สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 19 : พระราชโอรสเสด็จอินเดีย

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 19 : พระราชโอรสเสด็จอินเดีย

โดย : สิริทัศนา

Loading

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

“มีผู้ได้ยินพระองค์ทรงปรารภว่า

จำนวนเงินมหาศาลสำหรับการสร้างทัชมาฮาลนั้น

น่าจะเป็นประโยชน์มากนักหากนำมาสร้างถนน สะพาน และขุดคลอง

ตามความต้องการของผู้คนในประเทศ”

 

ช่วงปี พ.ศ. 2414-2415 นั้น เป็นเวลาที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมกลับมามีความสุขอีกครั้ง ด้วยพระองค์เจ้าอุณากรรณ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ เริ่มเจริญพระชนมพรรษา เข้าสู่วัยหนุ่ม และมีแววว่าจะทรงก้าวหน้าในราชการ

เมื่อพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ทรงลาผนวชสามเณรแล้ว ทรงสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย ทรงฝึกหัดในกรมทหารมหาดเล็ก โดยพระองค์อุณากรรณทรงมีตำแหน่งเป็นนายร้อยตรีอยู่ในกรมเดียวกันด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จประพาสอินเดียในปี พ.ศ. 2414 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จทั้งสองพระองค์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “…ส่วนราชบริพารที่ตามเสด็จในครั้งนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่เคยไปครั้งก่อนได้ไปอีกแทบทั้งนั้น ที่เพิ่มใหม่… ขุนนางก็ล้วนชั้นหนุ่ม เลือกคัดแต่ที่มีแววฉลาด ดูเหมือนวิธีการเลือกสรรคนตามเสด็จครั้งก่อนจะเอาแต่ที่ต้องการใช้สอย ครั้งหลังเลือกด้วยหมายจะให้ไปได้ความรู้เห็นมาสำหรับรับราชการภายหน้าเป็นสำคัญ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับที่ 5 จากซ้าย, พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ประทับแถวหน้า ที่ 4 จากซ้าย, พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ประทับแถวหน้า ขวาสุด ทรงเครื่องแบบทหาร (ฉายที่กัลกัตตา Westeld & Co Photos, ภาพจาก http://www.cca.chula.ac.th)

การเสด็จประพาสอินเดียในครั้งนี้ ที่จริงทรงมีพระราชดำริจะเสด็จประพาสยุโรป ระหว่างที่ยังมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ขุนนางผู้ใหญ่กราบบังคมทูลทัดทาน จึงเสด็จประพาสอินเดียแทน เพื่อทรงศึกษาลัทธิล่าอาณานิคม ผังเมือง การคมนาคม โบราณสถาน อารยธรรมประวัติศาสตร์อินเดีย และสถาปัตยกรรมแบบยุโรป รวมทั้งเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ เนื่องด้วยช่วงนั้นอังกฤษเริ่มเข้ามาสนใจล้านนาในด้านการค้าและป่าไม้

ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2413 และได้ทรงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมบางประการในราชสำนัก ให้เหมาะกับการเสด็จต่างประเทศ เช่น การแต่งกาย ให้ข้าราชบริพารสวมรองเท้าถุงเท้า และแต่งเครื่องแบบทั้งทหารและพลเรือน  รวมทั้งไว้ผมตัดอย่างฝรั่ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากสิงคโปร์ในครั้งนั้น ทรงมีพระราชดำรัสให้เลิกตัดผมมหาดไทยในราชสำนัก จากเดิมที่โกนรอบ เหลือไว้แต่ผมตรงกลางศีรษะ มาไว้ผมสั้นอย่างฝรั่งทั้งหมด

ฝ่ายพลเรือนแต่งเครื่องแบบเฉพาะงานเต็มยศ เป็นเสื้อแพรสีกรมท่า ปักทองรอบคอและข้อมือ เวลาปกติสวมเสื้อคอเปิดผูกผ้าคราแวต นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน ส่วนทหารแต่งเครื่องแบบทั้งปกติและเต็มยศ

ภาพจาก Royal Thai Embassy, New Delhi – Thai Embassy

สำหรับการเสด็จประพาสอินเดีย พระองค์อุณากรรณทรงเครื่องแบบดังที่บันทึกไว้ในพระนิพนธ์สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เรื่องตำนานกรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า เครื่องเต็มยศมีหมวกเฮลเม็ตทรงเตี้ย พื้นแพรขนสีดำขอบทอง ตราหน้าหมวกมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อในวงรัศมี มีสายรัดคาง ยอดหมวกปักพู่ขนนกยางขาว เสื้อทูนิคแพรสีน้ำเงินแก่ ปักดิ้นทองที่ข้อมือเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ส.พ.ป.ม.จ. และอุณาโลม  อักษร พ. ปักดิ้นเงิน รอบข้อมือเป็นลายยันต์ มีลวดคู่หมายยศ ลายยันต์และจักร ติดกระดุมอักษรพระนามาภิไธยย่อ และมีแพรดำผูกเป็นหูกระต่ายที่คอเสื้อ ผ้านุ่งเป็นแพรสีน้ำเงินแก่ สวมถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังดำ

กระบวนเสด็จประกอบด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า 2 พระองค์ และพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้า 4 พระองค์ เสนาบดีและขุนนาง 23 ท่าน  นอกจากนี้ยังมีข้าราชบริพาร มหาดเล็ก กงสุลอังกฤษ ร้อยเอกโธมัส น็อกซ์ พันตรีเอ็ดเวิร์ด บี. สลาเดน ผู้ประสานงานกับอังกฤษด้วย

เรือพระที่นั่งกลไฟบางกอก เรือสลุปไอน้ำสยามซัพพอร์เตอร์ และเรือปืนไอน้ำรีเยนต์ ออกจากท่าราชวรดิษฐ์ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2414 ประทับที่สิงคโปร์ 2 คืน จากนั้นหยุดพักที่มะละกา ปีนัง มะละแหม่ง และย่างกุ้ง ที่พม่านี้ได้เสด็จไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง และทรงอุปถัมภ์การบูรณะพระเจดีย์องค์หนึ่ง ทีประดิษฐานอยู่บนฐานพระเจดีย์ชเวดากองด้วย

กระบวนเสด็จใช้เวลา 92 วันจึงไปถึงกัลกัตตา อินเดีย และจอดพักที่ไดมอนด์ ฮาร์เบอร์หนึ่งวัน จากนั้น ลอร์ดเมโย อุปราชผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียนำเรือโสณะมูขีมารับเสด็จเข้าสู่กัลกัตตา เสด็จพระราชดำเนินขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำพรินเซ็ป ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2414 (นับพุทธศักราชแบบเดิม ขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายน) อุปราชจัดพิธีรับเสด็จอย่างเป็นทางการ มีทหารกองเกียรติยศ แตรวง ธงทิว และปราการที่ป้อมวิลเลียมยิงสลุตถวาย

จากนั้นประทับรถม้าไปยังทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีกองเกียรติยศทหารยุโรปรอเฝ้าฯ รับเสด็จ ประทับในกัลกัตตา 9 คืน ระหว่างนั้น ได้เสด็จเยือนสมาคมเอเชียติก ป้อมปราการ โรงกษาปณ์ พิพิธภัณฑ์ โรงงานปืน โรงจ่ายน้ำประปา โรงงานทอกระสอบ โรงสี ทัณฑสถาน โรงพยาบาล ตลาด โบสถ์ และทอดพระเนตรโอเปรากับละครสัตว์ แล้วเสด็จออกจากกัลกัตตาทางรถไฟ ไปยังเดลี ขบวนเสด็จได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมาก ส่วนใหญ่ยกย่องพระบารมี และกล่าวชมเชยว่าพระราชอนุชาซึ่งล้วนอยู่ในวัยรุ่นหนุ่มทรงวางพระองค์ได้ดี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระองค์ที่ 3 แถวหน้าจากขวา, พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ทรงยืน องค์ที่ 2 จากซ้าย, พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ประทับองค์ที่ 4 แถวหน้าจากขวา (ภาพจาก https://www.britishempire.co.uk)

วันที่ 30 มกราคม เสด็จไปยังอักรา ทอดพระเนรป้อมแดง ทัชมาฮาล และสุสานของพระเจ้าอักบาร์มหาราช ที่สิกันตรา พันตรีเอ็ดเวิร์ดบันทึกเรื่องการเสด็จเยือนทัชมาฮาลไว้ว่า “มีผู้ได้ยินพระองค์ทรงปรารภว่า จำนวนเงินมหาศาลสำหรับการสร้างทัชมาฮาลนั้น น่าจะเป็นประโยชน์มากนักหากนำมาสร้างถนน สะพาน และขุดคลอง ตามความต้องการของผู้คนในประเทศ”

จากเดลี ขบวนเสด็จออกเดินทางต่อไปยังบอมเบย์ พาราณสี และสารนาถ เป็นโอกาสที่ทรงศึกษากิจการรถไฟของอินเดียและอังกฤษอย่างใกล้ชิด ประทับแรมบนรถไฟด้วย

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เสด็จถึงลัคเนาว์ ประทับที่แบงค์บังกาโลว์ บ้านพักของข้าหลวง 4 วัน ระหว่างนั้น ได้ทอดพระเนตรกิจกรรมทางทหารแบบยุโรป ขบวนเสด็จไปถึงเมืองบอมเบย์ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ มีพิธีรับเสด็จยิ่งใหญ่เทียบเท่าที่กัลกัตตา ประทับที่มาลาบาร์ ฮิลล์ และทอดพระเนตรกิจการสาธารณสุข และผังเมืองที่ว่ากันว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในขณะนั้น

แต่ระหว่างประทับที่บอมเบย์ มีข่าวร้ายแจ้งมาว่าลอร์ดเมโยอุปราชถูกนักโทษที่ถูกเนรเทศลอบสังหารด้วยการจ้วงแทงที่พอร์ตแบลร์ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังรัฐบาลและเคาน์เตสเมโย ทรงไว้ทุกข์ให้ พร้อมทั้งทรงมีพระบรมราชโองการให้ทุกคนในกระบวนเสด็จไว้ทุกข์ด้วย กับทรงงดกำหนดการยกเว้นการเสด็จเยือนถ้ำช้าง จนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ จึงเสด็จออกจากบอมเบย์ไปยังพาราณสี ทรงทัศนศึกษาวังของมหาราชา วัดฮินดู และหอดูดาว รวมทั้งเสด็จโดยรถม้าไปยังสารนาถเพื่อทอดพระเนตรป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แล้วจึงเสด็จกลับผ่านทางกัลกัตตา ซึ่งยังมีบรรยากาศเศร้าโศก

ระหว่างทางเสด็จกลับกรุงเทพฯ ทรงเยือนหัวเมืองภาคใต้ เช่นไทรบุรี จังซีลอน หรือเกาะภูเก็ต เสด็จถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 มีนาคม

การเยือนอินเดียครั้งนั้น ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ตั้งแต่เรื่องใหญ่ เช่น การเจรจากับอังกฤษเพื่อทําสนธิสัญญา เกี่ยวกับการพิจารณาคดีในเมืองประเทศราช ของไทยในภาคเหนือ โดยมีพันตรีสลาเดนเป็นสื่อกลางในการประสานงาน และการตัดถนนทางภาคใต้ ไปจนถึงเรื่องรองลงมา เช่น ทรงนำแบบสถูปธรรเมขที่พาราณสีมาเป็นต้นแบบสร้างสถูปในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมี ‘เสื้อราชปะแตน’ ที่พระราชทานแบบให้ช่างในกัลกัตตาตัดถวาย แทนชุดแบบตะวันตกที่สวมเสื้อหลายชั้นกับผ้าผูกคอ และทรงตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

สำหรับพระองค์เจ้าอุณากรรณ เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้วทรงรับราชการทหารต่อไป ส่วนพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และถวายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด

 

แหล่งข้อมูล

  • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุเสด็จประพาสต่างประเทศ ในรัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองสิงคโปร์ แลเมืองเบตาเวียครั้งแรก แลเสด็จประพาสอินเดีย. (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2468)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ. (พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505)
  • สัจฉิทานันท สหาย, ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย แปลโดย กัณฐิกา ตรีอุดม (กรุงเทพฯ : มติชน, 2559)

Don`t copy text!