สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 8 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชโอรสธิดา

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 8 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชโอรสธิดา

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่สี่ พระราชชนนีแห่งสมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

Loading

ทรงใช้สรรพนามแทนพระองค์เองว่า ‘พ่อ’  

ทรงเรียกพระธิดาว่า ‘แม่หนู’

ทรงเรียกพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ว่า ‘ลูกดิศ’

และในพระราชหัตถเลขา ทรงเรียกพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ว่า

“ชายคัคณางคยุคลของพ่อ” 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชโอรสธิดา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถิตย์ในที่พระมหากษัตริย์ มีพระราชกรณียกิจมากมาย และทรงมีพระราชโอรสธิดาหลายพระองค์ แต่ก็ทรงแบ่งเวลาดูแลอย่างใกล้ชิด อาจกล่าวได้ว่าเสมอหรือยิ่งกว่าบิดาสามัญชนในบางครอบครัว ดังที่ทรงใช้สรรพนามแทนพระองค์เองว่า ‘พ่อ’  ทรงเรียกพระธิดาว่า ‘แม่หนู’ เช่น “แม่หนูโสมจ๋า” พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา ทรงเรียกพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ว่า ‘ลูกดิศ’ และในพระราชหัตถเลขา ทรงเรียกพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ว่า “ชายคัคณางคยุคลของพ่อ” ส่วนพระราชโอรสธิดาออกพระนามพระบรมราชชนกโดยลำลองว่า ‘ทูลกระหม่อม’

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชโอรสธิดา ภาพจาก www.tnews.co.th

พระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง พระราชทานไปยังพระองค์เจ้าคัคณางคยุคลนั้น ทรงไว้เมื่อปี พ.ศ. 2404 ว่าด้วยเรื่องรับราชทูตปรุสเซียซึ่งจะไปเที่ยวเมืองเพชรบุรี ความตอนหนึ่งว่า

ปีระกา  พ.ศ. ๒๔๐๔

จดหมายมายังชายคัคณางคยุคลของพ่อให้ทราบ  บัดนี้ราชทูตเมืองปรุสเซีย ออกมาดูเมืองเพ็ชรบุรี  ถ้าเขามาถึงแล้วจะต้องรับจับมือเขาให้ยินดี  แล้วชวนพาเขาขึ้นไปเที่ยวดูบนพระนครคีรี  แล้วจงพาเขาเข้าไปดูห้องนี้โดยสมควรเถิด  แต่จงกราบเรียนคุณศรีสุริยวงษ์ให้ท่านบังคับให้เฝ้าที่  แลชาวที่มหาดเล็กเด็กชายไปกวาดแผ้วเสียก่อนอย่าให้รกรุงรัง  แล้วให้มีผู้รักษาอย่าให้เงียบเหงาไป  แลพาเขาไปเที่ยวตามทางบนเขาจนถึงพระเจดีย์พระนอนก็ได้

อนึ่งถ้าเขาจะไปเขาหลวงเขากระไดอิฐแลในเมือง  ถ้ารถมีอยู่ใช้ได้ก็จงเอารถรับเขาไปเถิด

อนึ่งจงกราบเรียนคุณศรีสุริยวงษ์ว่า  อาการพระยาพิศาลนั้นป่วยมาก…..

อนึ่งจงกราบเรียนว่า จมื่นทิพรักษากลับมาถึงแล้ว  ถือหนังสือบอกข้อราชการมาหลายฉบับ  พ่อได้ส่งให้พระยาราชเสนาคัดส่งออกมาให้ท่านแล้ว

ที่ในวังนี้พ่อแม่แลญาติพี่น้องของคัคณางค์ ก็อยู่ดีอยู่หมด….. ” (1)

ขณะนั้นพระองค์เจ้าคัคณางคยุคลทรงมีพระชันษาเพียง 7 ปี เหตุที่เสด็จไปราชการที่พระนครคีรีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ถึงเพียงนั้น เพราะตามไปกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระราชโอรสตามเสด็จออกขุนนาง ณ ท้องพระโรงเสมอ

พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ภาพจาก http://sven-erik.org

พระองค์เจ้าคัคนางคยุคลทรงเห็นกรมหมื่นภูเรศธำรงศักดิ์ซึ่งมีพระชนมายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระองค์ไปประทับกับเจ้าพระยาภูธราภัยซึ่งเป็นคุณตาอยู่เนืองๆ จึงทรงน้อยพระทัยประทับเหงาอยู่  จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็น 

ต่อมา ระหว่างเข้าเฝ้าพร้อมเจ้าจอมมารดาพึ่ง พระองค์เจ้าคัคคนางคยุคลรับสั่งถามขึ้นว่า “ใครเป็นคุณตาฉัน” เจ้าจอมมาดาประหลาดใจที่รับสั่งเช่นนั้น รัชกาลที่สี่จึงตรัสเล่าเรื่องในท้องพระโรง เจ้าจอมมารดาพึ่งก็กราบทูลว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นั่นละเป็นคุณตา  จากนั้นรัชกาลที่สี่ได้มีรับสั่งเล่าเรื่องให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทราบ  ท่านจึงรับเป็นคุณตาของพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล (2)

การขึ้นเฝ้าประจำวันของพระองค์เจ้าเล็กๆ นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในบทพระราชนิพนธ์ใน ความทรงจำ ว่า “เรื่องขึ้นเฝ้านั้น ตั้งแต่ออกจากผ้าอ้อมแม่ก็พาขึ้นเฝ้าดังกล่าวมาแล้ว แต่ขึ้นไปเฝ้าเป็นบางวันและเฝ้าอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ประเดี๋ยวก็พากลับ ต่อเมื่ออายุย่างเข้า ๔ ขวบ จึงขึ้นเฝ้าทุกวันเป็นนิจ...

เวลาที่พระเจ้าลูกเธอขึ้นเฝ้านั้นต่างกันตามขั้น คือขึ้นเฝ้าพร้อมกันทุกขั้นเมื่อเวลาเสวยกลางวัน แต่เวลาเสด็จลงทรงบาตรตอนเช้า คือเวลาเสด็จออกข้างหน้าตอนบ่าย ตามเสด็จแต่พระ

เจ้าลูกเธอชั้นใหญ่กับชั้นกลาง เวลาเสด็จออกทรงธรรมและออกขุนนางกลางคืน ตามเสด็จแต่พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่ และยังมีพระเจ้าลูกเธอบางพระองค์ ซึ่งทรงเลือกสรรสำหรับทรงใช้สอย เป็นอุปัฏฐากประจำพระองค์มีแต่ในชั้นใหญ่ คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

และกรมหลวงสมรรัตน์ฯ เป็นต้น พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่กับชั้นกลางอาจไปตามเสด็จได้โดยลำพังพระองค์ แต่ชั้นเล็กยังต้องมีผู้ใหญ่ควบคุม จึงมิใคร่ได้ตามเสด็จ ตัวฉันอยู่ในชั้นเล็ก  เมื่อตอนแรกขึ้นเฝ้าแม่เป็นผู้ดูแลแต่ต่อมาเจ้าพี่โสมาวดี (คือกรมหลวงสมรรัตน์ฯ) กับเจ้าพี่สีนากสวาสดิ์ (ทั้ง ๒ พระองค์เป็นพระธิดาเจ้าจอมมารดาเที่ยง) ท่านเป็นชั้นใหญ่ทรงรับดูแลพาตามเสด็จออกไปข้างหน้าในตอนบ่าย ฉันจึงได้ออกไปกับเหล่าเจ้าพี่ที่เป็นชั้นกลางมาแต่ยังเด็ก เห็นจะเป็นด้วยทูลกระหม่อมทรงสังเกตเห็นว่าฉันไม่ตระหนี่ตัว กล้าออกไปข้างหน้าแต่เล็กนั้นเอง จึงลองทรงใช้สอย” และโปรดฯ ให้พระราชโอรสธิดาตามเสด็จเสมอ ทั้งในและนอกพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนหัวเมืองต่างๆ

พระราชธิดารุ่นใหญ่มักจะทรงจูงและดูแลพระองค์ที่ยังเล็กๆ หากเสด็จไปไกลหน่อย เช่นวัดราชประดิษฐ์ จะมีมหาดเล็กข้าหลวงอุ้ม บางครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขับรถม้าพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง เป็นรถสองล้อมีประทุน เทียมม้าเดี่ยว พระราชโอรสธิดาประทับสองข้างพระองค์ และตรงที่วางพระบาท

พระราชพิธีโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ภาพจาก http://sven-erik.org

หากมีขบวนแห่มักทรงพระราชยาน  โดยทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระราชโอรสธิดาที่ยังเล็กประทับบนพระราชยานด้วย พระองค์เจ้าชุดเล็กชุดสุดท้ายที่ได้ตามเสด็จบนพระราชยานคือพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ประทับบนพระเพลาหรือซอกพระขนอง อีกสององค์ที่เสด็จพร้อมกัน เป็นรุ่นเดียวกัน คือพระองค์เจ้าดิศวรกุมารและพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติประทับข้างหน้า

ในสมัยนั้นเริ่มมีเรือไฟชื่อ ‘เจ้าพระยา’ เดินเมล์และรับส่งสินค้าในกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์ทุกสิบห้าวัน นอกจากเอกสารหนังสือพระราชกิจเกี่ยวกับต่างประเทศ ก็มักจะมีของแปลกๆ เข้ามาถวาย อย่างเช่นน้ำแข็ง ที่เพิ่งทำได้ที่สิงคโปร์ ใส่หีบกลบขี้เลื่อย ส่วนของเล่น มีทั้งที่มากับเรือเมล์ และที่ทรงซื้อในประเทศ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า “เมื่อว่างพระราชกิจ บางทีทูลกระหม่อมเสด็จประพาสเวลาบ่าย ไปแวะห้างฝรั่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หรือเสด็จแวะตามร้านทรงซื้อของเล่นหรือของกินมาแจกพระเจ้าลูกเธอ เพราะฉะนั้นในพวกชั้นเล็ก ถึงจะได้ตามเสด็จหรือไม่ได้ตาม ก็อยากให้เสด็จประพาสด้วยกันทุกพระองค์(3)

ลูกกวาดนี้ บางครั้งก็เป็นเหตุให้เกิด ‘ข้อพิพาท’ ซึ่งจะได้เล่าถึงต่อไป…

………………………………………………………………..

เชิงอรรถ

(1) พระราชหัตถเลขา ถึงพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ เรื่องการต้อนรับราชทูตเมืองปรุสเซีย จาก www.thaiheritage.net

(2) ประชุมพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระองค์เจ้าคัคณางค์ยุคล) หม่อมราชวงศ์หญิงรสลิน คัคณางค์ พิมพ์สนองพระคุณคุณย่า หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา 

(3) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ (พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505)

 

 

Don`t copy text!