คู่รอง
โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม
การเขียนนวนิยาย เป็นงานที่ยาว ยาวทั้งห้วงเวลาในเรื่องและจำนวนหน้า แล้วยังมีรายละเอียดและความซับซ้อนอีกมากมาย ซึ่งการเขียนต้องอาศัยตัวละครแวดล้อมทั้งตัวละครเอก ตัวละครรอง ตัวละครประกอบ ทั้งตัวประกอบแบบมีความหมายมาก และแบบไม่มีความหมายมากนัก ตัวละครทุกตัวทุกระดับต้องมีส่วนช่วยกันพาเรื่องไปให้สุดทาง
ดิฉันเคยอ่านนวนิยายของนักเขียนมือใหม่แล้วให้คำแนะนำไปว่า น่าจะสร้างตัวละครเป็นคู่รองมาช่วยประคองเรื่องอีกสักคู่
จึงมีคำถามตามมาว่า เราจำเป็นต้องมี ‘คู่รอง’ คือผู้ช่วยพระเอกนางเอกในนวนิยายทุกเรื่องหรือไม่
คำตอบคือจำเป็นต้องมีตัวละครรอง แต่ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเอาตัวละครรองนั้นไปจับคู่กัน
การเขียนนวนิยายสักเรื่องก็เหมือนกับการสร้างงานศิลปะทุกประเภท การจะมีหรือไม่มีอะไรนัั้น เราต้องพิจารณาถึง ‘ความเหมาะสม’ ‘ความกลมกลืน’ และ ‘ความสวยงาม’ โดยรวมเป็นสำคัญ
สิ่งที่จำเป็นในนวนิยายคือ ‘ตัวละครแวดล้อม’ ที่เหมาะสมกับเรื่องเรื่องนั้น โดยอาจจะเป็นคู่รอง หรือไม่ต้องเป็นคู่ ให้เป็นจำนวนคี่ก็ได้ แต่ตัวละครพวกนั้นต้องเป็นกำลังแถวสอง ต่อจากตัวเอกของเรื่องที่จะร่วมมือลงแรงช่วยผลักให้เรื่องทั้งเรื่องก้าวไปข้างหน้า สู่จุดจบบริบูรณ์ที่ผู้เขียนวางไว้
โดยส่วนตัวแล้วดิฉันมีความเห็นว่าการสร้างคู่รองให้ออกมาจับกันเป็นคู่ๆ ในตอนจบ ถ้าเขียนได้ไม่น่ารักพอ ไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมเพียงพอก็จะกลายเป็นความล้าสมัย…เหมือนกับตอนจบของภาพยนตร์ไทยเมื่อห้าสิบหกสิบปีที่แล้วที่จะมี นางเอกพระเอกกับนางรองพระรองเป็นเงาแบบ Silhouette ออกมายืนตระกองกอดกันโดยมีพระอาทิตย์ตกดินเป็นฉากหลัง ดังนั้นในการเขียนจึงอยากให้ยึดเอาความเหมาะสมไว้เป็นหลัก ดูว่าเรื่องของเราเหมาะสมที่จะมีคู่พระเอกนางเอก และพระรองนางรองไหม หรือมีแค่ตัวละครรองไว้แวดล้อมก็เพียงพอแล้ว
จากประสบการณ์การทำงานทำให้พบว่า การเขียนนวนิยายจำเป็นต้องมีตัวละครแวดล้อมที่จะช่วยอธิบายความเป็นมาและเป็นไป รวมทั้งการตัดสินใจของตัวละครเอก ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่อง ตะวันทอแสง ตัวละครรองคือพิมพรรณ (และคู่ของเธอ) การตัดสินใจของพิมพรรณในตอนท้ายเรื่องส่งผลถึงอารมณ์และการตัดสินใจของรสาซึ่งเป็นตัวละครเอกอย่างรุนแรง
ในเรื่อง ทรายสีเพลง ตัวละครรอง หรือคู่รอง (ซึ่งแม้ตอนสุดท้ายจะไม่ได้ครองคู่อยู่ด้วยกัน) คือลูกศรกับฌาน ก็เป็นตัวละครที่มีชะตากรรมส่งผลต่อชะตาชีวิตของตัวเอกของเรื่องคือทรายอย่างรุนแรง ทั้งยังอธิบายที่มาที่ไปของตัวละครเอกและทิศทางของเรื่องได้อย่างชัดเจน
ในเรื่อง แด่ดวงดาวในดวงใจ แม้คู่รองคือณกนกและวิวิศน์จะมิได้มีพฤติกรรมที่ส่งผลอย่างไรต่อชะตากรรมหรือการตัดสินใจของตัวเอกคือทิมทองและจิรโรจน์ แต่ก็มีความจำเป็นต่อเรื่องอย่างมาก เพราะคนทั้งคู่เป็นประดุจพี่เลี้ยงที่คอยเดินขนาบข้าง คอยพูดคุย คอยอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในใจและในชีวิตของตัวเอกทั้งคู่ไปตลอดทาง ทั้งยังช่วยเติมรสชาติของความสดใสและความวุ่นวายไปตลอดทั้งเรื่อง
ลองนึกถึง ตะวันทอแสง ที่ไม่มีพิมพรรณ ทรายสีเพลิง ที่ไม่มีลูกศรและฌาน และ แด่ดวงดาวในดวงใจ ที่ไม่มีณกนกกับวิวิศน์ เราจะพบว่าเรื่องราวจะเดินไปไม่ได้อย่างหนักแน่นและเป็นจริงเป็นจังเลย
การสร้างตัวละครรองให้หนักแน่นจริงจัง ชัดเจน ดึงดูดและมีความหมายกับเรื่อง จึงเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่นักเขียนไม่ควรละเลย
ส่วนการจะเอาตัวละครรองนั้นมาจับคู่กันในตอนท้ายให้เป็น ‘คู่รอง’ หรือไม่ก็ให้พิจารณาถึง ‘ความเหมาะสม’ ‘ความกลมกลืน’ และ ‘ความสวยงาม’ โดยรวมเป็นสำคัญ