‘วังอาชาไนย’ เมื่อธาตุแท้แห่งคนยังเวียนวนเป็นทาสกิเลส
เขตรั้วอันกว้างใหญ่ อาคารหรูหราโอ่อ่า งดงามจนใครๆ ก็อยากจะได้สัมผัส นั่นอาจเป็นเพียงภาพลวงตาให้ผู้คนรู้สึกว่า วังแห่งนี้ เต็มไปด้วยความสุขราวเทพนิยาย…หากแท้จริงแล้ว ผู้คนมากมายที่พำนักอยู่ กลับเต็มไปด้วยความรัก โลภ โกรธ และหลง พาให้ทุกชีวิตในวังอาชาไนยต้องประสบกับชะตากรรมอันโลดโผน เกินกว่าผู้ใดจะเคยนึกฝันถึง
‘วังอาชาไนย’ อีกหนึ่งผลงานที่นักเขียนชั้นครูอย่าง กฤษณา อโศกสิน ตั้งใจเรียงร้อยเรื่องราวในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่การเลิกทาส การผลัดเปลี่ยนจากรัชกาลสู่รัชกาล และเหตุการณ์ต่างๆ โดยแทรกแง่คิด การเลือกใช้ชีวิตของตัวละครเอกอย่างระย้ามาสู่นักอ่าน
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด ‘วังอาชาไนย’
“ที่จริงเคยคิดมานานแล้วว่า อยากจะเขียนถึงประวัติศาสตร์โดยรวมของกรุงรัตนโกสินทร์อย่างคร่าวๆ ของแต่ละยุคสมัย โดยเริ่มตั้งแต่ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ พระราชทานอิสรภาพให้แก่ทาสทุกประเภทในราชอาณาจักรเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นำความโสมนัสอย่างใหญ่หลวงมาสู่ปวงชนสยามถ้วนหน้า แต่ความเป็น ‘ทาส’ ของผู้คนนั้น หาได้ปลดเปลื้องลงโดยง่ายไม่ค่ะ แม้พระองค์จะทรงขยายการศึกษาระบบโรงเรียนไปสู่ประชาชนมาก่อนประกาศเลิกทาส ‘ทางกาย’ ในปีพ.ศ. ๒๔๔๘ แล้วก็ตาม
หากในความเป็นทาสทางความคิด ทางอารมณ์ก็ยังคงดำรงอยู่
“เมื่อมีโอกาสได้ฟังความที่น่าสนใจจากผู้เล่าขานสืบต่อกันมาหลายปากคำ จึงนำให้ผู้เขียนเกิดความคิดที่จะถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนภายหลัง พ.ศ.นั้น จนถึงยุคปัจจุบันออกมาในรูปนวนิยาย เพื่อให้ผู้อ่านแลเห็นขั้นตอนการผลัดเปลี่ยนจากรัชกาลสู่รัชกาล เพื่อให้ผู้อ่านแลเห็นว่า การผลัด เปลี่ยนนั้นๆ ก็แค่การผลัดเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรมของทางการอันเป็นคำประกาศทางตัวอักษร และเพื่อให้ผู้อ่านแลเห็นว่า เมื่อขุดลึกลงไปถึง ‘ธาตุแท้’ และ ‘ไส้ใน’ ของแต่ละบุคคลแล้ว ต่างก็ไม่เคยผ่านพ้นความเป็น ‘ทาส’ ไปได้ ไม่ว่ายุคสมัยใด ซึ่งความเป็นทาสที่ว่าก็ได้แก่ ทาสโลภ ทาสหลง ทาสรัก ทาสเกลียดโกรธ ทาสชัง ทาสริษยา และอื่นๆ อีกนานาทาส ที่คิดว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ หรือ ‘ประชาธิปไตย’ ก็ไม่แตกต่างไปจากกัน นั่นก็คือ ไม่สามารถโค่นล้ม ‘ทาสกิเลส’ ในตัวตนของผู้คนลงได้ค่ะ”
ความยากในการพาตัวละครผ่านแต่ละยุคสมัยจนร้อยเรียงมาเป็นเรื่องราว
“ความยากที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีตัวละครมาก และช่วงเวลาในนวนิยายยาวนาน เมื่อนำเอาบทบาทความเป็นทาสมาตั้งเป็นโจทย์ ผู้เขียนจึงถือว่าเป็นโจทย์ที่สามารถนำคำและความ ตลอดจนเนื้อหา ตัวละคร เรื่องราวที่ได้รับฟังมาสร้างเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีความยาวเกินกว่าจะจบลงภายใน ๑ เล่มเหมือนที่เคยมา โดยเหตุการณ์จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนที่มีการประกาศเลิกทาสนั่นเองค่ะ”
เรื่องราวที่การสะท้อนชีวิตผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น
“ชีวิตของผู้คนในสมัยดังกล่าว ได้สืบอุบัติเหตุเภทภัยที่คล้องจองกันดั่งสายโซ่ จนกลายเป็นต้นเค้าให้ทอดยาวจากรุ่นสู่รุ่นสืบมาเป็นลำดับ โดยผู้เขียนไม่อาจจะตัดข้อหนึ่งข้อใดออกได้โดยไม่สูญเสียความเป็นโซ่เส้นสวย
“ดังนั้น จึงต้องต่อตามด้วยภาคหลัง เพื่อให้ผู้อ่านแลเห็นพลังแห่งความเป็นทาสได้ชัดเจน นับเป็นเรื่องราวที่ท้าทาย แต่ก็ไม่ถึงกับเขียนไประวังไป เพราะเป้าหมายมิได้ตั้งใจจะเปิดโปงชีวิตลับของผู้ใด เนื่องด้วยส่วนใหญ่ในการถ่ายทอดความรู้สึกส่วนลึกของมนุษย์ออกมาเป็นตัวอักษร ต้องรอบคอบเรื่อง ‘ความเป็นธรรม’ มาโดยตลอดอยู่แล้ว จึงไม่รู้สึกหนักใจมากมาย เพียงแต่ต้องคอยดูแลมิให้ความเหมาะควรหลงไปในทิศทางที่ไม่ใช่เป้าหมายเท่านั้นค่ะ”
“ระย้า” ตัวเองที่สร้างออกมายากที่สุด
“ในวังอาชาไนยนี้ ‘ระย้า’ คือตัวละครที่ถ่ายทอดยากที่สุดและถือเป็นตัวดำเนินเรื่องคนสำคัญ
เพราะในความเป็น ‘ระย้า’ มีทั้งความดีและความเสียแอบซ่อนอยู่ จะนำเสนอมากไปให้เป็นใครคนหนึ่งที่ดีมากหรือเสียมากนักไม่ได้ หากเปิดเผยมากไป ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านจะไม่รู้สึกสนุก ต้องเสียบ้างดีบ้าง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติที่ไม่แน่นอนของตัวละครเอกตัวนี้
“ระย้านั้น มีจุดเสียตรงที่เป็นผู้มีปมด้อยอย่างรุนแรงด้วยความสะเทือนใจในอดีต เป็นเหตุให้จิตบาดเจ็บ จึงช่วยให้ผู้เขียนรู้สึกเข้มข้นตั้งแต่ต้นจนปลายเรื่อง ยิ่งปลายเรื่องยิ่งเขียนลื่นเขียนเร็ว ด้วยความตื่นเต้นในตัวตนที่ระย้าเริ่มกล้าพ่นพิษเพราะความสูงวัย นึกอยากร้ายก็เผ่นโผนโยนความร้ายออกมาอย่างไม่ยำเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมอีกต่อไป ช่วยให้ผู้เขียนพลอยครื้นเครงบรรเลงเพลินไปตามอารมณ์ของระย้า
“ส่วนที่ว่าจุดไหนคือความพีคของเรื่อง คงต้องขอให้ผู้อ่านได้อ่านก่อนค่ะ จึงจะตัดสินใจได้ว่าจุคพีคของแต่ละคนคือตรงไหน ซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างกันไปก็ย่อมได้ค่ะ และหลังจากที่ผู้อ่านได้อ่านวังอาชาไนยจนจบสมบูรณ์แล้ว ดิฉันก็ปรารถนาให้ทุกชีวิตไม่คิดทำชั่ว ไม่ว่าเมื่อใดค่ะ
“และสุดท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามวังอาชาไนย ขอขอบคุณกรู๊ฟพับลิชชิ่งที่เป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ออกจำหน่าย และขอให้ผู้อ่านทุกท่านเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติตลอดกาลนาน”