น้ำเน่าน้ำดี

น้ำเน่าน้ำดี

โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม

Loading

คำว่า ‘น้ำเน่า’ คือคำเสียดแทงนักเขียนผู้มุ่งมั่นสร้างงานดีๆ ที่มีแนวทางในเรื่องของชีวิตครอบครัว มุ่งเขียนถึงความรักความศรัทธาในคุณงามความดี สร้างงานที่แม้จะมุ่งให้ความเพลิดเพลิน แต่ก็อาจสร้างคุณค่าได้ด้วยการแทรกความรู้ความคิดทั้งด้านมานุษยวิทยาและคุณธรรมจริยธรรม คำคำนี้ถูกใช้มาเนิ่นนาน ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาที่มาและความหมายในถ้อยคำนั้น แท้จริงกว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่าที่มีผู้หยิบเอามาใช้ประณามหยามหมิ่นผลงานของผู้อื่นมากมายนัก

ก่อนจะกลายมาเป็นถ้อยคำที่ใช้กันต่อมาอย่างกว้างขวาง เป็นการเรียกขานแฝงด้วยการประเมินคุณค่าในเชิงลบทั้งในวงการวรรณกรรมและวงการอื่น คำว่าวรรณกรรมน้ำเน่ากำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดย อาจารย์เจือ สตะเวทิน (ข้อมูลจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม นิตยสาร สารคดี) ในการอภิปรายทางวรรณกรรมงานหนึ่ง ซึ่งหากพิจารณาถึงบริบทแวดล้อมในการอภิปรายงานนั้น และความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘น้ำเน่า’ แล้ว เราจะพบว่ามันสามารถใช้เรียกวรรณกรรมหรือชิ้นงานใดๆ ก็ตามที่เข้าข่าย มิได้จำกัดเพียงเฉพาะรูปแบบงานเขียนเรื่องความรักและครอบครัว เรื่องที่เขียนตามขนบ เรื่องที่เขียนโดยยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาแต่อย่างใดเลย

คำว่า ‘น้ำเน่า’ ก็คือการที่น้ำขังอยู่ในบ่อหรือในแอ่งใดแอ่งหนึ่งอยู่นานๆ โดยไม่มีการหมุนเวียนขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ ก่อให้น้ำในบ่อหรือในแอ่งนั้นกลายเป็นน้ำเน่าไปในที่สุด ซึ่งหากพิจารณากันถึงข้อนี้เราก็จะได้พบว่า การเขียนวนเวียนซ้ำไปมาถึงเรื่องการกดขี่ข่มเหงของนายทุน การพยายามหาตัวตนของคนหนุ่มสาว การเขียนถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเอากรณีที่เกิดขึ้นเมื่อสี่สิบปีก่อนมาเป็นเนื้อหา การเขียนถึงความยากจนข้นแค้นของชาวนาโดยไม่มีอะไรใหม่ ก็สามารถเป็น ‘น้ำเน่า’ ได้เช่นกัน ถ้ามันยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ไม่ได้มีการพัฒนาทั้งข้อมูลและวิธีการเล่าเรื่อง

ดังนั้น ตามที่นักวิชาการวรรณกรรมบางคนได้นิยามว่าวรรณกรรมน้ำเน่าคือวรรณกรรมที่เป็นเรื่องของการชิงรักหักสวาท อภินิหาร ภูติผีปีศาจ เชิดชูค่านิยม ความเชื่อแบบเก่า จึงไม่ตรงตามความหมายที่แท้จริง เพราะตามความเป็นจริงแล้ววรรณกรรมที่ถูกตีตราว่าเป็นแนวนิยม หรือวรรณกรรมที่ตีตราว่าเป็นแนวสร้างสรรค์ ก็สามารถเป็น ‘น้ำเน่า’ ได้เท่าๆ กัน ถ้างานชิ้นนั้นมีแนวคิดและการนำเสนอที่วนเวียนย่ำเท้าอยู่กับที่ น้ำเน่าหรือไม่น้ำเน่า สร้างสรรค์หรือไม่สร้างสรรค์ จึงควรพิจารณากันที่เนื้องานมากกว่ารูปแบบ ตามที่ คุณจรูญพร ปรปักษ์ประลัย เขียนไว้ใน บทความเรื่อง ‘รากนครา: ไร้รากก็ไร้กิ่ง ก้าน ผล ดอก ใบ และชีวิต’ ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 12 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2543 ว่า

ประเภทของงานเขียน สนามที่ลงตีพิมพ์ เพศของนักเขียน รวมไปถึงแนวการทำงานของนักเขียนคนนั้น ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นหน้าฉาก ทำให้หลายคนแบ่งแยกกลุ่มของงานวรรณกรรมออกจากกัน โดยที่ยังไม่ได้พิจารณาเนื้อหาหรือลงลึกถึงคุณค่าของงานเลยแม้แต่น้อย เพราะหากตัดสินกันที่เนื้องานจริงๆ แล้วบ่อยครั้งที่พบว่างานเขียนที่มีรูปลักษณ์คล้ายวรรณกรรมแนวนิยม ซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรแปลกใหม่ในเชิงสร้างสรรค์อยู่เลย กลับเป็นงานที่มีคุณค่าและมีศักยภาพในด้านของการสร้างสรรค์ มากกว่างานวรรณกรรมสร้างสรรค์หลายๆ เรื่อง ขณะที่งานเขียนซึ่งเราเรียกว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์จำนวนมาก เมื่อดูกันจริงๆ กลับมองไม่เห็นการสร้างสรรค์ที่แท้จริงใดๆ

ท่านผู้ใหญ่ในวงการหนังสือสองสามท่านเล่าให้ฟังตรงกันว่า เมื่อห้าสิบหกสิบปีที่แล้ว เมื่อท่านก้าวเข้ามาเริ่มทำงาน งานเขียนและนักเขียนมิได้มีการแบ่งแยกกันเป็นสร้างสรค์น้ำดี พาฝันน้ำเน่าแต่ประการใด ทุกแนวล้วนหลอมรวมกันเข้าเป็นหัวใจดวงเดียวกันนั่นคือความรักในตัวอักษร ต่างจากในยุคที่ดิฉันเริ่มก้าวเข้ามาทำงานที่มีการติด ‘label’ ให้นักเขียนอย่างชัดเจนตามรูปแบบการทำงาน

แต่เมื่อโลกและสังคมเติบโต เปลี่ยนแปลงอย่างมากมายมาจนกระทั่งถึงวันนี้ ‘ตรา’ ที่ใครจะติดให้ใครไม่มีความหมายอีกต่อไป ผลงานต่างหากที่เป็นเครื่องพิสูจน์ นักเขียนมีอิสระที่จะเชิดหน้าและสร้างงานของตนในแบบของตน เช่นเดียวกับคนที่สำคัญที่สุดก็คือผู้อ่านที่มีอิสระจะเลือกอ่านเลือกรักเลือกติดตามนักเขียนที่มีรสนิยมและระดับความคิดสอดคล้องต้องตรงกันกับตนเองเช่นกัน

Don`t copy text!