จากนิยายลงเล่มสู่ ‘สาป’ นิยายออนไลน์ของ เยาวเรศ เดชาคณีย์
ใครเป็นแฟนนิยายลึกลับในนิตยสาร สกุลไทย คงคุ้นเคยกับชื่อของ ‘เยาวเรศ เดชาคณีย์’ เจ้าของผลงาน ‘หุ่นหลวง’ นวนิยายลึกลับที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ทำให้งานเขียนของเธอหยุดลง แต่ตอนนี้เธอกลับอีกครั้ง พร้อม ‘สาป’ นวนิยายลึกลับกับเรื่องราวของสาวไทยที่ต้องเผชิญกับความลึกลับอันอธิบายไม่ได้ในบ้านชนบทแห่งหนึ่งของประเทศอังกฤษ
ย้อนความคิดถึง ‘เยาวเรศ’ และ 36 ปีที่หายไป
“เยาวเรศเข้าสู่แวดวงการเขียนนิยายตั้งแต่อายุ 18 ปีค่ะ ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 3 บพิตรภิมุข และได้เขียนเรื่องสั้นขนาดยาวชื่อ ‘อรรธนารีศวร’ ไปลงที่นิตยสาร สกุลไทย ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นนิตยสารที่ได้รับความนิยมมาก ทำให้เกิดมีกำลังใจขึ้นและรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่เขียนเรื่องแรกก็ได้ลงเลย พอมีการประกาศรับนวนิยาย 30 ตอนจบจากนักเขียนหน้าใหม่ก็ตั้งหน้าตั้งตาเขียนกระทั่งได้รับเลือกให้ลง ซึ่งก็คือ เรื่อง ‘หุ่นหลวง’ ค่ะ
“จากนั้นมีเขียนอีกเรื่องหนึ่งประมาณ 30 กว่าตอน เรื่อง ‘รอยพิศวาส’ เป็นเรื่องย้อนยุคในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งไปให้สำนักพิมพ์หนึ่งแต่ไม่ได้พิมพ์ พอขอต้นฉบับกลับมา ปรากฏว่าทางนั้นทำต้นฉบับหายไป ตัวเองก็ไม่ได้เก็บสำเนาไว้ด้วย เพราะสมัยนั้นใช้พิมพ์ดีด และด้วยความที่เวลามันผ่านไปนานมาก คนเขียนเองก็จำเนื้อเรื่องไม่ได้แล้ว รู้สึกแต่ว่าเสียดายมาก จากนั้นก็ไม่ได้เขียนอีกนานเพราะได้งาน ชีวิตการงานก็ยุ่งวุ่นวายมาก จนทำให้ห่างการเขียนไปประมาณ 36 ปีเลยนะคะ”
กลับมาครั้งนี้กับรูปแบบใหม่ นวนิยายออนไลน์ ที่ anowl.co
“น่าจะเป็นเพราะความบังเอิญมากๆ ที่ทำให้เยาวเรศได้กลับมาสู่แวดวงการเขียนนิยาย ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้กลับมาเขียนอีกครั้ง จุดเริ่มต้นคือเราเป็นเพื่อนกับ คุณเจี๊ยบ จรัสพร แล้วได้เห็นว่าคุณเจี๊ยบเป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับคุณหมอพงศกร ซึ่งเราเป็นแฟนนิยายคุณหมออยู่แล้ว จึงทำให้มีโอกาสได้คุยกับคุณหมอ พอคุยกันไปคุยกันมา ก็อยากจะเขียนเรื่องไปให้สำนักพิมพ์กรู๊ฟ คุณหมอก็เลยถามว่ามีประสบการณ์เขียนหรือไม่ พอบอกว่าเคยเขียนเรื่อง ‘หุ่นหลวง’ ก็เลยได้มาเขียนในอ่านเอานี่แหละค่ะ
“การกลับมาเขียนในครั้งนี้ รูปแบบของการอ่านนิยายของคนอ่านเปลี่ยนไป แต่ในมุมของนักเขียนไม่ต้องปรับตัวมาก เพราะเราก็เขียนของเราไป ผิดจากตรงที่ได้ลงในนิตยสารมาลงในเว็บไซต์ ซึ่งยุคสมัยเปลี่ยนไปเราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเรานิดหนึ่ง แต่จริงๆ คนอ่านก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิมที่ชื่นชอบนิยาย งานเขียน ส่วนใหญ่แฟนพันธุ์แท้จะอ่านแล้วก็ซื้อแบบเล่มมาสะสม ซึ่งเยาวเรศก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ”
‘เรื่องผี’ คือแนวถนัด
“จริงอยู่ที่สไตล์ของเยาวเรศคือเรื่องผี แต่ไม่ใช่เพราะเขียนอย่างอื่นไม่เป็นนะคะ เราถนัดแนวนี้เพราะมีความชอบเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี เรื่องลี้ลับ เลยคิดว่า มันคงน่าสนุกมากกว่าเรื่องรักธรรมดาๆ อีกอย่างเราไม่โรแมนติก ถ้าเขียนเรื่องรักมันจะเขียนยากมากเลยค่ะ แต่ก็ตั้งใจไว้ว่าอยากจะเขียนบ้าง ถ้าแนวตลกละก็พอได้ เพียงแต่ก็ยังไม่เคยลองเลยนะคะ
“เสน่ห์ของนิยายลึกลับคือ อ่านไปก็คิดไป ค้นหาไป เดาไปว่ามันจะไปจบตรงไหน เรื่องมันมายังไง ในการเขียนนิยายลึกลับของเยาวเรศ ส่วนใหญ่จะทิ้งปมไว้ให้คนอ่านคิดตอนจบบทนั้นๆ ให้เขาอยากคิดต่อ ติดตามต่อ ซึ่งเสน่ห์ของมันอยู่ที่คำตอบของปริศนานี่แหละค่ะ ถ้าจะอ่านนี่ไม่ควรอ่านตอนจบก่อน (ในกรณีที่เป็นเล่ม) เพราะมันจะสปอยล์เรื่องไป นิยายของเราจะผูกพล็อตนาน ค่อยๆ เผยตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย ซึ่งความสนุกอยู่ที่ตรงนี้ค่ะ”
มากกว่าความสนุกคือข้อมูลจริงที่แทรกไว้
“การเขียนนิยายลึกลับถ้าไม่อิงประวัติศาสตร์ก็อาจจะไม่ต้องค้นคว้ามาก แต่นิยายของเยาวเรศทุกเรื่อง โดยเฉพาะ ‘สาป’ เราค้นคว้ามากจริงๆ ก่อนที่จะลงมือเขียน ทั้งตามไปดูสถานที่จริง ไปห้องสมุด ไปดูภาพเขียน ตามไปดูคุกใต้ดินที่เขาปิดไว้แต่ก็ไปส่องดู เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เป็นจริงที่สุดเหมือนกับตอนเขียน ‘หุ่นหลวง’ ที่เราค้นคว้าเยอะ มีหนังสือประวัติศาสตร์เป็นตั้งๆ รวมถึงไปดูทั้งหุ่นหลวง หุ่นกระบอก หุ่นต่างๆ เพราะอยากให้เรื่องเราสมจริงที่สุด เพราะถึงจะเป็นเรื่องผีก็ต้องเป็นผีแบบมีที่มาที่ไป
“ส่วนนิยายประเภทอื่น เช่น รักหวาน รักขม ถ้าไม่อิงประวัติศาสตร์ก็ไม่คงต้องค้นคว้ามาก แต่อย่างที่บอก เราไม่ถนัด… ก็คงจะเขียนแนวนี้ต่อไป เพราะถึงเรื่องรักๆ ดูว่าจะเขียนง่ายกว่าตรงไม่ต้องค้นคว้า แต่สำหรับคนเขียนแต่ละคนที่ถนัดต่างกันไป แนวนั้นไม่ใช่แนวเราจริงๆ”
จุดกำเนิดของ ‘สาป’
“เรื่อง ‘สาป’ เกิดขึ้นตอนที่กำลังหาซื้อบ้านที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านั้นเช่าบ้านอยู่มาตลอด พอดีได้มาเห็นบ้านหลังนี้ก็ทราบว่าเขาไม่ขายแต่แบ่งให้เช่าเพราะเป็นบ้านพีเรียด ทำให้รู้สึกสนใจ ยิ่งพอได้เห็นสวนเห็นฟาร์มยิ่งสนใจ และรู้สึกผูกพันกับบ้านหลังนี้อย่างประหลาด แม้ว่าจะไม่ทันเห็นข้างในบ้านก็ตามเพราะเขากำลังปรับปรุงอยู่ แต่ก็ตัดสินใจวางมัดจำเลย พอวันย้ายเข้ามาถึงได้เห็นว่าบ้านนี้สร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1846 คือ อายุเป็นร้อยๆ ปี พอพาพี่โน่ (น้องหมา) ไปเดินในหมู่บ้านก็เจอกระท่อมหลังหนึ่งโดยบังเอิญ ก็มีความคิดว่าเก่าจัง น่ากลัวด้วย เหมือนเคยมีแม่มดอยู่เลย ก็ไม่รู้ทำไมถึงคิดแบบนั้นนะคะ
“พอกลับบ้านมาหาข้อมูลดูก็เจอว่า แม่มดคนแรกที่ถูกแขวนคอคือ คุณแม่แอ็กเนส อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ (แฮทฟิลด์ เพเวอเริล) และหลังจากนั้นก็ค้นคว้าไปเรื่อยๆ จนมาพบว่า การล่าแม่มดในอังกฤษที่นองเลือดมากมาจากแคว้นเรา เมืองเราก็เลย… ไม่เขียนไม่ได้แล้ว จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรื่องนี้ โดยเฉพาะบ้านที่อยู่นี่เป็นบ้านเมโดว์บรุคในนิยายเลยค่ะ”
ความพิเศษของ ‘สาป’ ที่ไม่อยากให้พลาด
“นิยายเรื่องนี้มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์อังกฤษผิดไปจากเรื่องอื่นที่เคยเขียน แต่เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากนิยายแนวลึกลับอิงประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เคยเห็นในเมืองไทย เพราะเรื่องจริงมันน่าสนใจมาก คิดว่าคนที่ชอบแนวลึกลับต้องชอบค่ะ แถมคนเขียนชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว การเขียนเรื่องแบบนี้ทำให้มีความสุขมาก และหวังว่าผู้อ่านจะมีความสุขที่ได้อ่าน พร้อมๆ ไปกับการสอดแทรกเรื่องของกรรม เพราะผลที่เกิดขึ้นมันต้องมีเหตุเสมอ กรรมคือผลของการกระทำเสมอ ซึ่งในเรื่อง ‘สาป’ นี้ ใครจะทำกรรมอะไรไว้ และผลที่ได้เป็นอย่างไร ผู้อ่านต้องค่อยๆ ติดตามกันไปในแต่ละตอนที่เรื่องราวจะค่อยๆ เปิดออกมาทีละเล็กทีละน้อยค่ะ”
ก้าวต่อไปของ ‘เยาวเรศ’
“เรื่องต่อไปอาจเป็นเรื่องอังกฤษหรือเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้ากรีก ซึ่งยังคิดไม่ตกนะคะ เพราะชอบทั้งสองอันเลย แต่ดูเหมือนใจจะเทไปอันแรกมากกว่า ส่วนอีกแนวที่เปรยๆ ไว้กับคุณหมอคือจะเขียนเรื่องลึกลับแนวท่านผู้ใหญ่เล่าว่า เขาเล่าว่า มาลงเป็นคอลัมน์ในอ่านเอาค่ะ ซึ่งเยาวเรศตั้งชื่อให้เสร็จสรรพว่า ‘อ่านระทึก’ (หัวเราะ) และอีกอันหนึ่งที่ตั้งใจว่าจะเขียนคือเรื่องแนวกุ๊กกิ๊ก โดยมีน้องหมาดิโน่ของเราเป็นตัวละครด้วย
“แต่สำหรับใครที่คิดถึงผลงานเก่า อย่าง ‘หุ่นหลวง’ อาจจะมีโครงการอีบุ๊กออกมาหรือไม่ คนอ่านก็คงต้องอ้อนบอสให้พิมพ์ ทำพรีออเดอร์ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นนิยายออนไลน์ละก็ติดตามได้ที่ anowl.co นะคะ …เพราะเยาวเรศไม่เขียนลงที่ไหนค่ะ ลงอ่านเอาที่นี่ที่เดียวค่ะ”