ต่อจิกซอว์แห่งความทรงจำกับ ปิยะพร ศักดิ์เกษม…ผ่านนวนิยายขึ้นหิ้ง ในวารวัน ตะวันเบิกฟ้า ขอบฟ้าราตรี

ต่อจิกซอว์แห่งความทรงจำกับ ปิยะพร ศักดิ์เกษม…ผ่านนวนิยายขึ้นหิ้ง ในวารวัน ตะวันเบิกฟ้า ขอบฟ้าราตรี

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

กองดองทั้งหลายเตรียมเงินในกระเป๋าสตางค์ให้พร้อม เพราะสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งนี้ สำนักพิมพ์กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง ปล่อยของอีกแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำผลงาน ‘ชุดแม่วัน’ ที่มีเรื่องในวารวัน ตะวันเบิกฟ้า และขอบฟ้าราตรี อีกผลงานขึ้นหิ้งของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๔ มาตีพิมพ์อีกครั้ง พร้อมกับปกใหม่ที่สวยจับใจนักอ่านแน่นอน และในโอกาสนี้เราเลยไม่พลาดที่จะชวน ‘พี่เอียด-นันทพร ศานติเกษม’ เจ้าของนามปากกาชื่อดังมาย้อนวารวันพูดคุยถึงผลงานสุดประทับใจอีกครั้ง

ในครั้งแรกจากที่ตั้งใจว่าจะพูดคุยถึงนิยายชุดแม่วันที่มีอยู่ด้วยกันสามเรื่อง กลายเป็นว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็เกิดคำถามระหว่างทางที่อยากจะรู้เพิ่มขึ้น นั่นจึงทำให้บทสัมภาษณ์ครั้งนี้ต้องแบ่งออกเป็น ๒ ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกจะเป็นการเล่าถึงที่มาของบทประพันธ์ซึ่งอิ่มเอมไปด้วยอรรถรส ความสนุก และความทรงจำที่พี่เอียดตั้งใจบันทึกและจัดวางโครงสร้าง ลงรายละเอียดไว้อย่างน่าประทับใจ ส่วนครั้งที่สองจะเป็นเรื่องราวของความมุ่งมั่นตั้งใจจนทำให้พี่เอียดสามารถสร้างฝันในการก้าวสู่ถนนนักเขียนและยืนระยะมาได้กระทั่งถึงวันที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๔ และยังมีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดความรู้ของตัวเองให้กับนักเขียนรุ่นต่อๆ ไป

 

ตอนที่ ๑ ในวารวัน บันทึกจิกซอว์แห่งความทรงจำที่ไม่ควรหายไป

ถึงแม้นวนิยายเรื่องในวารวันจะมีอายุประมาณ ๒๐ ปีแล้ว แต่เชื่อว่านักอ่านรุ่นใหม่หลายคนก็คงอยากจะรู้ว่าการสร้างสรรค์ผลงานเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และใครกันนะที่เป็นตัวจริงของตัวละครในเรื่องนี้บ้าง?

“ที่มาของนิยายเรื่องนี้เริ่มจากพี่อยากจะเขียนเรื่องที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นั่นเพราะนิยายประวัติศาสตร์ที่เห็นส่วนใหญ่เท่าที่อ่านมา ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับราชสำนัก เรื่องของสาวชาววัง ลูกสาวขุนนาง เลยมาคิดว่าเราก็มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอยู่บ้างเหมือนกัน และเป็นจิกซอว์ชิ้นหนึ่งที่ไม่ควรจะหายไปจากความทรงจำ เลยคิดอยากเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นของเราผ่านชีวิตสาวชาวบ้าน และมองว่าเรื่องคนใกล้ตัวที่สุดคือดีที่สุด พี่โตมากับคุณยายและได้รับรู้ชีวิตของท่านผ่านการพูดคุย เพราะว่าคุณยายจะมีญาติ มีคนนั้นคนนี้คอยมาพูดคุยด้วย พี่เองเป็นเด็กที่ชอบอยู่กับยาย บ้านแม่ก็อยู่ในบริเวณบ้านท่าน แล้วก็จะเดินไปนั่งอ่านหนังสืออยู่เป็นเพื่อนยายเลยได้ฟังเรื่องเหล่านี้เยอะ

ทีนี้พอมีข้อมูลหลายๆ อย่างที่ปัจจุบันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ถึงขนาดที่ว่าเด็กยุคใหม่ไม่เชื่อว่าคนสมัยก่อนในแต่ละซอยไปมาหาสู่กันด้วยการพายเรือเพราะหายไปตามกาลเวลา สภาพบ้านเมือง สภาพสังคมก็เปลี่ยนไป เลยอยากบันทึก อยากเก็บประวัติศาสตร์ส่วนนี้ไว้ ประกอบกับชีวิตของคุณยายบางส่วนสนุกมากก็เลยอยากเขียน” พี่เอียดได้เล่าย้อนถึงการเขียนนิยายชุดนี้ด้วยน้ำเสียงที่มีความสุข

“แต่ก็ไม่ใช่ดึงชีวิตของคุณยายมาเล่าเสียทั้งหมดนะคะ เพียงแต่หยิบบางส่วนมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ พี่เลยนำมาเขียนเป็นนิยายโดยที่วางเค้าโครงเรื่องทั้งสามเรื่องพร้อมกันคือ ในวารวัน ตะวันเบิกฟ้า ขอบฟ้าราตรี ถ้าคนที่อ่านทั้งสามเรื่องติดต่อกันจะพบว่าเรื่องแรกคือในวารวันจะมีรสชาติแบบละเมียดละไม เล่าเส้นทางการต่อสู้ ก่อร่างสร้างตัว แล้ววางเรื่องต่างๆ วางชีวิตของแม่วันเอาไว้อย่างละเอียด

นิยายเรื่องนี้เป็นการเล่าพื้นฐานชีวิต เป็นเรื่องราวสนุกสนานในมุมของแม่วันเมื่อยามเป็นเด็กและเป็นสาว ซึ่งอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่าอยากจะเก็บรายละเอียดของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพราะฉะนั้นเล่มแรกเลยเขียนค่อนข้างละเอียดมาก บางคนบอกว่า ‘ดูซิ บทที่ ๑๐ นางเอกยังหัวจุกและยังทำห่อหมกกันอยู่เลย’ นั่นก็คือสิ่งที่ตั้งใจจะบันทึกเอาไว้ เพราะว่าสิ่งนี้ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา ลองนึกถึงเรื่องบ้านเล็กในป่าใหญ่ นั่นก็บรรยายละเอียดตั้งแต่หน้าต่าง กระจก อเมริกันในยุคบุกเบิก เวลาหิมะตกแล้วมีฟรอสเป็นยังไง เวลาเขาเลี้ยงหมู ฆ่าหมู เพื่อจะเอามาทำไส้กรอก เอามากิน เอามาหมักเป็นเนื้อเค็ม เอาหางหมูมาย่างให้เด็กๆ มานั่งสนุกสนานหน้าเตาผิง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนอเมริกันยุคใหม่ก็ไม่เคยเห็น แต่ว่าเด็กและคนยุคใหม่จะได้อ่านจากหนังสือเรื่องนี้ พี่เลยอยากให้ในวารวันได้ทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย

พอมาถึงเล่มสอง ‘ตะวันเบิกฟ้า’ ก็เขียนเรื่องให้เบานิดหนึ่ง เป็นลักษณะของนิยายที่เป็นนิยายจริงๆ มีพระเอก นางเอก มีบทตลก มีตัวอิจฉา บรรยากาศเป็นยุค พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งในยุคนั้นจะมีสภาพการดำเนินชีวิตอีกแบบ เรื่องนี้แม่วันเป็นคุณย่า ตัวเอกเลยเป็นหลานย่าของแม่วัน ส่วนเล่มที่ ๓ แม่วันเป็นคุณยาย ตัวเอกเป็นหลานยายของแม่วัน เป็นช่วง พ.ศ.๒๕๑๗ บวกลบไป พี่จะวางเรื่องชีวิตของแม่วันไว้เป็นเส้นเดียว แต่ว่าตัดออกเป็นสามส่วน โดยที่มีตัวเอกตัดออกเป็นสามชุดต่างกัน นี่เป็นสิ่งที่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่แรกแล้ว”

ถึงแม้ชุดแม่วันจะมีด้วยกัน ๓ เล่ม แต่ทุกเล่มก็จบในตัวเองทั้งนั้น แฟนๆ นักอ่านที่มองว่าอาจจะยาวเกินไปสามารถแยกอ่านได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำว่าถ้าได้อ่านต่อเนื่องกันทั้งหมดจะเป็นอะไรที่สนุกจัด อิ่มเอมและครบรส นั่นเพราะจะได้เห็นความเป็นไปในชีวิตของตัวละครต่างๆ ที่เรารู้จัก บางคนทำให้เราทั้งแอบลุ้น บางคนทำให้เราแอบสะใจ แต่บางคนก็แอบทำให้สะเทือนใจ หรือแอบมีความสุขไปกับการดำเนินชีวิตและการตัดสินใจของพวกเขา

“จริงๆ แล้วเขียนในบทความก็ได้นะคะ แต่การนำมาแทรกในนิยายสามารถเป็นน้ำ เป็นเนื้อ เป็นรสชาติ เป็นการเคลื่อนไหวของตัวละครได้ เลยนำมาแทรกในนิยาย คนที่อ่านไปถ้าอ่านแล้วสร้างภาพ สร้างจินตนาการไปด้วยก็จะไม่รู้สึกยืดเยื้อหรือว่าน่ารำคาญอะไร เพราะว่าเห็นภาพไปด้วย และภาพอดีตเหล่านี้ก็จะซึมซาบเข้ามากลายเป็นความรู้ส่วนหนึ่งในตัวของเขา

อย่างเช่น จะมีบทหนึ่งที่เล่าเรื่องการทิ้งกระจาดหรือทิ้งทานที่สมัยนี้ก็ไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะว่าถูกห้ามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เนื่องจากทางกฎหมายบ้านเมืองมองว่าเป็นภาพที่ไม่น่าดู มีการแย่งชิงกันก่อให้เกิดอันตราย เขาก็เลยให้เลิก แต่พี่ก็เอามาเขียนและบันทึกไว้ในนิยายให้ได้เห็น ในขณะเดียวกันถ้าเขียนโล้นๆ ก็จะไม่เกี่ยวเนื่องกับในเนื้อเรื่องของเรา เลยให้ตัวผู้ร้ายไปโกงในงานนั้นแล้วพระเอกไปจับได้ ซึ่งจะได้กลมกลืนกับเนื้อเรื่อง ตรงนี้ก็คือการร้อยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ร้อยเรื่องราวข้อมูลเก่าๆ มาใส่ในเรื่อง เป็นวิธีการหนึ่งของการบันทึก นี่คือสิ่งที่ตั้งใจทำ นอกจากนี้ก็คือถอดชีวิตส่วนหนึ่งของคุณยายและอยากให้คนได้เห็นว่า คนเราถ้าขยันทำมาหากิน รู้จักเก็บออม รู้จักมีจิตใจเอื้อเฟื้อกับญาติพี่น้อง ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จและสงบสุขได้ ถึงแม้เริ่มต้นมาจากติดลบ เพราะว่าแม่วันนี่ติดลบเลยนะ พ่อไม่มี แม่ไม่มี ต้องอยู่อาศัยในบ้านของคนอื่น ต้องทำงานรับจ้าง แต่ด้วยคุณธรรม ความดี และคุณสมบัติที่เล่ามาก็สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาได้ อยากจะเขียนและถ่ายทอดความคิดตรงนี้ขึ้นมาด้วยค่ะ”

การเล่าแบบถอดหัวใจเขียนของพี่เอียดบอกเลยว่าไม่เสียเปล่า เพราะแฟนๆ นักอ่านอย่างเราๆ เมื่อได้อ่านนิยายเล่มนี้ หลายคนก็ถึงกับนั่งสำรวจศีล ๕ และฆราวาสธรรม ตามแบบฉบับที่แม่วันยึดมั่นกันอย่างละเอียด

“ในวารวันนี่พอเขียนแล้วก็ดีใจนะคะ เพราะนักอ่านบางท่านอ่านแล้วก็เขียนจดหมายมาหาบอกว่าได้อ่านเรื่องนี้แล้วทำให้รู้สึกมั่นใจในการทำความดีมากขึ้น เพราะว่าในชีวิตของแต่ละคนมันก็จะอาจมีคำถามในบางช่วงของชีวิตว่าทำดีได้ดีมีจริงหรือ? เพราะว่าเราเห็นคนทำความชั่วได้ดีมีเยอะ แต่ว่าจริงๆ แล้วในเรื่องนี้ก็จะบอกว่าพอถึงเวลาที่บุญหมด กรรมชั่วก็จะตามมาตามความเชื่อของคนโบราณ อย่างเช่น ทวินันนท์ในตะวันเบิกฟ้า ขอบฟ้าราตรี ที่จะเห็นว่าเขาเกิดมาในครอบครัวที่ดีมาก ทำบุญมาดีก็เลยเกิดมาในครอบครัวที่ดี แต่ว่าไม่ได้สร้างบุญใหม่เลย ตอนจบก็จะพบกับสภาพที่เราได้เห็นกันในเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความสนุกนะคะ อยากให้คนอ่านนอกจากได้ความสนุกแล้วก็ได้เก็บแง่คิด เก็บวิธีการดำเนินชีวิต เก็บสิ่งต่างๆ ที่เป็นความรู้รอบตัว รวมถึงเรื่องการใช้ภาษาด้วย”

บ้านแม่วันพ่อเทิด
สะพานทางเดินจากบ้านไปยังโรงเรือนเทียบเรือโป๊ะที่เห็นอยู่ทางซ้ายมือในภาพ

ตะวันเบิกฟ้า ถึงเวลาผ่อนหนักให้เป็นเบา

หลังจากเข้มข้นกันทั้งเรื่องในวารวัน พอมาถึงนิยายตอนต่ออย่างตะวันเบิกฟ้า พี่เอียดเลยขอผ่อนอารมณ์ลงมานิดหนึ่ง “ตอนที่วางพลอต เรารู้ว่าเขียนเรื่องในวารวันเป็นเรื่องแบบนี้ มาถึงเรื่องตะวันเบิกฟ้า เลยให้เบาหน่อย เพื่อเป็นการผ่อนคนอ่านจะได้ไม่หนักจนเกินไป ให้เบาในสบายอารมณ์หน่อย เพราะพอถึงเรื่องขอบฟ้าราตรีจะค่อนข้างหนักอีก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหนักจนเกินเหตุ เพราะได้พยายามสร้างตัวละครที่ผ่อนคลาย อย่างเช่น ปีทองกับหมอฉมา ปิยธิดากับโชดก ซึ่งโชดกเป็นคนตลก ขบขัน มีมุมมองที่น่ารักน่าเอ็นดู ก็เลยพอจะผ่อนได้ แล้วก็ยังมีความแซบของทวินันท์ที่ทำให้เรื่องมีรสชาติอีกด้วย

ตะวันเบิกฟ้าพี่ตั้งใจจะเขียนเรื่องให้เป็นนิยายเพื่อที่จะผ่อนอารมณ์ผู้อ่านจากความดิ่งในบางประเด็นของทั้งสองเรื่องที่ปิดหน้าปิดหลัง เรื่องนี้ตั้งใจจะพูดถึงกิเลสของคนซึ่งก็คือทวินันท์ เนื่องจากทวินันท์คิดว่าตัวเองเกิดมาแล้วสูงกว่า ดีกว่าคนอื่นตลอด แล้วยังถูกเป่าด้วยลมปากของบริวาร เลยทำให้อยู่ในสภาพที่ไม่มีวันปีนขึ้นมาจากหลุมกิเลสนั้นได้ (นิยายเรื่องนี้เหมือนกับพี่เอียดจะบอกว่าการเลือกคบคนก็สำคัญมาก) ใช่ พอมีกิเลสมีความหลงในตัวเองแล้วก็จะไม่สำรวจตัวเอง ไม่สำรวจคนรอบข้าง สายตาก็ไม่เที่ยงตรง แล้วก็ละทิ้งความรักความผูกพันที่แท้จริงของคนในครอบครัวไป เรื่องนี้ประเด็นเบาที่สุด ส่วนขอบฟ้าราตรีเป็นประเด็นของเรื่องศักดิ์ศรีผู้หญิงคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องการจะสะท้อนถึงภัยร้ายของยาเสพติดว่าไม่ได้ทำร้ายผู้เสพเท่านั้น แต่ยังทำร้ายทุกคนที่อยู่รอบๆ ตัวด้วย”

ท้องฟ้าแห่งความมืดมิดของขอบฟ้าที่ไม่มีอยู่จริง

พอมาถึงนิยายเล่มที่สามที่บอกว่าเข้มจัดจนอาจต้องร้องขอชีวิต เพราะประเด็นที่เล่านั้นล้วนหน่วงใจคนอ่านเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยชั้นเชิงของการเล่าเรื่องและการใช้ภาษาก็นำพาให้คนอ่านสามารถอ่านผลงานชิ้นนี้ได้อย่างลื่นไหลและจบลงได้ด้วยความรู้สึก ‘ครบทุกรสชาติ’

“ที่มีประเด็นเรื่องยาเสพติดด้วยในเรื่องขอบฟ้าราตรีด้วย เพราะนี่เป็นปัญหาของคนในยุคนั้น พี่เคยเห็น เคยผจญกับคนที่ติดยาเสพติดมาแล้วด้วยตัวเอง ตอนนั้นวิธีการรักษาไม่เหมือนกับในยุคปัจจุบัน มันเลิกไม่ได้ มีคนบอกว่าติดได้ก็เลิกได้ แต่จริงๆ แล้วไม่เป็นอย่างนั้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นคนที่มีเงินซื้อ สังคมปัจจุบันเราก็เห็นกันอยู่ พี่เองเห็นมาเยอะแล้วสำหรับคนที่ติดยาเสพติดร้ายแรง พอติด เสพมากๆ จะทรุดโทรม มึนเมา ดีดมาก แล้วพอพ่อแม่เอาตัวไปรักษา ตอนกลับมาก็จะสดใสแข็งแรง แต่อยู่ได้อีกไม่นานก็กลับไปเสพอีก

พี่อยู่ในยุคที่คนรักษายาเสพติดแบบทรมานมากค่ะ ตั้งแต่วัดถ้ำกระบอกเพิ่งตั้งใหม่ๆ คนก็ไปด้วยความศรัทธากันเยอะ แล้วก็กลับมาติดอีก จนกระทั่งยุคนี้วิธีการรักษาก็เปลี่ยนแปลงไป ทันสมัยขึ้น มีตัวยาหลากหลายให้เลือกใช้ขึ้น แต่เอาจริงเข้า พี่ก็ว่าถ้าติด เลิกไม่ได้! ยากมาก ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่จะพาตัวเองรอดพ้นออกไปได้ เพราะฉะนั้นเลยอยากจะเขียนถึงปัญหาของการใช้ยาเสพติดซึ่งมันไม่ได้ส่งผลสะท้อนเพียงแค่ตัวตนของผู้เสพเท่านั้น แต่มันทำลายและทำร้ายทุกๆ คนที่อยู่รอบตัวเขา เหมือนอย่างที่ฉฎาและครอบครัวของฉฎาถูกน้าเล็กทำร้าย โดยที่น้าเล็กเองก็ไม่สามารถเอาชนะปีศาจตัวนี้ได้ แล้วทุกคนก็ติดบ่วงไปด้วย เพราะฉะนั้นอย่าเริ่ม ไม่มีใครมาชวนก็ปฏิเสธไปตั้งแต่แรก

นอกจากเรื่องของยาเสพติด ประเด็นที่ต้องการสื่อสารในเรื่องขอบฟ้าราตรีคือเรื่องของศักดิ์ศรี หลายคนบอกว่าอยากให้ฉฎามีคู่ อยากให้ฉฎาแต่งงานกับโชดกหรือว่ากลับไปดีกับตรอง ซึ่งจะทำให้จุดมุ่งหมายของเรื่องนี้ผิดไปทันที เพราะเรื่องนี้จะพูดถึงเรื่องศักดิ์ศรีของผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้ากลายเป็นว่าต้องไปอิงผู้ชายคนใดคนหนึ่งนี่ไม่ใช่แล้ว  แต่ก็เข้าใจคนอ่าน เพราะคนอ่านก็อยากจะอ่านอะไรหวานๆ ก็เลยใส่เรื่องความรักของคู่อื่นไว้ให้ ซึ่งก็ทำให้ช่วยแก้ขัดได้บ้าง

ก่อนลงมือเขียน ต้องเพียรอ่านและหาความรู้

เล่ามาขนาดนี้ก็พอมองภาพออกแล้วว่า นี่เป็นอีกผลงานที่ท้าทายทั้งฝีมือและการทำการบ้านอย่างมากของนักเขียน เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวบางส่วนของคนใกล้ตัว แต่เท่านั้นคงยังไม่เพียงพอสำหรับอรรถรสที่จะถ่ายทอดออกมาให้คนอ่านได้เห็นภาพ และดื่มด่ำราวกับไปอยู่ในที่แห่งนั้น สถานการณ์นั้นๆ เหมือนกับเป็นเรื่องจริงได้

“พอตัดสินใจว่าจะเขียน โดยเริ่มจากในวารวัน พี่ก็เริ่มค้นหาหลักฐานในยุค พ.ศ.๒๔๔๕ เช่น ไปค้นหาเอกสารเก่าๆ บันทึกประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุ ในช่วงเวลาที่เราจะเขียน ไปที่ยุวพุทธิกสมาคม ที่นั่นจะมีหนังสือเก่าๆ เก็บไว้เต็มเลย แล้วก็มีหนังสืองานศพ ก็ไปเลือกหาสิ่งที่อยู่ในช่วงนั้น แล้วมาดูรูป มาอ่าน เราไม่ได้อ่านแต่ชีวิตเขา แต่จะดูเรื่องรอบๆ ตัวด้วยว่าถนนเป็นอย่างไร ในยุครัชกาลที่ ๕ เป็นยุคที่มีรูปแล้ว และเราใช้ข้อมูลตรงส่วนนั้นเอามาเขียน มีไปหอสมุดแห่งชาติบ้าง มีข้อมูลบันทึกของญาติโยมคนนั้นคนนี้ก็เอามารวมกัน เอามาใช้

พอเขียนเรื่องตะวันเบิกฟ้า ที่เป็นยุค พ.ศ.๒๕๐๕ พี่ก็ไปหอสมุดแห่งชาติอีก นอกจากจะไปหาข้อมูลแล้วก็จะไปดูว่าในช่วงเวลานั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วก็ไปนั่งอ่านนิตยสาร อ่านนิยายที่เขาเขียนในยุคนั้น ดูว่าเขาใช้ภาษากันอย่างไร เรื่องราวเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เราได้บรรยากาศ ตอนนั้นมีนิตยสารสกุลไทยแล้วละ แล้วก็ได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่ยังเป็นบรรยากาศ เป็นอากาศที่อยู่รอบตัวเราในยุคนั้นก็ได้ซึมซับมา แล้วพอมาเขียนเราก็จะเห็นภาพชัด วิธีการต่างๆ ก็ซึมซับและถ่ายทอดออกมาเพื่อให้เหมาะสมกับยุค ในเรื่องตะวันเบิกฟ้าจะมีฉากประเภทฉากงานเต้นรำ นางเอกปรากฏตัวซึ่งเป็นลักษณะของนิยายยุคนั้น พอตั้งใจจะให้ฉากเป็น พ.ศ.๒๕๐๕ ก็เลยพยายามให้อยู่ในลักษณะ พ.ศ.นี้ให้มากที่สุด แล้วก็ยังมีวิธีการก็จะใช้สำนวนของคนในยุคนั้นด้วย จะได้ดูสมจริง ได้รสชาติ

พอมาถึงเรื่องสุดท้ายคือขอบฟ้าราตรี เป็น พ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งพี่โตแล้ว พอจะจำอะไรได้หลายๆ อย่าง ข้อมูลก็หาด้วยแล้วความทรงจำของเราเองด้วย เป็นยุคที่พอดีกับชีวิตเราพอดีก็เลยไม่ยากเท่าไหร่ พี่เขียนเรื่องในวารวันลงในนิตยสารสกุลไทย เริ่มลงครั้งแรกในวันเกิดสกุลไทย ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ แล้วมารวมเล่ม พ.ศ.๒๕๔๘ ถัดมาก็มาเขียนเรื่องวาวพลอยคั่น ตามด้วยตะวันเบิกฟ้า ส่วนขอบฟ้าราตรีได้มาเขียนลงในขวัญเรือนค่ะ”

สื่อสารเรื่องราวผ่านชื่อเรื่องและดอกไม้

การตั้งชื่อนิยาย เป็นการสื่อสารกับคนอ่านเพื่อที่ต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวในเรื่องแบบมัดรวม สำหรับนิยายทั้งสามเรื่องนี้ พี่เอียดผู้ที่ใช้วรรณศิลป์ได้อย่างลุ่มลึกและมีชั้นเชิงก็ได้อธิบายไว้ได้อย่างน่าสนใจ

“ในวารวันจะเป็นการเล่าเรื่องชีวิตแม่วันตั้งแต่เด็กไปจนถึงตอนเป็นผู้ใหญ่ กระทั่งถึงตอนท้ายเรื่อง แล้วพี่แบ่งเป็นภาคด้วย ตั้งแต่ช่วงแม่วันเป็นเด็ก ช่วงแม่วันยังสาว ช่วงแม่วันเริ่มทำงานสร้างครอบครัว กระทั่งตอนที่เป็นสู่สนธยา ตรงนั้นก็สมบูรณ์แล้วชีวิต เรื่องนี้จึงเป็นในวารวัน หมายถึงในห้วงเวลาในหนึ่งวัน

ส่วนตะวันเบิกฟ้าจะเป็นเรื่องของตะวันวาดกับคุณนภ ที่เลือกชื่อว่านภเพราะแปลว่าท้องฟ้าแล้วก็จะมาสอดคล้องกับชื่อเรื่อง ในขณะเดียวกันจะเห็นว่า ในวารวัน เมื่อโยงต่อมาด้วยเรื่องตะวันเบิกฟ้าจะเห็นว่ามีคำว่า ‘วัน’ เชื่อมต่อกัน แล้วตามมาด้วยขอบฟ้าราตรี ซึ่งก็จะมีคำว่า ‘ฟ้า’ จากเรื่องที่สองโยงมาสู่เรื่องที่สามเช่นกัน สำหรับเรื่องที่สาม เราพูดถึงชีวิตของน้าเล็กกับน้านันท์ที่ต่างคนต่างล่องเรือไปสู่ความมืดมิดทั้งคู่ ซึ่งเวลาที่เราล่องเรือตอนกลางคืนจะไม่เห็นเส้นขอบฟ้า เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เลยใช้ชื่อเรื่องว่าขอบฟ้าราตรีค่ะ”

สัญลักษณ์อีกอย่างในเรื่องนี้คือดอกไม้ ซึ่งเราขอเรียกว่าดอกไม้ประจำเรื่อง ที่แต่ละชนิดก็จะสะท้อนเรื่องราวในเรื่องเช่นกัน “ดอกจำปีจะชัดมากในเรื่องในวารวัน ต้องไปอ่านดู ส่วนเรื่องตะวันเบิกฟ้ามาจากตอนหนึ่งที่นางเอกขับรถเข้าไปในไร่ สองข้างทางเป็นต้นคูน จริงๆ ก็ลังเลอยู่นะคะว่าจะเลือกต้นคูนหรือสายน้ำผึ้งดี เพราะก็พูดถึงเหมือนกัน แต่มานึกดูว่าบรรยากาศเรื่องนี้สดใส มีไปเล่นเรือกัน เลยน่าจะต้องมีบรรยากาศที่เบิกบานมากๆ ก็เลยเลือกดอกคูน ซึ่งเป็นบรรยากาศของหน้าร้อนซึ่งเป็นช่วงที่เด็กๆ ปิดเทอม เลยเลือกดอกไม้ชนิดนี้เป็นปก

ส่วนขอบฟ้าราตรีพี่เขียนเปรียบเทียบฉฎากับดอกมะลิซ้อน ซึ่งในฉากตอนท้ายๆ จะมีการบรรยายถึงด้วย ฉฎานี่พี่วาดภาพเขาไว้ให้เหมือนดอกมะลิ ก็คือเรียบๆ แต่หอมเย็น ก็เลยใช้ดอกมะลิซ้อนค่ะ

อย่างเรื่องตะวันเบิกฟ้าที่เล่าถึงช่วงปิดเทอมนั้น เป็นการเล่าถึงชีวิตบางส่วนของพี่ในวัยเด็ก เพราะช่วงปิดเทอมของพี่ ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ เล่นเรือเร็ว แล้วก็จะมีพี่รุ่นโตพาไปขับรถเล่น เอาเราไปใส่ท้ายรถเบาะหลังไปด้วยจากที่บ้านที่บางปลาสร้อย ชลบุรี ไปบางแสน แล้วถนนเล็กนิดเดียว เวลาขึ้นเขาสามมุกเป็นยังไง ความจำยังอยู่ หรือเรื่องเลี้ยงน้องหมาก็เลี้ยงมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ส่วนของขอบฟ้าราตรีนี่ก็อยู่ในช่วงที่พี่โตขึ้นมาหน่อยก็เลยยังจำได้อยู่”

อีกหนึ่งตัวละครสำคัญ ใครกันนะที่เป็นตัวจริง?

นอกจากแม่วันจะเป็นการนำบางส่วนในชีวิตของคุณยายพี่เอียดมาเล่า การที่เคยได้เดินทางไปบ้านพี่เอียดที่บางปลาสร้อย ก็ทำให้รู้สึกเหมือนได้ไปเช็กอินตามรอยแม่วัน จนทำให้เราอดถามถึงตัวละครสำคัญอย่าง ‘พ่อเทิด’ ไม่ได้

“จริงๆ แล้วพี่ดึงมาจากคุณตาค่ะ (หัวเราะ) พี่เกิดไม่ทันท่าน แต่ว่าฟังจากคุณยายเล่า ฟังจากแม่เล่า แล้วคนเก่าๆ เคยเล่าให้ฟังว่า ‘เนี่ยนะ ถ้าพ่อชำนาญอยู่ก็จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเราก็ซึมซับแล้วก็รู้ว่าจริงๆ เขาเป็นอย่างไร ซึ่งก็คือคนแบบพ่อเทิดนี่แหละ คือดุ เด็ดขาด แล้วก็หล่อด้วย (หัวเราะ) หล่อนี่เห็นรูปก็รู้ว่าหล่อ แม่ก็บอกว่าเป็นคนสูงใหญ่ (แสดงว่าฉากหลังที่เล่าไม่ว่าจะเป็นโรงเรือนเทียบโป๊ะ เรือนแม่วันก็มีสถานที่จริงทั้งหมดใช่ไหมคะ) อยู่แถวนี้หมดเลยค่ะ (หัวเราะ) ส่วนรถเต่าของฉมาตอนนี้เปลี่ยนสีแล้ว สมัยฉมาใช้เป็นสีส้ม สีเหลือง แล้วเปลี่ยนสีมาเรื่อยๆ ค่ะ”

คิดว่าแฟนๆ ของพี่เอียดและแม่วันน่าจะได้รับอรรถรสกันอย่างอิ่มเอมกันไปแล้วจากการพูดคุยที่บอกเลยว่าสปอยล์สุดๆ ในครั้งนี้ ใครอยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติมแนะนำให้ลงรายละเอียดไปเลยทั้งสามเรื่อง รับรองว่าคุ้มค่ามากๆ ส่วนครั้งที่ ๒ ที่เป็นเรื่องการพูดคุยถึงการเป็นนักเขียนมืออาชีพที่กว่าจะมีวันนี้ไม่มีคำว่าง่ายของพี่เอียดก็สนุกสนานมากๆ เช่นกัน ใครอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร อดใจอ่านต่อกันครั้งต่อไปนะคะ

 

Don`t copy text!