จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะความรู้เป็นสิ่งจำกัด ขณะที่จินตนาการขับเคลื่อนโลกทั้งใบ ถ้าคิดอะไรไม่ออกก็วางความรู้ลงแล้วใช้จินตนาการ ต่อด้วยการเอาความรู้ทั้งมวลมาสร้างให้จินตนาการนั้นเป็นจริง การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ต้องหาความรู้ให้หลากหลายถ่องแท้”

นี่เป็นใจความโดยรวมที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ แต่มันมักจะถูกตัดมาใช้สั้นๆ เพียงแค่ประโยคแรกจนความมุ่งหมายของเขาผิดเพี้ยนไป เพราะแม้ว่าเขาจะให้คุณค่ากับจินตนาการมากก็จริง แต่ไม่ได้เห็นว่าความรู้ไม่สำคัญ

นั่นคือความคิดและวิธีการทำงานวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์ ผู้คิดค้นสมการ E=mc2 และเป็นเสาหลักของวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ หากเมื่อนำมาวางเทียบเคียงกับงานเขียนเรื่องแต่ง เราก็พบได้ว่าแก่นแกนแห่งวิธีการทำงานนั้นไม่ได้แตกต่างกันเลย

จินตนาการสำคัญมากสำหรับการสร้างโครงเรื่องและการสร้างตัวละครในนวนิยาย เพราะสิ่งที่เราเขียนนั้นไม่ใช่เรื่องจริง ตัวละครที่อยู่ในเรื่องก็เป็นเพียงตัวละครสมมติ ทุกสิ่งที่เป็นหลักเป็นโครงของเรื่องล้วนเกิดจากจินตนาการ หากแม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากจินตนาการก็จริง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ควรยืนอยู่บนหลักของความเป็นจริงและความสมเหตุสมผลซึ่งต้องใช้ความรู้ในการสร้างสรรค์ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ทรายหรือศรุตา ตัวเอกในเรื่อง ทรายสีเพลิง ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นเพียงหญิงสาวในจินตนาการ แต่จินตนาการน้้นทำให้ชีวิตและความคิดของเธอเป็นกระดูกสันหลังของนวนิยายทั้งเรื่อง ทั้งยังพาไปสู่เรื่องราววุ่นวายในภายหลังเพราะความเจ้าคิดเจ้าแค้นและความกระหายในชัยชนะของเธอ การสร้างภาพตัวละครการสร้างเรื่องนวนิยายทั้งเรื่องนี้จึงต้องพึ่งพาอาศัย ‘ความรู้’

ผู้เขียนต้องค้นคว้าหาความรู้หาข้อมูลให้มากที่สุดในเรื่องจิตวิทยา ในเรื่องการเติบโต ห้วงเวลาในชีวิตและอื่นๆ เพื่อใส่เข้าไปในตัวตนและพฤติกรรมของตัวละคร ต่อจากนั้นเมื่อสร้างโครงเรื่องให้ตัวละครได้เดินไปเราก็ต้องค้นคว้าหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อให้การกระทำของตัวละคร การมุ่งหน้าไปของเหตุการณ์ในเรื่องมีความสมจริงเป็นเหตุเป็นผลให้มากที่สุด

อย่างทรายผู้มีแต่ความแค้นและความคิดกระหายชัยชนะ เราก็ต้องสร้างฉากเหตุการณ์เพื่อเป็นพื้นฐานและเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปมในใจของเธอ และฉากนั้นก็คือฉากที่เด็กหญิงอายุแปดขวบปีนป่ายอยู่บนซุ้มไม้เลื้อยได้ยินได้เห็นคุณย่าและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อผู้ควรเป็นผู้ปกป้องเป็นเสาหลักในชีวิตและหัวใจของเธอพูดถึงแม่ของเธอ พูดถึงทัศนคติอันมืดดำในหัวใจของคนทั้งสอง ว่า “ดีแล้ว ร้อยมันไว้ใช้” ฉากนั้นเพียงฉากเดียวคือฉากที่สามารถปักลักษณะนิสัยของตัวละครเอกเข้าไปในเรื่องและในใจผู้อ่านได้อย่างมั่นคงเป็นก้าวแรก และฉากนี้คือฉากที่เกิดจาก ‘ความรู้’ ความรู้ด้านจิตวิทยา… ความรู้ทั้งในทางโลกและทางธรรม

ฉากเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างขึ้นมาด้วยความรู้เหล่านี้แหละ จะค่อยๆ สร้างเรื่องของเราให้สนุกสนานสมจริงได้ทีละบททีละก้าว และเราก็ควรรู้ได้ด้วยใจว่าจะใส่ฉากเหล่านี้ไว้ตรงไหน จังหวะใดในเรื่อง

วิธีการนี้ วิธีการใช้จินตนาการประกอบกับความรู้ใช้ได้กับงานเขียนเรื่องแต่งทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น นวนิยายชีวิต นวนิยายสืบสวน นวนิยายผี หรือแฟนตาซี

สรุปได้ว่าแม้งานเขียนเรื่องแต่งจะเริ่มต้นด้วยจินตนาการ แต่ต่อจากนั้นก็คือความรู้ล้วนๆ ที่จะสร้างความสมจริง สร้างความสนุกสนาน สร้างความประทับใจน่าจดจำให้กับเรื่องราวของเรา… จินตนาการจึงไม่ได้สำคัญไปกว่าความรู้เสียทั้งหมด หากทั้งสองสิ่งคือสองสิ่งที่ต้องเดินคู่กันไปจนจบงาน

“ยิ่งใช้ความรู้ตัวละครที่เกิดจากจินตนาการยิ่งสมจริงและมีตัวตน ยิ่งใช้ความรู้เรื่องราวที่เกิดจากจินตนาการยิ่งสมจริงและมีเหตุมีผล” นี่คือหลักการที่นักเขียนต้องยึดไว้ให้มั่น

 

Don`t copy text!