‘พงศกร’ จัดทริป ‘ตามรอยลายกินรี’ อบอุ่นหนุนใจสายนักสืบอโยธยา

‘พงศกร’ จัดทริป ‘ตามรอยลายกินรี’ อบอุ่นหนุนใจสายนักสืบอโยธยา

Loading

จากละครเรื่อง ‘ลายกินรี’ ที่เพิ่งลาจอไป ทำให้ประวัติศาสตร์ของอยุธยาได้รับการพูดถึงอีกครั้ง งานนี้คุณหมอโอ๊ต-นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ เจ้าของนามปากกา ‘พงศกร’ ผู้ร่ายมนต์บรรจงสร้างนิยายเรื่องนี้เกิดแรงบันดาลใจจัดทริปขนาดอบอุ่น ‘ตามรอยลายกินรี’ เมื่อเร็วๆ นี้ ชวนแฟนๆ นักอ่านย้อนอดีตไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญที่ได้นำมาใช้เป็นฉากหลังในนวนิยายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งเป็นละแวกเดียวกับบ้านแม่หญิงพุดซ้อน, วัดดุสิดาราม (วัดดุสิต) วัดที่เจ้าจอมสารภีมาปฏิบัติธรรม, วัดนักบุญยอแซฟ ซึ่งอยู่แถวบ้านมาดามคลาร่าและกปิตันฌองในเรื่อง ปิดท้ายที่วัดหน้าพระเมรุ ที่คุณหมอเนรมิตให้เรือนของออกหลวงอินทราชภักดีตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน

ด้านในของวัดประดู่ทรงธรรม

ทุกคนนัดรวมตัวที่ วัดประดู่ทรงธรรม’ ในช่วงเวลาบ่ายสองโมง ระหว่างที่นักอ่านหลายท่านกำลังทยอยเดินทางมาถึง คุณหมอโอ๊ตก็อธิบายความสำคัญของวัดแห่งนี้ให้ฟังอย่างออกรสว่า แต่เดิมวัดแห่งนี้ชื่อวัดประดู่ ต่อมาได้รวมกับวัดโรงธรรมที่อยู่ใกล้ๆ เลยใช้ชื่อว่าวัดประดู่โรงธรรม ซึ่งเมื่อถึงช่วงรัชกาลที่ ๔ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดประดู่ทรงธรรม เนื่องจากพระสงฆ์วัดนี้เคยช่วยชีวิตพระเจ้าทรงธรรมไว้จากการถูกชาวญี่ปุ่นลอบปลงพระชนม์ เมื่อจัดการกบฏเรียบร้อย พระองค์ก็ได้ทรงกลับมาทำนุบำรุงวัดนี้ด้วยดีตลอดมา

เจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าทรงธรรม

นอกจากนี้วัดประดู่ทรงธรรรมยังเคยเป็นที่จำพรรษาของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ก่อนจะถูกกวาดต้อนไปอังวะเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ อีกด้วย ที่นี่มีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องวิชาคาถาอาคม และมีเจ้าอาวาสชื่อดังคือ หลวงพ่อรอด (เสือ) ซึ่งเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงทางด้านวิชาอาคม เป็นที่เคารพของชาวอยุธยาอย่างสูง อีกทั้งเจ้านายอยุธยาส่วนใหญ่เวลาบวชจะมาบวชอยู่ที่วัดนี้เช่นกัน

จิตรกรรมฝาผนังที่เล่าถึงการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเช็กอินที่วัดนี้คือจิตรกรรมฝาผนัง โดยเฉพาะภาพที่อยู่ฝั่งตรงข้ามพระประธาน เพราะปกติผนังส่วนนี้มักจะวาดเรื่องมารผจญ แต่ที่วัดประดู่ทรงธรรมได้วาดเรื่องการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ อีกทั้งภาพนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของชาวอยุธยาในเวลานั้น จนได้นำมาใช้ศึกษาในภายหลังว่าคนอยุธยาเวลานั้นแต่งตัวกันอย่างไร  “อาจารย์ น. ณ ปากน้ำบอกว่า จิตรกรรมฝาผนังที่วัดนี้น่าจะมีการเขียนซ่อมหลายจุด เพราะมหรสพที่อยู่ในงานถวายพระเพลิงพุทธสรีระนั้นเป็นมหรสพที่มีในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นส่วนใหญ่” คุณหมอโอ๊ตกล่าวเสริมระหว่างที่พาเหล่านักอ่านเดินชมจิตรกรรมฝาผนัง

พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่วัดดุสิดาราม (วัดดุสิต)

ด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถหลังเก่าของวัดดุสิดารามที่ได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ออกจากวัดประดู่ทรงธรรมไม่นาน เราก็มาเที่ยวชมกันต่อที่ วัดดุสิดาราม (วัดดุสิต)’ วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อคราวประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่พระองค์เจ้าหญิงบัว พระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาบวชเพื่อปฏิบัติธรรม อีกทั้งพระองค์เจ้าหญิงบัวนั้นยังเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ด้วย ซึ่งเมื่อปลายรัชกาล ท่านได้ละทางโลกและมาบวชอยู่ที่วัดแห่งนี้ คนอยุธยาจึงขนานนามท่านว่า ‘เจ้าแม่วัดดุสิต’ “ในพงศาวดารบอกว่าตำหนักที่ท่านอยู่เป็นตึกสองชั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงสร้างให้ แต่มาวันนี้ไม่เห็นแล้ว” คุณหมอโอ๊ตเล่า “ตรงด้านท้ายวัดมีพระอุโบสถหลังเก่า สร้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งได้รับการบูรณะเรื่อยมา อย่างลายกนกตรงหน้าบันเห็นได้ชัดเลยว่ายังคงเป็นของเดิม” นอกจากนี้ที่นี่ยังมีรอยพระพุทธบาทที่สร้างด้วยหินทรายสีขาว ตรงกลางเป็นรูปธรรมจักร ภายในสลักภาพมงคลซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการสร้างรอยพระพุทธบาทในสมัยอยุธยาตอนปลายอีกด้วย

‘วัดนักบุญยอแซฟ’ ที่สร้างขึ้นโดยบาทหลวงหลุยส์ ลาโน ซึ่งโบสถ์ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันเป็นหลังที่ ๔ สถาปัตยกรรมของที่นี่เป็นรูปแบบเรอเนสซองส์ผสมโกธิก

ไม่ห่างกันมากเท่าไร คือ ‘วัดนักบุญยอแซฟ’ ที่สร้างขึ้นโดยบาทหลวงหลุยส์ ลาโน สถานที่แห่งนี้เป็นโบสถ์คริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เช่นกัน อาคารหลังแรกเป็นอาคารไม้ แต่เนื่องจากผ่านเวลามาหลายร้อยปี เคยถูกไฟไหม้ ถูกทำลาย ดังนั้นโบสถ์ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้จึงเป็นหลังที่ ๔ “รูปแบบสถาปัตยกรรมของที่นี่เป็นเรอเนสซองส์บวกโกธิกครับ โบสถ์แห่งนี้จะเป็นรุ่นเดียวกับวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ สิ่งที่อยากให้ดูอีกอย่างคือกระจกสีทางด้านในโบสถ์ที่เป็นรูปนักบุญยอแซฟ เพราะสวยงามมาก นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการตั้งโรงพยาบาลแห่งแรก มีโรงเรียนสอนหนังสืออยู่ในบริเวณนี้ด้วยครับ”

คุณหมอเล่าต่อไปว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้มีการคัดเด็กๆ อยุธยาไปเรียนฝรั่งเศสแล้ว ๒-๓ รุ่น โดยเด็กนักเรียนทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะคัดจากเด็กกำพร้า เนื่องจากเด็กที่มีพ่อแม่มักจะกลัว ไม่อยากส่งลูกไปต่างแดน เพราะไม่รู้เลยว่าต้องไปพบกับอะไรบ้าง ซึ่งสาเหตุที่มีการส่งนักเรียนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ฝรั่งเศสก็เพราะราชสำนักสยามในเวลานั้นเริ่มมีสถาปัตยกรรม มีงานก่อสร้าง งานศิลปะเข้ามา และส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงมองการณ์ไกล จึงทำให้คนอยุธยามีความสามารถในเรื่องนี้ แต่กลายเป็นว่าต่อจากนั้นอีก ๒ ปี เกิดเหตุการณ์ผลัดแผ่นดิน ทำให้นักเรียนที่ไปเรียนที่ฝรั่งเศสรู้สึกไม่มั่นคงและไม่มั่นใจที่จะกลับมาอยุธยา เนื่องจากการผลัดแผ่นดินครั้งนี้เป็นเหมือนการเปลี่ยนราชวงศ์จากราชวงศ์ปราสาททองเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งไม่ชอบฝรั่งเศสอย่างมาก นี่จึงเป็นสาเหตุให้นักเรียนบางส่วนตัดสินใจไม่กลับอยุธยาและตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น “ถ้าไปปารีสจะมีถนนหนึ่งชื่อว่าถนนสยาม (Rue de Siam) ที่เคยที่เป็นที่อยู่อาศัยของนักเรียนทุนเหล่านั้นด้วยครับ”

วัดหน้าพระเมรุ

ปิดท้ายกันแบบแดดร่มลมตกที่ วัดหน้าพระเมรุ วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นวัดที่ไม่ถูกทำลายในช่วงเสียกรุงครั้งที่ ๒ เนื่องจากพม่าได้มาตั้งค่ายอยู่ที่นี่ เพื่อใช้ปืนใหญ่ระดมยิงพระราชวังหลวง แต่หลังเสียกรุง วัดก็ร้างไปนาน และได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓

พระพุทธนิมิตวิชิตมาร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ที่สมบูรณ์มากประดิษฐานอยู่
ด้านขวามือของวิหารใหญ่ของวัดหน้าพระเมรุมีวิหารพระคันธารราฐ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้มีอายุกว่า ๑,๒๐๐ ปีเลยทีเดียว
บานประตูที่วิหารพระคันธารราฐแกะสลักอย่างงดงามและละเอียดลออ

ที่นี่มีพระพุทธนิมิตวิชิตมาร นามเต็มคือ พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ที่สมบูรณ์มาก ส่วนด้านขวามือของวิหารใหญ่มีวิหารพระคันธารราฐ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ คุณหมอเล่าว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีอายุกว่า ๑,๒๐๐ ปี ได้รับการอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ อยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียว ประทับนั่งห้อยพระบาทที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน ด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม แต่เมื่อผ่านเวลามาเนิ่นนานก็ลบเลือนไปพอสมควร แต่ที่ยังคงความสวยงามไว้อย่างชัดเจนคือบานประตูที่ถูกแกะสลักลวดลายอย่างละเอียดลออ ทุกอย่างยังดูสมบูรณ์จนติดตาตรึงใจ

หลังดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์จากทั้งการเที่ยวชมและการบอกเล่าโดยไกด์กิตติมศักดิ์ ผู้ร่วมทริปทุกคนต่างก็มาร่วมรับประทานอาหารเย็นกันที่สวนอาหารไทรทองริเวอร์ พร้อมทำกิจกรรมสนุกๆ กันอีกครั้ง ขาดไม่ได้คือ ‘ลายสุหรัด’ นิยายขนาดกะทัดรัดตอนพิเศษที่คุณหมอตั้งใจเขียนขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะแล้วนำมามอบให้ทุกคน พร้อมเดินแจกลายเซ็นกันถึงโต๊ะ

เรียกว่าก่อนกลับแฟนๆ นักอ่านถึงกับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้จัดทริปแบบนี้อีกครั้ง แบบนี้คุณหมอและผู้จัดจะว่ายังไงกันดีนะ?

ขอบคุณรูปสวยๆ จาก ผู้ร่วมทริปตามรอยลายกินรีนะคะ

Don`t copy text!