อาชีพเล็กๆ ที่เรียกว่า…ยาม
โดย : เด็กหญิงเจ้าสำราญ
When We Met โดย เด็กหญิงเจ้าสำราญ คอลัมน์ที่บอกเล่าเรื่องราวหลากรส ของผู้คนอันหลากหลาย ที่เราได้มีโอกาสพบปะเจอะเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นความเปรี้ยวนิดๆ หวานหน่อยๆ หรืออาจขมบ้างเป็นบางเวลา ที่พร้อมแบ่งปันให้ผู้อ่านได้จดจำนึกถึงและสุขสำราญไปด้วยกัน
คุณเคยรู้สึกทึ่ง หรือรู้สึกชื่นชมกับชีวิตทำงานของผู้คนรอบๆ ตัวกันบ้างไหม?
“มาโนช” เป็น พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า รปภ. ของหมู่บ้านขนาดกลางแห่งหนึ่งชานเมืองกรุงเทพฯ ชีวิตของมาโนช หรือที่ลูกบ้านชอบเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “พี่ยาม” ฟังดูเป็นอาชีพธรรมดาที่ดูไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่พี่มาโนชนี่ละ ที่ทำให้หลายคนในหมู่บ้านแทบจะมอบโล่ห์ให้กับความขยันที่เหมือนจะไม่มีวันหมด ไม่ใช่แค่ขยันยิ้ม ขยันทักทายให้ลูกบ้านที่ผ่านเข้า-ออกด้วยสีหน้าและแววตาแบบที่เรียกว่ารับแขก หรือขยันปั่นจักรยานตรวจตรารอบหมู่บ้าน แต่เป็นความขยันในชีวิตจริงที่เรียกได้ว่ายอดเยี่ยมคนหนึ่ง
เพราะรู้ดีว่ากฎข้อแรกของการมีชีวิต คือการยอมรับในสิ่งที่มี ในเมื่อเลือกเกิดไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยๆ พ่อแม่ก็ให้มาครบ 32 แล้ว และยังแถมการศึกษามาให้ตั้งมัธยม 3 ตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับเป๊ะ ตอนแรกมาโนชตั้งใจว่าจะเรียนต่อสายอาชีพ เพราะคิดว่าน่าจะหางานทำได้ง่ายกว่า แต่สงสัยพระเจ้าคงกลัวว่าชีวิตเขาจะดูเรียบง่ายเกินไป เพราะปีนั้นพ่อถูกเลิกจ้าง ต้องใช้หนี้นอกระบบแทนลุงที่หนีไป ความที่เอาตัวเองไปเป็นคนค้ำประกัน พ่อต้องไปรับจ้างเป็นลูกจ้างรายวันแลกกับค่าแรงวันละไม่กี่บาท ส่วนแม่จากที่เคยเป็นแม่บ้านก็ต้องออกมาหางานทำ เขาเลยตัดสินใจหยุดเรียนต่อ ปล่อยให้น้องอีก 2 คนเรียนล่วงหน้าไปก่อน ส่วนตัวเองก็ออกมาช่วยพ่อแม่หาเงินด้วยการไปเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร เงินเดือนได้มากี่บาทก็ยกให้แม่เก็บไว้ แล้วบอกตัวเองว่าสักวันถ้ามีโอกาสค่อยเก็บเงินกลับไปเรียน เพราะ กศน. ก็มี มหาวิทยาลัยเปิดก็มี
ก่อนมาเป็นยาม พี่มาโนชเคยเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารมา 2-3 ร้าน เคยทำงานในร้านสะดวกซื้อ เคยทำงานในโรงงานทางภาคตะวันออก แต่สุดท้ายก็มาจบที่อาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย เพราะเพื่อนชวน แล้วก็เป็นอาชีพที่ทำให้เขารู้สึกว่า ปลอดภัยและสงบสุขกับหูมากกว่ายืนอยู่หน้าสายพาน แล้วได้ยินเสียงเครื่องจักรในโรงงานทั้งวัน
และในยุคที่ใครๆ ต่างก็พยายามหาอาชีพที่ 2 พี่มาโนชก็ไม่น้อยหน้าคนอื่นๆ เพราะอาชีพที่ 2 ในวันหยุด นอกจากการเป็นยาม ก็คือ การรับจ้างลูกบ้านตัดแต่งต้นไม้ ไม่ก็รับจ้างนิติบุคคลของหมู่บ้านดายหญ้ารอบหมู่บ้าน บ้างก็ไปเป็นลูกจ้างช่วยงานขนย้ายให้กับคนในละแวกบ้านที่ทำรถกระบะรับจ้างขนของ และเคยมีลูกบ้านบางรายต้องไปต่างจังหวัด-ต่างประเทศหลายวัน ถึงขั้นเอ่ยปากฝากบ้านกับพี่มาโนชให้แวะไปช่วยรดน้ำต้นไม้ให้หน่อย โดยจะเปิดรั้วเล็กทิ้งไว้ให้ พี่มาโนชก็พร้อมไปทำให้ด้วยความเต็มใจ
ทุกๆ ต้นเดือนและกลางเดือนพี่มาโนชจะเจียดเงิน 100-200 บาทของตัวเองไว้สำหรับ “การลุ้นหวย” เพื่อท้าทายความแม่นของตัวเองกับรัฐบาล แม้รู้ว่าโอกาสถูกจะน้อย แต่มันก็เป็นความสุขทางใจเล็กๆ ที่ ถ้าถูกก็ถือว่าโชคดี มีเรื่องเล่าไว้เม้าท์มอยเกทับเพื่อนร่วมป้อมและคนในหมู่บ้าน ส่วนที่เล่นแค่ 100-200 บาท ก็มาจากความเชื่อว่าถ้าคนมันจะถูก ซื้อ 10 บาทก็ถูก โลภมากไปก็เท่านั้น เรียกว่าเล่นเป็นพิธี เล่นเอาสังคมสนุกๆ กับเพื่อนร่วมป้อม และคนในหมู่บ้านที่มักชอบถามเขาว่า “วันนี้หวยออกอะไร” “ถูกหวยหรือเปล่า?”
พี่มาโนชเชื่อว่าตัวเองไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่อยู่ในฐานรายได้เดียวกันของประเทศ ที่ฝันอยากมีเงิน อยากมีชีวิตที่สุขสบาย แต่สำหรับเขามันต้องได้มาด้วยการออกแรง ไม่ใช่การรอให้โชคชะตาผ่านมาเห็น วิธีการเดียวที่เขาคิดได้คือการอดออม เหมือนตอนที่เขายกเงินเดือนทั้งหมดให้แม่ และแม่ใช้เงินของเขาน้อยมาก จนเขาแปลกใจว่าแล้วครอบครัวเราอยู่รอดจากความลำบากมาได้อย่างไรในช่วงนั้น
สมัยทำงานในโรงงานพี่มาโนชเคยเห็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในส่วนออฟฟิศพูดถึงการเล่นหุ้นว่าขายได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ ด้วยความอยากรู้ว่ามันเล่นยังไง เขาเคยลองพิมพ์ถามหาวิธีการเล่นจากเสิร์ชเอนจินชื่อดังอย่าง google และเข้าไปดูคลิปวิดิโอบน Youtube แล้วก็พบว่ามันยากเกินไป และมันให้ความรู้สึกเหมือนคำโฆษณาที่มักพูดเร็วๆ ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง และเพราะกลัวความเสี่ยงมาโนชเลยนึกถึงความชอบของแม่ แม่ชอบซื้อทอง เวลามีงานสำคัญๆ ก็เอามาใส่อวดชาวบ้านที เวลาลำบากก็เอาออกมาขาย ตั้งแต่เริ่มทำงานในโรงงาน พี่มาโนชก็เริ่มเก็บเงินเดือนละเล็กละน้อย แล้วรวมเงินที่ได้ไปซื้อทองทีละสลึง ตามกำลังเงินเก็บจากหลายๆ เดือนของตัวเอง รอจังหวะเวลาที่ทองราคาดีๆ ก็เอาไปเปลี่ยนเป็น 2 สลึง แล้วค่อยๆ ขยันอดออม ขยับมาซื้อเป็นหลักบาท พอสงกรานต์ก็หอบทองไปฝากแม่ ให้แม่ช่วยเก็บไว้อีกที ทำอย่างนี้ทุกปี ถ้าวันไหนแม่ต้องออกงานก็เอาทองเขาไปใส่อวดชาวบ้านได้แบบไม่ซ้ำ หรือในอนาคตถ้าเขาต้องไปขอสาวสักคน ก็จะได้มีสินสอดให้สาวได้โดยไม่น้อยหน้าใคร
ถ้าคุณอยากรู้ว่า พี่มาโนช หรือ รปภ.หมู่บ้านใด เป็นที่รักของลูกบ้านแค่ไหน แนะนำให้แวะไปตอนช่วงเทศกาล โดยเฉพาะตรุษจีนกับปีใหม่ เพราะอย่างที่ป้อม รปภ.ของพี่มาโนชและผองเพื่อน จะหนาตาไปด้วยของกิน รวมทั้งของขวัญมากมายที่วางเรียงรายแทนคำชื่นชมและขอบคุณของลูกบ้าน
ป.ล.ลืมบอกไปว่ามาโนชเพิ่งเรียนจบ กศน.ได้วุฒิมัธยมปลาย และเริ่มฝันอยากเรียนปริญญาตรี จะได้มีรูปรับปริญญาแบบน้องๆ ติดฝาบ้านเพิ่มอีกสักรูป ให้พ่อแม่ได้ภูมิใจด้วยละ
- READ ชีวิตที่ไม่ยังไม่ถึงตอนจบ #1
- READ ชีวิตที่ไม่ยังไม่ถึงตอนจบ #2
- READ แก่แล้วไปไหน?
- READ เป็นบอสมันเหนื่อย
- READ อาชีพเล็กๆ ที่เรียกว่า...ยาม
- READ เราคือมิตร...ที่ไม่ใช่มิจ (ฉาชีพ)
- READ วันดีดี
- READ สวนสนุก
- READ ฉันอยู่ได้เมื่อไม่มีเธอ
- READ วันที่ดอกไม้บาน
- READ ความทรงจำที่หายไป
- READ ก้อนเมฆ
- READ แม็กกี้
- READ กล่องสุ่ม
- READ คำสัญญา
- READ หนังสือของพ่อ