‘แด่หัวใจที่เป็นสุข’ ผลงานล่าสุดของ ‘จันทร์จร’ ที่คาดหวังอยากให้ทุกคนรักตัวเองกันมากขึ้น

‘แด่หัวใจที่เป็นสุข’ ผลงานล่าสุดของ ‘จันทร์จร’ ที่คาดหวังอยากให้ทุกคนรักตัวเองกันมากขึ้น

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

เพราะรู้สึกว่าผลงานเรื่อง เหลี่ยมเล่ห์เรไร ยังขาดอะไรบางอย่างและต้องการพัฒนาผลงานตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ‘แนท-วรรณพร นุ่มจันทร์’ หรือ ‘จันทร์จร’ เจ้าของรางวัลชนะเลิศจากโครงการ ช่องวันอ่านเอา ปี 3 จากเรื่อง หลังม่านมายา กลับมาเติมความรู้ให้กับตัวเองอีกครั้งในคลาส ‘อ่านเอาก้าวแรก รุ่น ๕’ พร้อมกับส่งผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวชีวิตตัวเอง แด่หัวใจที่เป็นสุข เข้ามาส่งต่อความปรารถนาของตัวเองที่อยากเห็นนักอ่านสักคนรักสุขภาพ และรักตัวเองมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการก็เห็นด้วยกับความคิดนี้ เราจึงได้เห็นผลงานล่าสุดของจันทร์จรโลดแล่นให้อ่านกันอีกเรื่องในเว็บไซต์อ่านเอา และเพียงแค่ใครสักคนอ่านผลงานชิ้นนี้จนรู้สึกให้ความสำคัญกับชีวิตตัวเองมากขึ้น แนท วรรณพร ก็บอกว่า เธอประสบความสำเร็จแล้ว

“แนทเคยได้ลงเรียนอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 3 ค่ะ แต่ตอนนั้นเพราะมีโควิด-19 ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ พอมีโอกาสแนทเลยลงเรียนอ่านเอาก้าวแรกต่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นด้วย ความโชคดีของคลาสที่ได้พบปะวิทยากรคือเราได้สื่อสารกันโดยตรง ซึ่งพี่ปุ้ย พี่เอียด พี่หมอโอ๊ต สามารถตอบคำถามและให้คำแนะนำได้ทันทีค่ะ” แนทเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เธอเข้ามาเพิ่มทักษะของตัวเองอยู่ตลอด

“ครั้งนี้เรื่องหลักๆ ที่นำมาปรับใช้คือเรื่องของการวางเรื่องและการวางตัวละคร เพราะเรื่องก่อนหน้าที่ส่งไปในโครงการยังรู้สึกขาดอะไรบางอย่างอยู่ แต่เมื่อได้เข้าโครงการก็ได้เติมเต็มส่วนที่ขาดไป ทำให้เข้าใจว่าการเขียนควรให้อิสระกับตัวเอง ไม่กดดัน และไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ เช่น การแบ่งสัดส่วนเนื้อเรื่อง ทำให้สามารถคิดในมุมกว้างและดำเนินเรื่องได้หลากหลายขึ้น

“ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องนี้หรอกค่ะ แต่ด้วยข้อกำหนดที่อยากได้นิยายสั้น และนึกถึงประสบการณ์การเป็นมะเร็งเต้านมของตัวเอง จึงเลือกเล่าเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะต้องการนำเสนอว่ามะเร็งไม่จำเป็นต้องจบด้วยความเศร้าเสมอไป แต่สามารถก้าวผ่านมันไปได้อย่างมีความสุข โดยใช้ความกลัวเป็นแรงผลักดันให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ โดยเรื่องย่อ แด่หัวใจที่เป็นสุข นั้น เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นมะเร็งเต้านม และได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความกลัวที่เกิดขึ้นในใจได้อย่างมีความสุข คีย์สำคัญที่ทำให้ตัวละครก้าวข้ามผ่านไปได้คือ กำลังใจจากคนรอบข้าง กำลังใจจากตัวเอง และการตื่นรู้ในตัวเอง กล้าที่จะบอกคนอื่นและกล้าที่จะเข้ารับการรักษาค่ะ”

แนทได้เล่าย้อนให้ฟังถึงตัวเองตอนที่ต้องเผชิญสถานการณ์นี้ด้วยว่า “ตอนที่รู้ว่าเป็นมะเร็งแทบไม่มีเวลาให้ตกใจค่ะ เพราะก้อนเนื้อค่อนข้างใหญ่และต้องเข้ารับการรักษาทันที แนทมีความกลัวอยู่ตลอดเวลา แต่ได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างที่ไม่มองว่าเราเป็นคนป่วย แต่เป็นการรักษาเหมือนเป็นหวัด ทำให้ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี ซึ่งตอนนั้นการรักษาไม่ได้มีแค่มะเร็งอย่างเดียว เพราะแนทมีอาการวิตกกังวลและกลัวตายร่วมด้วยค่ะ ทำให้ต้องพบจิตแพทย์เพื่อลดอาการลง เนื่องจากผลกระทบของเคมีบำบัดและความเบื่อหน่ายในการรักษาที่ยาวนาน ทำให้สภาพจิตใจผิดปกติ และเคยเจอเหตุการณ์สะเทือนใจที่ทำให้เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ รวมถึงมีอาการทางใจอื่นๆ คนรอบข้างจึงแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ ซึ่งวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลและได้รับยามาทาน ทำให้การรักษาสภาพจิตใจควบคู่กับการรักษาด้วยเคมีบำบัดดีขึ้น

“กว่าจะถึงวันนี้แนทผ่านการผ่าตัดมาแล้วสองครั้ง คือหลังจากการรักษามะเร็งสองปี ก็พบเนื้องอกในมดลูก ซึ่งเป็นผลจากการกินยาฮอร์โมน และเป็นระยะก่อนมะเร็ง หมอจึงแนะนำให้ผ่าตัดออกทั้งหมด ทำให้เข้าสู่ภาวะวัยทอง แต่แนทก็ยังคงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขนะคะ และรู้สึกว่าความตายไม่น่ากลัวแล้ว เราก้าวข้ามผ่านมาได้ด้วยการพบจิตแพทย์ การบำบัดใจตัวเอง และการสอบถามจากคนรอบข้าง รวมถึงการได้เห็นความตายของคนใกล้ตัว ทำให้เข้าใจว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และไม่น่ากลัวเท่าการอยู่ทรมาน ตอนนี้ก็เป็นปีสุดท้ายของการกินยาแล้วค่ะ”

หลายๆ คนที่คิดว่าการนำประสบการณ์จริงมาผูกเป็นนิยายนั้นคงทำให้ทำงานได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับนักเขียนอีกหลายท่าน รวมทั้งแนทกลับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไม่ง่าย’ เพราะการเล่าแบบนิยายนั้นเป็นการเล่าในรูปแบบความบันเทิง ดังนั้นนักเขียนจึงต้องชั่ง ตวง วัด น้ำหนักของเรื่องให้ดี เพื่อให้คนอ่านได้เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ

“อย่างการรักษามะเร็งเป็นขั้นตอนที่น่าเบื่อและซ้ำซาก ทำให้การเขียนเป็นนิยายต้องเพิ่มมิติและเรื่องราวให้มากขึ้นค่ะ แนทจึงสร้างตัวละคร ‘กัลย์กมล’ ขึ้นมา เพื่อเล่าเรื่องผ่านตัวละคร โดยไม่ใส่ตัวเองลงไปทั้งหมด แต่เล่าว่าตัวละครและคนรอบข้างต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งเป็นความท้าทายในการวางโครงเรื่อง

“นอกจากนี้การหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องโรคมะเร็งยังจำเป็นมาก เพราะการรักษามะเร็งเต้านมในแต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ ขึ้นอยู่กับระยะของโรค จึงต้องสอบถามจากผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลอาการ การรักษา และคำศัพท์ที่ใช้กันทั่วไป เพื่อให้เนื้อเรื่องมีความสมจริงและน่าสนใจ โดยไม่เน้นวิชาการมากเกินไป

“แนทตั้งใจเขียนเรื่อง แด่หัวใจที่เป็นสุข ให้เป็นแนวฟีลกู๊ด ตั้งใจเขียนเรื่องการเจ็บป่วยให้รู้สึกดี ไม่น่ากลัว เพื่อฮีลใจผู้อ่าน และทำให้คนรู้สึกว่ามะเร็งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด โดยสร้างตัวละครพระเอกและแม่นางเอกที่เป็นคนเข้มแข็ง เพื่อเป็นกำลังใจและแทรกความอบอุ่นใจในชีวิตประจำวันระหว่างการรักษา โดยวิธีการสร้างสมดุลในเนื้อเรื่องคือพยายามทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันที่ทุกคนสามารถเจอได้ เพียงแค่ตัวละครกำลังรักษามะเร็งอยู่เท่านั้น โดยตัวละครกัลย์กมลพยายามใช้ชีวิตให้เป็นปกติ มีเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว และความขบขันเล็กน้อย เพื่อให้เรื่องราวไม่หนักจนเกินไปค่ะ”

การเขียนเรื่องนี้ทำให้แนทย้อนกลับไปนึกถึงช่วงเวลาที่ยังไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง ทำให้ระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น รวมถึงในการเข้าคลาสทำให้เธอสามารถก้าวขึ้นมาจากการติดหล่มความสำเร็จหลังจากได้รับรางวัลช่องวันอ่านเอา ปี 3 อีกด้วย เพราะหลังจากนั้นเธอได้ยึดติดกับกรอบการเขียนแบบเดิมๆ จนรู้สึกผิดที่ผิดทาง และเมื่อได้กลับมาเข้าคลาสอ่านเอาก้าวแรกอีกครั้งจึงทำให้เธอก้าวผ่านกรอบที่ตัวเองวางกับดักตัวเองไว้ และเขียนในสิ่งที่อยากเขียนจริงๆ นั่นคือเล่าถึงชีวิตของคนคนหนึ่งที่มีความสุขในทุกๆ วัน แม้ว่าจะต้องรักษาโรคที่หลายๆ คนแอบตีตราว่าน่ากลัว แด่หัวใจที่เป็นสุข จึงเป็นเรื่องที่แนทใช้เวลาในการเขียนสั้นที่สุดเพราะเธอปล่อยให้ตัวละครได้ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ

“หลังจากเขียนนิยายจบรู้สึกโล่งมากเลยค่ะ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องทบทวนโครงเรื่องซ้ำๆ เพียงแค่ตรวจสอบคำผิดและเติมรายละเอียดเล็กน้อย เป้าหมายสูงสุดคืออยากให้คนอ่านตระหนักรู้และกล้าที่จะไปตรวจร่างกาย ซึ่งผลงานเรื่องนี้ได้เติมเต็มแนทในแง่ที่สามารถพูดได้กว้างขึ้นในเรื่องนี้ค่ะ ทำให้คนรู้สึกว่าการเป็นมะเร็งไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว และมีแรงใจที่จะต่อสู้กับมัน หากรู้เร็วก็ดี เป็นก็แค่รักษา

“แนทขอฝากเรื่อง แด่หัวใจที่เป็นสุข ที่ลงให้อ่านกันในเว็บไซต์อ่านเอาด้วยนะคะ แนทอยากให้ทุกคนมีแรงใจในการใช้ชีวิตและไม่ประมาท หากเรื่องนี้ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าสุขภาพมีค่าพอที่จะดูแลและไปตรวจ ก็จะดีใจมากเลยค่ะ”

 

Don`t copy text!