เสน่ห์บางกอก 1 : เดินตลาดน้อย เที่ยวเยาวราช ย่านเก่าเจริญกรุง

เสน่ห์บางกอก 1 : เดินตลาดน้อย เที่ยวเยาวราช ย่านเก่าเจริญกรุง

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

– เดินตลาดน้อย เที่ยวเยาวราช ย่านเก่าเจริญกรุง 

…หลายๆ คนอยากจะเดินเที่ยวกรุงเทพฯ แบบตะลอนไปเรื่อยๆ ไม่ใช้รถยนต์ ทั้งรถเมล์ แท็กซี่ เพราะเบื่อการจราจร เพราะนอกจากเสียสุขภาพจิต แล้วยังเสียเวลาในแต่ละจุดมากมาย ไม่ได้อรรถรส ในการตามหาเสน่ห์ของ ‘บางกอก’ วิถีชีวิตและสถานที่ต่างๆ สัมผัสอย่างผิวเผิน เส้นทางและจุดเช็กอินออกแบบจากชุมชนเก่าตลาดน้อย เยาวราช เจริญกรุง เขียนร่างพิมพ์เขียว เน้นไหว้พระไหว้เจ้า ทำบุญ แล้วกินๆๆๆ เข้าแต่ร้านดังๆ หาของอร่อยๆ

ชิมอย่างละนิดอย่างละหน่อย อย่าอิ่มนะ… เที่ยวตะลุยตรอกซอกซอยที่ต้องเดินย่ำกันอย่างเดียว ใจพร้อมแล้ว ก็ก้าวออกไปเลยครับ

dav

เที่ยงตรง… ก็มาปรากฏตัวที่วัดไตรมิตร ออกจากบ้านแล้วลงรถไฟใต้ดิน (MRT) สายสีน้ำเงิน ขึ้น (ออก) สถานีหัวลำโพง เลี้ยวไปทางขวา เดินไปอีก 1 กม. สบายๆ แม้แดดเปรี้ยง สวมหมวก กางเกงขาสั้น กับรองเท้าผ้าใบ จึงไม่ร้อนเท่าไหร่ ขึ้นไปบนพระมหามณฑปชั้น 4 (วิหารหลังใหม่) ที่ประดิษฐานพระทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือหลวงพ่อทองคำ หรือ ‘พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร’

หลายคนคงไม่รู้ประวัติว่าเดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์ พุทธลักษณะภายนอกไม่งดงามหรือโดดเด่น เคยประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโชตินาราม หรือวัดพระยาไกร มาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ต่อมาวัดพระยาไกรขาดคนบูรณปฏิสังขรณ์ จึงตกอยู่ในสภาพรกร้าง ราว พ.ศ. 2474 บริษัท อีสต์เอเซียติก จำกัด ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ ได้ขอเช่าที่จากรัฐบาล เข้าจัดสร้างโรงเลื่อยไม้ขนาดใหญ่ในบริเวณวัดร้างแห่งนี้ มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมของวัดพระยาไกรออกจนเหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ วัดสามจีน (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม) พ.ศ. 2498 มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ทั่วทั้งพระอารามและสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเพิ่มเติม สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะแขวงล่าง เห็นว่าจะปล่อยองค์พระพุทธรูปปูนปั้นให้อยู่ที่เดิมต่อไปจะเป็นการไม่สมควร ประกอบกับวัดสามจีนมีสถานที่เหมาะสมกับการประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จึงให้ย้าย ขณะเครนยกเคลื่อนย้ายเข้าที่สลิงขาดไปกระเทาะปูนแตกเห็นเนื้อทองคำ จึงรื้อสกัดปูนออกมากลายเป็นหลวงพ่อทองคำที่เห็นเปล่งปลั่งทุกวันนี้

แวะเข้าซอยสุกร ฝั่งตรงข้ามวัด ชิมข้าวหมูแดงสีมรกต และหมูสะเต๊ะชองกี่ 2 ร้านดังระดับ 70 ปีขึ้นไป อร่อยแต่ต้องชิมอย่างละ 2-3 คำ 2-3 ไม้ เพราะต้องไปกินร้านอื่นอีก หมูแดง หมูกรอบอร่อยดี เนื้อหนา น้ำราดข้น ใช้ได้เหมือนเดิมเลย ก็มีเพื่อนๆ อวดดีสั่งกระเพาะปลามาลอง เราชิมไป 2 คำ รสชาติดีมากเลย (อย่าลืมใช้ช้อนกลางนะครับ) เดินย้อนไปตามถนนเจริญกรุง เข้าซอยเจริญกรุง 22 ปากทางเข้าตลาดน้อย เดินผ่านตึกแถวเรือนโบราณ บนถนนแคบๆ ที่สะอาดสะอ้าน มีผู้คนค้าขายและพักอยู่อาศัย มีการสัญจรไปมากันคึกคัก จะซื้อกะหรี่ปั๊บร้านดังที่ปากซอย แค่บ่ายสองก็ “จองหมดแล้วค่ะ” …ฝากเอาไว้ก่อนนะเธอ

‘ตลาดน้อย’ เป็นย่านเก่าแก่ในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากการขยายตัวทางการค้าของสำเพ็งในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีร่องรอยในอดีตที่ดูขลังและสภาพภายนอกที่สวยงามดีมาก อาทิ คฤหาสน์เก๋งจีน ‘บ้านโซวเฮงไถ่’ บ้านคหบดีสมัยก่อนที่มีอายุกว่า 220 ปี มีรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนทั้งตัวอาคารและบริเวณ โดยมี คุณภู่ศักดิ์ โปษยะจินดา เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน เป็นผู้ดูแล เปิดชมฟรี มาครั้งแรกประหลาดใจและไม่น่าเชื่อว่าจะมีสิ่งปลูกสร้างย้อนอดีตอย่างคาดไม่ถึงอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ปัจจุบันถูกใช้เป็นสำนักดำน้ำลึกที่ได้รับมาตรฐานระดับโลก เก๋งจีนโอบล้อมรอบสระ จึงให้ความรู้สึกเหมือนว่ายน้ำที่เมืองจีน ใส่เสื้อเตะตาครูฝึก เลยเข้ามาสวัสดี น้องเป็นรุ่นน้องวิศวะ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ทำเป็นงานอดิเรก เอามันว่างั้นเถอะ น่าอิจฉาคนที่ใช้ชีวิตอย่างนี้จริงๆ นะครับ

เดินผ่านเรือนแถวไม้ ตึกแถวเก่า ส่วนใหญ่จะมีแค่ชั้นเดียว เหมือนจะรกร้าง ปล่อยรกรุงรัง มีกองของทั้งอะไหล่รถ เครื่องใช้ ไม้ เหล็ก รถยนต์เก่า ระเกะระกะทั้งภายในเรือนและนอกบ้าน โกดังหรือบ้านเช่ามองไม่ออกจริงๆ แต่รวมๆ ดูเก๋ เตะตาใช่เลย แวะถ่ายรูป รวมทั้งสตรีทอาร์ตบนฝาผนังและซากรถเก่าๆ ย่ำต่อจนไปถึงริมน้ำเจ้าพระยาเจอธนาคารสยามกัมมาจล ธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย วันหยุดดันปิดไม่ให้เข้าชม เอ้อ ให้มันได้อย่างนั้นซิ ผ่านร้านเป็ดพะโล้เจ้าท่า (แถวนี้มีสำนักงานกรมเจ้าท่า) ยังอิ่มตื้ออยู่เลยไม่แวะ ซ้ายมือคือที่ทำการเขตสัมพันธวงศ์ เลี้ยวขวาเข้าไปดู ‘วัดกาลหว่าร์’ วัดของชาวคริสต์โปรตุเกสที่ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของประมุขมิสซังสยามชาวฝรั่งเศส พวกเขาแยกตัวออกมาจากวัดซางตาครู้ส ก่อนที่ในหลวง รัชกาลที่ 1 จะพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดของพวกเขาเอง

คำว่า ‘กาลหว่าร์’ มีที่มาจากคำว่า Calvary ซึ่งเป็นเนินเขาที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ตรึงกางเขนพระเยซู วัดกาลหว่าร์หลังแรกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2330 ก่อนที่จะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘วัดแม่พระลูกประคำ’ ในปี พ.ศ. 2382 อาจถือได้ว่าเป็นวัดคาทอลิกแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เข้าไปชมภายในโบสถ์เลย ได้เพื่อนคริสเตียนอธิบายความหมายของปูนปั้น กระจกสีที่ฝาผนัง พิธีกรรม และขั้นตอนการปฏิบัติ ก็จะได้เข้าใจดีขึ้น ติดๆ กันคือโรงเรียนกุหลาบวิทยา เพื่อนคนนั้นก็เรียนจบ ม.ศ. 3 ที่นี่ เลยเป็นไกด์พาเดินทะลุปรุโปร่งทุกมุม เล่าเกร็ดความรู้ ประวัติทั้งวัดและโรงเรียน ทราบว่าอาคารเรียนเก่าแก่ร่วม 100 ปี ติดริมน้ำเจ้าพระยา โดนรื้อออกไปครึ่งหลังเพื่อให้โบสถ์วัดกาลหว่าร์ มองเห็นแม่น้ำ หรือมองจากแม่น้ำเห็นโบสถ์ได้ มีรุ่นพี่ของกุหลาบวิทยา คือคุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีต รมว. คลัง ซึ่งจบวิศวะ จุฬาฯ ก่อน 2 ปี น่าภาคภูมิใจสำหรับโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ครับ

เดินออกไปนิดเดียวภายในซอยภาณุรังษี มีร้านน่านั่งบรรยากาศสบาย ๆ อยู่บนดาดฟ้าของ River View Guest House โรงแรมแห่งแรกในตลาดน้อยที่ตอนนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ  อีกทั้งยังได้รับเลือกลงใน Lonely Planet ไกด์บุ๊กท่องเที่ยวระดับโลก เจ้าของดัดแปลงตึกแถวซะสวยเท่ ออกแบบเป็นห้องพักได้เหมาะเจาะและตกแต่งร้านอาหารบนรูฟท็อปที่ใช้เป็นลานสังสรรค์จัดเลี้ยงได้สบายๆ ชั้น 3 เปิดระเบียงคาเฟ่ วิวแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงโค้งที่ทุกคนต้องชอบ… มาลองนั่งชิลๆ จิบกาแฟ ชา หรือเบียร์สักแก้ว แล้วจะต้องหลงรักกรุงเทพฯ ขึ้นไปอีก สมกับคำที่เรากล่าวกันในอดีตจนคุ้นหูคุ้นปากว่า..

“เสน่ห์บางกอก” …มนตร์ที่ไม่มีวันจะเสื่อมคลาย

 

Don`t copy text!