เสน่ห์บางกอก 3 : กุฏิสุนทรภู่
โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์
ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………..
– เสน่ห์บางกอก 3 : กุฏิสุนทรภู่ –
26 มิถุนายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ รัฐบาลจึงกำหนดให้เป็นวันสุนทรภู่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เพื่อรำลึกถึงกวีเอกของโลก 1 ใน 28 คนไทยที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ท่านมีความชำนาญด้านกลอน ประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนเป็นที่นิยม มีผลงานมากมาย อาทินิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และพระอภัยมณี ที่ได้รับการถ่ายทอดเล่าขานมาจนถึงปัจจุบันนี้
คนไทยทุกคนเคยอ่าน เคยท่องจำบทกลอนอันอมตะของท่านสุนทรภู่ในวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะบทนี้จากนิราศภูเขาทอง คงจำกันได้ขึ้นใจ
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
ท่านเกิดปี พ.ศ. 2329 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
ถ้าอยากจะรู้จักตัวตนของท่านมากขึ้น ต้องลองไปสัมผัสสถานที่จริงของชีวิตท่าน ไม่ใช่ที่บ้านเกิดพ่อ อ.แกลง ระยอง ไม่ใช่ที่อยุธยา อยู่ที่วัดเทพธิดารามวรวิหาร ในกรุงเทพฯ นี่เอง…
เมื่อเข้าไปยังนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ที่อาคารริมถนนราชดำเนิน ติดกับลานพลับมามหาเจษฎาบดินทร์ รายละเอียดนิทรรศการจะเขียนใน ‘เสน่ห์บางกอก’ ตอนต่อไป ออกมาก็ตรงไปที่โลหะปราสาทของวัดราชนัดดา ซึ่งตามประวัติถูกสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2389 พระราชทานเป็นเกียรติแก่พระราชนัดดา คือ ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี’ และสร้างโลหะปราสาท 7 ชั้น และยอดปราสาท 37 ยอด ไว้แทนการสร้างพระมหาเจดีย์ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการก่อสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย หัวมุมถนนราชดำเนินกลาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 มีการรื้อศาลาเฉลิมไทย เพื่อสร้างเป็น ‘ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์’ ให้เห็นโลหะปราสาท จากถนนราชดำเนินกลาง เดินรอบไม่พอเพียงต่อการชมความสวยงาม ต้องเดินขึ้นบันไดไปสู่ยอดมณฑป ซึ่งปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีทอง เมื่อบูรณะครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2555 กราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ แล้วมองดูวิวทิวทัศน์กรุงเทพฯ ชั้นใน ใต้แสงแดดจ้า ร้อนเปรี้ยง สักครู่ใหญ่แม้จะสวยงามอย่างไร แต่ชักออกอาการสะลึมสะลือจากการถูกแดดเผา เลยต้องรีบลงมานั่งดื่มกาแฟดำที่ซุ้มข้างๆ โลหะปราสาท ได้จิบน้ำเย็นพอคลายร้อน แล้วจึงเลาะรั้วข้ามเข้าไปวัดเทพธิดารามที่อยู่ติดกัน คุ้นๆ ชื่อเลยพอจะสื่อว่าเป็นวัดของลูกสาวใครหนอ ใช่แล้วครับ ย่านผ่านฟ้า คลองโอ่งอ่าง ต้องเป็นวัดที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ สร้างปี พ.ศ. 2379 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2382 เดิมชื่อ ‘วัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าวิลาส) พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 3
ตั้งใจมาเจาะลึกชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต้องมาวัดนี้ เพราะท่านเคยพำนักในวัดเทพธิดารามระหว่าง พ.ศ. 2383-2385 เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุ ตามบันทึกท่านสุนทรภู่บวชถึง 2 ครั้ง กุฏิหลังที่ท่านพำนัก ปัจจุบันถูกปรับปรุงเป็น พิพิธภัณฑ์ และได้รับการทำนุบำรุงคงสภาพเดิม จนได้รับรางวัลดีเด่นด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย ประจำปี 2537 จากสมาคมสถาปนิกสยามอีกด้วย น่าสนใจครับ แต่ความประทับใจไม่ใช่เพียงแค่ตัวอาคาร เราต้องเข้าไปดูภายในถึงจะเข้าถึงท่านสุนทรภู่อย่างแท้จริง ทึ่งจริงๆครับ ได้พบเห็นและถ่ายรูปกับท่านสุนทรภู่ กวีเอกรัตนโกสินทร์ ในกุฏิวัดเทพธิดารามวรวิหาร โดยพระวิสุทธิวราภรณ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ เป็นผู้จัดฉาย ผ่านระบบ AR (Actual Reality) เป็นเทคโนโลยีซ้อนภาพ ให้ท่านสุนทรภู่ (นักแสดง) ไปปรากฏในภาพถ่ายของเรา ซึ่งวัดเทพธิดาราม ได้จัดทำขึ้นเพื่อรองรับการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ สุนทรภู่ อะเมซิ่งสุดๆ ไปเลยครับ
ผู้ที่สนใจสมควรมาชมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ยังจัดห้องแสดงผลงานเป็น 3 ห้อง ดังนี้
ห้องที่ 1 มีชื่อว่า ‘แรงบันดาลใจไม่รู้จบ’ จัดแสดงเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 รวมทั้งยังมีรูปหล่อครึ่งตัวของท่านเมื่อครั้งยังเป็นพระภิกษุ ประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์
ห้องที่ 2 มีชื่อว่า ‘มณีปัญญา’ ท่านมีอุปนิสัยรักการเรียนรู้ ช่างสังเกต ชอบเดินทางและรับฟังเรื่องราวแปลกใหม่ด้วยใจเปิดกว้าง ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมหลายด้าน ห้องนี้สะท้อนเรื่องราวทางสังคมผ่านงานวรรณกรรมของสุนทรภู่ในหลากหลายมิติ ทุกคนจะเพลิดเพลิน และสนุกกับการทดลอง เรียบเรียงบทร้อยกรองคำประพันธ์ของสุนทรภู่ ไม่ว่าจะเป็น กลอน กาพย์ โคลง นิราศ มีการท้าทายทดสอบความสามารถของคนไทยที่เคยผ่านการเรียนวิชาภาษาไทย ห้องนี้ สนุกมากๆ ครับ
ห้องที่ 3 มีชื่อว่า ‘ใต้ร่มกาสาวพัสตร์’ ห้องนี้ได้นำเครื่องอัฐบริขาร รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของสุนทรภู่เมื่อครั้งที่ท่านยังบวชเป็นพระภิกษุ มาจัดแสดง อาทิ บาตร ตาลปัตร ตะเกียง เตียง โต๊ะ ตู้ไม้และ เอกสารถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี (มีโอกาสชักชวนเพื่อนๆ ร่วมทำบุญกับวัด 36,000 บาท จัดทำตู้ไม้ใส่เอกสารเพิ่มเติม 2 หลังให้ครบถ้วนสมบูรณ์)
วัดราชนัดดาและวัดเทพธิดาราม หากใครยังไม่เคยเข้าไป ควรอย่างยิ่งที่จะต้องหาเวลาแล้วไป ถ้ามาเป็นหมู่คณะญาติพี่น้อง เป็นกลุ่มเพื่อนฝูง จะสนุกสนานมาก เพราะได้สาระความรู้ประดับสติปัญญากลับบ้าน อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ใกล้แค่นี้เอง รีบไปซะก่อนที่จะไม่มีพลังใจ ไม่มีพลังกาย อยากออกไปสัมผัสมรดกไทย มรดกโลกเหล่านี้ ฝรั่ง ญี่ปุ่น จีน เขาบินข้ามน้ำข้ามทะเลมา แล้วเราจะไม่ก้าวเท้าออกจากบ้านได้อย่างไรครับ