การ ‘ใช้ชีวิต’ เพื่อเป็นวัตถุดิบในเรื่องเล่าตลอด 10 กว่าปี บนถนนสายนักเขียนของ ภัสรสา เจ้าของผลงาน เกมอาชา
โดย : แพร ปุโรทกานนท์
“จะพูดยังไงดีนะ (หัวเราะ) คือด้วยความที่เราเอ็นดูเขา
เราก็รู้สึกว่าบางทีม้าก็เป็นสัตว์ที่ติงต๊องนะ น่ารัก ฉลาด
ในขณะเดียวกันก็มีความแสบ ม้าจะรู้ว่าคนขี่รู้สึกอย่างไร
แต่ม้าแต่ละตัวก็นิสัยไม่เหมือนกัน ถ้าใจดีหน่อยก็จะไม่แหย่คนขี่มาก
เขาจะมีอะไรที่ทำให้เรายิ้มได้”
ภัสรสา หรือ อ้น -อาภัสพร สุภาภา ยิ้มรื่นรมย์ขณะเอ่ยปากพูดถึงม้าซึ่งเป็นตัวประเด็นหลักในนวนิยายเรื่องล่าสุดของเธอ เกมอาชา ซึ่งกำลังเข้มข้นและใกล้ดำเนินมาถึงตอนจบขึ้นทุกที หากวัดจากจำนวนผลงานของ ภัสรสา ที่เนื้อเรื่องจากปลายปากกาของเธอมี ‘ม้า’ เป็นตัวละครสำคัญ คงจะพอสะท้อนได้ว่าเธอมีใจหลงรักเอ็นดูเพื่อนร่วมโลกแสนสง่างามนี้มากเพียงใด
อ้นบอกว่าเธอเขียนนิยายเรื่องเกี่ยวกับม้ามา 3 เล่มแล้ว โดยเริ่มจาก เกมกาเหว่า, เกมกุญชร และเกมอาชา เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นและเหตุผลที่ทำให้เธอชอบม้า อ้นตอบว่า “พอดีอ้นกำลังจะรีพรินท์ผลงานเก่าของตัวเอง และก่อนจะเขียนนวนิยายชุดม้า ก็พบว่าอ้นชอบม้ามานานมากแล้ว เพราะผลงานเก่าของเราหลายๆ เล่ม มีที่พูดถึงม้าอย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่เพราะตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีข้อมูลอะไรมาก เราก็แค่เขียนว่าตัวละครกำลังคิดจะเลี้ยงม้า มันเป็นความสนใจที่พาเราลงลึก แล้วพอได้ข้อมูลมาก็ โอ้โห มันน่าสนใจมากเลย”
ผลงานภายใต้นามปากกา ภัสรสา ถูกพูดถึงมากขึ้นในแวดวงนักอ่านว่าเป็นนิยายรัก ที่มักสอดแทรกประเด็นอื่นๆ ที่ชวนขบคิด นับถึงวันนี้ก็ 14 ปีเต็มแล้วที่นักเขียนสาวอยู่บนถนนสายนักเขียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เขียนเต็มตัวให้กับสำนักพิมพ์แจ่มใสในปี พ.ศ. 2547 แต่หากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น อ้นบอกว่าเธอเริ่มสนใจการเขียนมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม 2 โดยเริ่มจากการเขียนกลอนหวานๆ ก่อนจะเปลี่ยนแนวมาเป็นเรื่องสั้นช่วงมัธยมปลาย
“ตอนที่เริ่มเขียนแรกๆ อ้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เราเขียนด้วยความรู้สึกอยากเขียน แต่ปัจจุบันนี้ มันเป็นการทำงานที่ยากขึ้น เพราะเราโตขึ้น เราเริ่มคิดว่าผลงานของเรามันจะสร้างผลกระทบอะไรได้บ้าง เริ่มมีการร่อนตะแกรงมากขึ้น อย่างช่วงแรกๆ พล็อตหลักจะเป็นเรื่องความรักสัก 80% ที่เหลืออีก 20% ก็เป็นเรื่องอื่นๆ แต่พอโตขึ้นๆ สัดส่วนของความรักมันลดลงเรื่อยๆ กลายเป็นเรื่องอื่นแทรกเข้ามาแทน”
อ้นเล่าเพิ่มเติมว่าพล็อตมากมายที่เธอนำมาเขียน จนกระทั่งออกผลงานมามากกว่า 40 เรื่องแล้ว ได้มาจากการใช้ชีวิต ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูเส้นทางกว่าจะเป็นภัสรสาอย่างทุกวันนี้ เราพบว่าอ้น ‘ใช้ชีวิต’ อย่างที่เธอบอกจริงๆ ทั้งการเลือกเรียนมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด เลือกเรียนด้านการจัดการธุรกิจ ตลอดจนการฝึกงานแทบจะทุกชั้นปี ในสาขาที่แตกต่างกันออกไป
“อ้นพยายามบอกเสมอว่าคนเป็นนักเขียนอย่าหยุดใช้ชีวิต แต่การใช้ชีวิตมันมีหลายแบบ บางคนตีความไปว่า ต้องเที่ยวกลางคืน อะไรแบบนั้น ซึ่งอ้นก็ไม่ใช่สายนั้น อ้นก็แค่เที่ยวต่างจังหวัด เที่ยวต่างประเทศ ไปหาอะไรใหม่ๆ ให้ตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้บางอย่างในหัวเรามันแตกตัว บางทีแรงบันดาลใจแป๊บๆ มันก็มา”
“อ้นเรียนด้านการจัดการธุรกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จังหวัดพิษณุโลกค่ะ พอเรียนจบตอนปี 2546 ก็ทำงานประจำอยู่ประมาณปีครึ่ง คือจริงๆ ใจอ้นอยากออกอยู่แล้ว แต่อ้นต้องการแค่หลักฐานมายืนยันกับครอบครัวว่าทำได้นะ อ้นก็รอจนนิยายเล่มแรกของตัวเองออก แล้วก็ออกจากงานเลย อ้นรู้สึกว่าเรื่องการจัดการธุรกิจมันสำคัญนะ เพราะเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้หลายๆ อย่าง อ้นเอามาใช้กับนิยายเยอะมาก พระเอกส่วนใหญ่ก็ทำธุรกิจ เราก็จะมีความเข้าใจตรงนี้ว่ามันต้องทำอะไรบ้าง ตอนปี 2 อ้นฝึกงานกับบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ ปี 3 ไปฝึกงานฟาร์มดอกไม้ที่ญี่ปุ่น ปี 4 ฝึกงานกับบริษัทท่องเที่ยว การที่อ้นได้สัมผัสงานหลากหลายสาขา มันทำให้อ้นมีต้นทุนในการเขียนนิยายเยอะมาก วัตถุดิบเป็นสิ่งที่จำเป็นมากจริงๆ สำหรับนักเขียนนิยาย”
การใช้ชีวิตอีกรูปแบบที่สำคัญไม่แพ้การออกไปเผชิญโลกกว้าง คือการเดินทางในโลกของหนังสือ อ้นสังเกตตัวเองมาตั้งแต่เด็กว่าชอบอ่านอะไรที่เป็นเรื่องราว หนังสือเรียนบางเล่มเธออ่านจบก่อนวันเปิดเทอมใหม่จะมาถึงเสียด้วยซ้ำ “อย่างมานี มานะ ปิติ ชูใจและแมวของนาง อ้นอ่านจบเล่มตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอมเลย หรือวิชาพุทธศาสนาเราก็จะชอบอ่านนิทานชาดก แล้วก็ชอบอ่านการ์ตูนผีเล่มละบาท แล้วก็มีหนังสืออะไรเอ่ย ส่วนนิยายมาเริ่มอ่านจริงจังคือช่วงเข้ามหาวิทยาลัย ได้รู้จักงานของพี่ปุ้ย กิ่งฉัตร จำได้ว่าตะลุยอ่านผลงานพี่ปุ้ยทั้งวันเลย พี่ปุ้ย กิ่งฉัตรเป็นนักเขียนคนแรกที่ทำให้อ้นชอบการอ่านนิยาย แล้วก็ตามมาด้วยทมยันตี ลักษณวดี ก็ไล่อ่านมาเรื่อยๆ แต่ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้เริ่มเขียนอีกครั้งหลังจากวางปากกาไปนานมาก ก็คือเรื่องสั้นของสำนักพิมพ์แจ่มใส ‘ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก’ พออ่านๆ ไปเราก็รู้สึกว่าอยากเขียนแบบนี้บ้าง”
“เรามีจักรวาลของเรา เราสามารถสร้างโลกแบบที่เราต้องการได้
เราอยากให้สังคมเป็นยังไง เราสามารถใส่ได้ในนิยายของเรา”
กว่าสิบปีที่ผ่านมา ภัสรสา มีฐานแฟนนักอ่านที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างอบอุ่น ทั้งกลุ่มที่คอยสนับสนุนมาตั้งแต่เธอเขียนให้สำนักพิมพ์แจ่มใส ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่เธอเปิดสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง และแม้นำผลงานมาเผยแพร่ผ่านอ่านเอา แฟนๆ นักอ่านก็ยังคงติดตามอย่างเหนียวแน่น อ้นเผยถึงกลวิธีค้นหานักอ่านของเธอจนเจอ นั่นก็คือการเป็นตัวของตัวเอง ไม่ผลิตงานตามกระแสที่มาแล้วก็ไป
“ตัวตนเราคือสิ่งที่อยู่กับเราค่ะ เราทำในสิ่งที่เราอยากทำก่อน แล้วอ้นว่าหลายๆ อย่างก็จะตามมาเอง สำรับตัวอ้นเอง สิบกว่าปีที่ทำงานมา อ้นก็รู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ในระดับกลางๆ ยังไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จหรือโด่งดังอะไร เราก็แค่ทำงานของเราไป”
“ผลงานที่ลงกับอ่านเอาตอนนี้ก็ให้ความรู้สึกต่างออกไปจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่อาจจะเน้นให้นักเขียนขายให้มีรายได้ ซึ่งยุคแรกของอ้นจริงๆ คือ ถนนนักเขียนที่พันทิป ยังเป็นการให้อ่านฟรี มีนักอ่านเข้ามาช่วยอ่าน พูดคุยเฮฮากัน ซึ่งอ้นรู้สึกว่าอ่านเอาทำให้เรารู้สึกถึงตรงนั้น แล้วก็รู้สึกว่าความกดดันมันน้อยกว่า เพราะอ่านเอามีทีมงานที่คอยกรองก่อนที่เรื่องของเราจะเผยแพร่ออกไปด้วย”
แนวคิดในการทำงานของอ้นสะท้อนชัดผ่านผลงานตลอดมาของเธอ หลายเรื่องเป็นการก้าวข้ามกรอบบางอย่างของตัวเอง หลายเรื่องคือความสนใจส่วนตัวที่เธออุทิศเวลาลงไปเรียนรู้ เช่น เรื่องม้าที่เธอพาตัวเองเข้าไปคลุกคลีนับถึงวันนี้ก็ 3 ปีแล้ว จนเกิดเป็นผลผลิตนิยายชุดม้า รวมถึงลูกรักเรื่องล่าสุดอย่างเกมอาชา ที่เจ้าตัวบอกว่าเขียนยากมากจนเกือบจะถอดใจ
“ตอนนี้รักเกมอาชาที่สุด เพราะรู้สึกว่ายากมาก (ลากเสียงยาว) ไหนจะต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับหมอม้าซึ่งเราไม่ได้เป็นหมอ แล้วยังมีพีเรียดอีก วิธีที่ดีที่สุดคือหาวรรณกรรมในยุคนั้นมาอ่าน อย่างเกมอาชา เขียนถึงอยุธยาตอนต้น อ้นก็เอาขุนช้างขุนแผนมาอ่าน ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง ช่วง 10 บทแรกที่เขียน อ้นประสาทเสียไปเลย ถึงขนาดไปบ่นกับเพื่อนว่าทำไงดี รู้สึกไม่มั่นใจเลย จะขอถอนเรื่องจากอ่านเอาได้ไหม แต่สุดท้ายก็ให้กำลังใจตัวเองกลับมาจนได้”
“ตอนแรกๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องม้าจริงจัง อ้นรู้สึกว่าม้าเป็นสัตว์ที่เท่ คนที่ขี่ม้านี่เท่มาก และนึกว่าเลี้ยงม้าไว้เหมือนปางช้างน่ะ (หัวเราะ) คิดอย่างนั้นจริงๆ คือนึกว่าเลี้ยงไว้ให้คนไปขี่เล่น อ้นไม่รู้ว่ากีฬาที่ใช้ม้ามีอะไรบ้าง แต่พอมารู้จักจริงๆ แล้วมันก็มีหลายแบบ อ้นชอบ เอ็นดูแรนซ์ (การแข่งม้ามาราธอน) ที่เขียนอยู่ในเกมอาชาน่ะค่ะ ม้ากีฬา กับม้าแข่งเป็นคนละแบบกัน ม้ากีฬาเป็นม้าที่แข่ง Jumping แข่งเอ็นดูแรนซ์ อะไรแบบนั้น แต่ถ้าเป็นม้าแบบ racing ก็จะเรียกว่าม้าแข่ง แบบที่สนามม้านางเลิ้ง ที่วิ่งทำความเร็ว แบบนั้นอ้นจะไม่ค่อยได้เข้าไปยุ่งเท่าไร อ้นจะเน้นมาทางม้ากีฬามากกว่า”
นิยายเกี่ยวกับม้าของภัสรสาถือเป็นนิยายเล่มแรกๆ ของเมืองไทยที่สร้างให้ม้าเป็นประเด็นและตัวละครสำคัญ ตั้งใจให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลม้าสอดแทรกไปกับเนื้อเรื่องสนุกสนาน หวังให้คนอ่านได้ทั้งความเพลิดเพลิน และแง่มุมเกี่ยวกับม้าที่เป็นประโยชน์ “ด้วยความที่เราติดตามหมอไปหาข้อมูล เวลาเขาคุยเคสกัน เราฟังแล้วเราก็คิดว่าบางเคสมันไม่ใช่เรื่องที่น่าจะเกิดขึ้น แต่มันเกิดจากความไม่ใส่ใจหรือไม่เข้าใจของคนเลี้ยงและคนขี่ เช่น ความคิดที่ว่าม้าเกิดมาเพื่อวิ่งก็พามันวิ่งวนอยู่อย่างนั้น 2-3 ชั่วโมง หรืออย่างบางคนเลี้ยงม้ามา 30-40 กว่าปี คิดว่าตัวเองรู้ดีอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่ทำมาบางทีมันอาจจะผิดมาตลอดก็ได้นะ”
การสร้างโลกแห่งเรื่องเล่าได้อย่างใจเช่นนี้ ภัสรสายอมรับว่าเป็นเสน่ห์อันดับต้นของอาชีพนักเขียนเลยทีเดียว “เรามีจักรวาลของเรา เราสามารถสร้างโลกแบบที่เราต้องการได้ เราอยากให้สังคมเป็นยังไง เราสามารถใส่ได้ในนิยายของเรา เวลาเราไปเจอคนที่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยโอเค เราก็สามารถเอามาเขียนในลักษณะที่ทำให้เขาดีขึ้นก็ได้ในนิยายของเรา”
สำหรับนิยายเรื่องใหม่ ภัสรสาแง้มให้ฟังแบบติดตลกว่า เริ่มเขียนไปได้ 5 หน้าแล้ว ระหว่างนี้หากอยากติดตามผลงานของเธอก็อ่าน ‘เกมอาชา’ ซึ่งใกล้จะจบแล้วได้ทางเว็บไซต์อ่านเอา
“นิยายทุกเรื่องที่ลงอ่านเอา ทางทีมงานคัดสรรมาแล้ว ก็อยากฝากให้ตามอ่านกันค่ะ อย่าเพิ่งมีกำแพงว่า เอ๊ะ เรื่องนี้นักเขียนเป็นใครไม่รู้จัก อยากให้เชื่อมั่นในทีมงานอ่านเอา ลองเปิดใจอ่านทุกเรื่องเลยค่ะ” (ยิ้ม)