เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง ตอนที่ 5 : เขตพระราชฐานชั้นใน

เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง ตอนที่ 5 : เขตพระราชฐานชั้นใน

โดย : ลีซังกุง

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวของดินแดนแห่งแสงสว่างยามเช้าและคำบอกเล่าของกาลเวลา โดย ลีซังกุง ให้ทุกคนได้ อ่านออนไลน์ กันเพลินๆ ในคอลัมน์ เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง

…………………………………………..

– 5 –

 

จากตอนที่แล้ว ถ้าเราเดินมาจากประตูหลัก เราก็เดินจนถึงเขตพระราชฐานชั้นในแล้วค่ะ ในส่วนนี้จะเป็นตำหนักบรรทมของพระราชา พระมเหสีและพระสนมในสมัยก่อนจากการดูแผนที่และรูปเก่า คยองบกกุงจะมีขนาดกว้างใหญ่และมีตำหนักน้อยใหญ่มากกว่าปัจจุบันมากค่ะ ที่เราเห็นส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ และอีกหลายอย่างเหมือนกันได้รับการสร้างขึ้นมาและถูกทำลายไป เมื่อโลกต้องหมุนเวียนไปตามกระแสของมัน

จากตอนที่แล้ว เราไปที่ตำหนักทรงงานของพระราชาซาจองจอน หากเราเดินผ่านประตูฮยังโอมุนเข้ามาในส่วนนี้ เราก็จะเข้าสู่เขตพระราชฐานส่วนในแล้วค่ะ  ในหนึ่งวันหลังจากที่เสร็จจากพระราชกรณียกิจแล้ว พระราชาก็จะมีเวลาเพื่อใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ตำหนักคังนยองจอนค่ะ

พระตำหนักคังนยองจอน เป็นพระตำหนักที่บรรทมของพระราชา ในสมัยก่อนพระราชาและพระมเหสีจะบรรทมแยกกันนะคะ เหล่าพระสนมก็เช่นกัน พระตำหนักคังนยองจอน การตกแต่งภายในและภายนอกก็จะไม่เหมือนกันด้วย ถ้าสังเกตดีๆ ในตำหนักที่พระมเหสีประทับ การตกแต่งจะมีความอ่อนหวานนุ่มนวลมากกว่า ในตำหนักคังนยองจอนนี้จะเป็นการตกแต่งแบบเรียบๆ มากกว่าค่ะ

ภายในตัวตำหนักก็จะแบ่งเป็นห้องๆ ห้องบรรทมจะมีระบบทำความร้อน เพราะในฤดูหนาวอากาศจะหนาวมาก พื้นที่ส่วนนี้ถือเป็นพื้นที่ส่วนพระองค์ เพื่อใช้ทรงพระสำราญอิริยาบถกับพระมเหสีและเหล่าพระญาติวงศ์ ตรงส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ขุนนางฝ่ายหน้าจะเข้ามาไม่ได้ค่ะ

แต่ก็มีบางครั้งในคราวที่ต้องการปรึกษาเรื่องราชการเป็นการส่วนตัว ขุนนางบางคนก็จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้เข้ามาที่พระที่นั่งนี้ได้ แต่ปกติธรรมดาแล้วจะได้รับอนุญาตน้อยมาก เพราะเขตพระราชฐานส่วนใน เป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ที่เป็นสตรีค่ะ

นี่คือภาพคังนยองจอนในปัจจุบันค่ะ เราก็ดูได้แต่ภายนอกเท่านั้น เหตุผลที่ไม่ให้เข้าไปก็คือ แม้จะได้รับการบูรณะมาบ้างแล้ว แต่การที่รับน้ำหนักมากๆ ก็อาจจะทำให้ตัวพระที่นั่งเสียหายได้ ปัจจุบันโบราณสถานของเกาหลีที่เป็นไม้ส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไป เพราะป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นค่ะ

พระตำหนักคังนยองจอน สร้างครั้งแรกเมื่อปี 1395 ซึ่งเป็นปีที่สี่ของพระราชาแทโจ อาคารหลังนี้มีห้องบรรทมของกษัตริย์ พระตำหนักคังนยองจอนผ่านเวลาและเรื่องราวมาหลายร้อยปีค่ะ นอกจะทรุดโทรมไปกับกาลเวลา แล้วการเกิดเพลิงไหม้ถึงสามครั้ง อย่างในสมัยพระเจ้าเซจงเหตุเกิดไฟไหม้เพราะการทำระบบทำความร้อนและขยายท่อทำความร้อนใต้พื้นที่เพลิงไหม้ขึ้นมาค่ะ และได้ถูกทำลายระหว่างญี่ปุ่นรุกรานเกาหลีในปี 1592 แล้วก็ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 1867 แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ถูกไฟไหม้จากไฟไหม้ใหญ่ในพฤศจิกายน 1876 และได้รับการบูรณะในปี 1888 ตามคำสั่งของพระราชาโกจง แต่พอปี 1918 ก็ถูกทำลายลงอีกเช่นกัน ทำให้พระตำหนักนี้มิอาจจะบูรณะให้มีรูปทรงดั้งเดิมได้ทุกส่วนค่ะ

อย่างสมัยก่อนระหว่างตำหนักจะมีระเบียงทางเดินที่เป็นสร้างเชื่อมกัน เพื่อให้พระราชาทรงพระดำเดินไปได้โดยไม่ต้องลงมาด้านข้าง แต่พอไฟไหม้ การก่อสร้างก็สร้างแบบใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยในช่วงเวลานั้น เมื่อผ่านสงครามเกาหลีอาคารส่วนใหญ่ถูกระเบิดเสียหายค่ะ คังนยองจอนเป็นอาคารที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่และเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปชมความงดงามได้ในปี 1994 ค่ะ

พระตำหนักคโยแทจอน

เมื่อเราเดินจากด้านหลังของคังนยองจอนก็เป็นที่ประทับของพระมเหสี พระตำหนักนี้มีชื่อว่า พระตำหนักคโยแทจอน เป็นพระตำหนักบรรทมของพระมเหสีตรงนี้ไม่เกี่ยวกับตำหนักย่อยหรือพระสนม จะแยกส่วนกันค่ะ คือในสมัยก่อนพระราชวังคยองบกกุงจะมีขนาดและมีตำหนักน้อยใหญ่มากกว่าสมัยปัจจุบันค่ะ และเป็นไปได้ว่าเจ้าตำหนักหรือพระสนมจะแยกส่วนจากตรงนี้ค่ะ

ภาพพระตำหนักคโยแทจอนในอดีต ภาพถ่ายราวปี 1902

พระตำหนักคโยแทจอนนั้น มีโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับพระตำหนักคังนยองจอน แต่ตามสายตาของซังกุง ตำหนักนี้มีความอ่อนหวานงดงามซ่อนอยู่ สิ่งที่ทำให้พระตำหนักนี้แตกต่างจากพระตำหนักคังนยองจอนของพระราชาก็คือพระตำหนักนี้จะไม่มีระเบียงหินส่วนหน้า การตกแต่งเพดานตำหนักก็จะแตกต่าง แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเหตุใดการตกแต่งในจุดนี้จึงแตกต่างจากที่ประทับของพระราชาค่ะ พระตำหนักคโยแทจอนถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1440 ซึ่งเป็นปีที่ 22 ของพระเจ้าเซจง (รัชกาลที่ 4) พระตำหนักนี้มีความพิเศษคือลายปูนปั้นที่มีรูปดอกไม้และสัตว์ต่างๆ ตรงนี้แม้จะอยู่ในรูปเก่าแต่ลวดลายจะชัดเจนมาก

เปรียบเทียบคโยแทจอนในอดีตลวดลายที่กำแพงดูเด่นชัด และเป็นเอกลักษณ์ ดูแล้วสวยงามถือเป็นเสน่ห์ของพระตำหนักแห่งนี้เลยก็ว่าได้

เมื่อเปรียบเทียบกับภาพปัจจุบันจะเห็นว่ารายละเอียดไม่ได้แตกต่างกันมากนักแม้จะผ่านกาลเวลามามากแล้ว พื้นที่ด้านหลังพระตำหนักจะมีการก่อสร้างเลียนแบบภูเขา และมีการปลูกดอกไม้ให้ลดหลั่นกันมาตามความสูง คาดว่าในสมัยก่อนที่นี่อาจจะเป็นที่สำราญพระอิริยาบถของพระมเหสีก็ได้ค่ะ

จากที่ซังกุงสังเกตจากแผนที่ดั้งเดิม ประกอบกับบันทึกท้ายรัชกาลของพระราชาโกจง พื้นที่สองตำหนักนี้อาจจะเป็นที่บรรทมของพระราชาและพระมเหสีในบางรัชกาลก็จริง เช่นในรัชกาลของพระเจ้าโกจงแห่งโชซอน จะไปประทับที่พระตำหนักคอนชอนกุงเสียมากกว่า พระตำหนักนี้จะอยู่ส่วนท้ายของพระราชวัง ติดกับประตูชินมูมุนเลย

ลักษณะของคอนชอนกุงจะคล้ายคังนยองจอน และตำหนักคโยแทจอนคือ พระตำหนักบรรทมของพระราชาจะอยู่ที่ส่วนหน้า ส่วนของพระมเหสีจะอยู่ที่ส่วนหลัง สองตำหนักนี้จะมีทางเดินเชื่อมต่อกัน ทำให้สามารถเดินไปหากันได้แม้แยกส่วนกัน  ในสมัยก่อนพระราชาและพระมเหสีจะมีตำหนักไว้สำราญพระอิริยาบถแตกต่างกันค่ะ ยิ่งในสมัยเจ้าโกจงช่วงปี 1895 พระองค์และพระมเหสีมินได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงที่ประเทศเผชิญปัญหา ประทับอยู่ด้วยกันเกือบตลอดเวลา แม้กระทั่งช่วงเวลาสุดท้ายที่พระมเหสีถูกลอบปลงพระชนม์ค่ะ

ซังกุงคิดว่าการที่พระราชาจะทรงประทับอยู่ที่ตำหนักใด อาจจะเป็นพระราชนิยมส่วนพระองค์ แต่ถ้าเป็นสมัยพระราชาโกจงแล้ว น่าจะเป็นเหตุผลเรื่องความปลอดภัยมากกว่า จึงเลือกที่จะประทับอยู่ที่คอนชอนกุงที่เป็นส่วนท้ายพระราชวังค่ะ

พระตำหนักจาคยองจอน

พระตำหนักจาคยองจอนเป็นตำหนักที่ประทับพระพันปี ตำหนักนี้ถือเป็นตำหนักที่ใหญ่และมีความสำคัญมาก สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระพันปีโจ (ชินชองวังฮู) ในช่วงที่พระเจ้าโกจงยังทรงพระเยาว์ พระพันปีและพระบิดาของพระเจ้าโกจงก็ต้องช่วยกันบริหารประเทศ แต่พระตำหนักแห่งนี้ถูกไฟไหม้และได้สร้างขึ้นมาใหม่ในปี 1888 ตามโครงสร้างเดิมที่มีค่ะ

ข้างในตำหนักการตกแต่งคล้ายตำหนักคโยแทจอน มีห้องอุ่น ห้องพักผ่อนพระอิริยาบถของพระพันปีด้วยค่ะ

ส่วนด้านหลังก็จะมีกำแพงและปล่องไฟที่มีการแกะสลักไปด้วยสัญลักษณ์ที่ให้อายุยืนยาว ด้านกำแพงตะวันตกจะก่อสร้างด้วยกำแพงสีส้มค่ะ นับว่าเป็นกำแพงแนวตำหนักที่สวยงามมากที่หนึ่งเลยทีเดียว

 

 

Don`t copy text!