เป็นบอสมันเหนื่อย
โดย : เด็กหญิงเจ้าสำราญ
When We Met โดย เด็กหญิงเจ้าสำราญ คอลัมน์ที่บอกเล่าเรื่องราวหลากรส ของผู้คนอันหลากหลาย ที่เราได้มีโอกาสพบปะเจอะเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นความเปรี้ยวนิดๆ หวานหน่อยๆ หรืออาจขมบ้างเป็นบางเวลา ที่พร้อมแบ่งปันให้ผู้อ่านได้จดจำนึกถึงและสุขสำราญไปด้วยกัน
ในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา 1 ข่าวคราวที่ครองพื้นที่สื่อ และเป็นที่พูดถึงของผู้คนในวงกว้างก็คือเรื่องราวคดีความของบรรดา “บอสๆ” ถึงแม้ว่าตอนนี้เรื่องราวจะยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม แต่คำว่า “บอส” ก็กลายเป็นคำเรียกที่หลายคนเอาไว้หยอกล้อกับคนใกล้ชิด ชนิดที่เรียกได้ว่ารันไปแทบทุกวงการ
“หนึ่ง” ก็เป็นอีกคนที่ระยะหลังๆ มักถูกลูกน้องเปลี่ยนคำเรียกตัวเองจาก “หัวหน้า” ไปเป็น “บอส” ถ้าถูกเรียกว่าบอสก่อนหน้านี้เขาคงรู้สึกดี เพราะมันฟังดูเท่ห์กว่าคำเรียกแบบไทยๆ แต่พอมาถูกเรียกตามข่าวคราวมันทำให้เขาอดคิดไม่ได้ว่าคำเรียกนี้ บางทีมันก็ซ่อนนัยยะบางอย่างที่รู้สึกว่าตัวเองซ่อนความร้ายกาจเอาไว้
10 กว่าปีที่อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการแผนก นอกจากงานหลักที่ต้องรักษามาตรฐาน และสร้างผลงานของแผนกตัวเองให้เข้าตาผู้บริหาร ทำให้บริษัทเติบโตแล้ว ตำแหน่งผู้จัดการของหนึ่งยังเป็นตำแหน่งที่เรียกว่าต้องจัดการรับมือกับทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ทั้งงานบริษัท ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้อง จนบางครั้งเขาถึงกับอดคิดในใจเบาๆ ไม่ได้ว่า “อะไรๆ ก็กู ” เพราะนอกจากจะเป็นงานที่เหนื่อยแล้ว ยังเป็นงานที่มีคนชังมากกว่าคนรัก เหมือนสุภาษิตที่บอกว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว นี่มันคือชีวิตขมๆ ของคนเป็นผู้จัดการอย่างเขาเลย
หลายครั้งที่เขาสั่งงานด้วยความคาดหวัง แล้วคนเป็นลูกน้องก็รับปากว่าเข้าใจ ทำได้ ให้เขาวางใจว่าจะได้งานดีๆ ตรงตามบรีฟ กลายเป็นการส่งงานที่เขารู้สึกว่ามันตกมาตรฐาน และรายละเอียดบางส่วนของงานขาดหายไป จนไม่สามารถส่งต่อลูกค้า หรือผู้บริหารระดับสูงกว่าให้พิจารณาได้ ทำให้เขาต้องกลายร่างจากชายสูงใหญ่เสียงดัง (ที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) ไปเป็นชายร่างยักษ์ที่เหมือนถูกไฟฉายขยายส่วนให้ตัวใหญ่ยิ่งกว่าเดิมเพราะโทสะ จนลูกน้องต้องก้มหน้ายอมรับผิดด้วยความหวาดผวาอยู่ในห้องทำงานของเขา ก่อนที่เขาจะจบปัญหาทุกอย่างด้วยการนำงานกลับมาแก้ไขเอง แล้วส่งชิ้นงานนั้นกลับไปให้ลูกน้องคนเดิมช่วยตรวจสอบ พร้อมทั้งขอความคิดเห็นว่ายังมีส่วนไหนที่อยากเพิ่มเติมหรือแก้ไขบ้าง เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ ด้วยเจตนาที่อยากให้ลูกน้องได้เรียนรู้ความผิดพลาดของตัวเองในแต่ละจุดที่เคยทำหายไป แต่ลูกน้องตัวดีมันก็คิดว่าเขาประชดประชัน ทำตัวอวดเก่ง
หรือในช่วงที่บริษัทต้องเผชิญกับสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีการประชุมหารือร่วมกันในระดับผู้บริหารเพื่อหาทางออกในหลายๆ รูปแบบ รวมทั้งมีคำสั่งให้เขาต้องเลือกลูกน้องในทีมออกบางส่วนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ถึงจะเข้าใจว่านี่คือความอยู่รอดขององค์กร และเป็นความกล้ำกลืนที่ต้องเสียลูกน้องคนใดคนหนึ่งไป แต่มันก็คือสิ่งที่คนเป็นหัวหน้าอย่างเขาจำเป็นต้องทำ และสิ่งที่เขาทำ ก็คือพิจารณาเลือกคนที่น่าจะลำบากหรือมีภาระให้รับผิดชอบน้อยที่สุดเมื่อต้องออกจากงานพร้อมเงินชดเชย ถามว่าทำไมไม่ให้ลูกน้องได้มีสิทธิ์เลือกว่าใครอยากจะอยู่หรือใครอยากจะไป นั่นเพราะบริษัทเองก็กลัวว่าคนที่อยากให้อยู่จะเป็นคนที่อยากจะไป แน่นอนว่าในฐานะหัวหน้า บางทีเขาก็ไม่สามารถบอกเงื่อนไขทั้งหมดที่มีให้กับลูกน้องได้เข้าใจได้ เพราะมันคือสิ่งที่จะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกที่จะติดค้างอยู่ในใจของลูกน้อง หากรู้ว่าบริษัทรักคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษและคาดหวังว่าจะโปรโมทคนๆ นั้นต่อไปในอนาคต สู้ให้ลูกน้องมองว่าเขาเป็นคนเลือกที่รักมักที่ชัง หรือเป็นคนไม่ยุติธรรมจะดีกว่า
และในยุคที่ใครๆ ก็มีตัวตนบนโลกออนไลน์ มีช่องทางโซเชียลเป็นของตัวเอง เขาก็เลือกที่จะไม่เป็นเพื่อนกับลูกน้อง และรู้ด้วยว่าลูกน้องก็คงไม่อยากเป็นเพื่อนกับเขาด้วยเช่นกัน แต่เขารู้ว่าการระบายออกทางความรู้สึก มันคือเรื่องปกติของผู้คนโดยส่วนใหญ่ และมันก็เป็นสิทธิ์ส่วนตัวที่ใครอยากจะทำอะไรก็ได้ เขาไม่มีสิทธิ์ไปโกรธ หรือต้องไปอธิบายอะไรให้มากความ เพราะสำหรับเขาถ้าเป็นเรื่องงานนั้น ทุกอย่างจบลงในที่ทำงานอยู่แล้ว ยิ่งลูกน้องตัวแสบๆ ที่ไม่คิดจะตั้งค่าบัญชีให้เป็นส่วนตัว การจะเข้าไปสอดส่องดูความคิดเห็นมันก็เป็นเรื่องดีสำหรับคนเป็นบอสอย่างเขา ที่ช่วยให้เขาได้เข้าใจความรู้สึก และทำความรู้จักกับลูกน้องตัวเองได้มากขึ้น
ลูกน้องตัวจี๊ดหลายคน เก็บอารมณ์ไม่เก่ง ไม่ถูกใจอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็เอาไปอารมณ์ตัวเองไปสร้างคอนเทนต์ ให้เพื่อนๆ ได้เข้ามาร่วมแสดงความเห็นใจ ตัวเขาเองก็เจอมาไม่น้อย เช่นว่า …อยากมีบอสดีๆ บริษัทไหนมีบ้าง? หร้อมสติ๊กเกอร์อิโมจิน้ำตาไหล 2 ตัว… บางคนเคยโพสต์รูปหนังสือ “ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย” “อยากทำงานกับหัวหน้าแบบนี้จัง” พร้อมคำอธิบายสั้นๆ ว่าอยากได้เล่มนี้ขอพิกัดที บางรายถึงขั้นไปคัดลอก หรือหาข้อความหัวหน้าที่ดี 10 ประการมาโพสต์ร่ายยาว แล้วบอกว่า “เก็บไว้เผื่อวันหนึ่งจะได้เป็นหัวหน้ากับเขาบ้าง” ส่วนบอสอย่างเขาก็ได้แต่นั่งอ่านเก็บข้อมูลไปเงียบๆ
จะว่าไปชีวิตขมๆ ในฐานะหัวหน้า ถ้าไม่นับเรื่องงาน เขาก็กล้ายอมรับว่ากับตัวเองว่าเขาก็น่าจะเป็น บอสที่ดีคนหนึ่งของลูกน้อง เพราะนอกจากชีวิตในที่ทำงาน บางทีในช่วงเวลาส่วนตัว เขาก็ยังต้องยกให้เป็นวัน “ลูกน้อง Day” เช่น วันที่ลูกน้องอกหัก แล้วทุกคนชวนกันออกไปดื่มเพื่อปลอบใจ ในฐานะหัวหน้าเขาก็ต้องแปลงร่างเป็นพี่อ้อย-พี่ฉอด รับฟังปัญหาของลูกน้องที่เล่าวกไป วนมาด้วยความเมามาย เหมือนพายเรืออยู่ในอ่างซ้ำๆ ด้วยความเห็นใจ ก่อนจะแบกลูกน้องตัวดีขึ้นรถไปส่งบ้านอย่างปลอดภัย, ลูกน้องบางคนทะเลาะกับเมีย จนเมียหอบลูกหนีกลับบ้านนอก ตัวเองไม่มีรถจะขับตามไป เขาก็ต้องแปลงร่างจากบอสเป็นคนขับรถพามันไปง้อเมียนั่งรถกลับมาด้วยกัน, บางคนเดือดร้อนเรื่องเงินทองด้วยเหตุผลจำเป็น เขาก็เต็มใจให้ยืมในฐานะเจ้าหนี้ และก็โชคดีที่ส่วนใหญ่เขาได้คืนครบทุกบาท, บางคนจะแต่งงาน เขาก็แปลงร่างจากบอสไปเป็นเถ้าแก่เจรจาสู่ขอสาวให้ และอีกสารพัดเรื่องที่ถ้าใครสักคนในที่ทำงานเอ่ยปากเรียก “ บอสครับผมอยาก…บอสคะหนูปรึกษา…บอสคะหนูขอ….
คงต้องเตรียมใจไว้เลยว่า “เป็นบอสมันเหนื่อย”