“มายากาเหว่า” ผลงานเรื่องที่ 3 ในบทบาทนักเขียนปีที่ 3 ของ “ณรัญชน์”
โดย : YVP.T
เมื่อปลายปี 2562 ผู้หลงใหลในการอ่านนวนิยายได้ทำความรู้จักกับ “ณรัญชน์” หรือ “ณรัญญา กาญจนรุจี” หญิงสาวจากอำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาครที่พาตัวเองเข้ามาอบรมกับโครงการ ‘อ่านเอาก้าวแรก’ และได้ส่งผลงาน ‘คดีรักข้ามเวลา’ เข้าประกวดในโครงการนี้
แม้ในวันนั้น ‘คดีรักข้ามเวลา’ จะไม่สามารถฝ่าด่านไปถึงรอบสุดท้าย แต่ด้วยผลงานการเขียนของเธอที่มีเนื้อหาทันสมัย ผสานกลิ่นอายของวัฒนธรรมแบบไทยๆ ทำให้ช่อง One 31 นำงานเขียนชิ้นนี้ไปสร้างเป็นละคร
ปีต่อมาเธอส่ง “มนตราราหุล” นวนิยายพีเรียด รัก ลึกลับ สืบสวนสอบสวนอิงประวัติศาสตร์มาให้นักอ่านได้เพลิดเพลินอีกครั้ง และในปลายปี 2564 “มายากาเหว่า” คือผลงานเรื่องล่าสุดของเธอ
“จุดเริ่มของ ‘มายากาเหว่า’ มาจากเหตุการณ์หนึ่งที่เคยพบมาค่ะ ตอนนั้นบังเอิญไปได้ยินคนแก่ล้อเด็กที่ถูกขอมาเลี้ยงว่าพ่อแม่ไม่รักเธอแล้ว เพราะเขามีลูกของตัวเองแล้ว เราก็สะดุดตั้งแต่นาทีนั้นว่าทำไมต้องพูดอะไรแย่ๆ ให้เด็กฟังด้วย หรือบางคนก็บอกเด็กว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า หรือถ้าเป็นแม่เลี้ยงลูกเลี้ยงก็จะล้อว่าแม่เลี้ยงไม่รักเธอหรอกเขารักแต่ลูกตัวเอง โดยไม่ได้สนใจว่ากำลังปลูกฝังอะไรลงไปในสมองของเด็กบ้าง การที่พูดไปแบบนี้ ชีวิตคนพูดก็ไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่เด็กคนนั้นสิที่จะเสียใจมีปมด้อยไปตลอด เลยกลับมาคิดว่าในสังคมก็มีคนที่ชอบพูดจาอะไรแบบนี้เยอะแยะ เลยเลือกหยิบประเด็นของแม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงมาใช้ เพราะเป็นประเด็นที่น่าจะพบเห็นได้ทั่วไป”
สิ่งที่ “ณรัญชน์” อยากสื่อสารกับคนอ่านมีมากกว่ามุมมองที่ว่า อย่าพูดเพื่อให้เด็กมีปมในใจเลย เพราะไม่จำเป็นที่แม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงจะต้องเป็นปรปักษ์กันเสมอไป
“แม่เลี้ยงลูกเลี้ยงรักกันปรารถนาดีต่อกันได้นะคะ เพราะคนเราเป็นสิ่งมีชีวิตไม่ใช่หุ่นยนต์ ไม่มีใครมาตั้งโปรแกรมเราว่า ถ้าไม่ใช่สายเลือดเดียวกันแล้วจะต้องอคติใส่กันหรือต้องหาทางทำร้ายกัน มนุษย์เราเป็นสิ่งที่ดีได้มากกว่านั้น
“ยาพิษในคำพูดของคนที่ชอบล้อเด็กๆ ว่าพ่อแม่ไม่รักหรือแม่เลี้ยงต้องเกลียดกับลูกเลี้ยงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเลย เพราะพูดออกไปแล้ว ชีวิตของคนพูดไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ผลมันมุ่งไปที่จิตใจคนฟังมากๆ ‘มายากาเหว่า’ จึงเสนอให้เห็นมุมของคนที่เป็นลูกเลี้ยงที่อยู่ในจุดที่เปราะบาง พร้อมจะหวั่นไหวไปตามคำพูดของคนรอบข้าง ขณะเดียวกันก็อยากให้เห็นมุมของคนที่เป็นแม่เลี้ยงว่าการดูแลเด็กที่ไม่ใช่ลูกตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คือน่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย”
อ่านความคิดของคนเขียนในตอนนี้อาจดูเหมือนง่ายดายที่จะตกตะกอนทุกสิ่งจนสรุปมาเป็นแก่นเรื่องที่ต้องการสื่อออกไป แต่จริงๆ แล้ว กว่าจะได้ “มายากาเหว่า” มาให้ได้อ่านในวันนี้ ไม่ง่ายเลยสักนิด
“พอตั้งโจทย์ขึ้นมาแล้วสามารถแตกประเด็นไปได้หลายทาง เลยใช้เวลาไปกับการเกลาพล็อตนานอยู่เหมือนกัน พอพล็อตแข็งแรงแล้วก็เขียนได้เลยไม่ได้ติดอะไร พอดีว่าเป็นช่วงที่ล็อคดาวน์ด้วยเลยได้ทำงานอยู่กับบ้าน ทำให้มีเวลาเขียนมากขึ้น ส่วนพล็อตอีกแบบที่คิดไว้ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสจะเขียนออกมาให้อ่านกันค่ะ”
พล็อตอีกแบบที่ว่าจะเป็นแบบนี้? ยังคงเป็นนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวนที่เสมือนเป็นตราประจำตัวของ “ณรัญชน์” หรือเปล่า คงต้องรอลุ้นกันไป เพราะ “ณรัญชน์” ก็เป็นนักเขียนอีกคนที่อยากเขียนนวนิยายได้ทุกแนว
“นิยายแนวสืบสวนเป็นเรื่องที่หยิบมาอ่านบ่อยที่สุด พอเริ่มลงมือเขียนนิยายเรื่องแรกคือคดีรักข้ามเวลาก็เลยคิดพล็อตในแนวสืบสวนก่อน และเรื่องต่อๆ มาก็เป็นแนวนี้อีก อาจเพราะเคยชินกับแนวสืบสวนมากที่สุด และเห็นว่านิยายสืบสวนมีอะไรให้คิดพลิกแพลงได้เยอะเลยเขียนในแนวนี้มาตลอด แต่ที่อยากเขียนสักครั้งในอนาคตคือแนวดราม่าค่ะ ซึ่งในอนาคตอาจจะเขียนนิยายดราม่าล้วนๆ ไม่มีสืบสวนเลย แต่ตอนนี้ยังกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี คงต้องขัดเกลาฝีมือไปก่อนค่ะ”
แต่ “ณรัญชน์” ไม่ได้เป็นแค่นักเขียนนิยาย เพราะงานประจำของเธอคือ การเป็น “คอลัมนิสต์”
“ตอนกลางวันก็โฟกัสกับงานประจำอย่างเดียว จะไม่พะวงถึงนิยาย พอตอนเย็นก็ตั้งเวลาไว้เลยว่าตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมงที่จะเขียนนิยาย ซึ่งช่วงนี้ก็อย่าไปคิดถึงงานประจำ สิบนาทีแรกสมาธิอาจจะยังไม่ดียังโฟกัสไม่เต็มที่แต่ไม่เป็นไร ยังไงก็เขียนไปก่อน สักพักเราจะมีสมาธิขึ้น แล้วจะเขียนได้ลื่นขึ้นเอง
“ที่สำคัญคือควรจะวางพล็อตนิยายไว้ก่อนแล้วเราก็เขียนไปตามพล็อต มันจะเขียนไปได้โดยอัตโนมัติเพราะมีพล็อตเป็นตัวกำหนดอยู่ ความฟุ้งซ่านเรื่องงานประจำอาจจะเข้ามาในสมองบ้าง แต่ยังไงถ้ามีพล็อตคอยควบคุมแล้ว พล็อตจะชนะทุกสิ่งค่ะ
“สำหรับคนที่วางตัวเองไม่ลง อาจเพราะยังไม่ได้ลงมือเขียนเลยยังสับสนอยู่ ถ้าอย่างนั้นก็ลองถามตัวเองว่าเราชอบงานเขียนแนวไหน ดราม่า โรแมนติค คอมเมดี้ สืบสวน เริ่มเขียนจากแนวที่ชอบก่อนน่าจะดีที่สุด หรือถ้ารู้สึกว่าแยกตัวเองจากงานประจำไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะคิดพล็อตเกี่ยวกับเรื่องราวในที่ทำงานไปเลยก็ได้ เอาเรื่องใกล้ๆ ตัวก่อน ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีค่ะ”
แต่การเริ่มต้นที่ดี มาพร้อมระบบความคิดที่ลงตัวเช่นกัน เมื่อคุยมาถึงตอนนี้ อ่านเอาจึงมีความคิดว่า ใครที่อยากเดินตามรอยนักเขียนในดวงใจ ไม่ว่านักเขียนท่านนั้นจะเป็นใคร ลองเริ่มต้นการคิดแบบที่ “ณรัญชน์” คิดดูก็น่าจะเป็นแนวทางการสร้างผลงานดีๆ ออกมาได้
“สิ่งที่คิดทุกครั้งที่ลงมือเขียนคืออยากเขียนผลงานที่สนุกและตัวเราก็สนุกที่ได้ทำงานค่ะ และไม่เคยคาดหวังผลตอบรับจากงานแต่ละเรื่อง เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ขอแค่พยายามทำให้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ก็ทำตรงนั้นให้เต็มที่ไป เพราะการไปคาดหวังว่าคนอ่านจะต้องชอบงานของเรากลับ จะทำให้เราไม่สนุกกับการทำงาน เพราะคนอ่านมีหลากหลายมาก แต่ละคนก็มีรสนิยม มีความชอบไม่เหมือนกัน เราต้องเข้าใจและเคารพตรงจุดนั้น ฉะนั้นไม่คาดหวังดีที่สุดค่ะ
“เราสร้างผลงานออกมาก็เพราะมันสนุก เวลาเขียนเรามีความสุขและคนอ่านที่ชอบงานของเราก็น่าจะมีความสุขที่ได้อ่านด้วย คิดเท่านี้ก็พอแล้วค่ะ”
ขอปิดท้ายบทความนี้ กับการถามข้อสงสัยส่วนตัวที่อ่านเอาอยากรู้มากๆ
ทำไม “ณรัญชน์” จึงเขียนงานออกมาปีละเรื่องเท่านั้น?
“มันไม่ถึงกับเป็นความตั้งใจที่จะเขียนปีละเรื่องเท่านั้น เพียงแต่มีเวลาไม่มากค่ะ ขณะที่เดียวกันก็ยังอยากพัฒนาตัวเองไปด้วย เราเป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่ฝีมือยังไม่ดีนัก ยังต้องพัฒนาอีกมาก ถ้าหากหยุดเขียนไปนานๆ ฝีมือจะแย่ลง แต่ถ้ารีบๆ เขียนเพื่อให้ได้ปริมาณ คุณภาพก็อาจไม่ได้ เลยต้องพยายามแบ่งเวลามาเขียนเท่าที่จะทำได้เพื่อฝึกฝนตัวเอง
“แต่ก็ตั้งใจไว้ว่าปี 2565 จะเขียนให้ได้มากกว่าหนึ่งเรื่องนะคะ และตอนนี้ก็มีพล็อตที่คิดไว้แล้วด้วยถึงสองเรื่อง ยังไงฝากติดตามด้วยนะคะ”