กว่าจะเป็น “ลายรักบนพักตรา”
โดย : YVP.T
หลังจากที่เคยฝากผลงาน ‘มนตร์เบญจรงค์’ ให้กับเพื่อนๆ ชาวอ่านเอาได้ลุ้นไป ‘น้ำทอง’ ที่ต้องถูกนำวิญญาณไปใส่ในโถเบญจรงค์ ครั้งนี้ ‘จรัสพร’ กลับมาอีกครั้งกับนิยายเรื่องใหม่ ‘ลายรักบนพักตรา’ เรื่องราวของสามพี่น้องที่เป็นทายาทครูช่างทำหัวโขน เรื่องนี้จะสนุกไหม ยากง่ายแค่ไหนกว่าที่จะเรียงร้อยเรื่องราวมาให้ชาวอ่านเอาได้อ่านกัน ไปคุยกับจรัสพรกันค่ะ
“ตอนนี้พี่เจี๊ยบมีงานเขียนประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้กับเว็บไซต์ของบริษัทแห่งหนึ่งค่ะ แล้วก็มีงานสารคดีพิเศษให้อีกหนึ่งหน่วยงานราชการ และกำลังจะทำรายการอีก 1 รายการ ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างเตรียมงาน แต่ไม่ว่าจะยุ่งแค่ไหน งานที่รักมากๆ เรียกว่าลุ่มหลงเลยคืองานเขียนค่ะ
“ตัวพี่เองชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่ยังเด็กๆ พอเริ่มรู้ตัวว่าเขียนนิยายได้ก็หลงรักการเขียนนิยาย เพราะการเขียนนิยายไม่มีข้อจำกัดอะไรมาปิดกั้นเรา เราอาจจะแอบสารภาพรักใครสักคนในนิยายของเรา แล้วเขียนให้เขารักตอบเราได้ด้วย หรืออาจจะเขียนให้ชีวิตใครสักคนต้องรับกรรมอะไรสักอย่างที่ในโลกแห่งความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งสำหรับพี่เจี๊ยบแล้ว การเขียนนิยายคือการสร้างโลกแห่งความสุขที่เราสามารถจะเร้นกายเข้ามาต่อเติมจินตนาการให้ทุกสิ่งเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็นไป เรียกว่าหลงเสน่ห์การลิขิตนิยายด้วยปลายนิ้วก็แล้วกันนะคะ”
ไม่มีอะไรยากเกินไปในงานเขียน ขอเพียง…
“80% ของงานที่พี่ทำมาทั้งชีวิตล้วนเกิดจากการเขียนมาโดยตลอดค่ะ ทั้งงานเขียนสคริปท์ต่างๆ งานอีเวนต์ เขียนคอลัมน์ในนิตยสาร เขียนบทสารคดี เขียนบทละคร หรือแม้แต่ยุคสมัยเปลี่ยนแล้วเราต้องปรับตัวเองมาเขียนคอนเทนต์เพื่องานออนไลน์ต่างๆ ในปัจจุบัน เพราะทุกงานจะมีโจทย์และกรอบในการทำงาน ด้วยทักษะที่เราทำมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่าไม่มีอะไรยากเกินไป เพียงแต่เราต้องทำความเข้าใจและกระจ่างแจ้งในงานที่เราจะเขียนเท่านั้นค่ะ
“แต่ความพิเศษของการเขียนนิยายคือ ไม่มีใครมาตั้งโจทย์ให้ ตัวเราเองต้องคิดโจทย์ ซึ่งนั่นคือพล็อตหรือเส้นเรื่องแล้วก็สั่งให้ตัวเองเขียนขึ้นมา ความยากอยู่ตรงที่พี่เจี๊ยบต้องสั่ง ‘จรัสพร’ ให้เขียนให้ได้ เขียนให้จบ อย่าเกเร เพราะจริงๆ แล้วเป็นคนค่อนข้างอ่อนไหว มีอะไรมากระทบใจก็เพี้ยนไปได้ง่ายๆ เหมือนกันนะคะ เลยต้องคุมจิตตัวเองให้ดี”
เคล็ดลับการเขียนให้จบและไม่ถอดใจ (ไปซะก่อน)
“โมงยามที่พี่เจี๊ยบสวมหมวกนักเขียนคือ เวลากลางคืนตั้งแต่ 3 ทุ่มไปจนถึงตี 2 ค่ะ เป็นเวลาที่ใจเราจะนิ่ง แล้วเราก็จะสร้าง passion ในการเขียนนิยายด้วยความตื่นเต้นว่า เดี๋ยวเราจะได้พบกับคนที่เราแอบปลื้ม คนที่เราชื่นชม ในนิยายแล้วที่สำคัญ เราอยากให้เขาคิดอะไร หรือพูดอะไรกับเรามันก็เป็นไปตามนั้น เราจึงต้องสานฝันของเราให้จบโดยไม่มีการถอดใจค่ะ”
‘ลายรักบนพักตรา’ ความงดงามในศิลปะและความตั้งใจ
“ก่อนอื่นต้องขอเล่าว่า ‘ลายรักบนพักตรา’ เกิดจากรายการ ‘ศิษย์มีครู’ รายการสารคดีที่พี่เจี๊ยบได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์และเขียนบท ซึ่งจริงๆ แล้ว พี่ทำหน้าที่ตั้งแต่เป็นคนครีเอตรูปแบบรายการนี้ขึ้นมา ก็เลยทำให้ได้พบครูช่างหัตถศิลป์มากมายหลายท่าน จนกระทั่งได้มาพบครูช่างหัวโขน ซึ่งเป็น ‘ผู้หญิง’ และมาจากตระกูลช่างหัวโขนเก่าแก่ ครูท่านนี้มีอายุห่างจากพี่เจี๊ยบประมาณ 10 ปี มีสัญญาณอะไรหลายอย่างที่ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยกันเป็นพิเศษ
“เรื่องราวชีวิตของครูท่านนี้กระทบใจจนพี่เจี๊ยบนำมาเป็นแรงบันดาลใจ และขออนุญาตเชิญท่านมาเป็นบรรจงวาดใน ‘ลายรักบนพักตรา’ สำหรับเรื่องราวในนิยายนั้นเป็นเรื่องจริงอยู่ประมาณ 40% ที่เหลือพี่เจี๊ยบได้สอดแทรกอรรถรสความเป็นนิยายและเอาประสบการณ์วัยเยาว์ของตัวเอง เรียกว่าเรื่องนี้เขียนไปยิ้มไปพร้อมๆ กับร้องไห้ไปด้วยเลยค่ะ
“กว่าจะมาเป็น ‘ลายรักบนพักตรา’ ที่ได้อ่านกันบนเว็บไซต์อ่านเอา ต้องขอบคุณโครงการดีๆ อย่างโครงการช่องวันอ่านเอา โครงการหนึ่ง ที่ทำให้พี่เจี๊ยบลุกขึ้นมาเขียนพล็อตเรื่องนี้ส่งประกวด และผ่านได้เข้ารับการอบรม ซึ่งพี่เจี๊ยบถือว่าเป็นความรู้ที่มีประโยชน์มากสำหรับการเขียนนิยาย หลายเรื่องที่นักเขียนควรรู้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ พี่เจี๊ยบก็ได้รับจากการอบรมโครงการนี้ค่ะ”
นิยายเรื่องล่าสุดที่ไม่ควรพลาดอย่างแท้จริง
“ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนที่สุดในเรื่องนี้ คือข้อมูลเกี่ยวกับศาสตร์การทำหัวโขนโบราณ และเรื่องราวของหัวโขนที่เราเขียนไปปรึกษาครูไปตลอด และต้องพยายามสอดแทรกให้ผู้อ่านติดตามได้สนุก ไม่รู้วึกว่าวิชาการเกินไป ซึ่งความสนุกเรื่องนี้ อยู่ที่ผู้อ่านจะได้ย้อนกลับไปสัมผัสความรู้สึกในคืนวันอันแสนงาม ในอดีตเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ร่วมหัวเราะและร้องไห้ไปกับบรรจงวาดในทุกช่วงวัย และได้เรียนรู้โลกย์ไปพร้อมๆ กับทุกตัวละครแล้วยังได้สัมผัสงานหัตถศิลป์ของไทยอย่างหัวโขนอย่างใกล้ชิด
“ถ้าจะเปรียบ ‘มนตร์เบญจรงค์’ กับ ‘ลายรักบนพักตรา’ ขอเรียกว่าเป็นมวยคนละเชิงกันเลยค่ะ ‘มนตร์เบญจรงค์’ เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่เราเขียนนิยายแบบที่ตัวเองอยากอ่าน จัดหนักจัดเต็ม เอาฮา เอาสนุก เป็นการ์ตูนเลย ต้องขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่ชอบงานเขียนเรื่องนี้นะคะ เหมือนปรุงอาหารแบบแล้วแต่เชฟค่ะ ‘มนตร์เบญจรงค์’ จึงเป็นเชฟสลัด สำหรับพี่เจี๊ยบ
“ส่วน ‘ลายรักบนพักตรา’ นั้น เริ่มมีการศึกษาขึ้น รู้จังหวะในการถ่ายทอด รู้วิธีที่จะเขียนอย่างไรให้สนุกและน่าติดตามทุกตอน (ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย) รู้วิธีจัดการกับตัวละครที่ไม่ทำให้จู่ๆ ก็หายไปเฉยๆ ไม่เขียนเรื่องให้ตกท้องช้าง คือเขียนๆ ไปก็น่าเบื่อซะอย่างนั้น ซึ่งถ้าเปรียบ ‘ลายรักบนพักตรา’ เป็นอาหารแล้วจะเป็นอาหารอร่อยที่เราจะกินจนเกลี้ยงไม่เหลือแม้น้ำแกงสักหยดเดียวเลยค่ะ”
‘ลายรักบนพักตรา’ เรื่องราวที่นำงานศิลปหัตถกรรมโบราณมาเล่าผ่านครอบครัวครูทศที่เพื่อนๆ ชาวอ่านเอาจะได้อ่านชีวิตความเป็นไปของครอบครัวครูทศ ไปพร้อมๆ กับการได้รับความรู้เรื่องศิลปะการทำหัวโขนแบบไม่ยัดเยียด จะดีงามมากน้อยแค่ไหน คุณเท่านั้นที่จะบอกกับเราได้ แต่สำหรับ ‘จรัสพร’ นั้น เธอบอกว่า…
“การเดินทางตามฝันในดงอักษรของจรัสพร… แม้จะเขียนนิยายจบสักกี่เรื่อง ก็คงจะเป็นไปอย่างเดียวดาย ผลงานที่ผ่านมาจาก ‘มนตร์เบญจรงค์’ จรัสพร ไม่เคยถูกทอดทิ้งให้เป็นเช่นนั้นเลย นักอ่านทุกท่านเมตตา ติดตามและสนุกไปกับ ด็อกเตอร์ลงยา และน้ำทอง จนถึงบทสุดท้าย
“ลายรักบนพักตรา เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเสน่ห์แห่งการเล่าเรื่องผ่านบทประพันธ์จะสามารถตราตรึงให้ นักอ่านทุกท่านติดตามเข้ามาร่วมชายคาเรือนไม้ริมคลองบางหลวง หัวเราะและร้องไห้ไปกับบรรจงวาดเช่นกันค่ะ ขอบพระคุณที่ติดตามนะคะ”