เจาะชีวิตคุณนายฮวง… เป็นคุณนายไม่ใช่สบายนะจ๊ะ

เจาะชีวิตคุณนายฮวง… เป็นคุณนายไม่ใช่สบายนะจ๊ะ

โดย : YVP.T

Loading

‘(เรื่องเล่า) 6,200 วัน ในไต้หวัน’ คอลัมน์ อ่านออนไลน์ ที่พาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับแง่มุมต่างๆ ของประเทศไต้หวัน ซึ่งบางเรื่องก็มีเพียงคนในประเทศเท่านั้นจะรู้ แต่ในครั้งนี้ฮูกจะพาชาว อ่านเอา ไปรู้จักกับตัวตนของ ‘คุณนายฮวง’ สาวไทยช่างเล่า เจ้าของเรื่องราว ผู้ที่ความรักชักนำให้ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน ที่แม้จะจะต้องปรับตัวขนานใหญ่ แต่ก็ทำให้ได้สานต่อความฝันในวัยเยาว์

ก่อนจะเป็น ‘คุณนายฮวง’

“ชื่อจริงที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งคือ จินตนา ครองบุญยิ่ง ค่ะ ส่วนชื่อเล่นคือ ‘น้องน้อย’ เพียงแต่ชื่อนี้ไม่ค่อยมีคนเรียกเลยเพราะกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนสตรีวิทยาบอกว่าชื่อน่ารักเกินตัวเลยเรียกกันว่า ‘จินต์’ แทน แล้วก็เรียกกันมาจนกระทั่งมาเรียนปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมีเพื่อนจากโรงเรียนเก่ามาเรียนด้วยกัน แล้วพอเข้าทำงานที่ฝ่ายการเงินและการบัญชีของการบินไทย ก็มีเพื่อนที่คณะมาทำงานที่เดียวกันอีก พอไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Savannah College of Art and Design สหรัฐอเมริกา ก็ยังเจอเพื่อนร่วมรุ่นที่สตรีวิทย์เหมือนเดิม ชื่อ ‘จินต์’ ก็เลยไม่หายไปไหน จนได้มาอยู่ที่ไต้หวันนี่ล่ะค่ะ ถึงได้ใช้ชื่อเล่นจริงๆ ที่พ่อแม่ตั้งให้สักที เพราะที่นี่ไม่รู้จักใครเลยสักคน”

ตกลงปลงใจมาเป็น ‘คุณนายฮวง’

“บอกตามตรงว่า เป็น ‘คุณนายฮวง’ เพราะแต่งงานค่ะ เรารู้จักกันได้ เพราะไปขอความช่วยเหลือจากคนคุมแล็บในหอ แต่เขาช่วยไม่ได้ จึงแนะนำให้ไปหานักศึกษาคณะ Computer Art ที่พักอยู่ในหอเดียวกันชื่อ แอนดรูว์ หวาง ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนหน้านี้เราเคยกินข้าวด้วยกันบ่อยๆ เพราะเลือกอยู่หอที่ต้องกินข้าวของทางหอ ส่วนหนึ่งเพราะทำกับข้าวไม่เป็น ซึ่งหอพักที่มี Meal Plan เวลากินข้าวเนี่ย พวกเด็กเอเชียก็จะนั่งกินในคาเฟทีเรียด้วยกัน แต่ถึงจะกินข้าวด้วยกันบ่อยๆ แต่ก็จำไม่ได้หรอกค่ะว่าอาตี๋คนไหนคือแอนดรูว์

“กระทั่งต้องมาขอความช่วยเหลือนี่ล่ะค่ะ เลยจนต้องมาตามหาให้เขาช่วย เขาก็สอนให้นะ สอนไปสอนมาก็สนิทกัน แล้วเผอิญว่าแอนดรูว์เรียนภาษาอังกฤษห้องเดียวกับน้องคนไทยคนหนึ่งที่ค่อนข้างสนิทกัน เลยได้ไปเที่ยวด้วยกันอยู่บ่อยๆ แล้วเราก็เกิดไปสะดุดใจเขาตรงที่เขาต่างจากเด็กไต้หวันคนอื่นๆ คือ ปกติเด็กไต้หวันไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายจะเคี้ยวข้าวกันเสียงดังแจ๊บๆ แต่เขาตรงข้ามเลยค่ะ เคี้ยวข้าวเงียบมาก แถมยังเป็นคนที่มารยาทดี มีรายละเอียด อารมณ์ขัน ใจเย็น ขณะที่เราเป็นคนโผงผางเสียงดังกะเปิ๊บ กะป๊าบ ก็เลยประทับใจเขาขึ้นมา

“แต่สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจแต่งงานด้วย เพราะความที่เขาเป็นคนมีเมตตา ซึ่งสำคัญมากนะคะ เราสัมผัสได้ถึงสิ่งนี้ของเขา อีกอย่างคือเขาเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย นับจากวันแรกที่รู้จักกันจนมาถึงตอนนี้ยี่สิบกว่าปีแล้ว ก็ยังดูแลเราไม่เปลี่ยน คืออะไรที่ดีเขาก็ดีเหมือนเดิม ไอ้ที่ไม่ดีก็ไม่ดีอยู่อย่างนั้น (หัวเราะ)”

นับหนึ่งของ ‘(เรื่องเล่า) 6,200 วัน ในไต้หวัน’

“ด้วยความที่ในบ้านมีหนังสือให้อ่านเยอะมากๆ ถ้าไม่ได้ไปเดินห้างไทยไดมารูหรือไปเขาดินก็คืออยู่บ้าน ซึ่งพอไม่มีอะไรทำก็จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน เรียกว่าอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าเลยก็ว่าได้ และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่สั่งสมมาในตัวเองเรื่อยๆ เกิดเป็นความฝันว่า โตขึ้นอยากเป็นนักเขียน

“ประมาณ ม.2 ก็เลยเขียนเรื่องสั้นส่งไปที่นิตยสาร ‘ดิฉัน’ แต่พอไม่มีการตอบรับใดๆ เราก็รู้สึกเหมือนความฝันดับหายไปตั้งแต่ตอนนั้น จนกระทั่งน้องอ้วน (ลูกชายสี่ขาของเรา) มาจากไป แล้วได้อ่านหนังสือ ‘Marley and Me’ จึงเหมือนเป็นการจุดประกายอารมณ์อยากเขียนให้กลับมาอีกครั้ง เพราะอยากเล่าเรื่องของเรากับน้องอ้วน แต่พอจะลงมือเขียน สามีก็บอกว่าลองเขียนอะไรสั้นๆ ดูก่อนดีไหม เรื่องที่เราชอบอย่างเรื่องอาหารการกิน แล้วพอคล่องๆ ก็ค่อยเขียนเรื่องที่ยาวขึ้น ก็เลยเริ่มเขียน blog เกี่ยวกับร้านอาหารในไต้หวันที่ไปกินแล้วชอบ แปะบนเฟซบุ๊กให้เพื่อนๆ อ่าน เพื่อนก็ชอบกัน

“ทีนี้พอกลับมาเมืองไทยแล้วได้ไปร้านหนังสือ เห็นมีหนังสือเกี่ยวกับไต้หวัน แต่ส่วนใหญ่จะเขียนเกี่ยวกับที่เที่ยว ที่กิน ไม่เห็นมีแง่มุมอื่นเลย แล้วด้วยความที่เราเป็นคนสนใจประเทศต่างๆ ในลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น เลยอยากเขียนเล่าให้คนรู้จักไต้หวันในแง่มุมอื่นๆ บ้าง ประกอบกับอีกเหตุผลคือจากที่เคยทำงาน อยู่ดีๆ ก็กลายมาเป็นแม่บ้าน สมองเริ่มตาย ความจำแย่ลงเรื่อยๆ เลยมาลองเขียนกันดูหน่อย เพราะเคยอ่านเจอว่าการเขียนช่วยให้สมองทำงานดีขึ้น”

เป็นคุณนายฮวง…ไม่ได้สบายอย่างที่คิด

จากหมวยเยาวราชมาสู่ความเป็นคุณนายฮวงที่ไต้หวันไม่ใช่เรื่องง่าย  และเรื่องใหญ่ที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องของภาษา

“สำหรับที่นี่ถ้าไม่ได้ภาษาจีนก็จบกัน เหมือนคนหูหนวกตาบอดเป็นใบ้รวมกัน อย่างช่วงแรกๆ จะซื้อผ้าอนามัยทีก็ต้องลากสามีไปซูเปอร์มาร์เกตเพื่อให้เขาช่วยอ่านซองให้ แต่คุณสามีก็ไม่รู้ว่า sanitary pad กับ panty liner มันต่างกันยังไง ภาษาจีนเรียกว่าอะไร ส่วนตัวเองดูรูปแล้วก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าใช่แบบที่ต้องการรึเปล่า ไหนจะต้องปรับตัวจากเวิร์กกิ้งวูแมนมาเป็นแม่บ้าน หัดทำกับข้าวอีก เพราะในชีวิตนี้ไม่เคยคิดจะเป็นแม่บ้านเลย เรื่องกับข้าวกับปลานี่ไม่มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง แต่ก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเลือกทางเดินของเราแล้ว

“ส่วนเรื่องวัฒนธรรมนี่พอไหว เพราะเราก็หมวยนี่คะ (หัวเราะ) แต่แนวทางปฏิบัติมันก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ด้วยความที่เราโตที่เมืองไทยก็ยังติดวิถีไทยๆ อยู่ ก็ต้องคุยอธิบายแนวคิดกันพอสมควร บางทีจะตีกันตายเพราะเรื่องความคิด วิธีปฏิบัติที่ต่างกัน แต่ก็ทำให้เราเรียนรู้ที่จะประนีประนอมมากขึ้น  ที่เคยเป็นสาวมั่น ก็ต้องลดดีกรีลงหน่อย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังพยายามลดอัตตาลงอยู่นะ (หัวเราะ)

“สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการอยู่ที่นี่น่าจะเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของชีวิตค่ะ เพราะที่นี่มีภัยธรรมชาติที่เลี่ยงไม่ได้อย่างพายุไต้ฝุ่นกับแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นเมื่อไรไม่รู้ ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น อย่าทำอะไรที่อาจทำให้เสียใจภายหลัง ทำวันนี้ให้ดีที่สุด อย่าจิตตกกับข่าวสารที่ได้ยิน อีกเรื่องคือต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างชนชาติ อย่าใช้ตัวเราเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคนอื่น บางทีไม่ต้องเข้าใจก็ได้ แค่ยอมรับความแตกต่างให้ได้ก็พอ”

ทุกๆ วันในไต้หวันคือ ‘เรื่องเล่า’ ไม่มีวันจบ

มุมมองเรื่องชีวิตต่างแดนที่เต็มไปด้วยสีสันกับความจริงที่ได้เจอในทุกวัน เป็นเรื่องที่ถูกถามอยู่เสมอ และเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งที่ทำให้อยากเขียน อยากเล่าให้ฟังในหลายแง่งมุม

“ถ้าถามว่าไต้หวันเป็นประเทศที่น่าอยู่ไหม ตอบเลยว่าโดยรวมแล้วคุณภาพชีวิตของคนชั้นกลางที่นี่ดีกว่าเมืองไทยเยอะนะคะ ระบบสวัสดิการสังคมทำให้รู้สึกว่าภาษีที่จ่ายไปมันคุ้มค่า แต่เรื่องแย่ๆ ก็มี โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบหรอก อย่างการเมืองที่นี่น้ำเน่าไหม? ก็มีบ้าง แต่ยังคงมีโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยตามทฤษฎีที่ใช้ได้พอสมควร สื่อมีเอียงมีเข้าข้างฝ่ายไหนไหม? ก็มี แต่เราก็เลือกดูไปหลายๆ ช่อง จะได้รับข้อมูลข่าวสารจากทุกฝ่าย แล้วก็มาใช้วิจารณญาณของเราเอง คนมีระเบียบทำอะไรตามกฎเกณฑ์ไหม? ก็ไม่ทั้งหมด คนไร้ระเบียบก็มี ไม่มีมารยาทก็เยอะ แต่คนดีมีน้ำใจก็มีมากเช่นกัน เราก็ต้องทำใจบ้าง ใช้อารมณ์ขันเข้าช่วยกับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าไต้ฝุ่นจะเข้า แผ่นดินจะไหว ก็ต้องพยายามทำใจให้นิ่ง ตั้งสติเตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา

“และอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อันนี้จริงนะคะ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง และบอกตัวเองว่า สู้ต่อไปค่ะ เพราะการใช้ชีวิตในต่างแดนไม่ว่าจะที่ไหนต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวเสมอ ยิ่งเป็นชีวิตของการเป็นคุณนายฮวงด้วยแล้วล่ะก็ บอกเลยค่ะว่า กว่าคุณนายจะมาถึงจุดนี้  ไม่ใช่สบายๆ นะคะ

Don`t copy text!