เที่ยวโตเกียว (คนเดียว)…ไม่รู้จบ กับคนชอบเที่ยว…อรุณี ชูบุญราษฎร์  ผ่านผลงานล่าสุด บันทึกญี่ปุ่นของสองตา

เที่ยวโตเกียว (คนเดียว)…ไม่รู้จบ กับคนชอบเที่ยว…อรุณี ชูบุญราษฎร์ ผ่านผลงานล่าสุด บันทึกญี่ปุ่นของสองตา

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

เพราะประเทศญี่ปุ่นคือประเทศที่ คุณตา-อรุณี ชูบุญราษฎร์ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารพลอยแกมเพชร เจ้าของเพจบันทึกของสองตา เดินทางไปบ่อยที่สุด ดังนั้นเมื่อจะทำพ็อกเกตบุ๊กลำดับที่สอง ต่อจากบันทึกของสองตา คุณตาจึงเลือกที่จะเล่าถึงประเทศนี้ในแง่มุมที่แตกต่าง พร้อมลงรายละเอียดจนทำให้ผู้อ่านอย่างเราๆ ต่างเห็นภาพราวกับกำลังเดินทางไปพร้อมๆ กับเธอด้วยเลยทีเดียว

ในพ็อกเกตบุ๊กเรื่อง ‘บันทึกญี่ปุ่นของสองตา’ ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดของเธอ นอกจากผู้อ่านจะได้รับรู้ รับเห็น สถานที่ที่คุณตาพาไปรู้จักพร้อมภาพประกอบน่ารักๆ แล้ว ยังได้รับเกียรติจากครูโต-หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ มาเป็นผู้วาดหน้าปกให้กับผลงานชิ้นนี้ด้วย

ดังนั้นพ็อกเกตบุ๊กเรื่อง ‘บันทึกญี่ปุ่นของสองตา’ จึงครบเครื่องทั้งเนื้อหาและความสวยงาม ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับคนที่ชอบไปญี่ปุ่นลองตามรอยมองหาที่เที่ยวใหม่ๆ ที่ผู้เขียนได้แนะนำ รวมถึงคนที่อยากจะไปที่นี่เกิดกำลังใจและมั่นใจในการเดินทางมากขึ้น

…นอกจากนี้ใครที่มีความฝันว่าอยากลองไปเที่ยวญี่ปุ่นคนเดียวดูสักครั้ง เชื่อว่า บันทึกญี่ปุ่นของสองตา เล่มนี้น่าจะกระตุ้นต่อมการเดินทางได้ดีทีเดียว…

จากบันทึกของสองตา ถึง บันทึกญี่ปุ่นของสองตา

ชื่อหนังสือเล่มนี้ลิงก์มาจากชื่อเพจของคุณตา ซึ่งก็คือบันทึกของสองตา ซึ่งเป็นเพจที่มีมาตั้งแต่ยังทำนิตยสารพลอยแกมเพชร คุณตาได้เท้าความถึงนามปากกา ‘สองตา’ ให้ฟังว่าเป็นนามปากกาที่ใช้เขียนคอลัมน์ท่องเที่ยวในพลอยแกมเพชรและคอลัมน์เบื้องหลังแฟชั่น “ที่มาของนามปากกานี้คือ พี่ชาลี-ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล บรรณาธิการนิตยสารพลอยแกมเพชร ใช้นามปากกา ‘ตรีตา’ เขียนเรื่องท่องเที่ยวและเรื่องท่องเที่ยวเนปาลเป็นเรื่องแรกที่พี่เขียนลงในพลอยแกมเพชร โดยมีพี่ชาลีร่วมเขียนด้วย พี่เลยคิดว่า ใช้ชื่อ ‘สองตา’ น่าจะเหมาะ เพราะชื่อจริงพี่ชาลีกับชื่อเล่นพี่มีคำว่า ‘ตา’ เหมือนกัน จากนั้นเวลาเขียนเรื่องท่องเที่ยวเลยใช้นามปากกาว่าสองตามาโดยตลอด และพอมาทำเพจเลยใช้ชื่อนี้ด้วย…

พี่ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องท่องเที่ยวลงในเพจเพราะว่าเรามีข้อมูลค่อนข้างเยอะตอนทำนิตยสาร แล้วก็เขียนมาเรื่อยๆ จนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๒ได้ทำเล่มแรกคือ ‘บันทึกของสองตา’ เล่มนั้นเขียนถึงหลายประเทศ เช่น อังกฤษ รัสเซีย ญี่ปุ่น พอมาปีนี้มีคนเรียกร้องให้รวมเล่มอีก เลยเล่าเรื่องของญี่ปุ่นเพราะเป็นประเทศที่ไปบ่อยที่สุดในชีวิต พี่ไปครั้งแรกน่าจะเป็นช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๓๐ ไปกับโตโยต้า แล้วพอมาทำพลอยแกมเพชร ก็มีโอกาสได้ไปบ่อยมากเนื่องจากพี่ชาลีชอบญี่ปุ่น ทริปแรกที่ไปกับพลอยแกมเพชรคือไปทำงานกับกองแฟชั่น ซึ่งทำให้เราได้เห็นแต่ในจุดที่เตรียมถ่ายรูปแบบแว็บๆ ไม่ได้ใช้เวลาอินไปกับสถานที่นั้นๆ เพราะต้องรีบทำงานให้เสร็จ แต่หลังจากนั้นก็ได้ติดตามพี่ชาลีไปเที่ยวแบบพักผ่อนที่โตเกียวแทบจะทุกปี ซึ่งโดยหลักๆ พี่ชาลีจะอยู่ที่โตเกียว กิน เที่ยว ช็อป ดูพิพิธภัณฑ์ ใช้ชีวิตอยู่ประมาณนี้ ไปที่ที่คุ้นเคยๆ ไปบ่อยๆ ฉะนั้นเลยจะรู้หมดว่าไปยังไง เข้าร้านไหนพนักงานรู้จัก แต่มาช่วง ๔-๕ ปีหลังนี้พี่เริ่มเที่ยวญี่ปุ่นเองคนเดียว หรือถ้าไปกับกรุ๊ปแล้วมีคนเดินทางไปกับพี่ชาลีพี่จะไปล่วงหน้าก่อน ๓ วัน เพื่อที่จะไปในที่ที่ตัวเองอยากไป แล้วเป็นคนชอบเดินด้วย การเดินทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่าง แต่ถ้าไปกับกรุ๊ปจะมีรถพาไปค่ะ”

ออกเดินทาง (คนเดียว)

หลังจากที่ตัดสินใจลองเดินทางคนเดียวในประเทศนี้ คุณตาก็เกิดความรู้สึกใหม่ๆ ในระหว่างฉายเดี่ยวขึ้นมา  “…ตอนนั้นพี่เดินทางจากนาริตะเข้าเมืองเองโดยรถไฟ รู้สึกตื่นเต้นมากค่ะ เพราะไม่เคยขึ้น แต่ก็สนุกดี ส่วนการแพลนก็คือจะเลือกโรงแรมใหม่ที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟเพื่อที่เราจะเดินทางได้สะดวก และทุกครั้งที่ไป แพลนที่วางไว้ก็จะมีพิพิธภัณฑ์ รวมถึงย่านใหม่ๆ ที่อยากไป ซึ่งเรื่องนี้ก็จะถามเพื่อนที่เขาคุ้นเคยกับญี่ปุ่นว่ามีตรงไหนที่ใหม่บ้าง หรือมีตรงไหนที่น่าสนใจแต่ไม่ใช่จุดท่องเที่ยวบ้าง พอรู้ข้อมูลก็จะดั้นด้นไปเอง ซึ่งเราติดใจกับตรงนี้แล้ว เหมือนได้ไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียว จะหลงบ้าง จะไปไม่ครบก็ไม่เป็นไร นั่งสบายๆ ดูคนบ้าง อะไรบ้าง ส่วนการช็อปปิงที่เคยซื้อเยอะๆ เดี๋ยวนี้ไม่ซื้ออะไรเลย แม้แต่กระดาษที่ชอบซื้อ เพราะยังมีของเก่าอยู่ และคิดว่าอยากจะไปญี่ปุ่นทุกปีถ้าเป็นไปได้ แต่พอเจอโควิด-19 ก็ต้องหยุดไปช่วงนึงแล้วกลับมาเดินทางไปญี่ปุ่นอีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ จากนั้นปลายเดือนพฤษภาคมก็ไปครั้งที่สองกับพี่ชาลี แล้วไปเองอีกครั้งเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรียกว่าปีนี้ไปมา ๓ ครั้งแล้วค่ะ (หัวเราะ)

ส่วนญี่ปุ่นก่อนมีโควิด-19 กับหลังมีโควิด-19 ไม่ต่างกันเท่าไหร่ เพราะว่าสถานการณ์คลี่คลายแล้ว แล้วเราก็ไปในที่ที่ชาวบ้านเขาอยู่ แต่ร้านรวงอาจจะหายไปเยอะ เขาเองก็ไม่ค่อยได้ใส่หน้ากากกันนอกจากขึ้นรถไฟ เมื่อตอนไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ยังต้องแสดงผลฉีดวัคซีน แต่ครั้งที่สองและสามไม่ต้องแล้วค่ะ”

 

เที่ยวญี่ปุ่นไม่รู้เบื่อ

หลายคนอยากไปญี่ปุ่นคนเดียว แต่ก็ติดปัญหาในเรื่องของภาษา เพราะเราต่างก็รู้ว่าคนญี่ปุ่นนั้นไม่ค่อยพูดภาษาอื่นๆ กันสักเท่าไหร่นอกจากภาษาของตัวเอง “เรื่องนี้กูเกิลทรานสเลตช่วยได้ค่ะ ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นมาก อย่างเช่นพอถึงหน้าร้านที่มีเมนู เราก็ใช้กูเกิลทรานสเลตแปลให้ เท่านี้ก็รู้แล้วว่ามีเมนูอะไร ขายอะไร หรือตอนไปกดอุด้งตามตู้ ถึงเราอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ก็มีพนักงานอยู่ พี่ก็ใช้ภาษาท่าทางถามว่าอยากกินอย่างในรูปนี้ต้องกดเบอร์ไหน เขาก็จะบอกให้เหมือนกัน…ต้องไม่กลัวที่จะสื่อสาร พี่ว่าคนที่ไม่กล้าเดินทางคนเดียวคือกลัวและกังวลไปหมด อยากบอกว่ากลัวได้ แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ

นอกจากนี้ที่พี่ไปญี่ปุ่นบ่อยๆ เพราะชอบบรรยากาศ เวลาไปจะรู้สึกว่าเราเดินไปตรงไหนก็ได้ มีทั้งความสะดวกสบาย ร้านสะดวกซื้อมีทุกที่ อยากกินของแพงก็ได้ อยากกินของถูกก็ได้ จัดสรรงบประมาณเองได้ บางคนก็อาจกินอาหารในเซเว่นง่ายๆ แต่อย่างเราก็มีมื้อที่ดีบ้าง ประหยัดบ้าง แล้วก็ชอบฤดูกาลที่แตกต่างเพราะเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนไป นอกจากอากาศจะเปลี่ยนไปแล้ว ดอกไม้ อาหาร ขนม แฟชั่น วินโดว์ ดิสเพลย์ ฯลฯ ก็จะเปลี่ยนไปเหมือนกัน แล้วไปญี่ปุ่นไม่ต้องกลัวอันตราย เพราะมีความปลอดภัยสูงเป็นอันดับต้นๆ เพียงแต่เราก็ต้องระวัง ไม่พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เสี่ยงด้วย”

 

Whats new in Tokyo?

หนึ่งในความชอบอกชอบใจในการไปญี่ปุ่นของคุณตาคือการได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้นก่อนออกเดินทางไปญี่ปุ่นทุกครั้ง การบ้านที่เธอต้องทำคือ ตอนนี้ที่โตเกียวมีอะไรใหม่ๆ บ้าง?

“พี่จะมีธีมในการเที่ยวคือตามดูงานของเคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) ซึ่งเป็นสถาปนิกที่ชื่นชอบค่ะ ล่าสุดได้ไปที่พิพิธภัณฑ์หนังสือการ์ตูนที่เขาออกแบบมา ซึ่งพอไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ทำให้รู้ว่าคนญี่ปุ่นชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมากถึงกับทำให้บริษัทการ์ตูนลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์นี้และน่าจะใช้ทุนมหาศาล ตอนเข้าไปนี่ให้ความรู้สึกว่าความสูงของพิพิธภัณฑ์เหมือนตึกห้าชั้น สามารถดูได้ทั้งหนังสือและสถาปัตยกรรมเลย

…พี่ชอบสถาปัตยกรรม ทุกอย่างจึงเริ่มจากความชอบตรงนี้และพาเราไปเจออีกหลายอย่าง เพราะฉะนั้นพิพิธภัณฑ์ที่ไปจึงเริ่มมาจากสถาปัตยกรรมแทบทั้งนั้น อย่างที่พิพิธภัณฑ์สุมิดะโฮคุไซ ตอนไปไม่รู้หรอกว่างานที่อยู่ในนั้นเป็นงานของศิลปินที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นคนหนึ่ง คัทซึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) แต่เราไปเพราะมีคนบอกเราว่าสถาปัตยกรรมสวย ซึ่งคัทซึชิคะ โฮะคุไซ เป็นเจ้าของภาพวาดภูเขาฟูจิแดง และคลื่นลูกใหญ่ ทุกคนต้องเคยเห็นภาพนี้ ซึ่งเป็นภาพพิมพ์แม่พิมพ์ไม้แบบโบราณ และพิพิธภัณฑ์นี้เก็บงานของเขาทั้งหมด…”

คุณตาเล่าต่อไปว่าในการเดินทาง บางที่ก็เจอโดยบังเอิญเพราะนั่งรถหลง หรือลงเดินไปเจอ หรือบางทีก็เป็นที่ที่ตั้งใจไป แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทุกที่ที่ไปล้วนถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของเธอทั้งสิ้น “อย่างคุรามะเอะที่อยู่ถัดจากอาซากุสะ ซึ่งได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยในตอน ‘เพื่อนบ้านอาซากุสะ’ ก็เป็นอีกที่ที่ประทับใจ ที่นี่แต่ก่อนเป็นย่านค้าข้าว ค้าเครื่องหนัง ร้านพวกนี้ก็ยังมีอยู่แต่น้อยมาก ความน่าสนใจของคุรามะเอะคือมีคนรุ่นใหม่เข้าไปสร้างธุรกิจใหม่ๆ แต่ก็ไม่ทำลายบรรยากาศเดิมของชุมชน เช่น มีโรงแรม มีร้านขายอาหาร คาเฟ่ ในขณะที่คนเก่าแก่ก็ยังสามารถเปิดร้านขายอาหาร ร้านขายเชือก ร้านขายของเล่นที่อยู่มาเป็นร้อยปีได้ ตอนไปญี่ปุ่นครั้งล่าสุดพี่เลือกไปพักที่นี่ โดยเดินจากสถานีรถไฟอาซากุสะไปแป๊บเดียว แล้วก็ใช้ชีวิตหนึ่งวันเป็นชาวคุรามะเอะ เดินไปอาซากุสะ เดินไปสุมิดะ ใช้การเดินทั้งหมดในย่านนี้ และยังมีพิพิธภัณฑ์ให้ดูเป็นสิบพิพิธภัณฑ์ มีร้านอาหาร คาเฟ่ให้แวะ คืออาจไม่ใช่ร้านที่เปิดติดกันเหมือนในย่านท่องเที่ยว แต่เหมือนเราไปเดินเที่ยวตามซอกตามซอย ซึ่งก็ได้ความสนุกไปอีกแบบ

นอกจากนี้ก็มีตามรอยหนังสือเรื่องฉันจะไม่ลืมร้านหนังสือโมริซากิ ที่ย่านจิมโบโชด้วย ที่นี่เป็นเมืองหนังสือ ย่านนั้นทั้งย่านเป็นย่านขายหนังสือ แม้จะเป็นหนังสือญี่ปุ่น แต่เราก็เดินเที่ยวด้วยความสนุกได้ เพราะว่าทุกร้านมีเอกลักษณ์ของตัวเองหมด แล้วเราจะได้ไปเห็นชีวิตว่าคนญี่ปุ่นยังอ่านหนังสือเยอะมาก มีคนเข้าทุกร้าน ส่วนร้านเองก็มีการปรับตัว เช่น บางร้านก็มีคาเฟ่ในนั้น พี่ว่าถ้าจะไปเที่ยวก็ควรมีพอยต์ในการเที่ยว ไม่ใช่เดินๆ พอจะไปญี่ปุ่นก็ต้องหาว่าเราจะไปไหน จะทำอะไรบ้าง”

ทำไมต้องโตเกียว?

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสถานที่ที่น่าสนใจอยู่หลายต่อหลายจังหวัด แต่คุณตานั้นบอกว่าเธอเลือกเที่ยวที่โตเกียวเป็นหลักด้วยเหตุผลว่าที่นี่เป็นที่ที่เธอคุ้นเคย “นอกจากโตเกียวแล้ว พี่จะเที่ยวในรัศมีที่นั่งรถไฟออกไปได้หนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งแล้วกลับมา ยังไม่กล้าไปเมืองอื่นๆ ส่วนในโตเกียว ย่านที่คุ้นเคยที่สุดคือกินซ่า เรียกว่าเป็นหลักของพี่เลย

…อย่างร้านเครื่องเขียนอิโตะย่าที่กินซ่าก็เป็นร้านที่พี่ชอบมาก ถึงไม่ซื้อยังไงก็ต้องไปเดิน (หัวเราะ) ร้านนั้นมีอยู่เจ็ดชั้น เป็นร้านผอมๆ มีปากกาชั้นนึง การ์ดชั้นนึง กระดาษชั้นนึง ฯลฯ ซึ่งเขาเพิ่งปรับปรุงใหม่และอยู่ที่นี่มานานมาก แรกเริ่มร้านไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง แต่นำเข้าเครื่องเขียนจากตะวันตกเป็นร้านแรกๆ นอกจากนี้ยังมีร้านชาของมาริยาจ แฟรส์ ซึ่งเป็นร้านจากฝรั่งเศสที่พี่ชอบไปและอยู่ที่กินซ่าเหมือนกัน ในร้านมีชาหลากหลายและมีขนมอร่อยมาก ขนมทุกอย่างจะมีส่วนผสมของชาในร้าน ตอนแรกมีร้านเดียวแต่ตอนนี้มีอีกร้านหนึ่งขยายออกมาเพราะคนเยอะมาก ราคาก็พอสมควร แต่ครั้งหนึ่งในชีวิต วันนั้นเราอาจประหยัดเรื่องอย่างหนึ่งเพื่อที่จะมาเอ็นจอยตรงนี้ อยากให้เที่ยวอย่างเอ็นจอย ไม่ต้องเที่ยวแบบเก็บแต้มให้มันครบ ไปแล้วใช้ชีวิต ตอนนี้พี่เน้นใช้ชีวิต เน้นใช้เวลา เดินดูอะไรไปเรื่อยๆ ค่ะ”

หนึ่งในหลักการเที่ยวของคุณตาคือ เธอจะดูว่าร้านไหนคนญี่ปุ่นเข้าเยอะแล้วจะขอเข้าไปดูด้วย “ด้วยวิธีนี้ทำให้วันหนึ่งเลยได้ไปกินร้านแฮมเบอร์เกอร์ร้านแรกในกินซ่าแต่ปรุงแบบญี่ปุ่น รสชาติอร่อย วัตถุดิบดี” คุณตาเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่มีความสุข  “อย่างที่กินซ่าเองก็ไม่ได้มีแค่ถนนหลัก ห้างดัง แบรนด์หรู  อยากให้ลองเดินไปตามซอย ตามถนนเล็กๆ ดูร้านต่างๆ แล้วก็จะไปเจออะไรที่เราไม่คาดคิด ซึ่งร้านแฮมเบอร์เกอร์ที่เพิ่งเล่าไปก็เป็นหนึ่งในนั้น แล้วใครคิดว่าไปเที่ยวโตเกียวตามจุดที่เราเคยได้ยินชื่อแล้วจบ ไม่ใช่นะคะ โตเกียวมีอะไรมากกว่านั้น พี่ไปทุกครั้งก็ได้ที่ใหม่ทุกครั้ง นี่ยังเขียนไม่หมดเลยนะ ยังมีเรื่องที่ต้องเขียนอีกเยอะ”

ความสุขของคนชอบเที่ยว

เรียกว่าถ้ามีเวลาทั้งวันเราก็คงคุยเรื่องญี่ปุ่นกับคุณตาได้ทั้งวัน เพราะไม่ว่าจะถามอะไรในแง่มุมไหน คุณตาก็จะมีข้อมูลมาเล่าให้เราได้ตื่นเต้นเสมอ แต่ถึงแม้คุณตาเธอจะสนุกกับการท่องเที่ยวยังไง เช็กอินญี่ปุ่นบ่อยแค่ไหน หรือไปที่ที่อยากไปมาแล้วหลายที่ ความสุขที่สุดของเธอกลับไม่ใช่การได้ไปเยือนยังสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ แต่กลับเป็นการกลับบ้านที่แสนอบอุ่น พื้นที่ที่เธอใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“สำหรับพี่ วันแรกที่ได้กลับบ้านคือวันที่เรามีความสุขที่สุด ไปญี่ปุ่นคนเดียวเจ็ดวันก็ได้ชาร์จแบตเตอรีเต็มที่แล้ว และการไปเที่ยวก็เรื่องหนึ่ง เพราะการไปเที่ยวคือการไปใช้ชีวิต ใช้เวลาอยู่ตรงนั้น แต่เวลาที่กลับมาถึงบ้านจะรู้สึกมีความสุขตลอด และเมนูแรกที่กินตอนกลับมาบ้านเสมอคือข้าวผัดกะเพราค่ะ (หัวเราะ) เที่ยวที่ไหนก็ไม่รู้สึกเหมือนบ้านนะคะ บ้านเป็นที่ของเรา เราได้อยู่กับความคุ้นเคย ไปตรงนั้นก็รู้สึกนะว่าเราไม่ใช่คนที่นั่น เราไปเพื่อเรียนรู้ แต่ให้ไปอยู่เลยก็คงไม่ไป บ้านเรา เราเดินไปเดินมาได้ เป็นเซฟโซน อย่างไปเที่ยว เช้าเราก็ออก เย็นก็กลับ โรงแรมเป็นแค่ที่พักที่นอนค่ะ”

เล่ามาถึงตรงนี้เราก็เชื่อมั่นว่า แฟนๆ ของคุณตาจะได้มีความสุขจากตัวหนังสือที่เธอถ่ายทอดออกมาในผลงานเล่มล่าสุด บันทึกญี่ปุ่นของสองตา อย่างแน่นอน ซึ่งเจ้าของผลงานการันตีด้วยตัวเองว่าเล่มนี้จะเป็นการรวบรวมเรื่องใหม่ๆ ช่วงก่อนโควิด-19 นิดนึงจนมาถึงสามทริปที่เพิ่งไปมาล่าสุด “ในเล่มนี้จะมีที่ใหม่ๆ ให้คนอ่านได้ลองตามไป แล้วก็มีภาคผนวกข้างหลังที่จะแนะนำร้านที่ตัวเองชอบ ไม่ว่าจะเป็นร้านกิน ที่ช็อปปิง ฯลฯ บอกก่อนว่าพ็อกเกตบุ๊กเล่มนี้ไม่ใช่ไกด์บุ๊กนะคะ แต่เป็นแรงบันดาลใจให้เราสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้ ตอนนี้อยากให้คนที่อยากเที่ยวไม่ต้องรอ ความสุขของตัวเองทำได้ทำเถอะ ไปเที่ยวคนเดียวก็เป็นไปได้ ไม่เป็นไรค่ะ”

 

Don`t copy text!