ความสำคัญของวรรณศิลป์

ความสำคัญของวรรณศิลป์

โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม

Loading

เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนครั้งยังเป็นนิสิตภาควิชาศิลปศึกษาในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูบาอาจารย์ได้ให้ความหมายของคำว่าศิลปะไว้ว่า คือความดี คือความงาม คือการสร้างสรรค์ คือสิ่งที่สร้างเพื่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ คือการแสดงออกถึงความสะเทือนใจ คือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้มนุษย์แยกออกจากสัตว์ คือสิ่งที่แยกความอ่อนละเอียดออกจากความหยาบในดวงวิญญาณทุกดวง 

ท่านให้ความหมายเพิ่มเติมว่า ศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์เท่านั้นสร้างได้ ถ้าสร้างขึ้นโดยสัตว์โลกชนิดอื่นแม้จะดี แม้จะงาม แม้จะแปลกตาไม่เหมือนใคร ก็เป็นไปด้วยความบังเอิญ ไม่สามารถเป็นงานศิลปะได้ หลังจากนั้นท่านก็ให้พวกเราดูภาพวาดแบบแอ็บสเตร็ก (Abstract) ที่มีสีสันและองค์ประกอบอันงดงามหลายภาพ ต่อด้วยการให้พวกเราช่วยกันเลือกว่าภาพใดงาม ภาพใดไม่งาม แล้วท่านค่อยเฉลยว่ามีภาพใดบ้างที่วาดขึ้นโดยลิงแชมแปนซี สุดท้ายท่านก็สรุปด้วยการเลือกภาพที่วาดด้วยลิงออกไปว่าไม่ใช่งานศิลปะ

ดิฉันยังจำบรรยากาศตอนท้ายชั่วโมงที่พวกเราหัวเราะกันจนท้องคัดท้องแข็ง เมื่อท่านขานหลายครั้งจากรูปที่เราช่วยกันเลือกว่า “นี่ลิงวาด” “นี่ลิงวาด” “นี่ลิงวาด” ได้… และมันก็ให้ข้อสรุปที่จำติดใจมาจนถึงวันนี้ว่า ศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์เท่านั้นสร้างขึ้น และศิลปะคือความดีความงามคือการสร้างสรรค์ที่ทำให้มนุษย์แยกออกจากสัตว์โลกอื่นๆ

เช่นเดียวกับงานเขียน สิ่งที่ทำให้งานของนักเขียนต่างจากตัวหนังสือในเศษกระดาษจดบันทึกรายการที่ต้องซื้อ “ผงซักฟอก ๑ กล่อง ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว ๒ ห่อ ส้ม ๑ กิโล น้ำดื่ม ๑ ขวด” ก็คือ  “วรรณศิลป์” นั่นเอง….วรรณศิลป์ซึ่งมีความหมายถึงศิลปะแห่งการเขียน คือศิลปะแห่งการใช้ภาษา จะเป็นแบบไหนก็ได้ เขียนให้งาม เขียนให้ประณีต เขียนให้ไพเราะ เขียนให้สละสลวย เขียนให้กระชับอ่านง่าย เขียนให้สื่อความ เขียนให้สื่ออารมณ์ เขียนให้กลมกลืน เขียนให้แฝงไปด้วยสาระ เขียนให้สะเทือนใจ เขียนให้เกิดแรงบันดาลใจ

เมื่อได้มาทำงานด้านการเขียนอย่างจริงจังจากปี พ.ศ. ๒๕๒๓ จนถืงวันนี้ดิฉันก็พบว่า การเขียนเรื่องแต่งมีสามส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นสามสิ่งที่สำคัญและสมดุลกันประดุจสามเส้าของเตาไฟสิ่งนั้นก็คือ โครงเรื่อง ตัวละคร และวรรณศิลป์นั่นเอง เรื่องทุกเรื่องที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะครองใจกรรมการหรือครองใจนักอ่าน ล้วนมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบทั้งสามด้าน

หากพูดเฉพาะในเรื่องของวรรณศิลป์ ถ้าเราได้ไปอ่านเกณฑ์การตัดสิน และคำประกาศตัดสิน หรือคำยกย่องใดๆ จากสถาบันไหนๆ ในเรื่องของงานวรรณกรรม กฎเกณฑ์ของทุกเวทีล้วนมีเงื่อนไขทางวรรณศิลป์เข้ามาเกี่ยวข้อง และทุกคำประกาศตัดสิน ทุกคำประกาศยกย่องก็จะมีส่วนของการยกย่องในเรื่องวรรณศิลป์และการใช้ภาษารวมอยู่ด้วย

ในส่วนของนักเขียนที่แม้จะไม่มีรางวัลใดๆ อยู่ในมือ แต่หากประสบความสำเร็จสามารถครองใจนักอ่านนั่นก็หมายความว่าท่านเองก็เป็นนักเขียนที่มีวรรณศิลป์เช่นกัน เพราะท่านสามารถใช้ศิลปะทางภาษาสื่อสารกับผู้อ่านของท่านได้ สามารถทำให้ผู้อ่านสนุกสนาน สะเทือนอารมณ์ ไปกับงานของท่านได้… วรรณศิลป์นั้นมีหลายรูปหลายแบบตามแต่ผู้เขียนจะสร้างสรรค์และสื่อสาร มิใช่ว่าต้องประดิษฐ์คำให้งดงาม ต้องใส่มงกุฎใส่ชฎาให้ข้อเขียนเท่านั้น การสื่อสารที่จับใจและตรงความหมายต่างหากคือคุณสมบัติที่สำคัญของวรรณศิลป์

เมื่อวรรณศิลป์มีความสำคัญเป็นประดุจสามเส้าของเตาไฟเช่นนี้แล้ว หากนักอยากเขียนคนไหนไม่ให้ความสำคัญกับวรรณศิลป์ก็คือการทำลายสมดุลแห่งสามเส้า หม้อข้าวของท่านยากจะตั้งอยู่บนเตาได้โดยไม่ล้มคว่ำ ส่วนนักเขียนเองถ้ามีการประกาศอหังการว่า “ข้าพเจ้าไม่ให้ค่ากับวรรณศิลป์” ก็ไม่ต่างจากคนที่มีชีวิตอยู่ประกาศว่า “ข้าพเจ้าไม่ให้คุณค่ากับอากาศ” อากาศที่เราไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่และหล่อเลี้ยงมาตั้งแต่เริ่มมีชีวิต

นักเขียนทุกคนถ้าเป็นนักเขียนได้ก็คือคนที่มีวรรณศิลป์อยู่ในตัวเอง ในแบบของตัวเอง หากไม่ให้คุณค่ากับวรรณศิลป์จึงไม่ต่างจากการไม่ให้คุณค่ากับคุณสมบัติส่วนหนึ่งที่ตนเองมี คุณสมบัติส่วนที่ทำให้ตนเองได้เกิด ได้เติบโต ได้เลี้ยงชีพและได้เลี้ยงชีวิต

เมื่อพูดถึงเรื่องศิลปะ ดิฉันก็นึกถึงท่านศิลปินแห่งชาติ จิตรกรและกวี ‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ ท่านเคยเขียนไว้ว่า

 

“ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ                        อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์

ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏ                        ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ

เพียงกินนอนสืบพันธุ์เท่านั้นฤๅ                        ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศล้ำ

หยาบยโสกักขฬะอธรรม                               เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์

ภพหน้าอย่ามีรูปมนุษย์                                จงผุดเกิดในร่างดิรัจฉาน

หน้าติดดินกินขี้เลื้อยคลาน                            ทรมานทุกข์ร้อนร้ายนิรันดร์เอย

 

ท่านเป็นศิลปิน… เมื่อจะสาปแช่งบริภาษ ท่านก็ยังใช้ ‘วรรณศิลป์’                                     ………………………..

 

หมายเหตุ:

๑. อ่านเรื่องของ ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์ ‘อังคาร กัลยาณพงศ์’ ได้ที่บทความ “อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้ตวัดถ่าน อ่านกลอน สอนสัจธรรม” ค่ะ

๒. ดิฉันจะเขียนเรื่องกลวิธีการสร้างวรรณศิลป์ และเรื่อง “สามสิ่ง-สามเส้า” ในโอกาสต่อไปนะคะ

 

Don`t copy text!