ไทยแลนด์ 4.0 ยุคแห่งทรัพย์สินทางปัญญา
โดย : ศรัณยา ชินะโรจน์
“กว่าจะออกมาเป็นผลงานเขียน
ต้องผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์หลายขั้นตอน
แต่การละเมิดง่ายเพียงคลิกเดียว”
พบปะกันเป็นประจำทุกปีสำหรับเหล่านักเขียน นักแปล ตลอดจนบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ต่างมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน นั่นคือระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดเสวนาหัวข้อ ‘คิดให้ Click สู่มิติใหม่ของวรรณกรรมไทย ยุคไทยแลนด์ 4.0’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาให้ความรู้ พร้อมด้วยนักเขียนชื่อดัง และผู้คร่ำหวอดด้าน E-Book
เทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ , พิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการบริหาร บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), รวิวร มะหะสิทธิ์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ Meb E-Book), ‘ปราปต์’ เจ้าของผลงานนวนิยาย อาทิ กาหลมหรทึก, ห่มแดน ดำเนินรายการโดย เขมะศิริ นิชชากร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลิขสิทธิ์
เนื้อหาเสวนาสองชั่วโมงเต็ม พอจับใจความโดยย่นย่อดังต่อไปนี้ว่า ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเหมือนกันหมดทั่วโลก ดังนั้น การให้ความคุ้มครองแก่ผู้ถือครองลิขสิทธิ์จึงเป็นแบบเดียวกัน
ซ้าย – วันเพ็ญ นิโครวนจำรัส รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเปิดงานเสวนา
ขวา – นักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่ ‘ปราปต์’ ก็เข้าร่วมงานเสวนาฯ
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย จะพิจารณาถึงระดับการสร้างสรรค์ เช่น ไม่ได้ลอกเลียนมา แต่กระนั้นก็ยังมีบางจุดบางประเด็นที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุม แม้ว่าจะคุ้มครองรายละเอียดเนื้อหาในเรื่องก็ตาม เป็นต้นว่า ชื่อเรื่องนวนิยาย กฎหมายลิขสิทธิ์มิได้คุ้มครองเนื่องจากเป็นประโยคสั้นเกินไป มีคำเพียงไม่กี่คำ กฎหมายถือว่าระดับการสร้างสรรค์มีน้อยมาก ไม่เข้าเงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
รวมถึงคำพังเพย สุภาษิต คำขวัญ คำโฆษณา เพียงประโยคสั้นๆ เช่น ประโยคว่า “น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา” ในทางกฎหมายถือว่าสั้นเกินไป จึงไม่เข้าเงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย สาธารณชนสามารถหยิบยกไปใช้ได้
“ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเหมือนกันหมดทั่วโลก
ดังนั้น การให้ความคุ้มครองแก่ผู้ถือครองลิขสิทธิ์จึงเป็นแบบเดียวกัน
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย จะพิจารณาถึงระดับการสร้างสรรค์
เช่น ไม่ได้ลอกเลียนมา แต่กระนั้นก็ยังมีบางจุด
บางประเด็นที่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ครอบคลุม”
ถึงแม้ชื่อเรื่องนวนิยายไม่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายก็จริง เหตุผลเพราะมีคำน้อยมาก รูปประโยคอยู่ในระดับที่สั้นเกินไป แต่ก็จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในลักษณะ moralize (ศีลธรรมจรรยา) กินความก็คือลิขสิทธิ์ของความดั้งเดิม ความมีชื่อเสียง ความมั่นคงแท้ หรือเรียกว่าดุจดั่งทอง
เคยมีกรณีหนึ่งในเมืองไทย เมื่อผู้สร้างซื้อบทประพันธ์แนวรักโศกซาบซึ้งไปดัดแปลงจนเสียหายกลายเป็นละครตลก เพราะฉะนั้น ผู้ประพันธ์ซึ่งถือเป็นเจ้าของเรื่องดั้งเดิมจึงได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายในลักษณะของ moralize สุดท้ายกรณีนี้จบลงที่มีการไกล่เกลี่ยกัน แต่มิได้จบลงที่ศาล
Moralize (ศีลธรรมจรรยา) ยังหมายรวมถึงลิขสิทธิ์ในการอ้างอิง เช่น เมื่อคัดลอกข้อความหรือหยิบยกข้อความมาใช้ โดยมารยาทควรต้องให้เครดิตกำกับอ้างอิงแหล่งที่มา มิใช่หยิบยกมาใช้ลอยๆ และต้องไม่ดัดแปลงบิดเบือนให้เสียหาย
ส่วนในเนื้อเรื่องการประพันธ์ ถ้าครบองค์ประกอบของการสร้างสรรค์ ได้แก่ การเลือกสรรคำ การจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ของเรื่อง และสำบัดสำนวนของเจ้าของบทประพันธ์ หากครบสามองค์ประกอบนี้ ย่อมได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
หรืออีกนัยหนึ่ง กระบวนการสร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์ การแสดงออกซึ่งความคิดโดยถ่ายทอดเป็นถ้อยคำสำนวนเฉพาะตัวของผู้เขียนเอง ที่สำคัญต้องมีความยาวของรูปประโยคมากพอถึงระดับที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายจึงจะเข้าข่าย
อย่างไรก็ตาม ยุคไทยแลนด์ 4.0 เรื่องลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญากำลังเป็นประเด็นท้าทายมากสำหรับสังคมไทย
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การทำซ้ำหรือดัดแปลง ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ในปัจจุบันเกิดการทำซ้ำหรือดัดแปลงในหลายรูปแบบมาก เช่น มีการเล่าเรื่องย่อจากบทประพันธ์ลงเว็บไซต์ยูทูบ ถ้าไม่ขออนุญาตเจ้าของผลงาน ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการอ่านออกเสียงจากงานวรรณกรรมลงเว็บไซต์ยูทูบ ถ้าไม่ขออนุญาตเจ้าของงานวรรณกรรมก่อน ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน เจ้าของผลงานดั้งเดิมสามารถขอส่วนแบ่งจากยูทูบหรือฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย
หรือถ้าเป็นงานดัดแปลงโดยไม่ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ดั้งเดิม เจ้าของผู้เป็นต้นกำเนิดการสร้างสรรค์งานสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
และสุดท้ายในทางกฎหมาย ชิ้นงานที่ดัดแปลงแล้วยังตกแก่ผู้เป็นเจ้าของต้นกำเนิดการสร้างสรรค์งานนั้นอีกด้วย
ส่วนข้อยกเว้นตามกฎหมายที่ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ อาทิ 1.เพื่อการเรียนการสอน 2.การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ 3.การวิพากษ์วิจารณ์ 4.การนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับผลงานนั้นๆ ฯลฯ
แต่ถ้าพบว่าโดนละเมิดผลงาน มีข้อแนะนำพอสังเขปว่า
1.เก็บหลักฐานการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น เพื่อยืนยันว่ามีคนละเมิดงานเขียนนั้นจริง เช่น จับภาพหน้าจอเก็บไว้ กระนั้นก็ตาม ขั้นตอนการเก็บพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ค่อนข้างกระทำได้ยากและต้องใช้ความละเอียดมาก ยิ่งถ้าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต การเก็บพยานหลักฐานยิ่งกระทำได้ยากขึ้น เพราะการเปิดปิดเว็บไซต์ทำได้ง่ายมาก พอถูกจับได้ เขาก็ปิดเว็บแล้วก็ไปเปิดอันใหม่ เหมือนการเล่นแมวจับหนู จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
2.เอกสารหลักฐานการจดแจ้งการเป็นเจ้าลิขสิทธิ์ที่รับรองโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มีความสำคัญยิ่งยวด เพราะต้องใช้ประกอบการดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้ละเมิด
ดังนั้น ยุคนี้โลกดิจิทัลมีบทบาทมาก ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องรู้และเข้าใจก่อนว่าสิทธิในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ผลงานของตนเองตามกฎหมายมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้ปกป้องสิทธิ์ไม่ให้ใครมาละเมิดผลงานได้โดยง่าย
เจน สงสมพันธุ์, ‘กิ่งฉัตร’, สุชาดา สหัสกุล, จรัญ หอมเทียนทอง, ‘พงศกร’