โลกที่รัก…แม้จะร้ายนักแต่ยังมีหวัง บันทึกถึงสงครามของเด็กหญิงผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย บานา อัลอาเบด
โดย : วรัญญู อินทรกำแหง
“คุณรู้ไหมว่าสงครามในซีเรียฆ่าคนไปประมาณห้าแสนแล้ว แถมทุกวันนี้ก็ยังมีคนบาดเจ็บล้มตายอยู่เรื่อยๆ หลายต่อหลายครอบครัวเป็นเหมือนครอบครัวของหนูคือไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหนีออกประเทศที่รักไปเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอื่น บางคนในประเทศอื่นก็ไม่อยากรับผู้ลี้ภัยไว้ในประเทศตัวเอง บางคนอยากให้ผู้ลี้ภัยกลับบ้าน ทั้งที่พวกเขาไม่มีบ้านให้กลับแล้ว บางคนอยากส่งผู้ลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น ทั้งที่คน ‘ที่อื่น’ ก็อาจจะไม่ต้อนรับเหมือนกัน ผู้ลี้ภัยไม่มีที่ไปแล้วจริงๆ ถ้าคุณไม่มีประเทศอยู่หรือพ่อแม่ลูกหลานกำลังจะถูกฆ่า คุณจะทำอย่างไรคะ”
คำถามซื่อๆ ของเด็กหญิงตัวน้อยชาวซีเรียผู้ลี้ภัยสงคราม บานา อัลอาเบด (Bana Alabed) คือชื่อของเธอ บานาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 2009 และมีชีวิตที่ปกติสุขอยู่เพียง 3 ปี ก่อนที่เหตุการณ์ความไม่สงบจะทวีความรุนแรงขึ้นและอุบัติกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลและกองทัพปลดปล่อยซีเรีย เสียงปืนเสียงระเบิดดังกึกก้องแทบทุกวัน อาคารถล่ม เพื่อนรักของเธอตาย ผู้คนลี้หาย หากผู้ที่ไม่มีหนทางก็ยังต้องทนอยู่ รวมถึงครอบครัวของบานา วัยเด็กแสนสุขของบานาสะดุดหยุดลงอย่างกะทันหันเพราะสงครามกลางเมืองตอนเธออายุได้เพียง 3 ขวบ สิ่งที่บานารับรู้ตลอด 4 ปีหลังจากนั้นคือระเบิด หายนะ และความกลัว บานากับครอบครัวต้องเสี่ยงชีวิตเมื่อระเบิดตกลงมารอบตัวไม่หยุดหย่อน สุดท้ายไม่มีทางเลือกนอกจากหนีความรุนแรงของสงครามไปยังตุรกี
บานาใช้ไอแพดเก่าๆ ที่พ่อของเธอเป็นผู้หามาให้สื่อสารกับโลกภายนอก เด็กหญิงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากข้อความที่ส่งผ่านทวิตเตอร์ในเหตุการณ์ปิดล้อมที่เมืองอะเลปโปเมื่อปี 2016 บานาเป็นเด็กช่างคุยมาตลอด ชอบผูกมิตรและหาเพื่อนใหม่ เธอกับแม่พูดภาษาอังกฤษได้ เมื่อเล่นทวิตเตอร์ (@AlabedBana) จึงได้สื่อสารกับผู้คนไปทั่วโลก
“ตอนนั้นเราถูกปิดล้อมช่วงที่สองมาได้สามเดือนอันยาวนานแล้ว หนูคุยกับเพื่อนและญาติที่ไปจากซีเรียผ่านทางวอตส์แอปและทางเฟซบุ๊กตลอดเวลา หนูอยากบอกพวกเขาว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา แม่บอกว่าคนในทวิตเตอร์มีมากกว่าเฟซบุ๊ก หนูไปบอกคนทางนั้นก็ได้ แม่สร้างบัญชีผู้ใช้ให้หนู เราจะได้ส่งข้อความที่ต้องการ”
“แม่ช่วยหนูคิดคำเป็นภาษาอังกฤษ เรายังถ่ายรูปและคลิปวิดีโอมากมายเพื่อให้โลกเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในซีเรีย หนูกลัวคนอื่นไม่เชื่อเราถ้าไม่ได้เห็นว่ามันแย่ขนาดไหน อย่างภาพคนตายและอาคารที่พังทลาย หนูอยากทวีตข้อความทุกวันเพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่าสถานการณ์ในอะเลปโปแย่ขนาดไหน หนูอยากบอกตอนที่รู้สึกกลัว ซึ่งก็เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่พอได้บอกเรื่องอื่นก็สนุกดีเหมือนกัน อย่างเรื่องที่หนูฟันหลอเป็นต้น”
แม้จะได้รับข้อความดีๆ ที่เป็นกำลังใจจากผู้คนมากมาย แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น บานากับแม่มักจะอ่านข้อความเหล่านั้นในยามหลบภัยอยู่ในห้องใต้ดินซึ่งแต่ละครั้งกินเวลานับหลายชั่วโมง บานา อัลอาเบด ในวัย 7 ขวบ ใช้ทวิตเตอร์เพื่อบรรยายความน่ากลัวที่เธอกับครอบครัวต้องพบเจอ ในสงครามซีเรีย ข้อความสะเทือนอารมณ์ของเธอส่งถึงใจคนทั้งโลกและเป็นกระบอกเสียงให้เด็กไร้เดียงสาอีกหลายล้านคน
Dear World : โลกที่รัก บอกเล่าผ่านถ้อยคำของบานาเอง สลับกับจดหมายที่เขียนด้วยความรักของฟาติมะห์ ผู้เป็นแม่ของเธอ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าที่น่าสนใจของครอบครัวหนึ่งที่ต้องเผชิญกับภัยสงคราม แต่ยังนำเสนอมุมมองอันละเอียดอ่อนโดดเด่นผ่านสายตาเด็กที่มีต่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
แม้บานาสูญเสียทั้งเพื่อนรัก โรงเรียน บ้าน และแผ่นดินเกิด แต่เธอก็ไม่เคยสูญเสียความหวัง ทั้งสำหรับตัวเองและเด็กอื่นทั่วโลกที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามและสมควรมีชีวิตที่ดีกว่านี้
Dear World : โลกที่รัก จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ในราคา 225 บาท รายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้สมทบทุนให้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย วางจำหน่ายที่ร้านบีทูเอส และหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สถานการณ์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย
สงคราม ความขัดแย้ง และการประหัตประหาร ส่งผลให้สถิติของผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นในปี พ.ศ. 2560 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนสูงถึง 68.5 ล้านคน (เทียบเท่าประชากรของไทย) วิกฤตโลกในครั้งนี้ ต้องการแนวทางการทำงานเชิงรุกและรอบด้านเพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีขอบเขตกว้างขวางเกินกว่าที่ประเทศใด หรือชุมชนใดจะบริหารจัดการได้เพียงลำพัง
“ความขาดแคลนที่เกิดขึ้นมีปริมาณสูงกว่าความช่วยเหลือที่ส่งถึงผู้ลี้ภัย เราต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ผู้ลี้ภัย” ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคมมีความสำคัญมากกว่าเดิม”
นายชินจิ คุโบ รักษาการผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวในงานวันผู้ลี้ภัยโลก ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน และตรงกับวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี เป็นโอกาสสำหรับเราทุกคนที่จะแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ลี้ภัยทั่วโลก สำหรับการจัดงานในประเทศไทยในปีนี้ ‘คุณปู’ – ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ จัดเสวนาพิเศษและนิทรรศการภาพถ่ายผู้ลี้ภัยเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้มีส่วนร่วมยืนหยัดเพื่อผู้ลี้ภัยในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้
“ตอนนี้ เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลก เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราเองต้องช่วยกันย้ำเตือนว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อผู้ลี้ภัยได้บ้าง” คุณปู ไปรยา กล่าว “การกระทำของเรา ไม่ว่าจะเป็นการบอกต่อข่าวสารดีๆ ร่วมบริจาค หรือการลงชื่อสนับสนุนเพื่อผลักดันนโยบาย ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อครอบครัวที่ถูกบังคับให้ลี้ภัยได้”
ในการเสวนาพิเศษ ‘การทำความดีเริ่มต้นที่เรา’ คุณปู ไปรยา ได้เรียนเชิญ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และ คุณกิตติ สิงหาปัด ผู้สื่อข่าวและ ผู้ดำเนินรายการ ข่าว 3 มิติ ร่วมพูดคุยถึงวิกฤตผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟังกว่า 400 คนว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อผู้ลี้ภัยได้บ้างในฐานะบุคคลทั่วไป องค์กร และภาคเอกชน
นับเป็นปีที่ 2 ที่ UNHCR มอบรางวัล ‘Stand with Refugees’ ให้กับคนไทยเพื่อเชิดชูการทำความดี และทุ่มเทให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเสมอมา โดยในปีนี้ ผู้ได้รับรางวัล ‘Stand with Refugees’ ได้แก่ คุณกิตติ สิงหาปัด จากการร่วมเป็นกระบอกเสียงและระดมทุนผ่านโครงการ ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก’ ของ UNHCR เพื่อจัดหาที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจำนวน 2 ล้านคนทั่วโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา
นอกจากการเสวนาพิเศษแล้ว คุณไปรยายังร่วมกับ คุณธนเศรษฐ์ ตันติวโรดม ช่างภาพที่มีชื่อเสียง จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่ คุณปู ไปรยา ได้เยี่ยมในประเทศไทย รวมถึงการลงพื้นที่ของคุณธนเศรษฐ์ในประเทศตุรกี โดยนิทรรศการภาพถ่ายได้เปิดตัวในวันเดียวกัน ซึ่งแม้จะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม หากภาพถ่ายเหล่านี้ก็ยังสื่อให้เห็นถึงชีวิตและความหวังของผู้ลี้ภัยได้เป็นอย่างดี อ่านเอาจึงขอนำภาพเหล่านั้นบางส่วนมาให้ชมกัน
เด็กชายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในค่ายผู้ลี้ภัยนิซิปมองมาที่กล้องอย่างแน่วแน่
ร่องรอยบนใบหน้าที่ยังเด่นชัดบอกเล่าถึงความยากลำบากที่เขาต้องเผชิญตลอด 7 ปีของสงครามซีเรีย
ผู้คนกว่า 6.1 ล้านคน ถูกบังคับให้ออกจากบ้านและพลัดถิ่นอยู่ในประเทศซีเรีย ผู้ลี้ภัยราว 5.6 ล้านคน ร้อยละ 50 เป็นเด็ก
ที่พักพิงชั่วคราวทำจากผ้าใบและตู้คอนเทนเนอร์ที่เรียงรายถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแรง
เพื่อปกป้องเด็กๆ และครอบครัวผู้ลี้ภัยจากลมพายุทะเลทรายและอากาศที่หนาวเย็น
ภาพถ่ายมุมสูงของที่พักพิงชั่วคราวในค่ายผู้ลี้ภัย ชายแดนระหว่างประเทศซีเรียและตุรกี
ตุรกีเป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากที่สุดในโลก กว่า 3.2 ล้านคน เป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศซีเรีย
เด็กหญิงผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยเอลเบลี ประเทศตุรกี
กำลังจ้องไปที่กระดาษอย่างตั้งใจ
เด็กๆ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่วาดรูปความทรงจำเกี่ยวกับบ้าน
ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการเรียนรู้และฟื้นฟูจิตใจ
บ่อยครั้งที่รูปที่เราเห็นเป็นรูปของความรุนแรงที่พวกเขาพบเห็นหรือเผชิญด้วยตนเอง
ค่ายผู้ลี้ภัยเอลเบลี ประเทศตุรกี
ชายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียนั่งอยู่ข้างกำแพงที่วาดโดยผู้ลี้ภัย
รูปต้นไม้แห่งสันติภาพ รายล้อมไปด้วยคนจำนวนมาก ต่างเพศ ต่างวัย ต่างศาสนา
แสดงให้เห็นว่าความหลากหลายคือความสวยงาม
ถึงแม้จะแตกต่างแต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
FYI :
- ร่วมบริจาคหรือลงนามในโครงการ #WithRefugees ได้ที่ www.unhcr.or.th
- ชมแผนที่แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลก (#WithRefugees solidarity map) เพื่อติดตามกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อผู้ลี้ภัยทั่วโลกได้ที่ www.unhcr.org
- ส่งภาพ หรือความคิดดีๆ ที่คุณจะทำอะไรอย่างหนึ่งเพื่อผู้ลี้ภัยให้ UNHCR ติดแฮชแท็ก #WithRefugees แล้วส่งมายังอีเมล thabaf2f@unhcr.org