
‘แก้ว การะบุหนิง’ กับผลงานเรื่อง ‘สะพานข้ามรุ้ง’ “อยากให้ทุกคนมีสติในการใช้ชีวิตเพราะทุกการกระทำมีผลต่อเราเสมอ”
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
ความตายไม่ใช่เรื่องไกลตัว และพร้อมเกิดขึ้นกับเราเสมอ สำหรับ ‘แก้ว การะบุหนิง’ เธอประกอบอาชีพเป็นพยาบาลจึงได้เห็นเรื่องที่ใครๆ ไม่อยากให้เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และนำเรื่องราวเหล่านี้มาปรับให้กลายเป็น นิยายเรื่อง ‘สะพานข้ามรุ้ง’ ที่ลงเป็นตอนๆ ให้อ่านกันในเว็บไซต์อ่านเอา เราเชื่อว่าตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องคงสะท้อนที่มาและที่ไปของการมีชีวิตจะทำให้นักอ่านรู้สึกเข้าไปในหัวใจได้เป็นอย่างดี
“แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้น่าจะเกิดจากการทำงานในโรงพยาบาลในหอผู้ป่วยอายุรกรรม เราพบเห็นความตายทุกวัน วาระสุดท้ายของแต่ละคนแตกต่างกัน เราก็อยากให้คนไข้ของเราเมื่อถึงวาระนั้นจากไปอย่างสบายและสุข สงบที่สุดค่ะ อาจารย์พยาบาลเคยสอนว่าในขั้นตอนรักษาโรคจะมีสหวิชาชีพเข้ามาร่วมรักษา พยาบาล ดูแลคนไข้หลายสาขามาก แต่เมื่อถึงวาระสุดท้ายหากต้องจากไปขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล พยาบาลคือคนที่อยู่กับผู้ป่วยจนลมหายใจสุดท้าย” นักเขียนสาวเล่าถึงที่มาที่ไปในการสร้างผลงานชิ้นนี้
“สะพานข้ามรุ้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิต ความแตกต่างของความตายแต่ละคน สุข สงบ โดดเดี่ยว หรือเจ็บปวดมันล้วนมีที่มาที่ไปทั้งนั้น บางคนมีห่วงเยอะ บางคนญาติพี่น้องก็ฉุดยื้อไว้ แต่ใดๆ ก็ตามทุกคนย่อมต้องเดินทางในวาระสุดท้ายบนโลกนี้สักวัน เมื่อถึงวาระนั้นทุกคนคงอยากจากไปแบบไม่มีห่วง ไม่เจ็บไม่ปวด สะพานข้ามรุ้งเป็นเรื่องที่อยากให้ทุกคนมีสติในการใช้ชีวิตเพราะทุกการกระทำมีผลต่อเราเสมอ
“สิ่งที่ยึดโยงกับนักเขียนในเรื่องนี้คือเรื่องการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายค่ะ การทำงานในหอผู้ป่วยนอกจากต้องดูแลคนไข้แล้วก็ต้องดูแลญาติด้วยเพราะในสถานการณ์นั้นไม่ใช่แค่การดูแลเรื่องอาการป่วย แต่ต้องดูแลรวมไปถึงจิตวิญญาณด้วย
“เราเคยเขียนงานเกี่ยวกับบาปบุญแบบตรงไปตรงมา แล้วมีนักอ่านเข้ามาแสดงความเห็นว่า สมัยนี้เขาไม่เชื่อเรื่องบาปบุญกันแล้ว เชยไปแล้ว ไม่มีใครกลัวการทำบาปแล้ว ตอนแรกก็ตกใจกับคำพูดนั้นแต่พอมาคิดทบทวนก็ลองคิดอีกแง่ว่าถ้าแบบนั้น จะนำเสนอเรื่องพวกนี้ยังไงให้ไม่เชย แล้วก็มาจบในรูปแบบที่เขียนในสะพานข้ามรุ้ง ซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบนำเสนอเรื่องผลของการกระทำ พยายามปรับรูปแบบงานเขียนให้ตรงใจนักอ่าน เดี๋ยวค่อยรอฟังตอนจบว่าพอจะตรงใจผู้อ่านไหม”
แก้ว การะบุหนิง เล่าต่อไปว่า การเขียนนิยายไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความอดทน และยิ่งมีอาชีพเป็นพยาบาลที่มีเวลาพักผ่อนน้อยก็ยิ่งต้องใช้ความอดทนสูงมากขึ้น ดังนั้นการเอาชนะตัวเองให้ลุกขึ้นมาเขียนให้ได้ตามเป้าหมายแม้ในวันที่ง่วงก็เป็นอะไรที่ท้าทายเธอเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การได้เข้าร่วมโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น ๔ ก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญเพราะทำให้เธอสามารถสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่ตั้งใจไว้จริง
“สะพานข้ามรุ้ง เป็นเรื่องที่พัฒนามาจากการเข้าอบรม คือเราเขียนเรื่องนี้ไว้ แต่ก็หยุดเขียนเป็นพักๆ เขียนไม่จบสักที พอมาเข้าโครงการอ่านเอาก็ต้องพยายามเขียนให้จบ เพราะวิทยากรก็จะให้ส่งงานเป็นระยะๆ สาเหตุที่เข้าร่วมโครงการเพราะอยากพัฒนางานเขียนตัวเอง และวิทยากรทุกท่านเราก็รู้จัก ได้อ่านงานของทุกท่านมาหลายเล่ม การที่นักเขียนคนหนึ่งจะออกงานเขียนได้สักเล่มจะต้องมีวินัย มีความตั้งใจสูงมากก็เลยอยากเข้าฟังแนวคิดที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนงานจบ รวมถึงอยากพัฒนาทักษะงานเขียนให้ดีขึ้นด้วยค่ะ ซึ่งก็มีประเด็นหลายเรื่องที่ได้จากการอบรม แต่ที่ได้แน่ๆ เลยก็คือเป้าหมายของตัวเองคืออยากได้ทักษะที่จะเอาไปใช้ในการเขียนงานได้แบบไม่ตัน คือในคลาส วิทยากรจะเล่าประสบการณ์ของตัวเอง อาการสมองตันเกิดขึ้นกับทุกคนไม่ว่าจะทำงานอะไร แต่ของคนเขียนหนังสือจะหนักหน่อยเพราะเราจะเขียนงานไม่จบ ก็มีคำแนะนำดีๆ หลายข้อช่วยให้ตัวเองพัฒนางานเขียนเมื่อเกิดอาการเขียนไม่ออกค่ะ”
สำหรับผลงานเรื่องนี้ แก้ว การะบุหนิง บอกว่าจะมีภาคสองออกมาอย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องอดใจรอกันหน่อย ส่วนใครอยากติดตามผลงานของเธอ ก็มาให้กำลังใจกันต่อได้ที่ Faacebook แก้ว การะบุหนิง
“จริงๆ ออกงานปีละเล่มสองเล่มเองค่ะ เลยไม่มีช่องทางติดตามให้นักอ่าน หลังจากนี้จะพยายามเขียนงานให้มากขึ้น ช่วงนี้ก็ติดตามที่เฟสบุ๊กนักเขียนก่อนนะคะ” นักเขียนสาวกล่าวปิดท้าย