“บึงบอระเพ็ด” บึงใหญ่สุดในไทย แต่ทำไมช่วยภัยแล้งไม่ได้
โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์
ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………..
– “บึงบอระเพ็ด” บึงใหญ่สุดในไทย แต่ทำไมช่วยภัยแล้งไม่ได้ –
ปลายปีที่แล้ว ฝุ่น PM 2.5 ทำเอาวิถีชีวิตของคนไทยปั่นป่วน ทั้งด้านทำงาน การใช้ชีวิตกลางแจ้ง จะนั่งจะนอน ภายในและนอกบ้านอันตรายไปหมด แต่ยังไม่ทันไร ข่าวภัยแล้งก็เริ่มแทรกเข้ามาตามฤดูกาล คนไทยเรารับรู้และถอดใจทั้งภาครัฐและชุมชนมาตลอด 50-60 ปี จนกลายเป็นสภาวะปกติ ราชการทำได้เพียงแค่ขนน้ำใส่รถไปแจกกับเจาะบ่อบาดาลเร่งด่วน หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือกรมชลประทาน กลับไม่เคยออกมาเเถลงแผนงานหรือการแก้ไขปัญหาระยะสั้น กลาง และยาวในอนาคตเลย นั่งลุ้นฝนกับรอเงินเดือนเท่านั้นเอง แต่ถ้าไปค้นหาข้อมูลรายงานปริมาณน้ำฝนตกรายวันรายปีและข่าวน้ำท่วมในอดีต ก็ยิ่งแปลกใจ ว่าน้ำไหลบ่าลงทะเล หายหมดไปได้ไง แถมบึง ทะเลสาบ และอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนทั้งหลายทุกแห่ง ปริมาณน้ำเข้าอ่างก็น้อยลดลงๆ ทุกปี ข้อสรุปง่ายสุด จึงไปลงที่จำเลยหรือแพะ ที่เราเรียกว่า …สภาวะอากาศแปรปรวนฝนไม่ตกตามฤดูกาล จบข่าว แล้วประชาชนชาวไทยทุกคนก็ก้มหน้ารับชะตากรรมแล้งน้ำรายปีไปตลอดชีพ
เริ่มต้นปี เพื่อนๆ นัดหมายกันขึ้นไปเยี่ยมเยียนพรรคพวกที่นครสวรรค์และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ คุณครูจุไร ภานุทัต (ครูประจำชั้นมัธยมศึกษา 5) และเพื่อนร่วมชั้นที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมแวะไปเที่ยวบึงบอระเพ็ด จึงเป็นโอกาสทองที่จะไปดูบ่อน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยให้หายสงสัยแล้วทำไมภัยแล้งในภาคเหนือตอนล่าง เกิดขึ้นในอาณาบริเวณรอบบึงของจังหวัดนครสวรรค์และพิจิตรทุกปีๆ ได้อย่างไร น่าฉงนสงสัยนะ
ออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้า แวะไล่รายทางไปถึงใกล้เพล ได้เวลาถวายสังฆทานและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลที่วัดคีรีวงศ์ ตั้งอยู่บนเขาดาวดึงส์ อยู่ใจกลางตัว อ.เมือง มีองค์มหาเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คือพระจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งเป็นทองเหลืองอร่ามไปทั้งเจดีย์ เมื่อขึ้นไปถึงฐานพระเจดีย์ชั้น 4 จะมองเห็นภูมิทัศน์อันสวยงามของเมืองนครสวรรค์ในระยะไกลประมาณ 10 กิโลเมตร แบบพาโนรามา 360 องศา ถ้ามองไปทางทิศตะวันออก จะมองเห็นเขากบ บึงบอระเพ็ด และตลาดปากน้ำโพ สามารถมองเห็นสายน้ำสามสายชัดเจน โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ชาวบ้านเรียกว่า ปากน้ำโพ
ลงจากวัด นั่งรถออกไป อ.ท่าตะโก ห่างไป 50 กิโลเมตร ต่อขึ้นไปวัดด้วยรถสองแถวของวัดพระพี่นาง หรือชื่อเต็มๆ ว่า วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ (เป็นวัดในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) ครับ ตั้งอยู่บนยอดเขาโคกเผ่นที่แห้งแล้งและไม่ใกล้แหล่งน้ำเลย มีอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ แฝงแนวความคิดไว้ด้วยปริศนาธรรม และธรรมคติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นอุทยานการศึกษาของเยาวชนและสาธุชน แนะนำให้แวะไปกราบไหว้ และศึกษาแต่ละจุดดีมากๆ ครับ แต่ควรไปช่วงเช้า หรือบ่ายคล้อยไปแล้ว
ย้อนกลับเข้าเมืองเกือบ 4 โมงเย็น จองเรือล่องบึงบอระเพ็ด พอออกจากท่า นายท้ายรุ่นเดอะวัย 60 กว่า อธิบายที่มาของบึง และชี้จุดน่าสนใจ เช่น ปากคลองที่น้ำเข้า ประตูน้ำ จุดที่อาศัยของชุมชนเดิม ฝูงนก และต้นไม้ จอดถ่ายรูปกัน มองไปสุดตา ขนาด 132,737 ไร่ จากเดิม เคยมีพื้นที่ถึง 250,000 ไร่ (ในปี พ.ศ. 2473) ปัจจุบันพื้นที่เหลือจากถูกบุกรุกและเสื่อมโทรมไปเพราะขยายตัวของเมือง ความสวยงามของบึงบอระเพ็ดในวันนี้จึงไม่ใช่สิ่งน่าภูมิใจ แต่คือความล้มเหลวในการบริหารจัดการของภาครัฐ ประชาชนและชุมชนต้องออกมาช่วยกันดูแลรักษาบึงบอระเพ็ดกันต่อไป พื้นที่บึงรับน้ำลดลง สภาพบึงตื้นเขิน หนึ่งปัญหาภัยแล้ง… เจอแล้ว ยังไม่ต้องลงไปเช็กตะกอนและระดับที่ปากทางเข้าของคลองที่แม่น้ำน่าน ไหลเข้าบึงนะ
ถึงอย่างไร บึงบอระเพ็ดก็ยังกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตามาก มองเห็นเกาะอยู่หลายเกาะ บางเกาะมีบันทึกไว้ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่ามีฝรั่งมาสำรวจด้วย กินพื้นที่ 3 อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง ค้นคว้ามาได้ความว่าเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถ้าเทียบกับทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อื่นๆ กว๊านพะเยา จ.พะเยา 12,831 ไร่ บึงสีไฟ จ.พิจิตร 5,390 ไร่ หนองหาร จ.สกลนคร 76,875 ไร่ เล็กกว่าบึงบอระเพ็ดเกือบครึ่ง …แต่ถ้าดูขนาดทะเลสาบน้ำเค็ม ทะเลสาบสงขลาจะเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาดประมาณ 6 แสนไร่ บึงเริ่มมาจากในปี พ.ศ. 2466 ดร.ฮิวจ์ เอ็ม สมิท ชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการประมง กระทรวงเกษตราธิการ ได้ออกสำรวจบึงบอระเพ็ดและได้รายงานผลการสำรวจในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ว่า บึงบอระเพ็ดเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่และมีความสำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องการประมง เป็นแหล่งพันธุ์ปลา เป็นทำเลที่ปลาอาศัยเลี้ยงตัว วางไข่ และแพร่พันธุ์ ควรจะมีการบำรุงรักษาให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา
กระทรวงเกษตราธิการในสมัยนั้นจึงได้นำเรื่องนี้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตสงวนบึงบอระเพ็ดไว้เป็นที่สงวนพันธุ์สัตว์น้ำ โดยการสร้างคันกั้นน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำที่ระดับ 23.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางตลอดปี และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2469 การก่อสร้างทำนบกั้นน้ำและประตูระบายน้ำเริ่มจากปี พ.ศ. 2470 และเสร็จในปี พ.ศ. 2471 สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดปี
ลงเรือใช้เวลาแล่น 1 ชมเศษ ล่องไปได้ 2-3 กิโลเมตร แค่เพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่เจอจระเข้เลยสักตัวตามคำเล่าลือ ที่ในอดีตคนเฒ่าคนแก่มักจะเอ่ยถึงบึงบอระเพ็ด มีตำนานของจระเข้ ร่ำลือกันว่ามีชุกชุมมาก จนผู้คนที่นั่งรถไฟผ่านสามารถมองเห็นจระเข้ที่ลอยน้ำอยู่ในบึงและขึ้นมานอนเกยผึ่งแดดตามชายขอบริมบึง แต่ปัจจุบันจระเข้เหล่านี้ถูกล่าจนไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว ผ่านทุ่งบัวแดงมีกอเป็นหย่อมประปรายไม่มากนัก เคยอ่านบันทึกว่าบึงบอระเพ็ดมีสัตว์อาศัยอยู่ประมาณ 148 ชนิด พืช 44 ชนิด สัตว์หายากที่เคยพบก็ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร, ปลาเสือตอ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์ คงต้องอาศัยไกด์ พรานท้องถิ่นและเวลาที่เหมาะสม พาไปสุ่มส่องคงจะได้เห็นบ้างมั้ง จำได้ว่าสมัยทำงานที่ จ.ตากเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เคยพาครอบครัวมาเที่ยว เจอฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมากอพยพหนีหนาวมาที่นี่ ส่วนนกประจำถิ่น อาทิ นกอีโก้ง นกอีแจว นกปากห่าง ที่ใครบอกว่ามี ก็ยังไม่เคยเห็น ทราบจากนักดูนกทั้งหลาย ลงความเห็นว่า บึงบอระเพ็ด คือ ‘มหานครแห่งนกน้ำ’ มากทั้งปริมาณและความหลายหลาก แต่นกหายากหลายชนิดเหล่านี้กำลังถูกไล่ล่าและอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกเช่นเดียวกัน
นั่งรอเวลาพระอาทิตย์ตกดิน จนได้ภาพตะวันวงแดงแตะผิวน้ำสมใจ พอถึงฝั่ง อ้าว… อาคารพิพิธภัณฑ์ก็ปิดซะแล้ว วันนี้ล่องเรือในทะเลสาบ วิวทิวทัศน์บึงขนาดใหญ่ๆ ที่มีไม่กี่แห่งในบ้านเรา ได้เห็นน้ำเห็นปลาและพืชน้ำ เเล้วสะท้อนใจ ทำไมบ้านเรายังประสบภัยแล้งซ้ำซากทุกปี มีพื้นที่แห้งแล้งมากมายเกือบทุกภูมิภาค เหนือจรดใต้ ทั่วภาคอิสานใต้เหนือ รูปแบบแก้มลิง บึงน้ำ ทะเลสาบเพื่อการประมง การเกษตรอย่างบึงบอระเพ็ด ถูกปรับแปลงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 แล้วทำไมเราไม่ก๊อบปี้ ไม่ทำซ้ำ สร้างใหม่กระจายออกไป ทำไมไม่เลียนแบบให้มีบึงมีบ่อน้ำทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ ทำไมไม่ทำนุบำรุงรักษาบึง บ่อ หนองน้ำที่มีอยู่ให้ใช้งานได้เต็มความจุ โครงการแก้มลิงทั่วไทย จะเกิดเป็นวาระแห่งชาติได้ มันต้องอาศัยวิชาการ หรือคน หรืองบประมาณ มันไม่น่าวนในอ่างอย่างนี้เลย เราโชคดีตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีองค์ประกอบครบถ้วน ทั้งฝน เมฆ และพื้นดิน จากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาในปี พ.ศ. 2546-2558 ปริมาณน้ำฝนรวมต่อปีเฉลี่ย 1 เมตร ถึง 2 เมตร อาจมีบางจังหวัดในภาคกลางและอีสาน ที่บางปีมีปริมาณต่ำกว่า 1.00 ม. เล็กน้อย คือ 80-90 ซม. เท่านั้น และบางปีน้อยระดับ 1.40-1.50 เมตร เลยลองคิดคำนวณเล่นๆ หากรัฐบาละมีวาระน้ำแห่งชาติ ลงทุนขุดสร้างแก้มลิงขนาด 1/2 ตารางกิโลเมตร ต่อ 1 ชุมชน (หมู่บ้าน) จะสามารถรองรับน้ำฝนได้อย่างน้อย 4-5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี แล้วสร้างเครือข่ายคลองส่งน้ำชลประทาน ระบายน้ำ จากบึงน้ำแก้มลิงไปสู่พื้นที่การเกษตรและพื้นที่ชุมชน ปริมาณน้ำขนาดนี้จะสามารถหล่อเลี้ยงชุมชนขนาดประชากร 400-500 คน ทั้งการเกษตรและการบริโภค นั่นถึงจะแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน แต่ทุกวันนี้เรายังไม่มีโครงสร้างระบบชลประทานที่สมบูรณ์แบบเพื่อคนไทยเลย เฮ้อ นี่บ่นให้ใครฟังใครอ่านนี่ มันน่าเศร้าจังเลยนะ
เย็นวันนี้แวะดินเนอร์ร้านอร่อย ขาประจำ ‘เอสแอนด์วี’ ครัวอาหารไทยของคนนครสวรรค์ ที่เพิ่งย้ายจากหน้าผาริมน้ำ มาอยู่ริมถนนทางไปสี่แยกพิษณุโลก ตกแต่งใหม่กว้างขวางทั้งภายในภายนอก ไม่ผิดหวังกับเมนูที่ศรีภรรยาเพื่อนเจ้าถิ่นบรรจงออเดอร์กับเจ้าของร้านที่สนิทสนมกัน ร้านนี้หมึกแดงเขาการันตี ที่นี่แวะกินทุกครั้งที่ขึ้นไปภาคเหนือ โดยเฉพาะช่วงปี 2560 มีโครงการที่บรรพตพิสัย ชิมทุกเดือนก็ว่าได้ เมนูแนะนำอร่อยมากๆ ถือเป็นซิกเนเจอร์ดิช คือ แกงเขียวหวานไข่เจียว (รองใต้แกงที่ราดมาแบบแห้งๆ) ปลาคร้าวทอดราดน้ำปลา สายบัวผัดปลาทู หมูสับปลาเค็ม ฉู่ฉี่ปลาเนื้ออ่อน เจ้าของร้านใจดีแถมไอติมขนม เสิร์ฟไม่อั้น สบายพุงขึ้นรถก็หลับยาว มานอนฝันดีต่อที่บ้าน… แม้จะขมขื่นกับระบบชลประทานของบ้านเราที่ไม่ใช้เทคโนโลยี แก้ไขเพิ่มประสิทธิภาพตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและภูมิศาสตร์ของโลก ก็ยังโชคดีที่ได้ไปทำบุญ ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ และครอบครัว ให้แฮปปี้วันเดย์ทริป… ครับ