นแนวนักสืบ” …พี่อ้อ หรือ ‘ณรัญชน์’ กล่าวถึงตัวตนของเธอให้ผมฟัง

“ตอนแรกพี่ทำงานเป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิค แต่ตอนหลังเบนเข็มมาเขียนนิยายให้กับนิตยสารบันเทิงอยู่ 2 เล่มซึ่งบรรณาธิการเค้าได้วางคอนเซปต์ไว้เป็นเรื่องชีวิตกว้างๆ ที่คุยกันไว้คือพี่จะทำคอลัมน์เกี่ยวกับฆาตกรรม ปรากฏว่าเขาเปลี่ยนคอนเซปต์ใหม่หมดอยากให้มันเป็นเรื่องราวของความรักหมดทั้งเล่ม เจองานหนักเลยเพราะว่ามันเป็นเรื่องฆาตกรรมแล้วเราต้องโยงให้มาเกี่ยวกับความรักทั้งหมด แต่นั่นทำให้ให้เราเขียนคอลัมน์ได้หลากหลาย พอเขียนไปเรื่อยๆ ก็อยากลองเขียนอะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วตอนนั้นนิตยสารที่ทำอยู่ปิดตัวลงเล่มนึง เราก็เขียนให้หนังสือแค่เล่มเดียว โชคดีที่ตอนนั้นเว็บไซต์อ่านเอาเพิ่งเปิดขึ้นมา แล้วเวปไซต์เขาเปิดฝึกอบรมนักเขียน พี่อ้อก็เลยเข้าอบรมเพราะอยากส่งงานเข้าประกวด คือตอนนั้นพี่เขียนนิยายไว้เรื่องนึง เราเขียนไปแล้วประมาณครึ่งเรื่อง แต่งานเขียนเราไม่มีเวทีที่จะลง ก็เลยคิดว่าน่าจะหาโอกาสไปอบรมกับทางอ่านเอา และถ้าโชคดีเราชนะอาจจะได้ลงผลงานตีพิมพ์ในอ่านเอาด้วย เพราะทางนี้เขามีกติกาไว้ว่า คนที่เข้ารับการอบรมเสร็จสิ้น ก็จะให้ส่งผลงานเข้าประกวดคนละชิ้น หลังจากนั้นจะมีคณะกรรมการตัดสิน มา เลือกนิยาย 3 เรื่องที่ดีที่สุดลงในเว็บไซต์ค่ะ…

“…พอไปอบรม เราได้ความรู้เยอะเลย เพราะวิทยากรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด หลังจากนั้นก็กลับมาเขียนเรื่องต่อจนจบ จริงๆ พี่เขียนไปแล้วครึ่งเรื่อง ตอนนั้นตั้งชื่อไว้ว่า ‘เล่ห์วันวาน’ พอประกาศผลออกมาผลงานเราไม่เข้ารอบสุดท้ายค่ะ”

ด้วยกฎเกณฑ์ที่ทางคณะกรรมการได้วางเอาไว้ตั้งแต่แรกที่ต้องการคัดเลือกนิยายจากนักเขียนเพียง 3 คน ทำให้ผลงานของ ‘ณรัญชน์’ ไม่สามารถฝ่าด่านไปถึงรอบสุดท้าย แต่ด้วยผลงานการเขียนของเธอซึ่งน่าสนใจ แถมเป็นบทประพันธ์สืบสวนสอบสวนที่มีเนื้อหาทันสมัย บวกกับบทประพันธ์เรื่องนี้มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมแบบไทยๆ รวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน เมื่อค่ายละครช่อง One 31 ต้องการทำละครที่มีเนื้อหาตรงกับงานเขียนของเธอ เราจึงได้เห็นภาพข่าวการเปิดตัวละครใหม่ ‘คดีรักข้ามเวลา’ ที่เริ่มถ่ายทำไปเมื่อไม่นานมานี้

“พี่จะเขียนนิยายแนวที่เราชอบ คือแนวสืบสวน แนวลึกลับ เพราะพี่รู้สึกว่ามันได้ตีแผ่ความเป็นมนุษย์ของคนแต่ละคน อย่างใครที่จะฆ่าคนได้สักคน เขาต้องมีความคิดในหัวก่อน มีปมชีวิต มีการตัดสินใจก่อนลงมือ หรือเวลาที่เราสืบสวนก็ไม่ได้สืบอย่างเดียว ต้องพยายามคิดถึงนิสัยของคนร้าย ต้องทำยังไงถึงจะคลำทางไปได้ พี่ชอบการต่อสู้กันทางความคิด เลยชอบเขียนนิยายสืบสวน แต่ตัวตนของเราจริงๆ เป็นคนตรงไปตรงมามาก มันดูขัดแย้งกับนิสัยจริงของเรา (ยิ้ม) หรือจริงๆ ข้างในเราอาจะร้ายลึกก็ได้ (หัวเราะ) ถ้าจะถามว่าเขียนได้ยังไง? มันคิดออกมาเองค่ะ พี่จะคิดเรื่องได้เป็นช่วงๆ นั่งทำงานอยู่ พอนึกออกเป็นช่วงๆ ก็จะจดพล็อตไว้ เราต้องพยายามหมกมุ่นกับมันให้มากๆ แล้วความคิดมันจะไหลออกมาได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเราคิดเรื่องราวแบบไม่ต่อเนื่อง มันจะคิดไม่ออกเลย…

“…พอมีคนเอาเรื่องของเราไปทำละครพี่ดีใจนะคะ เพราะตอนนั้นงานของเราตกรอบไปแล้ว ยิ่งเมื่อเรากลับไปอ่านงานเขียนของเรา มันพบข้อบกพร่องเยอะมาก พอตกรอบไปเราก็ไม่เสียใจนะคะ ตั้งใจจะเกลางานแล้วลองส่งให้ที่อื่นดู แต่พอทางนี้โทรมาบอกว่าจะตีพิมพ์งานให้เราและมีค่ายละครสนใจจะซื้อเรื่องไปทำละครก็ดีใจมากๆเลยค่ะ

นักเขียนเลือดใหม่บอกเล่าถึงแอบกระซิบถึงเคล็ดลับการเขียนนิยายแนวสืบสวนให้ผมฟังว่า

“เรื่องแนววนี้เขียนยากนะคะ เพราะต้องคิดเรื่องให้มันน่าสนใจ สมมติเราได้พล็อตมาช่วงนึงแล้ว มันไม่ได้หยุดแค่นี้ มันต้องมีพล็อตหลัก พล็อตรอง ต้องมีวิธีให้เรื่องมันดำเนินการต่อไปแล้วน่าสนใจเป็นช่วงๆ อยากให้คนอ่านรู้สึกประหลาดใจไปตลอดทั้งเรื่อง พี่เลยชอบเขียนให้นิยายมีการหักมุม ให้เซอร์ไพรส์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบ ในฐานะของคนเขียนก็ลุ้นนะคะ ผ่านมาถึงวันนี้ถ้าถามว่าเกินความคาดหมายมั้ย? มันเกินความคาดหมายนะคะ แต่พี่ก็ยังไม่รู้สึกประสบความสำเร็จ เพราะรู้สึกว่างานเขียนมันยังยากอยู่เหมือนเดิม ยิ่งพอเราลงมือเขียนเรื่องที่สองพี่จะไม่นึกถึงเรื่องแรกแล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าเรื่องที่สองจะมีคนชอบเหมือนเรื่องแรกหรือเปล่า? เราก็ได้แต่เดินหน้าต่อไป”

ใครที่อยากสนับสนุนให้กำลังใจผู้หญิงมุ่งมั่นเช่นเธอ ก็อย่าลืมติดตามผลงานให้กำลังใจเธอในเรื่องต่อๆไปของ ‘ณรัญชน์’ ด้วยล่ะครับ…เพราะกว่าที่นักเขียนจะกลั่นกรองเรียงร้อยตัวอักษรนับพันนับหมื่นตัวออกมาเป็นนิยายได้สักหนึ่งเรื่อง นั่นหมายถึงความพยายามและความตั้งใจถ่ายทอดจินตนาการของผู้เขียนออกมา เพื่อให้ทุกตัวอักษรเป็นความสนุกประทับใจของผู้อ่านในวงกว้าง…

“การถดถอยของวงการสิ่งพิมพ์ในยุคนี้ สำหรับพี่มันก็ส่งผลกระทบกับเราโดยตรงนะคะ เพราะว่ารายได้ประจำเราหายไปเยอะมาก แต่ข้อดีในส่วนนี้ก็คือเรามีเวลาเขียนนิยายมากขึ้น เนื่องจากเราต้องใช้เวลากับงานเขียนเยอะมากเหมือนกัน เพราะพี่ยังใหม่ยังเขียนไม่คล่อง ส่วนงานเขียนในหน้ากระดาษสิ่งพิมพ์กับงานเขียนออนไลน์จริงๆ ความรู้สึกมันก็ต่างกันอยู่มากนะคะ คือข้อดีของเว็บไซต์เราจะเห็นฟีดแบ็คยอดวิวยอดไลค์จากคนอ่านได้ทันที แต่งานเขียนในนิตยสารนี่เราจะไม่รู้ยอดคนอ่าน นอกจากยอดพิมพ์ในนิตยสารหนึ่งเล่ม เราก็ไม่รู้เขาจะอ่านผลงานของเรารึเปล่า? เพราะมันมีคอลัมน์ของคนหลายๆ คนอยู่ในนั้น แต่ตัวพี่เองจะชอบความรู้สึกของหน้ากระดาษมากกว่าอยู่แล้วล่ะค่ะ” ปฎิเสธไม่ได้ว่าขาลงของแวดวงสิ่งพิมพ์ทั่วงการในทุกวันนี้ส่งผลกระทบคล้ายคลื่นยักษ์ลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าปะทะกิ่งไม้น้อยใหญ่ในทะเลอักษร

“นักเขียนจะอยู่ในวงการได้ยาวนานแค่ไหน นั่นขึ้นอยู่กับคุณภาพงานเขียนของเราด้วย ฉะนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ งานของเราต้องมีอะไรที่ดีพอให้คนอยากจะอ่าน เมื่อคุณภาพของเราดีพอ คนอ่านก็ยังจะตามอ่านกันไปเรื่อยๆ แต่ตัวพี่เองก็ไม่ค่อยได้อ่านนิยายไทยเลยไม่รู้จริงๆอนาคตแวดวงนิยายไทยจะเป็นยังไง แต่คิดว่านักเขียนเก่งๆ คงอยู่ตัวแล้ว แต่นักเขียนหน้าใหม่ๆ คงต้องเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพจริงๆ ซึ่งนักเขียนเหล่านี้ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง นอกนั้นก็จะเป็นนักเขียนที่พอเขียนได้แต่ไม่น่าติดตาม

“คนที่อยากจะเข้ามาเป็นนักเขียนเขาจะต้องอ่านเยอะๆ เป็นอันดับแรกเลยค่ะ ก่อนที่จะเขียนได้ต้องอ่านก่อน พออ่านมากๆแล้ว เราจะรู้แนวทางของตัวเอง รวมทั้งการใช้คำอะไรต่างๆ ที่สำคัญคือจะรู้ว่างานที่ดีกับงานที่ไม่ดีเป็นยังไง เราจะแยกได้ในระดับนึงแล้วเราจะได้เดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือถ้าเราอยากได้โอกาส เราจะต้องวิ่งเข้าหาโอกาสนั่นแหละ จะต้องหาเวทีในการลงผลงาน คือถ้ามีโอกาสควรจะมาเรียนมาเข้ารับการอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเราเอง และที่นี่ก็เป็นเวทีที่ทำให้เรามีทางเลือกได้มากขึ้น การตัดสินว่าแพ้ชนะ มันไม่ได้เป็นจุดใหญ่หรือข้อสำคัญ ถึงแม้อ้อจะไม่ได้รับการคัดเลือก แต่มันก็ยังสามารถไปต่อได้ เราล้มในวันนี้ ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องล้มเสมอไปค่ะ

นั่นคือความเชื่อมั่นในอาชีพนักเขียนของเธอ และเช่นกันผมเองก็เชื่อมั่นว่าชื่อของ ‘ณรัญชน์’ จะเป็นอีกหนึ่งชื่อของนักเขียนหน้าใหม่ที่จะเข้าไปนั่งอยู่ในดวงใจความนักอ่านเช่นคุณแน่นอน…

 

 

Don`t copy text!