WIND BENEATH MY WINGS การหวนคืนเวทีของ ‘พรรณสิริ’ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศนวนิยายดีเด่นจากโครงการช่องวัน อ่านเอา ปี ๔

WIND BENEATH MY WINGS การหวนคืนเวทีของ ‘พรรณสิริ’ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศนวนิยายดีเด่นจากโครงการช่องวัน อ่านเอา ปี ๔

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

หลังจากหยุดการสร้างสรรค์งานเขียนไปกว่า ๓ ปี ในที่สุด ‘พรรณสิริ’ หรือ อ้อม-ณัฏฐวรรณ จิตรรัตน์ ก็ลุกขึ้นมาเปิดคอมฯ และทำงานที่รักอีกครั้ง เพื่อร่วมโครงการช่องวัน อ่านเอา ปี ๒ จากแรงผลักดันของนักเขียนรุ่นน้องอย่างแป้ง อสิตา ที่พยายามชักชวนให้กลับมาจับปากกาถ่ายทอด ความคิด จินตนาการ ด้วยเห็นศักยภาพที่มีคุณค่าในผลงานของเธอ

และเมื่ออ้อมได้ส่งผลงานเรื่อง ตราบหัวใจไม่แพ้ เข้าร่วมโครงการนี้ ก็ปรากฏว่าผลงานของเธอได้รับคัดเลือกให้นำไปสร้างเป็นละคร นั่นจึงทำให้อ้อมเกิดความมั่นใจขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับเห็นแนวทางใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองหลังจากเคยถอดใจไปแล้วเนื่องจากตลาดนิยายไทยมีความเปลี่ยนแปลง

ยิ่งในวันที่อ้อมได้รับการเชิญชวนจากทางคณะกรรมการช่องวัน อ่านเอา ให้เข้าร่วมโครงการช่องวัน อ่านเอา ปี ๔ เพื่อมองหานิยายที่ดีและโดนใจจนต้องนำไปสร้างเป็นละคร ก็ยิ่งเป็นเหมือนการต่อเติมพลังใจให้เธอมากยิ่งขึ้น อ้อมตอบตกลงทันที พร้อมกับสร้างสรรค์ผลงานเรื่อง กระบือสื่อรักลงสนามจนโดนใจเหล่าคณะกรรมการและสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการมาให้กับตัวเองได้ในที่สุด

“เรื่องนี้อยู่เหนือความคาดหมายของอ้อมมากค่ะ” นักเขียนสาวกล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตันใจ “ตอนที่เขียนเรื่องกระบือสื่อรัก อ้อมไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นเลย นอกจากทำยังไงให้งานเสร็จทันและออกมาดีที่สุดเท่าที่ตัวเองในเวลานั้นจะทำได้ อ้อมไม่ได้คิดว่าจะต้องได้รับรางวัลอะไร เพราะเพียงคณะกรรมการเห็นคุณค่าในตัวเราและงานของเรานั่นก็ทำให้อ้อมรู้สึกดีมากๆ แล้ว เรียกว่านอกจากอยากเขียนงานนี้แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะเราไม่อยากจะทำให้กลุ่มคนที่ให้โอกาสและเห็นคุณค่าของเราเสียใจด้วยค่ะ เลยต้องพยายามอย่างเต็มที่ในแบบของเรา ตอนนั้นอ้อมคิดว่า ‘กระบือสื่อรัก’ อาจจะไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับงานทั้งหมดที่ร่วมประกวด แต่เมื่อคณะกรรมการอ่านแล้ว ทุกท่านต้องเห็นความตั้งใจของอ้อมค่ะ”

กระบือสื่อรัก เป็นเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ชีวิตพลิกผันจนทำให้เธอต้องก้าวเข้ามาเป็นหัวหน้าครอบครัวโดยไม่ทันเตรียมตัวเตรียมใจ และแม้ชีวิตจะต้องเจอเรื่องหนักหนา แต่โชคยังดีที่มีพระเอกของเรื่องซึ่งเป็นคนมองโลกในแง่ดีเข้ามาช่วยเบรกด้านมืดให้ชีวิตเธอให้สว่างขึ้น

“คีย์เมสเสจในเรื่องนี้ที่อ้อมต้องการจะบอกคือ ไม่ว่าชีวิตเราต้องเผชิญกับอะไร เราก็ต้องผ่านมันไปทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะผ่านไปด้วยมุมมองและทัศนคติแบบไหน ถ้าคุณผ่านไปด้วยความคิดเชิงบวก ชีวิตก็จะมีอะไรให้เอนจอยกว่า ดังนั้นเวลาที่นางเอกเครียดจึงมักจะไปหาพระเอก เพราะถึงแม้พระเอกจะกำลังเผชิญปัญหา แต่ก็มักมีวิธีการมองเรื่องราวเหล่านั้นในทางที่จะทำให้เขาสนุกไปกับมัน ซึ่งนางเอกก็ได้เรียนรู้และหันกลับมามองดูตัวเองว่าความจริงแล้วเธอไม่ได้แบกปัญหาอยู่คนเดียวนะ” อ้อมกล่าว “สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งในเรื่องที่อ้อมซ่อนความหมายไว้คือ พระเอกมักจะใส่เสื้อฮาวายเสมอ จนกระทั่งนางเอกถามว่าทำไมถึงชอบใส่เสื้อแบบนี้ ซึ่งเขาก็ให้คำตอบว่า เวลาใส่เสื้อฮาวายจะรู้สึกสนุก เพราะปกติเรามักใส่เสื้อฮาวายในช่วงสงกรานต์ที่เป็นเทศกาลแห่งความสุขสุดๆ ของคนไทย ก็เลยอยากทำให้ตัวเองสนุกทุกวันเหมือนอยู่ในเทศกาลสงกรานต์ อ้อมรู้สึกว่านี่เป็นเมสเสจที่ทรงพลังที่สุดที่ใส่ลงไปในนิยายเรื่องนี้ค่ะ”

เรายังชวนอ้อมพูดคุยกันอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเล่าย้อนไปถึงกว่าจะมาเป็น กระบือสื่อรัก ที่บอกเลยว่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พร้อมๆ กับแชร์ประสบการณ์ในชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยหมดไฟในการเขียนไปแล้ว แต่เพราะบรรดาลมใต้ปีกนี่แหละที่บอกเธอว่า ‘เธอทำได้!’

และด้วยความเชื่อมั่นที่พวกเขามีก็ส่งให้อ้อมลุกขึ้นมาจับปากกาอีกครั้ง…

จาก ร่มไม้ใบบังถึง กระบือสื่อรัก

แรกเริ่มเดิมทีอ้อมไม่ได้ตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า กระบือสื่อรัก แต่เป็นชื่อเรื่อง ร่มไม้ใบบัง ที่เล่าถึงการสู้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งบอกเลยว่าดราม่าเข้มจัด แต่เมื่อได้นำพล็อตไปเสนอกับคณะกรรมการก็ได้รับคำแนะนำว่า เรื่องดราม่านั้นอาจมีให้เห็นจากละครหรือนิยายเรื่องอื่นและถ้ามากไปอาจไม่สนุก ในขณะที่เรื่องของพระเอกที่เป็นคนเลี้ยงควายและควายในเรื่องกลับน่าสนใจกว่า “ตอนนั้นคณะกรรมการก็บอกว่า อ้อมควรเรื่องเล่าอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะนิยายของเรามีเรื่องที่จะเล่าเยอะเกินไป ซึ่งอ้อมก็ยืนยันว่าถ้าจะต้องเล่ายังไงก็จะไม่ตัดเรื่องคนเลี้ยงควายและควายแน่ๆ เพราะนี่คืออีกหนึ่งเรื่องชีวิตที่เราประทับใจมาตั้งแต่วัยเด็ก” นักเขียนสาวเล่า

“สมัยนั้นบ้านอ้อมอยู่ชลบุรี แต่ทุกปิดเทอมจะมาอยู่ที่อยุธยาซึ่งเป็นบ้านคุณแม่ เราก็จะไปวิ่งเล่นกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กเลี้ยงควาย เป็นความทรงจำดีๆ ของเรา และในเรื่องนี้อ้อมได้นำเขามาเป็นพระเอกด้วย ส่วนนางเอก อ้อมได้แรงบันดาลใจจากการสู้ชีวิตของพี่สาวที่อ้อมสนิท และอยากเขียนเรื่องนี้ให้เขา แต่เมื่อคณะกรรมการบอกมา เราก็เลยปรับพล็อตใหม่ จากที่ให้น้ำหนักไปทางนางเอกค่อนข้างเยอะ กลายเป็นว่ายังเล่าเรื่องของนางเอกอยู่ แต่ก็ชูเรื่องของพระเอกกับควายที่เคยเป็นเหมือนตัวประกอบให้เด่นขึ้นมา แล้วให้ควายกลายมาเป็นตัวเชื่อมให้นางเอกเห็นความดีงามของพระเอกเพิ่มขึ้น คืออ้อมปรับโทนเรื่องที่ดราม่าให้เบาลงมา มีความสดชื่น สนุกสนานในเรื่องของควาย มู้ดแอนด์โทนของเรื่องก็เปลี่ยนไป ไม่ได้เครียดมากอย่างที่เราตั้งใจไว้ในตอนแรก เพราะถูกเบรกไว้ด้วยตัวของพระเอกและสีสันของควายในเรื่องค่ะ

“กว่าจะมาเป็นเรื่องนี้มีการปรับปรุงเยอะมาก เพราะเรามีกรอบของความเป็นดราม่าอยู่เยอะ เพราะตรงนั้นเป็นธงในใจของเรา แต่พอถูกทักก็คิดหนักว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเวลานั้นค่อนข้างสูญเสียความมั่นใจ กลัวจะเขียนต่อไม่ได้ กลัวว่าจะไม่สนุก เพราะนี่คือนิยายที่จะต้องนำไปสร้างเป็นละคร ซึ่งเราคิดอะไรไม่ออกอยู่วันเดียวคือวันที่ไปพบคณะกรรมการ จากนั้นก็พักอยู่ประมาณสองอาทิตย์ พอรู้สึกว่าพร้อมแล้วก็ค่อยๆ แก้ไข ปรับปรุง เพื่อตอบโจทย์โจทย์นี้ให้ได้ เพราะนี่คือเงื่อนไขของงานนี้ แต่ก็ยังมีความเป็นเราอยู่ในนั้นด้วย พอมานั่งดูใหม่ก็ได้เห็นช่องโหว่อย่างที่กรรมการพูด อ้อมก็ค่อยๆ ปรับ แล้วก็ไปต่อได้ค่ะ”

แต่เมื่อทุกอย่างงวดเข้ามาและเหลือเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือน สิ่งที่คุณอ้อมตัดสินใจทำทันทีคือหยุดสอนโยคะซึ่งเป็นอาชีพหลักของเธอเพื่อมาลุยกับงานนี้แบบเต็มตัว “ตอนนั้นอ้อมตั้งใจมานั่งเขียนนิยายอย่างเดียวเลย เพราะพอเขียนไปเรื่อยๆ แล้วก็อินกับตัวละคร ทำให้ไม่อยากหลุดออกไปเพราะกลับมายาก เลยตัดสินใจว่างดสอนแล้วทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จในคุณภาพที่เราทำอย่างเต็มที่ในเวลาที่มี ซึ่งตรงนี้โยคะช่วยได้ในเรื่องของการไม่ทำให้เรารู้สึกกังวลจนเสียงานค่ะ ซึ่งพอเสร็จแล้วก็กลับไปสอนต่อ ตรงนั้นทำให้เรารู้สึกพอใจกับตัวเองว่าเราได้ทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว”

เปิดจักรวาลของควายสวยงาม

ในเรื่อง กระบือสื่อรัก กล่าวถึงพระเอกที่มีอาชีพเกษตรกร เลี้ยงควายสวยงาม ซึ่งตรงนี้อ้อมเล่าให้ฟังว่าเป็นการต่อเติมจากความทรงจำที่เธอมี “จริงๆ แล้วควายที่เพื่อนเลี้ยงจบลงที่โรงเชือดค่ะ แต่อ้อมไม่อยากเล่าเรื่องอย่างนั้น ก็เลยมาออกทางควายสวยงาม ซึ่งเป็นการเลี้ยงควายที่ยั่งยืน แล้วพอมาเล่าเรื่องควายสวยงามก็ทำให้เราได้รู้จักเรื่องนี้มากขึ้น จนเห็นเลยว่า ควายสวยงามสามารถเป็นอีกซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทยได้เลยนะคะ เพราะตอนนี้เกษตรกรมีการเลี้ยงควายเพื่อประกวดควายไทยลักษณะดี หรือควายสวยงามอยู่หลายแห่ง และยังสามารถขยายพันธุ์เพื่อประกวดกันต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ราคาต่อตัวยังแพงมากจนเราตกใจ มีตั้งแต่ล้าน สองล้านบาท หรือราคาสูงถึงสิบล้านบาทก็มี แล้วเขาก็เลี้ยงดูอย่างดี ให้ความสำคัญตั้งแต่น้ำ หญ้า อาหารเสริม โรงเรือน มีรายละเอียดเยอะ แล้วยังได้นำภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ามาผสมผสานกับเทคโนโลยีโดยมีเกษตรรุ่นใหม่เข้ามาต่อยอด มีการพัฒนาสายพันธุ์ของควาย มีแฟนคลับ มีการประกวดแข่งขันเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่มาก ซึ่งตรงนี้ได้นำมาใส่ลงไปในนิยายผ่านตัวพระเอกที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ และมุมมองของเขาที่มีต่ออาชีพว่ามองไกลถึงไหนด้วย บอกเลยว่าบางทีควายที่เขาเลี้ยงอาจแพงกว่ารถที่บางคนขับด้วยซ้ำค่ะ”

ฝันนี้มีร่วมกันกับคุณแม่

ในเส้นทางของนักเขียนอ้อมมีฝันอยู่เพียงสองเรื่อง เรื่องแรกคือนิยายที่เขียนได้รับการตีพิมพ์ เรื่องที่สองคือนิยายที่เขียนได้ถูกนำไปสร้างเป็นละคร “ตอนคุณแม่ท้องอ้อม ท่านฝันว่ามีนางนพมาศมาหาแล้วยื่นพานที่มีหนังสือใบลานส่งให้ ท่านเลยคิดว่าลูกในท้องต้องเป็นผู้หญิงที่รักการขีดเขียนแน่ๆ และเมื่อมีอ้อมเราแม่ลูกก็มักจะคุยเรื่องแบบนี้กันตลอด ในวันที่ผลงานนิยายเล่มแรกตีพิมพ์ แม่ดีใจกับเรามาก เพราะเป็นความฝันที่มีร่วมกัน แต่ถ้าวันไหนที่นิยายได้เป็นละครออกมาให้ดูจริงๆ ถ้าแม่ยังอยู่ ก็คงจะดีใจไม่แพ้กันค่ะ”

ลมใต้ปีกของ พรรณสิริ

ด้วยจิตวิญญาณของการเป็นนักเขียน แม้จะมีช่วงเวลาที่ถอดใจไปบ้าง แต่เมื่อได้เจอบางสิ่ง บางคนเข้ามากระตุ้นเตือนใจ ว่าเราคือใคร ชอบอะไร ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจุดไฟในตัวให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง

“ทั้งสองเรื่อง คือ ตราบหัวใจไม่แพ้ และ กระบือสื่อรัก เหมือนเราได้รับการผลักดัน จริงอยู่เรามีความคิดที่อยากเขียน แต่ก็สูญเสียทิศทางในการเขียนมาแล้วช่วงหนึ่ง ห่างจากการตีพิมพ์ไปค่อนข้างนาน จนมาถึงตอนเขียนเรื่อง ตราบหัวใจไม่แพ้ ซึ่งเกิดจากการที่น้องแป้ง อสิตา ที่เรารู้จักกันมาก่อน ผลักดันให้ส่งพล็อตให้โครงการช่องวัน อ่านเอา ปี ๒ ในขณะที่เวลานั้นตัวเองกลับคิดว่าไม่สามารถเขียนอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันต่อได้แล้ว แต่น้องแป้งชื่อมั่นในตัวเรา เลยทำให้ลุกขึ้นมาเขียนอีกครั้ง และระหว่างที่เขียนเรื่องตราบหัวใจไม่แพ้ อ้อมพบว่าเราได้เจอแนวนิยายที่จะเขียนต่อแล้ว เหมือนหาตัวเองเจออีกครั้งแต่ไม่รู้ว่าที่ทางของเราจะอยู่ตรงไหน จนพี่หมอโอ๊ต (พงศกร) พี่เอียด (ปิยะพร ศักดิ์เกษม) พี่ปุ้ย (กิ่งฉัตร) บอกว่าอ้อมมีลายเซ็นในงานของตัวเองอยู่ ก็ทำให้อ้อมมีกำลังใจที่จะทำงานต่อ

พอมาถึงรอบช่องวัน อ่านเอา ปี ๔ ที่ได้รับการชักชวนก็ยิ่งทำให้ใจฟูค่ะ อ้อมรู้สึกขอบคุณคณะกรรมการมากๆ ที่ชวนให้ได้ร่วมโครงการนี้ เหมือนจักรวาลจัดสรรเรา จริงอยู่ผลงานนั้นมาจากตัวเอง แต่แรงผลักดันสำคัญจากคนที่เห็นคุณค่าของเราและงานของเรา ทั้งยังให้โอกาสและการสนับสนุนเรานั่นแหละทำให้มาถึงจุดนี้ได้ค่ะ”

และอีกหนึ่งลมใต้ปีกที่เป็นเหมือนแก่นและแกนในตัวในใจซึ่งอยู่กับเธอมาตั้งแต่ไหนแต่ไรคือ ‘คุณแม่’ ที่แม้ว่าตอนนี้เธอจะกำลังมองดูลูกสาวอยู่ไกลๆ แต่เธอต้องภาคภูมิใจในความสำเร็จของอ้อมอย่างแน่นอน

          

Don`t copy text!