เมื่อคิดสร้างโยงใย ตอนที่ ๓ “วางแผน”

เมื่อคิดสร้างโยงใย ตอนที่ ๓ “วางแผน”

โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม

Loading

การคิดสร้างโยงใยนวนิยายแต่ละเรื่องแม้จะมีที่มาจากจุดประสงค์เล็กๆ พัฒนาไปสู่การเขียนต่อยอดเหตุการณ์และ (หรือ) ตัวละครออกไปได้อีกหลายเรื่องหลายรุ่น ตามที่ได้เล่าไว้ใน “เมื่อคิดสร้างโยงใย” ตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ แล้ว… ในที่สุดก็พัฒนาไปสู่การเขียนเรื่องภาคต่อแบบที่นักเขียนสามารถวางแผนไว้ล่วงหน้าได้

ดิฉันเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่สนุกในการสร้างโยงใย สร้าง ‘จักรวาล’ ของนวนิยายที่เขียนจนกระทั่งท้ายที่สุดก็กลายเป็นว่านวนิยายเรื่องแรกจนกระทั่งถึงนวนิยายเรื่องล่าสุดมีความเกี่ยวเนื่องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทุกเรื่อง ดังนั้น จึงอยากจะขอแบ่งปันประสบการณ์ วิธีการทำงานให้นักเขียนและผู้อ่านที่สนใจค่ะ

เรื่องที่มีการ ‘วางแผน’ ไว้ล่วงหน้าว่าจะเขียนให้ต่อเนื่องกันก็คือเรื่อง ในวารวัน-ตะวันเบิกฟ้า-ขอบฟ้าราตรี เมื่อมีการวางแผน… การเขียนจึงเป็นไปตามลำดับ ตามเวลาในเรื่องที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า แตกต่างจากเรื่องชุด ตระกูลศุษิระ ที่ดิฉันเขียนตามแต่เรื่องราวจะงอกออกไป จึงมีลำดับการเขียนเป็น ใต้ร่มไม้เลื้อย เรือนศิรา รากนครา สะพานแสงคำ ทั้งๆ ที่ตามลำดับตามเวลาในเรื่องควรเป็น รากนครา (สะพานแสงคำ) ใต้ร่มไม้เลื้อย เรือนศิรา สะพานแสงคำ

ในวารวัน ตะวันเบิกฟ้า ขอบฟ้าราตรี คือนวนิยายที่มี ‘แม่วัน’ ตัวละครเอกฝ่ายหญิงเป็นแกน โดยเรื่องแรก ในวารวัน คือเรื่องที่เล่าเรื่องราวของแม่วันตั้งแต่วัยเยาว์ จนถึงวัยสาว ก่อร่างสร้างตัวและครอบครัว ส่วนเรื่องที่สอง ตะวันเบิกฟ้า คือเรื่องที่แม่วันยังคงเป็นแกนของเรื่องในฐานะคุณย่าที่จะสรุปบทบาทของตัวละครทุกตัว ส่วนเรื่องที่สามคือเรื่อง ขอบฟ้าราตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่มีแม่วันเป็นคุณยายและเป็นเรื่องที่เป็นบทสรุปสุดท้ายของชีวิตแม่วันด้วย

การได้วางแผนไว้ล่วงหน้านั้นอันที่จริงง่ายกว่าการปล่อยให้โยงใยทั้งหลายงอกขึ้นมาเองตามธรรมชาติ เพราะเราไม่ต้องกังวลเรื่องช่องโหว่ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เพราะเราสามารถกำหนดได้ตั้งแต่ต้นจนจบตามระยะเวลาในเรื่อง

เมื่อเริ่มเขียน ดิฉันตั้งใจจะเขียนเรื่องของแม่วันให้เป็นมนุษย์ปุถุชนมากที่สุด นั่นคือเป็นมนุษย์ที่ต้องประสบทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้เรื่อง ในวารวัน ต้องมีตอนจบอย่างที่เป็น ไม่จบลงแค่ที่แม่วันแก้ปมวัยเยาว์ของตัวเองได้… ผู้เขียนได้วางแผนเอาไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเรื่องต้องจบแบบที่เป็นเพื่อให้ตอนจบกลายเป็น ‘สปริงบอร์ด’ ที่จะดีดเรื่องราวและตัวละครไปสู่เรื่อง ตะวันเบิกฟ้า และ ขอบฟ้าราตรี ได้อย่างสมเหตุสมผล

นอกจากนี้การที่เราวางแผนไว้ล่วงหน้าตั้งแต่แรกยังทำให้เราสามารถกำหนดแนวทางและบรรยากาศของเรื่องให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ด้วย ท่านที่อ่าน ในวารวัน-ตะวันเบิกฟ้า-ขอบฟ้าราตรี แล้ว คงเห็นได้ชัดว่า เรื่อง ตะวันเบิกฟ้า เป็นเรื่องที่มีลีลา เบาสบาย เป็นพิเศษ นั่นเป็นเพราะผู้เขียนรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า เรื่อง ขอบฟ้าราตรี ซึ่งเป็นบทสรุป สุดท้ายของแม่วัน เป็นเรื่องที่แทรกจุดโศกเศร้า จึงผ่อนแรงผู้อ่านด้วยการแทรกเรื่องเบาๆ อย่าง ตะวันเบิกฟ้า มาไว้ตรงตรงกลางระหว่าง เรื่อง ในวารวัน และ ขอบฟ้าราตรี

หากไม่ว่าจะเป็นการสร้างโยงใยในแบบใด… แบบวางแผน หรือไร้แผน ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์และ/หรือตัวละครต่อเนื่องกันอย่างไร แต่ทุกเรื่องก็จบสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่มีความจำเป็นต้องอ่านต่อกันและไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องมาต่อกัน ยกเว้นแต่ว่าผู้อ่านจะนึกสนุกที่จะทำอย่างนั้น

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้อ่านอ่านเรื่อง ลับแลลายเมฆ โดยไม่ได้อ่าน ใต้เงาตะวัน ก็สามารถทำได้ เพราะได้อธิบายลักษณะของ ‘จี๊ด’ หรือจีรณาไว้ใน ลับแลลายเมฆ ละเอียดพอที่จะไม่ต้องไปอ่านเพิ่มเติมใน ใต้เงาตะวัน และหากจะอ่าน บัลลังก์แสงเดือน โดยไม่ได้อ่าน ดอกไม้ในป่าหนาว-ใต้ร่มไม้เลื้อย-เรือนศิรา ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างนางเอกของเรื่อง บัลลังก์แสงเดือน คือ มนทกานติ์หรือเดือน กับน้ามาลัยและคุณพัทธ์ เอาไว้แจ่มแจ้งชัดเจนแล้วเช่นกัน ไม่ต้องอ่าน ดอกไม้ในป่าหนาว-ใต้ร่มไม้เลื้อย-เรือนศิรา ก็เข้าใจได้ค่ะ

ส่วนเรื่องช่วงเวลาในนวนิยายนั้นดิฉันขอไม่กำหนดเป็นปี พ.ศ. ขอลำดับแค่ว่าเรื่องอะไรก่อนเรื่องอะไรหลังก็แล้วกันนะคะ… เช่นเรื่องในตระกูลศุษิระก็ยึด ใต้ร่มไม้เลื้อย ไว้เป็นหลัก โดยเมื่อเริ่มเรื่อง พัทธ์กับอรพิมอายุ 20 อรพิมแต่งงานอายุ 26 อรพิมหย่าอายุ 32 แล้วพิมลพัทธ์ก็เกิด เรื่องจบเมื่อพิมลพัทธ์อายุ 3 ขวบ 11 เดือน ส่วนเรือนศิราเกิดเมื่อพิมลพัทธ์อายุ 20 (ต้นเรื่องอายุ 18) เรื่อง บัลลังก์แสงเดือน เกิดหลังเรื่อง เรือนศิรา ประมาณหนึ่งปี เรื่องใน บ่วงมนตรา เกิดหลังเรื่อง เรือนศิรา 7 ปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเวลาในนิยายเป็นเพียงเรื่องสมมติ ทุกครั้งที่เราหยิบเอา ใต้ร่มไม้เลื้อย ขึ้นมาอ่าน คุณพัทธ์ก็จะกลับกลายเป็นเด็กหนุ่มอายุยี่สิบปีเสมอ ดังนั้น หากจะคิดสร้างโยงใยก็แค่รอบคอบ ชัดเจน แต่ไม่ต้องเครียดเกร็งมากจนเกินไป และควรตัดเดือนปีที่เป็นจริงออกไปด้วยค่ะ เพื่อให้เรื่องของเราสามารถอ่านได้เสมอโดยไม่ล้าสมัย

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์หากเพื่อนนักเขียน ‘คิดสร้างโยงใย’ นะคะ

 

Don`t copy text!