สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 13 : สุริยุปราคา
โดย : สิริทัศนา
จากอดีตสมัย โดย สิริทัศนา
เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………………….
“สุริยุปราคาจับหมดดวงนาน 6 นาที 45 วินาทีก็เริ่มคลาย
มีแสงสว่างพุ่งแปลบออกมาจากดวงอาทิตย์ “
สุริยุปราคา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาวิชาดาราศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวช ดังที่หมอเหา (เฮ้าส์) บันทึกเรื่องการเข้าเฝ้าที่วัดบวรนิเวศวิหารไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้เหลียวมองไปรอบๆ ห้อง และเห็นพระคัมภีร์ไบเบิลของสมาคม เอ. บี. และพจนานุกรมเวบสเตอร์ตั้งเคียงบนชั้นบนโต๊ะเขียนหนังสือ นอกจากนั้นยังมีตารางดาราศาสตร์และการเดินเรือวางอยู่ด้วย ส่วนข้างบนอีกโต๊ะหนึ่งมีแผนผังอุปราคาที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป มีรายการคำนวณเขียนไว้ด้วยดินสอ”
นอกจากตารางดาราศาสตร์ ยังทรงสั่งซื้อตำรา กล้องโทรทรรศน์ และแผนที่ดวงดาวจากต่างประเทศ จนเป็นที่ทราบกันว่าทรงโปรด เครื่องราชบรรณาการที่ส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายจึงมีหนังสือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์รวมอยู่ด้วย อาทิ เครื่องชั่ง ลูกโลก เครื่องวัดความดันอากาศ เครื่องวัดอุณหภูมิ และกล้องโทรทรรศน์ ที่เซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรลงความเห็นว่า กล้องที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียโปรดฯ ให้เขาอัญเชิญมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น “คุณภาพต่ำกว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ทรงมีอยู่แล้ว”
พระปรีชาสามารถทางดาราศาสตร์นั้นถึงขั้นที่ทรงประดิษฐ์ปฏิทินจันทรคติแบบใหม่ ที่แม่นยำกว่าเดิม และทรงคำนวณได้ล่วงหน้าถึงสองปีว่า ในปีมะโรง พ.ศ. 2411 จะเกิดสุริยุปราคาหมดดวง ซึ่งในตำราโหรไทยแต่เดิมเชื่อกันว่าสุริยุปราคาจะไม่มืดหมดดวงเหมือนอย่างจันทรุปราคา โหรทั้งหลายจึงไม่เชื่อ แต่ทรงยืนยันและทรงคำนวณเวลานาที รวมถึงสถานที่ซึ่งจะมองเห็นได้ คือที่หว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ ดังปรากฏในจดหมายเหตุฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า
“ในเดือน ๙ นั้นทรงพระราชดำริรำพึงถึงการสุริยุปราคาซึ่งจะมีในเดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ ได้ทรงคำนวณไว้แต่เมื่อปีขาล อัฐศกว่า ในปีมะโรง สัม๑๘ฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ จะมีสุริยุปราคาจับหมดดวงซึ่งยากนักที่จะได้เห็นในพระราชอาณาจักร ด้วยวิธีโหราศาสตร์ได้ทรงสระสมมานานตามสารัมภ์ไทย สารัมภ์มอญ แต่ตำราอเมริกันฉบับเก่าและตำราอังกฤษเป็นหลายฉบับ ได้ทรงคำนวณสอบสวนต้องกัน ได้ทรงกะการตามในแผนที่ว่าจะมีเป็นแน่ ทวีปขิยอุดรองสา ๑๑ ลิบดา ๔๑ พิลิบ ๔๐ เป็นตะวันตกกรุงเทพมหานครเพียง ลิบดา ๕๐ เวลา กับในกรุงเทพมหานครเพียง ๓ นาทีกับ ๒๐ วินาที ได้ทรงพิจารณาละเอียดถ้วนถี่แล้วว่า พระอาทิตย์จะจับหมดดวง และเห็นบนหน้าแผ่นดินไปไกลถึงลิบดา ๑๓๐ ต่อ ลิบดา ๑๔๐ ที่ตำบลหว้ากอแขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตรงท่ามกลางที่มืดหมดดวง ขึ้นมาข้างบนถึงเมืองปราณบุรี ลงไปข้างใต้ถึงเมืองชุมพร ได้ทราบการเป็นแน่ดังนี้แล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งพณฯ หัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหมให้จัดการจ้างคนในหัวเมืองเพ็ชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองประทิว และนายงานหลายนายให้จัดการทำค่ายหลวงและที่พลับพลาประทับแรม ที่ตำบลหว้ากอ ตรงเกาะจานเข้าไป ใต้คลองวานลงไปทาง ๒๔ เส้น แล้วโปรดให้แต่งคำประกาศตีพิมพ์แจกให้ทราบทั่วกัน”
ในครั้งนั้น นักดาราศาสตร์และนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสทราบว่าจะมีสุริยุปราคา จึงส่งหนังสือมายังกงสุลฝรั่งเศสในสยาม ให้ขอพระราชทานพระราชานุญาตที่จะเข้ามาชม โดยยังไม่ทราบว่าจะมองเห็นได้ที่ไหน ต่อมา เมื่อได้ข่าวว่าสมุหพระกลาโหมไปสร้างพลับพลาที่หว้ากอ พวกเขาจึงตามไปตั้งค่ายใกล้กัน โดยนำกล้องมาถึง 50 กล้อง
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกไว้ในจดหมายเหตุเสด็จหว้ากอ ว่า ขบวนเสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพฯ “ในวันศุกร์เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ออกจากท่านิเวศน์วรดิษฐ์ใช้จักรไปถึงเมืองสมุทรปราการ”
“ณวันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำเวลาเย็น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชขึ้นฝั่ง ทรงม้าพระที่นั่งตั้งแต่อ่าวมะนาวลงไปถึงพลับพลาค่ายหลวงตำบลหว้ากอ เวลาย่ำค่ำเรือพระที่นั่งก็ถอยลงไปทอดอยู่ที่หน้าค่ายหลวง ห่างฝั่งประมาณ ๒๐ เส้นเศษ เรืออรรคเรศรัตนาศน์ เรือสยามูปสดัมภ์และเรืออื่นๆ ก็ทอดล้อมวงอยู่ชั้นนอกพร้อมกัน”
“รุ่งขึ้นณวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ได้พระฤกษ์ยกเสาธงและฉัตร ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นที่พลับพลาค่ายหลวง รับสั่งให้ประโคมแล้วทรงจุดปืนใหญ่ด้วยพระหัตถ์ สลุตธงสลับกันกับทหารปืนใหญ่ฝ่ายละนัดจนครบ ๒๑ นัด ทั้ง ๒ ข้าง ปืนเรือสยามูปสดัมภ์ได้ยิงอีก ๒๑ นัด รวมเป็น ๖๓ นัด เวลาบ่าย ๑ โมง พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสมาเฝ้าที่พลับพลา ๘ นาย พระราชทานทองคำ (บางสะพาน) กำเนิดนพคุณทุกนาย”
ในหมู่ชาวต่างประเทศที่มาชมสุริยุปราคา มีเซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการสิงคโปรกับภรรยา และนายพันตรีแมกแนร์ นายร้อยเอกมอยเสย์ กรมทหารช่างหลวง นายร้อยโทคัมมินส์ นายทหารคนสนิท นายนาวาเอกเอดีย์ นายเรือเอกออสโบน กับนายทหารราชนาวีอังกฤษอื่นๆ อีกหลายนาย รวมทั้งมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ด้วย
ฝ่ายอังกฤษประทับใจในการต้อนรับมาก เห็นได้จากจดหมายเหตุของเซอร์แฮรี ออด ที่บันทึกไว้ว่า
“พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ข้าราชการสยามกับนายเล่าพ่อยิ้ม (ที่จริงเป็นคนเดียวกัน) ซึ่งรับหน้าที่จัดอาหารเลี้ยงแขกเมืองมาคอยรับรองและแจ้งให้ท่านเจ้าเมืองทราบว่า ถ้าต้องการโต๊ะสำหรับเลี้ยงมากน้อยกี่คนสุดแล้วแต่จะเชิญมา จะได้จัดหามาให้ตามเวลาที่กำหนดไว้ และแสดงความหวังว่าคงไม่มีอะไรขาดเหลือในการปฏิบัติ เพื่อให้ท่านเจ้าเมืองและพวกได้รับความสบาย แล้วนำเอาพ่อครัวฝรั่งเศสเข้ามาให้รู้จัก พร้อมด้วยชาวอิตาลีหนึ่งและลูกมือชาวเมืองอีกหลายคน ซึ่งได้รับคำสั่งให้คอยระวังปฏิบัติความประสงค์ทุกอย่างของพวกแขกเมืองที่มา และการเลี้ยงดูได้จัดหามาเลี้ยงอย่างฟุ่มเฟือยบริบูรณ์ บรรดาของอร่อยที่อาจจะหามาถึงแถบประเทศแถวนี้ก็ได้พยายามสืบเสาะหามาจากเมืองสิงคโปร์และกรุงเทพฯ และการทำกับข้าวก็ทำอย่างปราณีต มีทั้งเหล้าและน้ำองุ่นต่างๆ น้ำแข็งก็บริบูรณ์ อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่ต้องการอีก นายนาวาเอกเอดีย์ กับนายทหารเรืออีกหลายนาย นายอัลบาสเตอร์ และนางอัลบาสเตอร์ นางแคมบ์เบลภรรยาหมอในสถานกงสุลกับทั้งพวกคณะกงสุลก็ได้มาเข้าพวกด้วยอย่างสนิทสนมกับพวกเรา แท้จริงพวกที่มาไม่มีใครได้นึกคาดว่าจะได้พบที่พักอาศัยอันอุดมเช่นนี้ในป่าแห่งประเทศสยามเลย”
“วันที่ล่วงไปวันนั้นเป็นเวลาจัดเตรียมการที่จะดูสุริยุปราคาในวันรุ่งขึ้น และท่านเจ้าเมืองได้รับเยี่ยมจากท่านกลาโหม และข้าราชการสยามผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ในวันนั้นเมื่อเวลาค่ำประมาณ ๙ ล.ท. (๒๑.๐๐ น.) ท่านเจ้าเมืองกับพวกที่มาด้วยทั้งชายหญิงทั้งหมดได้รับเชิญให้ไปที่ค่ายหลวง เมื่อไปถึงตรงทางที่จะเข้าไปในท้องพระโรง พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดเสด็จออกมาทรงต้อนรับ และทรงพาเข้าไปในพระห้องรโหฐานแห่งหนึ่ง ทรงแนะนำให้รู้จักกับข้าราชการฝ่ายในและพระองค์เจ้าหญิงซึ่งยังทรงพระเยาว์”
ที่หว้ากอนั้น เซอร์แฮรียังได้เฝ้าพระราชโอรสธิดา ซึ่งตามเสด็จไปหลายพระองค์ ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และพระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงชั้นใหญ่ รวมถึงพระองค์เจ้าแขไขดวง พระชันษาเพียง 5 ปี และมีเจ้าจอมมารดาตามเสด็จอีกหลายท่าน
จดหมายเหตุของเซอร์แฮรีบันทึกว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระราชกุมารที่ทรงพระปัญญาเฉลียวฉลาดยิ่งนัก พระรูปทรงสูงและท่วงทีกล้าหาญเกินแก่พระชนมายุ ส่วนพระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง 3 พระองค์ที่มีพระชนมายุสูงกว่าก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ (ให้ดำ) ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้วต้องชม ว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชมและตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์ เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงจัดหาพระพี่เลี้ยงเป็นชาวอังกฤษไว้”
“เมื่อได้ทรงแนะนำให้ท่านเจ้าเมืองกับพวกผู้หญิงรู้จักกับฝ่ายในแล้ว โปรดให้พวกเรานั่งลงรอบโต๊ะที่กลางห้อง พระราชทานเลี้ยงน้ำชากาแฟและขนมหวาน เมื่ออยู่ได้สักพักครึ่งนาฬิกาพวกเราก็ลงจากห้อง (ซึ่งอยู่บนชั้นสูงของวังพลับพลา) กลับออกมายังท้องพระโรงซึ่งมีการเต้นรำ วิธีออกจะคล้ายคลึงกับเต้นรำนัจในอินเดีย ผู้เต้นรำเป็นสตรีรุ่นๆ ของหลวงหลายคนแต่งตัวอย่างวิจิตร และได้รับการฝึกฝนพิเศษสำหรับการนี้ ดนตรีของใช้เครื่องของสยาม มีขลุ่ยกลองกระจับปี่ชนิดหนึ่งอย่างกระจับปี่คีตา และเครื่องดนตรีทำด้วยไม้แผ่นๆ แบนๆ ตีด้วยไม้เป็นปุ่มเสียงดังฟังเพราะดี ประมาณ ๑๑ ล.ท. พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโอกาสให้พวกเรากราบบังคมลากลับมา”
วันรุ่งขึ้น คือเช้าวันที่ 18 สิงหาคม 2411 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณว่าจะเกิดสุริยุปราคา ตอนเช้า 10 โมง 3 นาที เสด็จออกทรงกล้อง แต่ท้องฟ้ายังมีเมฆฝน จนกระทั่ง 10 โมง 16 นาที จึงสว่างขึ้นมองเห็นดวงอาทิตย์
“ในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๒๐ นาที ท้องฟ้าทั้งหมดก็ดำคล้ำลงและวัตถุต่างๆ ซึ่งอยู่ไกลก็ปรากฏรูปมัวลง ทะเลก็เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแก่ และเรือกำปั่นซึ่งทอดอยู่ห่างจากฝั่งในระยะ ๓ ไมล์ก็เห็นไม่ชัด เครื่องวัดอากาศในบัดนี้ลดลงได้ ๖ องศาจากขนาดความหนาวร้อนของอากาศ รู้สึกเย็นอย่างประจักษ์ด้วยกันทุกคน เวลา ๑๑ นาฬิกา ๒๕ นาที มีความมืดจัด วัตถุที่อยู่บนบกแต่ไกลแทบสังเกตไม่ได้ ต้นไม้ในที่ใกล้บ้านก็มืดเป็นก้อนดำ ดวงดาวก็ปรากฏขึ้นทางสูงสุดของขอบฟ้าทางโน้นทางนี้ เรือกำปั่นในทะเลก็หายไปมองไม่เห็น ในเวลาดวงอาทิตย์มืดหมดซึ่งปรากฏในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๐ นาที มีความมืดมากจนรูปหน้าคนซึ่งอยู่ในระยะ ๒-๓ ฟิตก็สังเกตไม่ได้ และการคาดคะเนระยะทางว่าใกล้ไกลเพียงไรก็ดูเหมือนหมดไปด้วย เครื่องวัดอากาศก็มองดูไม่เห็น นอกจากมีแสงไฟส่องให้ใกล้ ท้องฟ้ามีดาวพราวเหมือนในเวลาสนธยา”
สุริยุปราคาจับหมดดวงนาน 6 นาที 45 วินาทีก็เริ่มคลาย มีแสงสว่างพุ่งแปลบออกมาจากดวงอาทิตย์ จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ แล้วเวลาเย็น เสด็จพร้อมด้วยพระราชโอรสธิดาทรงเยี่ยมผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์
“พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชหฤทัยยินดี ด้วยทรงคำนวณเวลาสุริยุปราคาได้ถูกต้องแน่นอน มีรับสั่งสนทนาอยู่นาน ตรัสเป็นภาษาอังกฤษ ทรงแสดงความหวังพระราชหฤทัยว่าท่านเจ้าเมืองคงพอใจในการที่มาคราวนี้ และการต้อนรับที่บริบูรณ์ทุกอย่าง ส่วนพระเจ้าลูกยาเธอเล็กๆ นั้น สาละวนเพลินด้วยทอดพระเนตรสมุดรูปถ่าย เมื่อเสด็จประทับอยู่สักครึ่งหนึ่งนาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนิรกลับ ได้มีรับสั่งให้พวกเราไปเฝ้าในเย็นวันนั้นเพื่อดูลครอีกครั้งหนึ่ง…”
“ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๑๗ สิงหาคม มีพระบรมราชโองการ ให้พวกเราไปยังพลับพลา ได้พยายามฉายพระบรมรูปและรูปพวกในคณะผู้ว่าราชการไว้อิก เพื่อเปนที่รฦกในการที่ได้มานี้ แต่เครื่องถ่ายชำรุด ความพยายามแห่งคนฉายรูปของเราในคราวนี้จึงไม่สำเร็จประโยชน์เหมือนคราวอื่น ๆ แล้วพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ เซอ แฮรีกับคุณหญิง ออด เข้าไปลาข้าราชการฝ่ายใน พระเจ้าแผ่นดินเสด็จทรงนำไป นายนาวาเอก เอดีย์ และนายพันตรี แมกแนร์นั้นก็โปรดให้เข้าไปด้วย…”
“เมื่อเข้าไปถึงข้างในได้พบปะเหล่าผู้เป็นประธานฝ่ายใน แต่งกายด้วยผ้าทองอย่างงามมาก ประดับอาภรณ์แลพราวตา พระองค์เจ้าหญิงที่ทรงพระเจริญเป็นผู้ทรงเลี้ยงเครื่องดื่ม และพระเจ้าแผ่นดินได้มีพระราชดำรัสเป็นภาษาอังกฤษกับท่านเจ้าเมืองอยู่นาน ได้ทรงแสดงความพอพระราชหฤทัยบ่อยๆถึงที่ได้ทรงกระทำความคุ้นเคยกับเซอร์แฮรีและคุณหญิงออด ทรงหวังว่าพระราชไมตรีอย่างสนิทสนมในระหว่างสองประเทศคงจะดำรงอยู่สืบไป”
การเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอสำเร็จสมพระราชประสงค์ ทั้งในทางดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มประชวรระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับ กระนั้น ราวเจ็ดวันต่อมาก็ยังเสด็จออกในพระราชพิธีสมโภชพระแก้วมรกต ก่อนที่พระอาการจะทรุดหนัก…
แหล่งข้อมูล
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ (พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505)
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 19 จดหมายเหตุหอสาตราคมกับ จดหมายเหตุเรื่องสุริยุปราคา ปีมะโรง พ.ศ. 2411 (พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2463) พิมพ์ครั้งที่ 2
- สุริยุปราคาที่หว้ากอ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: http://www.finearts.go.th (วันที่ค้นข้อมูล : 21/7/61)
- วรเชษฐ์ บุญปลอด. (2547). ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: http://thaiastro.nectec.or.th
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 23 : โปรดเกล้าฯ สถาปนา
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 22 : เจ้าคุณจอมมารดา
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 21 : สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 20 : พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 19 : พระราชโอรสเสด็จอินเดีย
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 18 : โสกันต์
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 17 : วังริมแม่น้ำเจ้าพระยา
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 16 : ปีแรกในรัชกาลที่ 5
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 15 : ผลัดแผ่นดิน
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 14 : ประชวร
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 13 : สุริยุปราคา
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 12 : วังของพระองค์อุณากรรณ
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 11 : ที่นาพระราชทาน
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 10 : พระบรมราโชวาทพระราชทานเงินและทรงสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอ
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 9 : เล่าเรียนของเจ้านายเล็กๆ ในรัชกาลที่ 4
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 8 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระราชโอรสธิดา
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 7 : พรพระราชทาน
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 6 : ช่วงเวลาแห่งความสุข
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 5 : พระราชอาคันตุกะ
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 3 : เจ้าจอม
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 4 : อังกฤษ
- READ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 2 : อุณากรรณ
- READ จากอดีตสมัย ตอน "หลวงอาสาสำแดง (แตง) - คุณท้าว"