“พิษพยาบาท” ผลงานแห่งความตั้งใจ โดยสัมพันธ์ สุวรรณเลิศ

“พิษพยาบาท” ผลงานแห่งความตั้งใจ โดยสัมพันธ์ สุวรรณเลิศ

โดย : YVP.T

Loading

“อ่านตั้งมากไม่คิดจะเขียนบ้างหรือ” คือสิ่งที่คุณแม่ของสัมพันธ์ สุวรรณเลิศ ได้ตั้งคำถามขึ้นเมื่อสัมผัสได้ว่า นวนิยายคืออีกหนึ่งสิ่งที่ลูกชายรัก และวันนี้…คำถามนี้ได้รับคำตอบแล้ว เพราะ “พิษพยาบาท” คืออีกหนึ่งผลงานจากโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่น 3 ที่อ่านเอาอยากให้คุณได้รู้จักเจ้าของผลงานในวันนี้

สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 3 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาไทยและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แต่มากกว่าบทบาทหน้าที่ของการเป็นอาจารย์ เขายังเป็นนักอ่านตัวยง ที่สนใจงานเขียนจากการเป็นผู้อ่านที่เมื่ออ่านมาในระดับหนึ่งก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะลองเขียนบ้าง เพียงแต่…ไม่เคยสำเร็จเลยสักเรื่อง

“นวนิยายเรื่อง ‘พิษพยาบาท’ เป็นผลงานนวนิยายเรื่องแรกของผมครับ ส่วนผลงานเขียนด้านบันเทิงคดีอื่นๆ  มีผลงานบทละครเวทีสำหรับใช้ประกอบกิจกรรมในรายวิชาวรรณกรรมการแสดงที่ผมรับผิดชอบในการสอนครับ

“ตัวผมเองเป็นผู้ติดตามเว็บไซต์และแฟนเพจ “อ่านเอา” มาตลอด และได้ทราบข่าวโครงการนี้จากเว็บไซต์และแฟนเพจตั้งแต่รุ่นแรก แต่เนื่องจากติดภารกิจจึงไม่มีโอกาส จนมาถึงโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่นที่ 3 ซึ่งจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ จึงรีบสมัครเข้าร่วมโครงการทันทีครับ”

อ่านเอาก้าวแรก…สนุกและอบอุ่น

“ความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ คือสนุกและอบอุ่นมากครับ เพื่อนๆ ที่ร่วมอบรมก็ช่วยให้บรรยากาศในห้องอบรมมีความสนุกสนานและน่าสนใจ เพราะหลายท่านตั้งคำถามที่บางครั้งผมเองก็คิดไม่ถึงในประเด็นนั้นๆ  ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่กว้างขวางขึ้นครับ

วิทยากรทั้งสามท่านให้ความรู้อย่างครบถ้วน ยิ่งรู้สึกประทับใจมาก ทั้งสามท่านมีความเอาใจใส่ต่อผู้เข้าร่วมอบรมทุกคน สามารถอธิบายเรื่องที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายมากขึ้น โดยใช้มุมมองของนักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงาน ทั้งด้านหลักการเขียน และเทคนิคการเขียนนวนิยาย มีการสอดแทรกประสบการณ์การเขียนต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ และสัมผัสได้ว่าทุกท่านพยายามตอบคำถามของผู้เข้าร่วมอบรมทุกคำถาม จนบางวันทำให้การอบรมเลยกำหนดการที่ตั้งไว้ไปอีกเกือบชั่วโมงก็มีครับ แต่สิ่งที่ประทับใจมากเป็นพิเศษคือ ทั้งสามท่านไม่เพียงแค่สอนในเรื่องของการเขียนเท่านั้น แต่ยังย้ำจรรยาของนักเขียนไว้ตลอดการอบรมอีกด้วย”

 

จาก “พิศม์พยาบาท” สู่ “พิษพยาบาท”

เมื่อราวปี พ.ศ.2552 เขาได้สร้างพล็อตเรื่องเรื่องหนึ่งสำหรับเขียนบทละครเวทีเพื่อใช้สำหรับเป็นบทสำหรับการแสดงละครเวทีเรื่อง “พิศม์พยาบาท” โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษาในรายวิชาวรรณกรรมการละครในปีนั้นได้เข้าใจกระบวนการเขียนบทละครเวทีเพื่อให้ใช้งานได้จริง แม้บทและละครเรื่อง “พิศม์พยาบาท” จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม แต่สำหรับเขาในฐานะผู้เขียนบทยังรู้สึกว่าพล็อตเรื่องยังดูหลวมๆ และไม่มีความสมเหตุสมผลอยู่หลายประการ

“ผมพยายามปรับปรุงและแก้ไขบท แต่ก็สุดวิสัยเพราะข้อกำหนดของการแสดงละครเวทีที่จะสื่อสารความคิดของผู้เขียนบทผ่านแต่เฉพาะบทสนทนาของตัวละครโดยไม่มีบทบรรยายไปยังผู้ชม จึงทำให้ผมไม่สามารถสื่อสารความคิดทั้งหมดไปยังผู้อ่านหรือผู้ชมได้ ผมจึงพับเก็บพล็อตและบทละครเรื่องนั้นไว้ จนเมื่อได้โอกาสเข้าร่วมอบรมโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจหยิบพล็อตเรื่องที่เคยเขียนไว้อย่างหลวมๆ มาปรับปรุงใหม่ ให้พล็อตเรื่องมีความเข้มแข็งและเป็นเหตุเป็นผลมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่อาจบรรจุไว้ในบทละครได้ จนเป็นนวนิยายเรื่อง ‘พิษพยาบาท’ เรื่องนี้

“แนวคิดของนวนิยายเรื่องนี้เกิดจากคำถามของตนเองว่า สำหรับบางคนทำไมเราจึงสามารถให้อภัยเขาได้อย่างง่ายดาย แต่ทำไมสำหรับบางคนเราไม่สามารถให้อภัยได้  สุดท้ายผมก็ได้คำตอบสำหรับตัวเองว่า การให้อภัยนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันต้องขึ้นอยู่กับทั้งสองฝ่ายที่ต่างจะต้องให้อภัยและเลิกแล้วต่อกัน การให้อภัยนั้นจึงจะสำเร็จได้โดยง่ายกว่าการที่อีกฝ่ายพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะให้อภัย แต่อีกฝ่ายก็ยังก่อเวรต่อกันอย่างไม่เลิกรา แต่ถึงจะยากอย่างไรการให้อภัยก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเป็นหนทางนำความสงบสุขมาให้ผู้ที่รู้จักการให้อภัย นี่เป็นแนวคิดและแรงบันดาลใจของการเขียนนวนิยายเรื่องนี้ครับ”

 

“พิษพยาบาท” การจองเวร…เอาคืน…ล้างแค้น

พิษพยาบาท เรื่องนี้ไม่ใช่นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ แต่สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ เลือกใช้ภูมิหลังของสังคมสมัยอยุธยาตอนต้นมาเป็นฉากและภูมิหลังของเรื่อง ดังนั้นเนื้อเรื่องจึงเกาะกุมเหตุการณ์ในสมัยอยุธยาตอนต้นไว้เพียงหลวมๆ เพื่อสร้างบรรยากาศเท่านั้น

“เนื้อเรื่องกล่าวถึง ‘มาศ’ เด็กชายที่มีเชื้อสายราชนิกูลกัมโพช เขามีครอบครัวที่สุขสมบูรณ์ แต่ด้วยความอาฆาตแค้นและความพยาบาทของศัตรูเก่าของบิดา ทำให้เขาต้องสูญเสียทุกอย่างแม้แต่ความเป็นชายของตนเอง แต่ถึงแม้จะต้องเจ็บแค้นและทุกข์ทนอย่างไร จางวางอู๋อาจารย์ผู้ที่รับอุปการะเขาต่อจากพ่อที่สาบสูญไปพร้อมข้อหากบฏ และย่าที่ถูกเนรเทศไปอยู่ในที่แสนไกล ก็อบรมสั่งสอนให้เข้ารู้จักการให้อภัยและไม่จองเวร มาศจึงเก็บตัวอยู่อย่างเงียบเชียบซ่อนเขี้ยวเล็บของตนเองไว้อย่างมิดชิด      

“จนเมื่อมาศได้พบ ‘เอื้อง’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวละครเอกที่ผมได้ต้นแบบมาจากลูกศิษย์คนหนึ่งที่แม้จะเป็นคนฉลาดเท่าทันความคิดของคนอื่น แต่ก็รู้จักประนีประนอม ถนอมน้ำใจทุกคนที่ใกล้ชิดจนเป็นที่รักของทุกคน โดยเอื้องคนนี้เป็นเพื่อนที่แสนดีที่มาศตั้งใจว่าจะปกป้องดูแลให้สมหวังและอยู่รอดปลอดภัย ซึ่งมาศก็ได้ทำแบบนั้นจริงๆ เพราะเอื้องต้องประสบอุปสรรคและปัญหาต่างๆ มากมาย มาศจึงปกป้องเธออย่างที่ตั้งใจ แต่ไม่ใช่เพราะเธอเป็นเพื่อนเท่านั้น แต่มีบางอย่างที่ทำให้มาศต้องพลิกเป็นฝ่ายจู่โจมเอาคืนล้างแค้น เหตุการร์ต่างๆ จะเป็นอย่างไร ถ้าได้อ่านแล้ว จะรู้คำตอบแน่นอนครับ”

พิษพยาบาท กับรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 3

“ตอนที่รู้ว่ารับคัดเลือกเป็นนวนิยายรองชนะเลิศรู้สึกดีใจครับ จากนั้นก็โทรศัพท์ไปบอกข่าวดีกับพ่อและแม่ครับ เพราะทั้งสองท่านสนับสนุนเรื่องการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นแม่เคยถามว่า ‘อ่านตั้งมากไม่คิดจะเขียนบ้างหรือ’ วันที่ผมโทรไปบอกท่าน ผมพูดว่า ‘ผมเขียนนวนิยายของตนเองสำเร็จแล้วตั้งหนึ่งเรื่องและได้รับรางวัลด้วยนะครับ”

เห็นด้วยไหมคะว่า ทุกคนสามารถเป็นนักเขียนได้ เพียงแค่อาศัยความมานะและมีวินัย ฝึกคิดและฝึกเขียนทุกวันจนเป็นนิสัย และสำคัญที่สุดคงเป็นเช่นที่สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ ฝากไว้ นั่นคือ ‘ถ้าอยากและรักที่จะเขียน ก็แค่ลงมือเขียน’ ครับ”

Don`t copy text!