กรุงเก่า

กรุงเก่า

โดย : จินต์ชญา

Loading

โดย : จินต์ชญา

อวตารมาจากคอลัมน์ ‘เรื่องผีที่แม่เล่า’ ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร อันลือลั่น จากผู้เขียนหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง ขาววังช่างเล่าเรื่อง (ผี) และ ชาววังช่างเล่าเรื่อง (ผีนอกวัง)

 

เวลาถ่ายทำแบบนี้ ถ้าเป็นทีมที่โปรเฟสชันแนล

จะมีแผนกหนึ่ง ที่เราชอบเรียกกันเล่นๆ ว่า

‘แผนกไสยศาสตร์’

 

กรุงเก่า

เป็นที่น่ายินดีว่า หลังจากละครดังเรื่อง บุพเพสันนิวาส จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ออเจ้าทั้งหลายก็มีความตื่นตัวในการอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เคยเป็นเรื่องไกลตัว น่าเบื่อเหลือเกินในห้องเรียน กลับมาเป็นเรื่องราวที่มีชีวิตชีวา โลดแล่นบนจอโทรทัศน์ หรือจอไอแพดและสมาร์ตโฟนทั้งหลายอย่างน่าติดตาม

อีกทั้งกระแสยังพัดแรงขนาดที่ชุดไทยขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ฉันไปสำเพ็งช่วงก่อนสงกรานต์ เห็นชุดไทยขายดี ก็ชื่นใจ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่คนจะเลือกซื้อชุดไทยก็เพราะจะแต่งงานหรือไปรำละครเท่านั้น ทำให้ฉันมีชอยส์ในการเลือกมากขึ้น มีสไบสวยๆ มากมายให้เลือกซื้อ ฉันได้มีโอกาสใส่ชุดไทยห่มสไบไปกราบพระแก้วมรกตและเข้าปราสาทพระเทพบิดรในช่วงวันมหาสงกรานต์ปีนี้ด้วย เห็นมีคนใส่ชุดไทยไปมากมาย เดินกันตามถนน ไปวัด นุ่งซิ่น ห่มสไบ ซึ่งไม่มีใครมองอย่างเป็นตัวประหลาดอีกต่อไป ซึ่งงานนี้โอเค… มากๆ (ทำนิ้วโอเคแบบในละคร)

อีกกระแสหนึ่งคือการตามรอยละครไปที่เมืองต่างๆ ในเรื่อง คืออยุธยา ที่นักท่องเที่ยวแฟนละครไปกันอย่างคับคั่ง ก็เห็นจะเป็นวัดไชยวัฒนารามนั่นเอง

วัดไชยวัฒนาราม ตามประวัติได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนที่ที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา คือเดิมสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นสามัญชน เป็นขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหาอำมาตย์ และมีความดีความชอบจากการปราบกบฏญี่ปุ่น จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริวงศ์ และทรงชิงบัลลังก์จากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ช่วงแรก ถวายพระราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาสมเด็จพระเชษฐาธิราช ซึ่งทรงพระเยาว์ มีพระชันษาเพียง 9 ปี ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เพียงไม่กี่เดือน ภายหลังก็ทำการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป  และเมื่อเสด็จฯ สวรรคต ก็มีเรื่องช่วงชิงบัลลังก์กันอีกหลายครั้งดังนี้

หลังจากรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พระโอรส ขึ้นครองราชย์ต่อเพียง 9 เดือน ก็โดนชิงราชบัลลังก์โดยพระศรีสุธรรมราชา พระปิตุลา และพระนารายณ์พระอนุชาต่างพระมารดา พระศรีสุธรรมราชา ทรงครองราชสมบัติแค่สองเดือนกว่าๆ ก็จะทรงเข้าไปหาพระราชกัลยาณี ในภาษาสามัญคือหลานสาวแท้ๆ ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระนารายณ์  พระนารายณ์จึงตัดสินพระทัยชิงราชสมบัติมาจากพระเจ้าอาในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า หรือมหาอุปราช และทรงครองราชย์เป็นสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งในภายหลังเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของชาติไทย และทรงถูกพระเพทราชาชิงราชสมบัติขณะประชวรใกล้สวรรคต

อีกทฤษฎีหนึ่ง วัดไชยวัฒนาราม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวก โดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด และวัดไชยวัฒนารามเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์ และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ เช่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นต้น

ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก หลังจากนั้นก็ถูกปล่อยทิ้งให้ร้างเรื่อยมา และโดนโจรผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติจนเกือบหมดแล้ว  แม้แต่เศียรพระพุทธรูปก็ถูกขโมยตัดไปขาย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย จนถึงปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากจึงได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535

ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับวัดไชยวัฒนาราม จะมองเห็นวังเรือนไทยแห่งหนึ่งที่สวยงามร่มรื่นมาก อันเป็นวังส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 คือพระตำหนักสิริยาลัย

พระตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นเนื่องจากพระองค์ทรงมีความผูกพันกับกรุงเก่าอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ณ ที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินจากราษฎรจำนวน 17 ไร่ พระราชทานแก่สมเด็จฯ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศ ณ ในขณะนั้น) ทรงสร้างพระตำหนักเรือนไทยถวายทูลกระหม่อมแม่ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2534 ดังนั้น พระตำหนักนี้ จึงเป็นของขวัญของในหลวงทั้งสองรัชกาลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นพระมเหสีและพระมารดา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงท้าวเทวา เทวกุล เป็นผู้ออกแบบทั้งด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม และนายเดชา บุญค้ำ เป็นสถาปนิก เป็นพระตำหนักแบบหมู่เรือนไทยโบราณ มีศาลาท่าน้ำ เวลากลางคืนมองเห็นวัดไชยวัฒนาราม มีไฟส่องสว่างสวยงามยิ่งนัก

เมื่อสร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น) ทรงพระกรุณาฯ ให้จารึกกลอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ถวายลงไปในแผ่นเงินบริเวณฝาภายในพระตำหนักว่า

 

  • พระตำหนักหลังนี้มีความหมาย

พ่อกับชายสร้างถวายแม่

วิมานทองแห่งนี้คือดวงแด

ลูกกับแม่ผูกพันนิรันดร

  • อนุภาพแห่งความรักสลักจิต

เนรมิตเรือนไทยอนุสรณ์

ครบหกสิบพรรษาพระมารดร

ประชากรแซ่ซ้องพระบารมี

  • ขอบูชาจารึกด้วยชีวิต

ชายอุทิศกายใจไว้ที่นี่

เพื่อถวายความจงรักและภักดี

อีกหมื่นปีไม่มีคลายจากชายเอย

 

พระตำหนักนี้ น่าจะเป็นแห่งเดียวที่มีสัญลักษณ์พระนามาภิไธยย่อ ส.ก. อยู่หน้าประตูใหญ่ที่ทำด้วยไม้ ส่วนลักษณะเรือนไทยนี้ไม่ได้ใหญ่โตมากมายอะไร เป็นเรือนไทยที่มีรายละเอียดตกแต่งสวยงามมาก มีศาลาท่าน้ำใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เป็นเรือนรับรองส่วนพระองค์ และทรงรับพระราชอาคันตุกะ เช่น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เพื่อทอดพระเนตรกระทงลอย เสวยน้ำชา ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงแสงและเสียง ณ วัดไชยวัฒนาราม

สมัยก่อน เวลาฉันไปที่นั่นจะไปช่วงเย็นๆ มองไปฝั่งตรงข้ามเห็นวัดไชยวัฒนาราม สวยงามมาก เข้าไปกราบพระพุทธรูปที่ขุดได้ตอนสร้างพระตำหนัก และได้ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในเรือน เมื่อสมเด็จฯ เสด็จพระราชดำเนินแล้ว ช่วงดึกๆ จะเสด็จฯ ไปวัดไชยวัฒนาราม เพื่อทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก เป็นพระราชกุศลอุทิศให้กับดวงวิญญาณต่างๆ เป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ โดยไม่เลือกว่าจะเป็นประชาชนไทยปัจจุบันหรือหาชีวิตไม่แล้วก็ตาม

เมื่อฉันมีโอกาสได้ไปเป็นครูบาอาจารย์สอนการถ่ายทำภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัย ลูกศิษย์ได้มีโอกาสไปถ่ายทำภาพยนตร์และสารคดีที่อยุธยาเนืองๆ ครั้งที่น่าจดจำที่สุดก็น่าจะเป็นครั้งที่นักศึกษาคณะของฉัน ร่วมกับยูเนสโกถ่ายทำภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับมรดกโลกกรุงศรีอยุธยา โดยนักศึกษาต้องไปถ่ายทำที่กรุงเก่า

เวลาถ่ายทำแบบนี้ ถ้าเป็นทีมที่โปรเฟสชันแนล จะมีแผนกหนึ่ง ที่เราชอบเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘แผนกไสยศาสตร์’ จะมีคนพกสิ่งของต้องใช้พร้อม เช่น ธูป เทียน สายสิญจน์ น้ำมนต์ ตะไคร้ ฯลฯ ไว้ไหว้ขอเจ้าที่เจ้าทางเวลาจะถ่ายอะไร หรือหาคนไปปักตะไคร้ไม่ให้ฝนตก (เห็นผลมาแล้ว ของแบบนี้ไม่เชื่ออย่าลบหลู่)

กลวิธีไม่มีอะไรมาก แค่ต้องปักอัพไซด์ดาวน์ คือเอาหัวปักลงดินสักสามต้น ส่วนที่ชอบล้อกันคือ ต้องเป็นหญิงพรหมจรรย์ พอใครปักแล้วฝนตกลงมาห่าใหญ่ ก็จะโดนล้อแรงทีเดียว ตอนหลัง เพื่อความชัวร์ ก็หาเด็กห้าหกขวบมาปักซะเลย

ส่วนการมาถ่ายทำสถานที่โบราณแบบนี้ ปกติทีมงานที่ทำเป็น เขาจะจุดธูปเทียนเพื่อขออนุญาตเสียก่อน ปัญหาของทีมนี้คือ เป็นทีมเด็กนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ ซึ่งค่อนข้างจะมีความเป็นตะวันตกสูง อาจารย์ที่คุมมาก็เป็นอาจารย์ฝรั่ง เลยไม่มีความเชื่อนี้อยู่ในสมอง

เย็นวันหนึ่ง ฉันต้องขับรถไปแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่อยุธยา เพื่อดูอาการเด็กลูกครึ่งที่เพื่อนพาเข้าโรงพยาบาลโดยด่วน

สอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อนนักศึกษาก็ไม่แน่ใจ แค่เล่าว่า…

“เขาปีนขึ้นไปถ่ายบนฐานเจดีย์ค่ะ วันนี้แดดดี อากาศร้อนมาก หนูเห็นเขาอยู่ดีๆ ก็โงนเงนลงมา เราพยุงลงมานอนพักใต้ต้นไม้  แล้วก็ชักแรงมาก ตกใจกันทั้งกองเลยค่ะ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาล”

สอบถามว่าไม่เป็นอะไรมาก แต่ต้องพักสักระยะ ฉันลองแย็บๆ ถามดู แม้จะรู้คำตอบอยู่แล้ว ว่า…

“แล้วก่อนถ่าย มีใครขออนุญาตเจ้าที่เจ้าทางหรือเปล่า”…

ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า

“ไม่มีค่ะ อาจารย์”

 

Don`t copy text!