หลังโลกลึกลับในแบบฉบับของ “ตรี อภิรุม”

หลังโลกลึกลับในแบบฉบับของ “ตรี อภิรุม”

โดย : ชวลิต อรุณทัต

Loading

หากจะเอ่ยถึงชื่อชั้นของนักเขียนระดับครูอย่าง “เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา” หรือ “ตรี อภิรุม” ที่นักอ่านแนวสยองขวัญยกให้เป็นนักเขียนคนสำคัญของนวนิยายประเภทนี้ เชื่อว่าบทประพันธ์เรื่องดังอย่าง แก้วขนเหล็ก จอมเมฆินทร์ ทายาทอสูร เทพบุตรสุดเวหา อนิลทิตา นาคี ปีศาจหรรษา ตุ๊กตาโรงงาน และอีกหลายๆเรื่อง ยังคงอยู่ในความทรงจำของนักอ่านทุกคนอย่างแน่นอน

คุณตรี อภิรุม ในวัย 89 ปีวันนี้ ยังคงความสดใส แข็งแรง อารมณ์ดีมีรอยยิ้ม และความเป็นมิตรให้คู่สนทนาตลอดการพูดคุยตั้งแต่ประโยคแรกที่เราเอ่ยปากทักทายกัน…

“ชื่อจริงผมคือ เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา ส่วนนามปากกา ตรี อภิรุม แปลว่า ฉัตรสามชั้น เพราะตระกูลชุมสายนั้นมีฉัตรสามชั้นเป็นสัญลักษณ์   ต้นตระกูลผมคือกรมขุนราชสีห์วิกรม (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม) ส่วนชื่อตรี อภิรุมนี่ผมก็เป็นคนตั้งเองครับ สมัยเด็กๆเข้าเรียนที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง อยู่แถวรองเมือง แต่ผมเรียนไม่จบปริญญาตรีนะครับ เพราะตอนนั้นมีสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพมีระเบิดลงเราต้องอพยพหนี เลยไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสืออีก เศรษฐกิจก็ผันผวนคนในยุคนั้นค่อนข้างลำบากครับ ก่อนจะมายึดอาชีพนักเขียนผมเคยเป็นนักข่าวบันเทิงของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ หลังจากนั้นถึงได้มาเป็นนักเขียน” คุณตรีเล่าถึงนามปากกาและเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาให้เราได้ฟัง

การที่ใครคนหนึ่งจะก้าวเข้ามาเป็นนักประพันธ์สร้างสรรค์จินตนาการที่สามารถจับใจผู้อ่านได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา คุณตรีเองก็ได้รับแรงบันดาลใจในงานเขียนที่ลึกล้ำจากคนใกล้ๆตัวของท่านนั่นเอง

” มันมีแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ คุณยายผมท่านมีสามีเป็นหม่อมราชวงศ์ เลยได้เข้าไปอยู่ในวังเจ้าที่มีเรื่องลึกลับซับซ้อนเยอะแยะ และคุณยายก็เล่าเรื่องผีในวังเจ้าให้ผมฟัง มันก็เกิดเป็นแรงบันดาลใจและกลายมาเป็นนิยายเรื่องแก้วขนเหล็ก แต่ถ้าจะพูดถึงงานเขียนชิ้นแรกของผมคือ หาดจอมเทียน‘ เป็นเรื่องสั้นลงในหนังสือพิมพ์หลักเมือง  นี่งานเขียนเรื่องแรกที่ลงตีพิมพ์ในชีวิต ถึงจะไม่ได้เงินแต่ผมดีใจมาก เรื่องต่อมาก็คือ “สีชมพูเมื่อเที่ยงคืน” อันนี้เป็นเรื่องสั้นที่ส่งประกวดในสกุลไทย ดีใจมากงานได้เข้ารอบ ผมได้เงินมา 50 บาท เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว เงิน 50 บาท นี่ถือว่าเยอะมาก ผมพยายามจะไม่ใช้ แต่เราไม่มีเงิน ก็ต้องเอามาใช้อยู่ดี (หัวเราะ) เรารู้แค่ว่าเราอยากจะเขียน เรื่องพรสวรรค์อะไรเราไม่รู้หรอก ความรู้สึกอย่างเดียวคือเราอยากเขียน ถ้าไม่ได้เขียนคงไม่สบายใจ คุณตรีเล่าด้วยท่าทีภาคภูมิใจ

เมื่อถามถึงกระแสตอบรับจากผู้อ่านหลังจากที่งานเขียนเรื่องแรกได้รับการตีพิมพ์ออกสู่สายตาสาธารณชน

” ครั้งแรกผมใช้นามปากกา ‘เทพเทวีวิจิตร’ และเปลี่ยนมาเป็น ‘เทพเทวี’ เอาไว้เขียนแนวเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ชิงรักหักสวาท พอใช้นามปากกานั้นผลงานกลับไม่ติดตลาด แต่พอใช้นามปากกา “ตรี อภิรุม” คราวนี้กลับดังกว่า  กลบนามปากกาแรกซะมิดเลย ซึ่งถ้าเป็นนิยายเรื่องชิงรักหักสวาท ไม่เกี่ยวกับไสยศาสตร์เลย ผมจะใช้ “เทพเทวี” แต่ถ้ามีไสยศาสตร์ผสมอยู่ด้วยจะใช้ “ตรี อภิรุม”  ถ้าจะให้นับงานเขียนของผมรวมกันทั้ง 2 ปากกา ก็ราวๆ 100 กว่าเรื่องครับ แต่งานเขียนในชื่อ ‘ตรี อภิรุม’ จะมีเยอะกว่าน่าจะประมาณ 60 – 70 เรื่อง ส่วนชื่อ ‘เทพเทวี’ จะมีประมาณ 30 – 40 เรื่อง”

ในบทประพันธ์ที่คุณตรีเขียนไว้หลายต่อหลายเรื่อง มักจะมีการกล่าวถึงเรื่องความเชื่อ ความลึกลับของภูติผีวิญญาณ รวมไปถึงเรื่องราวของนรก- สวรรค์ แล้วตัวผู้เขียนเองล่ะ! มีมุมองเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ยังไงบ้าง? นักอ่านหลายคนอาจมีคำถามนี้ตั้งไว้ในใจ…

คนทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี ผมไม่เคยเขียน

“สำหรับผมเรื่องราวเหล่านี้มันก็มีความเป็นไปได้ เพราะว่าตัวผมเองถือศีล 5 มาหลายสิบปีแล้ว คุณยายผมท่านก็เคยเจอท่านถึงมาเล่าให้ผมฟังจนเอามาเขียนเป็นนิยาย ( ถ้าเช่นนั้นแฟนนิยายของ ‘ตรี อภิรุม’ ก็อาจจะต้องมีความเชื่อ และใช้จินตนาการไปในทิศทางเดียวกันกับผู้เขียนถึงจะได้อรรถรสในการอ่านด้วยใช่มั้ยครับ?) คำถามนี้เราไม่อาจจะตอบแทนคนอ่านได้หรอกครับ เอาแค่ว่าถ้าเขาชอบงานเขียนของเราผมก็ดีใจแล้วนักเขียนชั้นครูเล่าด้วยน้ำเสียงติดตลกนิดๆ…

ผมมีเคล็ดลับในการเขียนเรื่องให้คนอ่านติด ขั้นแรกเราจะเขียนเรื่องย่อก่อนเริ่มจากตรงนี้จบตรงนี้ เสร็จแล้วก็ค่อยมาลงมือเขียนแต่ละตอนแบบละเอียดทีหลัง บางทีผมส่งต้นฉบับช้าเพราะเราเขียนละเอียดมากเกินไป เพื่อนๆนักเขียนก็บอก อย่างนี้จะไปทันกินอะไรกับคนอื่นเขา นักเขียนคนอื่นจะเขียนรวดเดียวจบเลย แต่เราเขียนพล็อตเรื่องหลักๆก่อน แล้วมาเขียนพล็อตเรื่องลงรายละเอียดแต่ละตอน ซึ่งตอนจบส่วนมากก็จะ Happy Ending คนทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี ผมไม่เคยเขียน”

ในเมื่อการวางโครงคือหัวใจหลักของงานเขียน เราเองก็อยากทราบว่าการวางโครงเรื่องของนิยายสยองขวัญแตกต่างจากนิยายทั่วไปยังไงบ้าง…

” เมื่อเราเขียนนิยายสยองขวัญ เราก็ต้องใส่ความสยองขวัญเข้าไป ใส่อะไรที่ตื่นเต้น ลึกลับซับซ้อน และความหวาดเสียว ซึ่งเราพยายามแทรกอยู่ตลอดเวลา ให้คนอ่านตื่นเต้นว่าอ่านมาถึงตรงนี้จะมีอะไรนะ… อย่างเช่น ประตูเปิดออกมา…แอ๊ด…ด… อาจจะมีอะไรอยู่ก็ได้ ถามว่ายากมั้ย? สำหรับคนอื่นผมไม่รู้นะ แต่สำหรับผมมันก็ไม่ยาก อาจจะเพราะเคยชินแบบนี้ไปแล้วครับ เขียนเรื่องลึกลับต้องทำให้ดูมีความตื่นเต้น มีความกลัวแทรกอยู่ตลอด” ตรี อภิรุม เล่าถึงเคล็ดลับความตื่นเต้นในนิยายแต่ละเรื่องที่ลงมือเขียน

บรรยากาศของแวดวงน้ำหมึกในยุคที่คุณตรีกำลังรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด นักเขียนมีชื่อแต่ละท่านต่างก็มีค่ายหนังสือและบริษัทผลิตภาพยนตร์ ให้ความสนใจติดต่อซื้อขายผลงานกัน ไม่เว้นแต่ละวัน…

” สมัยก่อนจะมีหนังสือสกุลไทยซึ่งจะคลาสสิค หรูหราหน่อย  แล้วก็มีหนังสือบางกอก ขวัญเรือน ส่วนหนังสือตลาดหน่อยก็จะมีบางกอก, ชีวิตรัก, ชีวิตจริง จำได้ว่าสมัยเมื่อประมาณ 40 – 50 ปีก่อน  ตอนนั้นผมได้ค่าเขียนแพงที่สุดนะ เขียนลงกระดาษฟุลสแค็ปแผ่นนึงเป็นร้อยบาท หนึ่งตอนมีประมาณ 8 – 10 หน้า ส่วนมากบรรณาธิการหนังสือเขาจะบอกให้ผมเขียนนิยายแนวไสยศาสตร์ลึกลับทั้งนั้น นิยายเรื่องไหนที่ถูกใจคนอ่าน ก็จะมีจดหมายที่เข้ามาถึงบรรณาธิการ เขียนชมเรื่องนั้น ถ้าเรื่องไหนดังมากๆก็จะถูกบริษัทภาพยนตร์ซื้อไปสร้างเป็นหนัง สมัยหนุ่มๆ ผมเขียนงานแทบไม่ได้นอนเลยทั้งคืน แต่เดี๋ยวทำไม่ได้แล้ว ขืนทำคงได้เข้าโรงพยาบาลแน่ (หัวเราะ) ผมเป็นคนที่เขียนงานช้า บางทีเขียนวันนึงได้แค่ตอนนึง บางตอนก็เกิน เพราะสมัยก่อนไม่ได้เขียนเรื่องเดียว บางทีผมเขียนงานพร้อมๆ กัน 2 – 3 เรื่อง แต่เราก็จะแบ่งเวลาเอา อย่างเขียนเรื่องนี้จะจบแล้ว ก็มาเขียนเรื่องนี้ต่อ แล้วก็พักสมองเรื่องนี้ไว้ก่อน ค่อยเอาเรื่องใหม่มาใส่สมองทำนองนี้ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานไปในตัว”

อีกหลายสิบปีข้างหน้า  เรื่องลึกลับ เรื่องภูติผีวิญญาณจะยังไม่ตายหายไปจากคนไทย

ถึงผมลาโลกไปแล้ว 30 – 40 ปี ความรู้สึกแบบนี้ก็ยังอยู่

ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ‘ตรี อภิรุม’ จะต้องรู้จักตัวละครที่แสนจะคุ้นเคยอย่าง ‘เฉิดโฉม’ – เฉิดฉาย  สวัสดิโสภาคย์’ ซึ่งหลายคนคงอยากทราบถึงที่มาของสองตัวละครที่เป็นเหมือนเพื่อนสนิทของนักอ่านที่มักปรากฎตัวในงานเขียนของคุณตรีแทบทุกเรื่อง…

“เฉิดโฉมและเฉิดฉายคือตัวละครที่มีจริง ผมเขียนขึ้นมาเลียนแบบคนๆนึงที่มีนิสัยเหมือนกับสองคนนี้ เขาเป็นคนที่ทำงานอยู่ในหนังสือบางกอก ก็เอาบุคลิกเขาจะอ้วนๆเตี้ยๆ สะโพกใหญ่ๆ เลยจับเอามาเขียนเป็นตัวอิจฉาแบบตลกๆ ที่ใช้ชื่อ ‘เฉิดโฉม – เฉิดฉาย’  เพราะบางทีเบื่อๆก็เปลี่ยนชื่อบ้าง แต่สองชื่อนี้จะเป็นตัวละครบุคลิกเดียวกัน”

…นับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อย เมื่อผลงานการเขียนนิยายลึกลับเรื่องดังของคุณ ‘ตรี อภิรุม’ ล่วงเลยผ่านกาลเวลามานานนับสิบๆปี แต่จนถึงทุกวันนี้นิยายแต่ละเรื่องก็ยังได้รับความนิยมจากนักอ่านและผู้จัดละครจากค่ายต่างๆที่มาติดต่อซื้อไปผลิตเป็นละครเรียกเรตติ้งได้เป็นที่น่าพอใจ

“(หัวเราะ) คนคงชอบเรื่องแนวนี้ ผมเดาเอาว่า อีกหลายสิบปีข้างหน้า ความรู้สึกแบบนี้ก็ยังคงอยู่ เรื่องลึกลับ เรื่องภูติผีวิญญาณจะยังไม่ตายหายไปจากคนไทย ถึงผมลาโลกไปแล้ว 30 – 40 ปี ความรู้สึกแบบนี้ก็ยังอยู่ โดยเฉพาะคนไทยสมัยก่อนชอบเรื่องผีๆ ตอนที่ผมยังเด็กๆสมัยก่อนจะอยู่เป็นบ้านโบราณ บ้านเรือนไม้ มีชานเรือน แล้วชานเรือนมีเจาะตรงกลางเป็นรู พื้นเป็นกระดานเป็นร่อง คุณยายชอบเล่าเรื่องผีให้ฟังตรงนอกชาน ลมเย็นๆพัดมาที ผมก็นั่งตัวลีบ กลัวมีมือผีโผล่มาจากร่องกระดาน”

สำหรับการเปลี่ยนไปในโลกของนักเขียนที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนถ่ายจากงานเขียนในหน้ากระดาษมาสู่โลกของนิยายออนไลน์ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์คุณตรีให้ความเห็นว่า

“มันก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ผมไม่รู้สึกอะไร ก็เป็นธรรมดานะครับเพราะทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนไป เราจะไปหยุดอยู่กับที่ก็ไม่ได้ มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดูสิ!สมัยก่อนไม่มีโทรศัพท์มือถือ สมัยนั้นทีวีกับโทรศัพท์บ้านก็อันใหญ่เบ้อเร่อ ก็เป็นไปตามธรรมชาติที่โลกต้องเปลี่ยนแปลงไป ผมไม่เสียดายอะไรนะ เราก็แค่ต้องปรับตัวตามโลกเท่าที่เราทำได้ในวัยของเรา ถ้าให้ปรับตัวตามแบบวัยรุ่นคงทำไม่ได้ เราก็แก่แล้ว งานเขียนของเราก็เขียนเป็นเรื่องเป็นเล่ม แต่ใครเอาไปลงออนไลน์ เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ทุกวันนี้ผมเลิกเขียนนิยายแล้วคับ ถ้าจะให้นับจากเรื่องล่าสุด ‘นาคี 2’ ก็ประมาณ 5 ปีแล้ว แต่ถ้านับจากเรื่องที่เขียนอุมาวสี ก็เป็น 10 ปี ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่ม เรายังไม่ได้เสนอขายใคร เรื่องนี้สนุกครับ นางเอกชื่ออุมาวสี อายุ 90 ปี แต่ยังสาวปิ้งอยู่เลย ตัวพระเอกพลัดหลงผ่ามิติเข้าไปรักกับนางเอกที่ไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดา” หวังใจไว้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราคงได้เห็นผลงานชิ้นล่าสุดของคุณตรีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาฝากแฟนนิยายให้หายคิดถึง…

“ทุกวันนี้ผมอยู่บ้านเดียวกับลูกชายแถวคลอง 4 ปทุมธานี  ตื่นเช้ามาก็ใส่บาตร ยกเว้นวันที่พระไม่มาบิณฑบาต ผมจะตื่นก่อน 6 โมง เพื่อมาเตรียมของใส่บาตร ถ้าพระยังไม่มาก็เดินแกว่งแขนประมาณ 10 นาที เดินแกว่งริมถนน พระมาก็ใส่บาตรเสร็จแล้วก็กลับเข้าบ้าน กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ เข้านอนประมาณ 3 ทุ่ม เพราะต้องตื่นเช้ามาใส่บาตร ระหว่างวันก็เล่นเฟสบุ๊กบ้าง ดูละครดูผ่านแท็บแล็ต ผ่านมือถือมั่ง เราก็ดูอะไรของเราไป” นักเขียนมือฉมังเล่าถึงกิจวัตรประจำวันสบายๆให้เราฟังอย่างเป็นกันเอง

ก่อนที่จะจบการสนทนาในวันนี้คุณตรีแอบบอกถึงเคล็ดลับในการเขียนนิยายสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ที่อยากสร้างผลงานดีๆไว้ให้นักอ่านทั่วประเทศได้ลองลิ้มรส

“ผมมีมีหลักการง่ายๆที่ใช้ในงานเขียนมาตลอดก็คือ ตัวละครทุกตัวทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี่เป็นหลักการของผมเลย ทีแรกทำชั่วเหมือนจะได้ดี แต่สถานการณ์ก็พลิกกลับไปกลายเป็นได้ชั่ว พยายามที่จะให้คนอ่านเดาตอนต่อไป ผมจะทิ้งปัญหาไว้ในแต่ละตอน.ให้คนอ่านจับทางไม่ถูก นักเขียนรุ่นใหม่ต้องพยายามศึกษาสภาพแวดล้อมของตัวละคร ศึกษาคนให้มากๆ ว่าคนอ่านต้องการอะไร แล้วลงมือเขียนในสิ่งที่เขาต้องการ”

Don`t copy text!