คุยกับกิ่งฉัตรนอกทุ่งลาเวนเดอร์ “เขียนยังไงให้ไส้ไม่แห้ง”
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
ครั้งที่แล้วเราได้เปิดฉากพูดคุยกับพี่ปุ้ย-กิ่งฉัตรในเรื่องวิธีการหาข้อมูล ลายเซ็นของนักเขียนแต่ละคนที่ยากจะเลียนแบบ รวมถึงการรับมือกับความเห็นที่หลากหลายเมื่องานออกสู่สาธารณะ ครั้งนี้เลยจะมาคุยกับพี่ปุ้ยกันต่อว่า เป็นนักเขียนนั้น แท้จริงแล้วต้องไส้แห้งทุกคนหรือไม่ เมื่อมีฝันอยากเป็นนักเขียน สิ่งที่ต้องทำคืออะไร รวมถึงการเข้ามาของโลกออนไลน์ทำให้นักเขียนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง…
ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและการจัดการ
แม้ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ดูเหมือนคำว่า ‘นักเขียนไส้แห้ง’ จะเป็นคำที่คลาสสิกอยู่ในใจคนไทยมาโดยตลอด แต่ความจริงแล้ว ถ้าเรามีการบริหารจัดการดีๆ นักเขียนก็ไม่ได้ไส้แห้งเสมอไป หลายท่านใช้อาชีพนี้สร้างตัวและต่อยอด ดำเนินชีวิตได้อย่างดีไม่แตกต่างจากอาชีพอื่น พี่ปุ้ยเองก็เช่นกัน
“ในช่วงที่ตัดสินใจออกจากงาน นอกจากเพราะเรารู้เส้นทางของตัวเองแล้วว่าคงรักชอบทางนี้ อยากทำตามความฝันของตัวเอง ช่วงเวลานั้นเรายังอยู่กันแบบสบายๆ ไม่ได้มีการแก่งแย่งแข่งขันกันมาก เศรษฐกิจยังดี พ่อแม่ยังมีแรงทำงานซัพพอร์ตเราอยู่ และสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจได้เลยก็เพราะผลงานส่วนหนึ่งของเราเป็นที่ยอมรับ มีงานเขียนลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร มีรายรับเข้ามาเป็นประจำทุกเดือน
ชีวิตของพี่อาจดีหน่อยเพราะบ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ทุกคนสงสารหมด เมื่อสักสามสิบปีก่อน คำว่านักเขียนไส้แห้งแรงมากเลยนะคะ เป็นยันต์ที่ช่วยได้ทุกอย่าง ไปไหนเพื่อนก็พยายามเลี้ยงข้าว (หัวเราะ) แต่พอรายได้อยู่ตัวก็จะสบายขึ้น ข้อดีของการทำงานอยู่บ้านคือไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหารการกิน ถ้าเราทำเองก็จะไม่สูงมาก พอกล้อมแกล้มไปได้ จนกระทั่งเติบโต
นอกจากนี้งานเขียนยังเป็นงานเก็บกินไปได้เรื่อยๆ อาจไม่ตูมตาม เปรี้ยงปร้าง แต่เหมือนน้ำซึมบ่อทราย ยิ่งทำงานต่อเนื่อง มีหนังสือในมือเยอะก็จะวนกลับมา สมัยนี้มีอีบุ๊กด้วยเลยช่วยได้เยอะ เพราะถ้าเรามีเรื่องในมือหลายเรื่องแล้วมีคนโหลดสักเรื่องละเล่มสองเล่มก็สามารถอยู่ได้สบายๆ ในแง่เศรษฐกิจแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือลิขสิทธิ์เก็บกินได้ เหมือนกับปลูกไม้ใหญ่ พอโตก็จะมีดอกผลให้เก็บกินเรื่อยๆ แต่ก็ต้องมีข้อระวังเพราะว่าต้นไม้ก็มีสิทธิ์แก่และไม่ออกผลได้เหมือนกัน ชีวิตจึงต้องใช้อย่างรอบคอบ วินัยการเงินต้องมี ซึ่งสำหรับพี่นอกจากค่าหนังสือที่ใช้จ่ายอย่างหนักหนาและมหัศจรรย์ รวมถึงการกินแล้ว อย่างอื่นไม่ค่อยเท่าไหร่ นอกจากนี้ก็ทำประกันเพราะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีอะไรที่รับประกันได้ทุกอย่าง ถ้าทำได้ก็เก็บเงินไว้ด้วยเพราะเดี๋ยวนี้ค่ารักษาพยาบาลสูงมาก และไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนโสดเลยต้องเก็บเงินเนื่องจากกลัวจะไม่มีคนเลี้ยง แต่พี่ว่าทุกคนต้องทำหมด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกหลานจะมาเลี้ยงในอนาคต ฉะนั้นการที่เราดูแลและรักษาตัวเองได้ อยู่ได้ด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ”
ฝันที่ต้องออกแรงทำ
ใครก็ตามที่มีฝันว่าอยากเป็นนักขียน พี่ปุ้ยแนะนำว่าสิ่งที่ต้องทำคือลงมือเขียน เพราะไม่อย่างนั้นก้าวแรกของเราก็คงไม่ได้เริ่ม “ถ้าไม่ลงมือก็ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ และถ้าระหว่างทางรู้สึกไม่อยากเขียนขึ้นมา แนะนำว่าต้องเขียนให้จบ อย่าทิ้งกลางทาง เพราะโอกาสที่จะทิ้งเรื่องนั้นเลยมีสูงมาก จากนั้นค่อยมาขัดเกลา แก้ไข มาดูว่าทำไมถึงรู้สึกอึดอัดกับเรื่องนี้ ทำไมถึงไม่ชอบ แล้วค่อยเริ่มเรื่องใหม่ อีกอย่างการเขียนเป็นงานที่โดดเดี่ยว เราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง คนอื่นอาจช่วยเราฟัง ปลอบโยน ยึดเหนี่ยวให้รู้สึกดีได้ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือทำใจตัวเองให้เข้มแข็งและก้าวต่อไป อย่างพี่เองถ้าทำแล้วรู้สึกติดก็หยุด ไปเที่ยว ไปหาของกิน ไปคุยกับเพื่อน บางครั้งการได้พักผ่อน เปิดหูเปิดตา อาจจุดประกายบางอย่างแล้วทำให้เราได้คำตอบตรงจุดนั้นได้เหมือนกันค่ะ ส่วนเรื่องการตอบรับจากนักอ่าน ถ้าในช่วงแรกยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีอาจต้องมีงานเสริมที่เลี้ยงตัวเองได้ด้วย เพราะงานที่เป็นรายได้จะเป็นตัวช่วยทำให้เราเขียนงานที่รักได้อย่างมีความสุขมากขึ้น และเมื่อยืนหยัดได้แล้วก็คือการตัดสินใจของคุณแล้วว่าจะออกมาเขียนหนังสืออย่างเดียวหรือจะยังอยากทำงานประจำอยู่ด้วย”
พลังแห่งโลกออนไลน์
ต้องยอมรับว่าหลายปีมานี้โลกออนไลน์มาแรงมากและส่งผลกระทบในหลายๆ เรื่อง รวมถึงโลกของวรรณกรรมที่ทำให้นักอ่านหลายคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาโหลดอีบุ๊กกันมากขึ้น ซึ่งพี่ปุ้ยเองก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า “นั่นมาจากวิถีชีวิตของเราที่เปลี่ยนไปค่ะ แล้วหนังสือนอกจากจะหนัก กินเนื้อที่เยอะ ปัจจุบันคนอยู่คอนโดมากขึ้น มีพื้นที่จำกัด พื้นที่สำหรับการวางหนังสือเป็นร้อยเล่ม พันเล่ม เลยไม่มี อีบุ๊กจึงเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ สมัยก่อนถ้าเดินทางจะต้องโหลดหนังสือลงในกระเป๋าถือขึ้นเครื่องซึ่งหนัก แต่ปัจจุบันง่ายมาก ทุกอย่างอยู่ในมือถือ แท็บเล็ต เราสามารถหิ้วหนังสือเป็นร้อยเป็นพันเรื่องขึ้นเครื่องบิน ตรงนี้อาจทำให้คนอ่านแบบเป็นเล่มลดลง แต่นักเขียนกับสำนักพิมพ์ไม่เดือดร้อน เพราะนักอ่านจะไปโหลดอีบุ๊กแทน เหมือนกับประตูบานหนึ่งปิดประตูอีกบานก็จะเปิดให้เราค่ะ”
เรียกว่าถึงอย่างไรนักเขียนก็จะยังมีพื้นที่ในการเขียนต่อไป เพียงแต่จะเป็นแพลตฟอร์มไหน โลกที่เปลี่ยนแปลงไปคงมีคำตอบใหม่ๆ ให้เราอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นใครอยากเป็นนักเขียน อย่าลืมลงมือทำเพื่อถากถางเส้นทางฝันให้กับตัวเอง เพราะถ้ายังไม่ทำ ความฝันก็จะเป็นความฝันตลอดไป แต่ถ้าลงมือทำเมื่อไหร่ ก็หมายความว่าเราเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นอีกก้าวแล้ว