ตรี-ภรภัทร ศรีขจรเดชา เผยมุม ‘ไมโครเวฟ’ ส่วนตัว และบทบาทที่ทำให้เขาเข้าใจโลกใบนี้มากยิ่งขึ้น
“ผมเป็นคนอบอุ่นนะ แต่หลายคนอาจไม่เคยเห็น”
ทำเอาแฟนๆ ใจละลายทุกครั้งเมื่อคุณทนายภาวินท์ จากละครสุดฮิต สงครามสมรส ที่สร้างจากบทประพันธ์เรื่องคดีรักร้าง เผยมุมสุดโรแมนติกกับบัวบงกช (แอฟ-ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) ท่ามกลางสงคราม ศาล และความดราม่าขั้นสุดของสถานการณ์ต่างๆ จนทำให้ผู้หญิงทั้งหลายอยากมีผู้ชายแบบนี้มาอยู่ใกล้ตัว และทำให้ ตรี-ภรภัทร ศรีขจรเดชา ผู้สวมบทบาททนายไมโครเวฟถึงกับแฮปปี้สุดๆ กับเสียงตอบรับที่ท่วมท้นขนาดนี้
“ฟีดแบคที่ได้รับดีมากๆ เลยครับและ FC เบอร์หนึ่งของผมก็คือคุณแม่ เพราะเลื่อนเฟซบุ๊กไปก็เจอแต่แม่แชร์ทุกเพจที่เป็นผม (หัวเราะ) ซึ่งสิ่งที่ชอบคือถึงแม้แม่อ่านแล้วจะเห็นว่ามีทั้งแบบชื่นชมและคอมเมนต์ แต่แม่ก็มีความสุขที่ได้อ่าน หรือถ้าเจอคอมเมนต์ไม่โอเคก็ไม่ตอบโต้ แต่จะบอกว่านี่มีคนมาปกป้องเธอแล้ว และเดี๋ยวนี้เวลาผมไปไหนมาไหน จะได้ยินคนเรียก ‘ทนาย’ มากขึ้น ใน X ผมกับพี่สันต์ (สันต์ ศรีแก้วหล่อ) ก็เข้าไปนั่งคุยตลอดตอนละครออนแอร์ กระแสในอินสตาแกรมก็ดีครับ ยอดฟอลโล่วดีขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นจุดเริ่มต้นของปีนี้ ในเฟซบุ๊กก็ขึ้นประมาณสองแสนได้ครับ”
สำหรับความเข้มข้นของละครเองก็แรงดีไม่มีแผ่ว ทำเอาแฟนๆ อินหนักทั้งเรื่องคดี ความรัก และครอบครัว พร้อมดูสดกันทุกตอน “อย่างแรกเลยต้องขอบคุณบทประพันธ์ดีๆ ที่รังสรรค์ออกมาให้โดนใจนักอ่านและผู้ชมทั่วประเทศ ขอบคุณโปรดักชั่น แอคติ้งโค้ช ผู้กำกับ ทีมเขียนบทและทีมงานทุกคน ขอบคุณช่องวัน 31 ขอบคุณนักแสดงทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสร้างละครเรื่องนี้ขึ้นมาโดยที่ขาดใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลย เพราะทุกคนมีผลกับผลงานชิ้นนี้ทั้งหมดครับ” พระเอกหนุ่มผู้รับบททนายสุดอบอุ่นกล่าว
นอกจากนี้เรายังชวนเขาพูดคุยถึงผลงานชิ้นล่าสุดอีกหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจบทบาทของทนาย การบาลานซ์ระหว่าง Man in Love กับการเป็นทนายของลูกความ การประชันบทบาทและการรับมือกับนักแสดงมากฝีมือ หรือความน่าเอ็นดูเมื่อต้องเข้าฉากกับ แอฟ-ทักษอร นางเอกสาวผู้มีออร่าแห่งความสง่างามจนทำให้เขารู้สึกเกร็งตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย รวมไปถึงการตีสนิทกับน้องมะลิ (พาขวัญ สหวงษ์) ที่บอกเลยว่าหนุ่มตรีต้องทุ่มสุดตัวเพื่อฝ่ากำแพงเข้าไปหาน้องมะลิให้ได้ ฯลฯ
โดยการสัมภาษณ์ครั้งนี้เราได้ชวน อาจารย์ไผ่ (เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ หรือ เวฬุวลี) เจ้าของบทประพันธ์มาร่วมสัมภาษณ์กันด้วย ใครอยากรู้เบื้องหลังก่อนมาเป็นละครดราม่าเรื่องดังนั้น โหด มัน ฮา แค่ไหน เชิญชวนให้ตามอ่านกันต่อจากนี้ได้เลยค่ะ
ทำความรู้จัก ‘ทนายภาวินท์’
หลังจากปิดกล้องเรื่องพนมนาคา นักแสดงหนุ่มก็มีผลงานเรื่องใหม่มาจ่อคิวต่อทันที โดยครั้งนี้ตรีจะต้องสวมบทบาทเป็นทนายภาวินท์ ที่มีความเก่งในเรื่องคดีครอบครัว และเพื่อเข้าถึงบทบาท งานนี้พระเอกของเราเลยต้องมีไปลงพื้นที่ดูเขาทำงานกันแบบจริงๆ จังๆ “ผมมีการไปสังเกตการณ์ที่ศาลคนเดียว เช่น ไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ถามทนายว่าทำแค่เรื่องเดียว เก่งแค่เรื่องเดียว อย่างเช่น ทนายด้านครอบครัว ชีวิตจะอยู่รอดได้หรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่ได้ ดังนั้นต้องทำได้ทุกคดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเก่งด้านไหน แล้วก็ถามแนวทางของทนายคนโน้น คนนี้ บางคนก็บอกว่ายึดความจริงไว้ก่อน พอเสร็จจากศาลนั้น ผมก็ไปกับพี่สันต์ (สันต์ ศรีแก้วหล่อ) ที่ศาลอาญา ไปดูเคสจริงๆ ว่าเวลาที่ทนายว่าความจริงๆ เป็นอย่างไร ซึ่งผมว่าความเคร่งเครียดนั้นเบากว่าในละครอีกครับ เพราะเหมือนกับเขาทำงานตรงนั้นกันทุกวัน รู้กฎ รู้ระเบียบ ยืนเถียงกันได้เป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ในฉากเรายังต้องทำให้กระชับ แน่นขึ้น เพราะว่าของจริงนานมากครับ
“จากนั้นผมก็ได้มีโอกาสเจอกับแอคติ้งโค้ชคือครูแอ๋ว (อรชุมา ยุทธวงศ์) แล้วก็ช่วยกันรังสรรค์สร้างภาวินท์ขึ้นมา ได้รู้จักแบคกราวด์ของเขาว่าเป็นยังไง โดยมี และมีพี่สันต์มาช่วยด้วย ซึ่งก็ได้ออกมาเป็นอย่างที่ทุกคนเห็นครับ”
ภาวินท์ ๔ แบบ
ตรีบอกว่า ภาวินท์ที่เขาสร้างกับครูแอ๋วมี ๔ แบบด้วยกัน “มีภาวินท์ตอนเป็นทนาย ภาวินท์ที่รักบัวบงกช และภาวินท์ที่เป็นพ่อของลูก และภาวินท์ที่เป็นตัวเขาจริงๆ ซึ่งเหล่านี้ทำให้ภาวินท์ในแต่ละหน้าที่ต่างกันอยู่แล้ว เช่น การเป็นทนาย ทนายในแบบภาวินท์ก็เป็นทนายที่ตรง ไม่ได้มีเล่ห์เหลี่ยมเยอะ ซึ่งเขาจะพูดเสมอว่า ศาลจะเห็นใจหรือเชื่อคนที่พูดความจริงเท่านั้น ส่วนที่เราเห็นในละครคือการพูดแทนลูกความ พูดแทนผู้หญิงที่เป็นจำเลยที่สามีทำกับเธอได้ขนาดนี้ อินเนอร์ที่ออกไปจึงมีความโกรธอยู่ด้วย ไม่ได้มีลูกล่อลูกชน ความกวน เพราะขึ้นอยู่กับว่าภาวินท์กำลังซักลูกความคนไหน หรืออยู่ในสถานการณ์ไหน แล้วเขาเป็นคนฉลาด ไหวพริบดี อ่านหนังสือเยอะ เอาตัวรอดเป็น เพราะก็ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เลยเข้าใจหัวอกคนที่มีปัญหาเรื่องครอบครัวเหมือนกัน
“สำหรับภาวินท์ตอนอยู่กับลูก ตรีบอกว่าเขาจะเป็นพ่อที่ดีที่สุดคนหนึ่ง “เพลินคือหัวใจของเขา ถ้าลูกเป็นอะไรขึ้นมา เขาอยู่ไม่ได้แน่นอน ซึ่งคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวแบบภาวินท์นี่ผมเซ็ตไว้เลยว่า ตื่นมาตอนเช้าลูกต้องกินข้าว แต่หลังจากนั้นหิวเมื่อไหร่ค่อยบอกแล้วกัน อยากเล่นอะไรระวังตัว ล้มเจ็บนะ ถ้าพูดแล้วไม่ฟังก็ไปโดนเอง ไม่ได้เลี้ยงแบบประคบประหงมแต่เลี้ยงแบบให้เขาได้เจอความจริงเลยทำให้เพลินเป็นเด็กที่เข้าใจโลก เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อเจอคืออะไร และเชื่อในตัวพ่อ
“ส่วนภาวินทร์ที่เป็น Man in Love ก็เหมือนกับเขาได้ตกหลุมรักผู้หญิงคนหนึ่งหลังจากที่ไม่เคยเจอความรู้สึกนี้มานาน ซึ่งความรักระหว่างภาวินท์กับบัวบงกชไม่ได้เป็น Love at first sight แต่การที่ค่อยๆ ช่วยเหลือ จากความสงสาร เห็นใจ เผลอชอบ (จะมีช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างการเป็นทนายกับ Man in Love ด้วย ตรงนี้ตรีทำยังไงให้พอดี) ต้องขอบคุณพี่สันต์ครับ เขาจะคอยบอกว่าจังหวะไหนน้อยไป จังหวะไหนมากไป เช่น แบบนี้ไม่ได้เลยลักษณะปรึกษาแล้วจะกลายเป็นจีบแล้ว เราก็จะลดระดับลงมา เขาจะรู้ว่าโมเมนต์นี้ตัวละครตัวนี้ทำอะไรอยู่ กำลังคุยเรื่องซีเรียสอยู่ก็ซีเรียส แต่ถ้ามองกันแล้วเครียดก็อาจมีอะไรนิดนึงให้รู้สึกยิ้มนิดๆ แต่ว่าหน้าที่กับความรู้สึกเป็นเส้นบางๆ นะครับ ต้องหาตรงกลางที่พอดี เรื่องนี้ต้องขอบคุณคนที่อยู่ข้างหลังจอก็คือพี่สันต์ที่จะเป็นคนคุมบังเหียนทุกๆ อย่างของเรื่องนี้”
ครั้งแรกกับการรับบทพ่อ และทำทุกอย่างเพื่อตีสนิท ‘น้องมะลิ’
ถึงแม้จะเห็นตรีในหลายบทบาท แต่นี่เป็นครั้งแรกที่หนุ่มตรีรับบทคุณพ่อ ซึ่งในเรื่องต้องสนิทกับลูกสาวมากๆ ด้วย
“ต้องขอบคุณน้องมะลิ เพราะเขาเก่งในระดับหนึ่งเลย พอ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ผมกับน้องก็กลายเป็นตัวละครตัวนั้นได้ทันที แล้วน้องทำการบ้าน มีการฝึกซ้อม พอมาถึงกองผมก็ถามน้องว่า อ่านบทหรือยัง ต่อบทกันไหม ลองซ้อมสักรอบหนึ่งไหม เพื่อให้น้องผ่อนคลาย รีแร็กซ์ เพราะเด็กจะไม่รู้หรอกว่าเราเล่นยังไง เขาคิดว่าเราซ้อมแบบไหนก็จะเล่นแบบนั้น เพราะฉะนั้นต้องคุยกันก่อน ผมจะบอกน้องว่าเดี๋ยวผมจะเล่นแบบนี้นะ เพราะเดี๋ยวเขาจะไม่เข้าใจ บางทีเราต่อบทกัน พูด พูด พูด ถึงเวลาจริงถ้าเราเล่นมากเขาอาจตกใจได้เลยต้องเล่นให้เขาดูไปก่อนครับ
“ส่วนเรื่องความสนิทกับน้อง ด้วยความที่เราคนละวัย แล้วบางทีอ่านบทก็อาจมีเสียงดังออกมาบ้าง บวกกับผมตัวสูงด้วย น้องเลยอาจกลัวผมหน่อย ซึ่งผมก็พยายามทะลายกำแพงน้อง ทำทุกอย่าง ถามว่าวันนี้กินข้าวหรือยัง เหนื่อยไหม เรียนยากไหม ได้ซ้อมเต้นหรือเปล่า หลังๆ มีให้ตุ๊กตาด้วย คือน้องมะลิจะสนิทกับน้องเจ้าคุณที่รับบทเป็นปณต และทีมงานที่เป็นผู้หญิงมากกว่า ที่ผ่านมาจากสิบคะแนน ตอนนี้ผมว่าน้องมะลิให้คะแนนในเรื่องความสนิทกับผมประมาณสี่คะแนน (หัวเราะ) แต่เราก็สามารถทำงานร่วมกันได้ดีเลยครับ”
รับมือกับพลังการแสดงของ ชาคริต แย้มนาม
นอกจากจะรับบทที่ท้าทายในหลายมิติ ครั้งนี้ตรียังต้องมีการเฉือดเฉือนอารมณ์กับไอดอลทางการแสดงของเขา อย่างชาคริต แย้มนาม ด้วย
“วันแรกที่ต้องเข้าฉากกับพี่ชาคริต ซึ่งเป็นฉากในศาล ผมเกร็งเลย เป็นการเข้าบทประชันกันครั้งแรก เทคแรกสั่น เทคสองเบาขึ้น เทคสามหายสั่น แต่ช่วงเทคสอง เทคสามนี่มีพี่สันต์เข้ามาคุยด้วย คือการถ่ายทำละครไม่ได้สวยหรูอย่างนั้นนะครับ เพราะมีเรื่องของเวลา สถานที่ ค่าใช้จ่าย ทุกอย่างมีเวลาจำกัด สมมติว่าเล่นไม่ได้ ก็ต้องหาทางทำให้ได้ ต้องขอบคุณพี่สันต์ที่ไม่ปล่อยผ่านให้ผม เขามีวิธีพูด เช่น ลองคิดแบบนี้สิ ลองคิดแบบนั้นสิ ดีขึ้นไหม แล้วพอหลังจากศาลฟ้องชู้ จะเป็นศาลฟ้องหย่า ซึ่งก่อนจะไปถึงศาลนั้นผมถามทีมงานเลยว่าจะขึ้นฟ้องหย่าเมื่อไหร่ แล้วก็เริ่มทำการบ้านกับบท กลืนทุกๆ อย่างมันเข้าไป แล้วค่อยๆ คายมันออกมา โดยที่ไม่ต้องนึกถึงบทแล้ว มีแค่ความรู้สึก ความถูกต้อง ต้องการอะไรจากคนนี้ ต้องการให้คนดูได้รับอะไร ต้องการให้บัลลังก์ได้ยินอะไร ต้องการพูดแทนคนนี้เพื่ออะไร ตั้งแต่วันนั้นจนถึงเวลาที่เข้าฉากฟ้องหย่าเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ ประกอบกับเรารู้แล้วว่าศาลหน้าตาเป็นอย่างไรจากการเข้าฉากศาลครั้งแรก เคลียร์ความคิดของตัวเองใหม่ เช่น ถ้าภาวินท์อยู่ตรงนี้มา ๗-๘ ปีแล้ว ที่นี่ต้องเป็นที่ที่สบาย เป็นเหมือนเป็นบ้านของเขา แล้วก็บอกตัวเองว่าทำยังไงก็ได้ให้พี่ชาคริตสนุก ให้ทุกคนสนุก ซึ่งพอเข้าฉากตอนฟ้องหย่าจริงๆ ผมโอเคกับตัวเองกว่าตอนฟ้องชู้ แล้วเราก็ได้ข้อคิดจากตรงนั้นในหลายๆ อย่างผ่านการรับบทบาทนี้ด้วยครับ เช่น ได้รู้จักกฎหมาย ได้เห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ มากขึ้น
“สำหรับพี่ชาคริตสิ่งที่ผมชอบและแอบลักจำมาคือความเป็นธรรมชาติ ความพริ้วของพี่เขาครับ ในเรื่องนี้ผมไม่เคยถามว่าพี่ๆ นักแสดงคนไหนว่าเล่นยังไงเลย แต่ผมใช้การสังเกตว่า เขาทำยังไง เขาเล่นยังไง อย่าง ถึงกล้องจะไม่จับเราแต่เราต้องเล่นตลอด แล้วพี่เขาทำตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วเราก็ทำและรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว เพราะพี่เขาก็ทำและไม่เคยหลุดออกจากคาแรกเตอร์เลยแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว ยกเว้น ผู้กำกับสั่งคัต การเข้าฉากกับนักแสดงมากฝีมือผมมองว่าเป็นความท้าทาย และเราต้องมองก่อนว่า ในแต่ละฉากซีนไหนใครเป็นลีดเดอร์ จะไม่แย่ง ไม่ขโมยกัน แต่เมื่อถึงจังหวะที่เราเป็นลีดเดอร์เราต้องทำให้ตัวเองใหญ่ที่สุด เต็มที่ที่สุด และเขาก็ไม่รู้มาก่อนว่าผมจะเล่นยังไง ผมเล่นกับพี่ชาคริตในศาล ผมไม่รู้มาก่อนว่าเขาจะเล่นยังไง เป็นการรับส่งที่สนุกและธรรมชาติมากๆ การแสดงเล่นคนเดียวได้ไหม มันก็เป็นแค่โมโนล็อก แต่สิ่งที่ดีและล้วนแล้วจะดีเสมอคือเราต้องรับส่ง ฟังกันเยอะๆ ครับ”
ประกบแอฟ ทักษอร “ผมต้องใช้ความดีเข้าสู้”
นอกจากจะท้าทายในเรื่องบทบาท อีกหนึ่งความตื่นเต้นที่เขาต้องเจอคือการประกบคู่กับแอฟ-ทักษอร นางเอกที่ตรีบอกว่าเกร็งตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย
“กับพี่แอฟนี่ผมเกร็งจนเลิกกอง ปิดกล้อง ซึ่งผมเพิ่งจะหายเกร็งวันเลี้ยงปิดกล้องนี่แหละครับ คือก็มีความไม่เกร็งด้วยนะ แต่ก็มีความเกร็งตลอด แต่เราก็พยายามทำลายกำแพงด้วย สิ่งที่แรกที่ต้องพูดก่อนคือ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กห่ามๆ เถื่อนๆ ไม่ได้เป็นคนเรียบร้อย เวลามาเจอกับพี่แอฟเลยจะรู้สึกเหมือนเห็นรังสี แสง ความดี ความสะอาด ความไบรท์ เหมือนถ้าเราไปโดนเขาจะเป็นการเอาปากกาไปขีดกระดาษขาวๆ ทุกๆ ครั้ง (หัวเราะ) แต่ผมก็พยายามคุยกับเขานะ พยายามเล่นมุก อย่าง กาแฟ แกฟะ เขาจะ ‘หืม หายง่วงเชียว’ (หัวเราะ) พี่แอฟไม่ได้เล่นมุกเก่งขนาดนั้น ซึ่งผมเองก็เขินๆ เวลาเล่นมุกด้วย แต่พอเข้าฉากเราก็เป็นตัวละครตัวนั้น พอคัตก็ไปคุยกับกำแพง เดินคุยกับทีมงานมากกว่า
“ถ่ายละครมาประมาณ ๗๐ คิว ผมอยู่กับผู้หญิงทุกวัน ในห้องผมเป็นผู้ชายคนเดียว เวลาแต่งหน้าเสร็จก็ออกไปคุยกับช่างไฟ ตากล้อง เบื้องหลัง แต่ไม่ใช่ไม่อยู่กับพวกพี่แอฟเลยนะ ก็อยู่ แต่อาจไม่ใช่อยู่กับนักแสดงตลอดเหมือนละครเรื่องอื่นๆ อย่างพี่เป้ย กับพี่แอนก็จะซ่าๆ หน่อย เราจะเล่นด้วยได้ ส่วนพี่แอฟนี่ต้องใช้ความดีเข้าสู้ มีแกล้งบ้างแต่แกล้งเบาๆ เวลาเขาเดินไปไหนมาไหนเหมือนมีแสงอยู่รอบๆ ตัวเองตลอดเวลา สิ่งที่เราทำคือพยายามทำให้ตัวเองสะอาดที่สุด ฉีดปากตลอดเวลา แปรงฟัน บ้วนปาก ตลอดเวลา (แล้วอย่างนี้ตอนเข้าฉากเลิฟซีนต้องทำยังไง) ถามว่าตื่นเต้นไหม ก็ตื่นเต้น แต่เราก็เห็นใจกับสิ่งที่บัวบงกชต้องปล่อยออกมา ว่าทั้งวันเขาเจออะไรบ้าง ตั้งแต่ศาลมาถึงบ้าน ฉันไม่ได้ตายด้าน บวกกับความรู้สึกของการเล่นละครมากกว่า จูบมันก็เป็นองค์ประกอบองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจากนั้นก็มีความกุ๊กกิ๊กให้ได้ดูเรื่อยๆ แต่ว่าไม่ได้หวานจ๋าเพราะต้องอยู่ในธีมของเรื่องด้วย คือซีนที่ทำให้คนยิ้มได้เหมือนซีนเบาสมองคนด้วย เจอเรื่องเครียดมาเยอะ สองคนนี้เลยทำอะไรให้เบาลงหน่อยเพราะเรื่องนี้บัวบงกชเจอเยอะ คนเขียนใจร้ายมากครับ” (หันมาทางอาจารย์ไผ่ซึ่งนั่งหัวเราะ)
ฉากที่ชื่นชอบและประทับใจ
เรียกว่ากว่าจะได้เห็นผลงานชิ้นนี้ไม่มีคำว่าง่าย ทุกคนต่างทุ่มสุดตัวเพื่อให้ผลงานออกมาอย่างดีที่สุด ดังนั้นเมื่อถามถึงฉากประทับใจ ตรีเลยถึงกับเลือกไม่ถูก
“โอ้โห เลือกไม่ได้เลยครับ เพราะผมจำทุกเหตุการณ์ของเรื่องนี้ได้หมดเลย มันมีความกดดันในทุกซีน แต่ถ้าถามว่าชอบฉากไหนที่สุดคงเป็นในศาลนะครับ เพราะเหมือนกับว่าครั้งหนึ่งเราสามารถพัฒนาตัวเองได้ดีในครั้งที่สอง เลยเป็นความประทับใจของเราด้วย ซีนที่ชอบคงเป็นตอนจบนะครับ ยังไงต้องรอดู
“การทำงานที่ผ่านมาของผม ผมเต็มที่ตลอด แต่กว่าจะมาเป็นอย่างนี้ได้ขึ้นอยู่กับอะไรหลายอย่าง เช่น ชั่วโมงบิน ประสบการณ์ในชีวิตที่เจอ อายุที่มากขึ้น เหล่านี้จะสั่งสอนและปลูกต้นไม้ต้นนี้ให้โตขึ้นมาแบบนี้ ผมอยากจะขอบคุณตัวเองที่ผ่านอะไรมาได้เยอะขนาดนั้นแล้วมองย้อนกลับไป ผมไม่เสียดายเลยที่พยายาม ตั้งใจ ฝึกฝน ไม่ท้อ จนมาถึงวันนี้และทำให้เรียนรู้ว่า พรสวรรค์ก็ส่วนหนึ่งแต่ความเพียรพยายามเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่เรื่องแรกจนเรื่องนี้ผมทำการบ้านเหมือนเดิม เขียนเท่าเดิม ทำการบ้านวิธีเดียวกันทุกครั้ง ผมต้องทำบทเองครับ ไม่มีใครช่วยเราอยู่แล้ว อย่างเรื่องไทม์ไลน์ก็สำคัญมาก เวลาเราถ่ายละคร อยู่ดีๆ มีถ่ายตอนสองวันนี้ ผ่านไปอีกซีนหนึ่งถ่ายตอนสิบสอง ช่องว่างของเวลาที่หายไปเราไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องมีไทม์ไลน์ให้ชัด ตัวละครเจออะไรมาบ้าง เพื่อที่จะเข้าใจบทบาทของตัวเองในเวลานั้นๆ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าวิธีของใคร แล้วเขาทำการบ้านแบบไหนนะครับ
เห็น ปณต ก็เหมือนเห็นตัวเอง
ถึงแม้บทบาทล่าสุดของตรีจะมีแต่เรื่องที่ไกลตัว แต่เรื่องหนึ่งที่เขาบอกว่าใกล้ตัวมากคือ บทของ ปณต ลูกชายของบัวบงกชในเรื่องนี้
“ผมเข้าใจปณตมาก เพราะผมมีชีวิตที่โตมาแบบปณต แต่พ่อแม่ไม่ได้เลิกกันตอนผมโต พ่อแม่เลิกกันตั้งแต่ผมเด็ก ผมเลยเก็ตปณตว่าสิ่งที่เขาเจอคืออะไร สิ่งที่เขาเห็นคืออะไร สิ่งที่เขากำลังเข้าใจอยู่คืออะไร แล้วผมก็เข้าใจในฐานะภาวินท์ที่อายุเท่านี้แล้วก็เห็นใจในสิ่งที่ปณตเข้าใจ อย่างเรื่องที่เห็นแม่ออกมากับภาวินท์จากห้อง ผมเป็นเด็ก ผมไม่เข้าใจหรอก แม่เราเราหวง แต่โมเมนต์ถ้าผมอายุเท่านี้ ผมยินดี เข้าใจที่แม่มีความสุขกับสิ่งนี้ แล้วผมก็เข้าใจความเป็นบัวบงกชด้วย แต่แม่ผมเป็นแม่ที่ทำงาน ซึ่งเราเข้าใจในฐานะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เหนื่อยแค่ไหน ต้องเจออะไรบ้าง ต้องเลี้ยงลูกยังไง ต้องมารับลูก ต้องหาโน่นนี่ ต้องหาทุกอย่างให้ลูก ผมกับแม่จะเป็นผมนี่แหละที่แสดงความรักกับเขา อย่างเรื่องหอมแก้มแม่ กอดแม่นี่เป็นเรื่องปกติครับ เขาไม่ต้องพูดเราก็รู้ว่าแม่เขารักลูกอยู่แล้ว”
ผู้ชายไมโครเวฟ
ในบทบาทภาวินท์ แฟนๆ ต่างอวยยศว่าเขาคือทนายไมโครเวฟ แต่ในความจริงล่ะ ตรีเขาเป็นหนุ่มแบบไหนกันแน่ “ผมเป็นคนอบอุ่นนะ แต่หลายคนอาจไม่เคยเห็น เพราะผมจะให้เห็นเฉพาะคนที่ผมอยากให้เห็น คนเรามีหน้าต่างหลายบาน บานที่อยู่กับตัวเอง บานที่อยู่กับคนอื่น บานที่อยู่กับครอบครัว ฯลฯ ผมเป็นคนเห็นใจและชอบคิดถึงคนอื่นเสมอ ซึ่งภาวินท์ก็เป็นคนแบบนั้นเหมือนกันครับ”
สัมภาษณ์ : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ และ เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ
เรียบเรียง : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ