เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง ตอนที่ 4 : เขตพระราชฐานชั้นนอก

เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง ตอนที่ 4 : เขตพระราชฐานชั้นนอก

โดย : ลีซังกุง

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวของดินแดนแห่งแสงสว่างยามเช้าและคำบอกเล่าของกาลเวลา โดย ลีซังกุง ให้ทุกคนได้ อ่านออนไลน์ กันเพลินๆ ในคอลัมน์ เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง

…………………………………………..

– 4 –

 

สวัสดีค่ะ ทำไมซังกุงเดินช้าอย่างนี้นะ เข้ามาถึงวังใช้เวลาเดินดูนี่นั่นสังเกตทุกอย่างที่เห็น เชื่อไหมคะ ตอนมาครั้งแรกซังกุงมองเห็นหลังคาพระที่นั่ง แล้วบอกกับตัวเองว่า โอ้โฮ! ในความรู้สึกครั้งแรกเป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ ตอนแรกก็เดินเหมือนทัวร์เลยค่ะ เพราะอาจารย์รีบพาไปรีบพากลับจะได้ทันเวลา แต่พอมาวันหลังก็หาเวลาไปเองอีกหลายครั้ง

เริ่มมาครั้งที่สี่ตามคนที่รู้สึกอะไรได้ช้า ตอนนั้นเริ่มสนใจมองสิ่งที่อยู่นอกเส้นทางหลัก และเป็นการเดินออกนอกเส้นทางครั้งแรก สามครั้งที่ผ่านมาจะเป็นการมาถ่ายรูปแล้วก็กลับ ได้แต่ความอิ่มเอม แต่ไม่ได้อะไรมากนัก พอมาครั้งที่สี่เริ่มเปิดประวัติของคยองบกกุงอ่าน แล้วจึงเริ่มเดินสำรวจทุกอย่างที่เห็นค่ะ

เพราะทุกอย่างที่นี่มีความหมายนัยแฝงอยู่ทั้งสิ้น ตั้งแต่การวางผังเมือง สมัยก่อนต้องมีคณะสำรวจก่อนก่อสร้างหลายปี เมื่อได้ชัยภูมิที่เหมาะสมก็ก่อสร้างโดยเก็บรายละเอียดทุกอย่าง เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจคนทั้งชาติ

การเดินเที่ยวในครั้งที่สี่จึงเป็นครั้งที่เปิดหูเปิดตาซังกุงจริงๆ นับตั้งแต่อยู่เกาหลีมา

เอาล่ะ… หลังจากที่เรารู้จักประตูต่างๆ แล้วเราจะเข้ามาสู่เขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งจะประกอบด้วยพระที่นั่งที่สำคัญที่สุดของพระราชวังนี้ คือพระที่นั่งคึนจองจอน

ภาพจาก pixabay.com

ทางเดินที่ลาดสู่พระที่นั่งนั้นจะมีสามทางด้วยกัน ซึ่งจะใช้หลักการเดียวกับประตูค่ะ คือซ้ายและขวาเป็นทางเดินของเหล่าข้าราชบริพาร ส่วนทางเดินตรงกลางจะเป็นทางเดินของพระราชา จากเดินตรงกลางเมื่อเราเดินเข้าประตูคึนจองมุน ที่เป็นประตูที่ตั้งอยู่กึ่งกลางเข้ามาด้านซ้ายและขวามือของเรา ที่นี่จะเป็นแนวเสาเรียงรายโอบล้อมตัวพระนั่งใหญ่ไว้ เวลาจะมีประชุมบรรดาขุนนางจะเลี่ยงมาเข้าประตูที่อยู่ด้านข้างคือประตูตะวันออกและตะวันตกแทนทั้งสองข้าง

พระที่นั่งคึนจองจอนจะมีระเบียงทางเดินค่ะ ไม่รู้เป็นอะไรซังกุงจะชอบมาก ไปทีไรต้องไปกอดเสาถ่ายรูป คือในสมัยโบราณ เขาจะไม่เดินผ่านหรือเหยียบทางที่พระราชาเสด็จนะคะ เรื่องทางสามเส้นนี่จะเป็นเส้นทางที่พระราชาเสด็จจะมีทางแบบนี้ที่สถานที่สำคัญๆ ทั้งพระราชวัง สุสานหลวง และศาลจุงมโย ในสมัยโบราณจะไม่มีคนเดินทางทับรอยพระบาทที่พระราชาย่างก้าวไว้ เวลามีการเซ่นไหว้ดวงพระวิญญาณก็จะมีผู้ที่ทำหน้าที่นี้แต่จะไม่มีคนเดินเหยียบทางที่อยู่กลางค่ะ เวลาเซ่นไหว้คนทำหน้าที่นี้จะเดินด้านข้างแทน

แต่ในสมัยปัจจุบันกับโลกที่เปลี่ยนไป คยองบกกุงในทุกวันจะต้อนรับนักท่องเที่ยวมากมาย ทางเดินของกษัตริย์ถูกเหยียบย่ำเพราะบัดนี้ประเทศได้เปลี่ยนแปลงหมุนไปตามกระแสโลก การบอกเล่าเรื่องนี้มีแต่ในชั้นเรียนหรือคณะทัวร์ของผู้ที่สนใจด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเท่านั้นค่ะ

ถ้าเราเดินเข้ามาด้านหน้า เชื่อว่าสายตาของทุกท่านต้องมองเห็นพระที่นั่งคึนจองจอนแน่ๆ แต่พื้นที่ด้านนอกพระที่นั่งก็ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน ตรงนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีการสำคัญๆ ค่ะ  พื้นหินเรียงรายเข้าสู่ตัวพระที่นั่ง สองข้างทางจะเป็นป้ายหินบอกตำแหน่งสังกัดและตำแหน่ง บรรดาขุนนางจะยืนตามสังกัดกรมกอง คนที่ยืนอยู่ตรงนี้มักจะเป็นขุนนางขั้นสูง ถ้าหากยศต่ำกว่าจะอยู่ห่างออกไปค่ะ ลานตรงนี้เอาไว้ประกอบพิธีกรรมสำคัญๆ มักจะจัดที่นี่ แต่ก็มีบางรัชกาลก็จะไปจัดที่พระราชวังอื่นด้วย ตามพระราชประสงค์ บางงานเมื่อเสร็จจากพิธีการไปอาจจะมีการร้องรำที่นี่ ลานกว้างตรงนี้จะเปลี่ยนเป็นลานที่นักดนตรีและนางรำจะทำการแสดงค่ะ

ภาพพระที่นั่งคึนจองจอนจาก pixabay.com

พระที่นั่งคึนจองจอนถือเป็นสมบัติของชาติหมายเลขที่ 223 เป็นพระที่นั่งที่สำคัญที่สุดในพระราชวังคยองบกกุง เพราะในสมัยโชซอนเป็นสถานที่ราชาภิเษก และประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ในระดับทางการ  และบางครั้งยังเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วยค่ะ

เมื่อขึ้นบนบันไดไป รอบๆ จะมีรูปหินแกะสลัก เป็นรูปสิบสองนักษัตรเรียงรายอยู่ด้วยค่ะ แต่โดยมากคนจะไม่ค่อยสังเกตกัน พอเดินไปดูท้องพระโรงข้างในแล้ว (ตรงนี้เขาไม่ให้ไปนะคะ ดูได้แค่ประตูเท่านั้น) ซังกุงก็จะเดินดูรอบคึนจองจอนเลยเห็นว่าเป็นรูปแกะสลักของนักษัตรทั้งสิบสอง

และเมื่อมองเข้าไปในประตูเราจะเห็นภาพด้านล่างนี้ค่ะ ภาพบัลลังก์พระที่นั่งของพระราชาเกาหลีค่ะ

บัลลังก์มังกรของพระราชาเกาหลีเป็นสิ่งมีความสำคัญและมีความหมาย ฉากหลังจะเป็นรูปวาดขุนเขา พระจันทร์และอาทิตย์ ตัวพื้นของพระที่นั่งใช้สีแดงถ้าเป็นของจีน เราจะเห็นเป็นสีทองใช่ไหมคะ งานไม้ตรงนี้ถือเป็นสีสันและเอกลักษณ์ของเกาหลีอย่างแท้จริง สัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่ด้านหลังจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมพระราชอำนาจของผู้ครองบัลลังก์

ภายพระที่นั่งนี้นอกจากจะประดิษฐานบัลลังก์ของพระราชา เมื่อเงยหน้าไปมองบนเพดาน เราจะเห็นมังกรสองตัวกำลังเล่นลูกแก้วอยู่ค่ะ มังกรเป็นสัตว์ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของกษัตริย์ ในพระที่นั่งหลักๆ ที่สัญลักษณ์เช่นนี้ปรากฏอยู่หมายถึงเป็นสถานที่ของพระราชา

ขอนอกเรื่องนิดหนึ่งนะคะ มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ซังกุงไปเที่ยวที่สวนลับฮูวอนซึ่งตรงนี้จะอยู่ในบริเวณของพระราชวังชางด็อกกุง แต่เราจะไปเที่ยวเองไม่ได้ต้องรอไกด์พาไป เพราะครั้งแรกที่ไปนึกว่าเป็นพระราชอุทยานหลวง แต่พอไปจริงๆ สวนที่ว่ากลับดูราวกับเป็นป่าโอบล้อมสองพระราชวัง แล้วไกด์ก็พาไปนั่งที่ศาลาชมสวนค่ะ

ไกด์ท่านนั้นบอกว่า ถ้าศาลาที่พักมีตรามังกรอยู่แสดงว่าที่นี่เคยเป็นที่พักของพระราชา ตรงนั้นจึงไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งค่ะ พอมาที่พระราชวังก็จะมีหลักการเดียวกัน ในพระที่นั่งหลักจะมีมังกร และบ้างที่จะเป็นหงส์สีแดงอยู่บนเพดานท้องพระโรงใหญ่ เดี๋ยวในรายละเอียดจะนำมาเล่าในห้องที่ตรงกับพระราชวังนั้นอีกทีค่ะ

เมื่อเราเดินสำรวจคึนจองจอนแล้วเราก็เดินมาทางด้านหลังซึ่งก็อยู่ไม่ไกลนัก เมื่อผ่านประตูเข้ามา เราก็พบกับพระที่นั่งที่พระราชาทรงงานทุกวันค่ะ พระที่นั่งนี้มีชื่อว่าพระที่นั่งซาจองจอน

ปกติเราจะเห็นพระราชาจะออกว่าราชการบนบัลลังก์ใช่ไหมคะ ซีรีส์ที่ท่านเคยได้ดูอาจจะเห็นอย่างนั้นบ่อยๆ แต่แท้จริงแล้วคึนจองจอนจะเปิดใช้งานในโอกาสที่พิเศษเท่านั้น อาจจะเป็นประชุมประจำสัปดาห์ ประจำเดือนที่เหล่าขุนนางทุกกรมกองต้องมาถวายรายงาน แต่ในวันที่ไม่มีโอกาสพิเศษอะไร พระราชาจะทรงงานที่นี่ค่ะ

พระที่นั่งซาจองจอนเป็นสถานที่ว่าราชการ และสถานที่ทรงงานของพระราชา ตลอดจนเวลาที่จะตอบฎีกาจะทรงมายังที่นี่ บางทีก็จะมีขุนนางมาเข้าเฝ้าเพื่อถกปัญหาราชการที่นี่ด้วยค่ะ

ภายในพระที่นั่งก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กับคึนจองจอนนะคะ แต่ละเล็กกว่ามาก การประชุมขุนนาง อาจจะเป็นการประชุมแต่ละกรมกรอง ที่นี่จะมีรูปวาดมังกรล่อแก้วค่ะ พระที่นั่งนี้ถือเป็นพระที่นั่งที่มีความสำคัญมาก เพราะพระราชาใช้ทรงงานทุกวันค่ะ

ว่ากันว่าชื่อของพระที่นั่งซาจองจอนและชื่อประตูซาจอง คนตั้งชื่อคือ จอง โดจอน (1337-1398) เอกอัครมหาเสนาบดีผู้สร้างพระราชวังแห่งนี้ โดยชื่อองพระตำหนักนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก ชาจอง หมายถึง หนึ่งเดียวจะได้รับ แต่จะสูญเสียหากไม่มีคิดถึงประชาชน หากพระราชาไม่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบก็จะไม่รู้ถูกผิด ฉะนั้นควรคิดและไตร่ตรองให้มากขึ้น ชื่อนี้จึงเหมาะที่จะเป็นชื่อตำหนักทรงงานของกษัตริย์ค่ะ

พระตำหนักซูจอง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระตำหนักคยองฮีรู เดิมเป็นที่ตั้งของสำนักปราชญ์ในสมัยของพระราชาเซจง (รัชกาลที่ 4) แต่ก็ได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าโกจง ในช่วงแรกๆ ที่พระราชาทรงครองราชย์ ตำหนักนี้ถูกใช้เป็นตำหนักพระบรรทมของพระองค์ด้วยค่ะ

นอกจากพระตำหนักดังกล่าวที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวเย็นมาก และพระที่นั่งซาจองเองก็ไม่มีระบบให้ความอบอบอุ่นจากพื้น ทำให้ในช่วงฤดูหนาว พระตำหนักมันซุนและพระตำหนักจอนซูเป็นที่พระราชาจะมาว่าราชการที่นี่ เพราะมีเตาให้ความอบอุ่น สันนิษฐานว่าตำหนักสองแห่งนี้มักจะเปิดใช้ในฤดูหนาวค่ะ โดยจะแยกดังนี้พระตำหนักมันซุนจะอยู่ที่ทิศตะวันออก ส่วนพระตำหนักจอนซูจะอยู่ที่ทิศตะวันตก ทั้งสองตำหนักนี้จะอยู่ไม่ไกลพระที่นั่งซาจองจอนเท่าไหร่นักคะ

และนี่คือพระตำหนักจอนซู ตรงนี้โครงสร้างการวางแปลนจะคล้ายๆ กันกับพระที่นั่งมันซุนนะคะ และยังมีระบบทำความร้อนแบบโบราณเหมือนกันอีก ตรงนี้จะแบ่งเป็นสามห้องมีที่เก็บเอกสาร หนังสือและห้องทรงงานของพระราชาด้วยค่ะ

วันนี้เรารู้จักพระตำหนักหลักในเขตพระราชฐานชั้นนอกไปแล้วนะคะ ในตอนต่อไปซังกุงจะพาทุกท่านไปเที่ยวในเขตพระราชฐานชั้นในกันค่ะ โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ

  

ซื้อหนังสือที่ www.naiin.com ไม่ว่าเล่มใดก็ตาม

ทุกยอดการสั่งซื้อจะมีส่วนแบ่งกลับมาเพื่อสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอา

ชุมชนแห่งการอ่านของพวกเรา : ) 

 

Don`t copy text!