สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 14 : ประชวร

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 14 : ประชวร

โดย : สิริทัศนา

Loading

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

…………………………………………………….

“อย่าร้องไห้ไป ความตายไม่เป็นอัศจรรย์

เกิดมาเป็นรูปเป็นนามแล้วต้องตายหมด

จะไม่เลือกหน้าผู้ใดหามิได้

เหมือนกับศาลาอาศัยคนเดินทางมาพักแล้วต่างคนก็ต่างไป”

ประชวร

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครั่นพระองค์และเสวยพระโอสถข้างที่มาตั้งแต่คืนวันสมโภชพระแก้วมรกต แล้วเริ่มมีพระอาการไข้จับสั่นในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ต้องงดเสด็จออกว่าราชการ แต่ยังทรงงาน ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่สี่ว่า ไวซ์กงสุลสยามเมืองสิงคโปร์ เข้าเฝ้ารับนามสัญญาบัตรในวันที่ 9 กันยายน โดยมีพระองค์อุณากรรณถวายงานอยู่ด้วย

“เวลาบ่าย 4 โมงเศษ โปรดให้เลื่อนขุนศรีสยามกิจ เป็นหลวงศรีสยามกิจ ไวซ์กงสุลสยามเมืองสิงคโปร์ โปรดให้เข้าไปรับนามสัญญาบัตรต่อพระหัตถ์ ในที่ทรงพระประชวร แต่สัญญาบัตรนั้น ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณ ประทับพระราชลัญจกรแทน ด้วยทรงพระกำลังน้อยดำรงพระองค์ขึ้นไม่ใคร่จะได้ แต่ทรงพระอุตสาหะเซ็นพระนามให้เป็นสำคัญ”

พอตกค่ำ พระอาการก็ทรุดลงอีก เจ้าจอมมารดาเปี่ยม และพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ต้องประคองพระองค์ “ครั้นเวลาค่ำพระองค์ร้อนจัด พอเวลาประมาณยามเศษปวดลงพระบังคนหนัก จึงรับสั่งให้หาพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยมให้พยุงพระองค์เสด็จไปลงพระบังคนในห้องชั้นนอก แต่พอเสด็จประทับลงก็ประชวรพระวาโยพระเนตรช้อนสิ้นพระสติ”

“ครั้นเวลาประมาณ 3 ยาม พระพิษคลายได้พระสติ รับสั่งว่าลูกขอน้ำพ่อกินหน่อย พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ได้ถวายพระสุธารสแล้วรับสั่งถามว่ากี่ทุ่มแล้ว พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์กราบทูลว่าเวลา 3 ยามแล้ว รับสั่งว่านี่พ่อเป็นอะไรจึงไม่รู้ตัว พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์จึงกราบทูลว่าทรงประชวรพระวาโย ครั้นแล้วบรรทมหลับไปจนเวลาโมงเช้า บรรทมตื่นรับสั่งให้หาเจ้าจอมมารดาเปี่ยมมา”

เช้าวันนั้น ทรงมีรับสั่งว่า “เห็นสังขารจะไม่ทนไปกี่วัน” พระราชโอรสธิดา และเจ้าจอมมารดาที่เฝ้าอยู่ก็พากันร่ำไห้ จึงพระราชทานพระบรมราโชวาทว่า “อย่าร้องไห้ไป ความตายไม่เป็นอัศจรรย์ เกิดมาเป็นรูปเป็นนามแล้วต้องตายหมด จะไม่เลือกหน้าผู้ใดหามิได้ เหมือนกับศาลาอาศัยคนเดินทางมาพักแล้วต่างคนก็ต่างไป”

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน มีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จออก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีประกาศสั่งให้ล้อมวงตั้งกองป้องกันพิทักษ์รักษาพระบรมมหาราชวังและพระตำหนักสวนกุหลาบที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว
(http://sven-erik.org)

แม้หมอหลวงจะประชุมกันถวายพระโอสถ พระอาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรุดลงเป็นลำดับ มีพระบรมราชโองการให้หาเจ้าต่างกรมและขุนนางผู้ใหญ่มาพร้อมกัน ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ แล้วโปรดให้พนักงานนำสิ่งของซึ่งเป็นส่วนของพระวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีถวายไว้เมื่อเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่พระราชทานคืนไป หลายท่านได้รับสิ่งของพระราชทานเพิ่มอีก และทรงถวายพระธำมรงค์เพชรบูชาในพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย

หมู่พระอภิเนาวนิเวศน์
(Postjung.com)

วันที่ 23 กันยายน เวลาเช้า 4 โมงเศษ มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า “ข้าให้ไปเรียนคุณศรีสุริยวงศ์ ข้าเป็นคนลูกมากรากดก แล้วลูกก็ยังเด็กเล็กอยู่ ไหนๆ คุณศรีสุริยวงศ์ก็ได้อุปถัมภ์บำรุงข้ามา ถ้าข้าไม่มีตัวแล้วขอให้คุณศรีสุริยวงศ์ (1) อุปถัมภ์บำรุงลูกของข้าเหมือนตัวข้า ขออย่าให้มีภัยอันตรายเป็นที่กีดขวางด้วยการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นข้อใหญ่ก็ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ถ้าโทษตั้วเหี่ยแล้วก็ตามกาลจะเป็นไป ถ้าไม่ถึงตั้วเหี่ยแล้วก็อย่าให้ต้องเป็นไปเลย จงออกไปกราบเรียนเดี๋ยวนี้” พระองค์อุณากรรณเฝ้าอยู่ด้วย ก็ตามมากับพระยาบุรุษ (2) แล้วพระยาบุรุษกราบเรียนตามพระกระแสรับสั่งทุกประการ

วันเดียวกันนั้น พระราชทานพระราชหัตถเลขาเชิญออกมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวง กรมขุน และท่านเสนาบดี อ่านความในพระราชหัตถเลขาว่า พระราชดำริทรงเห็นว่า ซึ่งจะสืบพระราชสุริยวงศ์ต่อไปภายหน้านั้น พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอก็ให้ไปปรึกษากันจงพร้อม แล้วแต่จะเห็นท่านผู้ใดมีปรีชาควรรักษาแผ่นดินได้ก็ให้ยกขึ้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ

วันที่ 30 กันยายน รับสั่งให้หาพณฯ หัวเจ้าท่านที่สมุหพระกลาโหมเข้าไปเฝ้า รับสั่งถามด้วยราชการและการอื่นๆ อีกเป็นหลายข้อ พณฯ หัวเจ้าท่านที่สมุหพระกลาโหม กราบทูลโดยการที่จัดไว้เสร็จแล้วทุกประการ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี พณฯ หัวเจ้าท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นำพระธำมรงค์กับประคำ ไปพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ

แล้วทรงมีรับสั่งกับพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ และพระองค์เจ้าโสมาวดีว่า “เจ้าสองคนได้รักษาพยาบาลพ่อมา บัดนี้พ่อก็ใกล้จะตายอยู่แล้ว แหวนเพชรเบี้ยใหญ่สองวงที่ถอดเป็นเข็มกลัดคอได้นั้น ให้เก็บไว้เป็นที่ระลึกคนละวง ให้พ่อกลางวงหนึ่ง ให้พ่อเล็กวงหนึ่ง แลแหวนทับทิมใหญ่นั้นให้พ่อกรรณ แหวนทับทิมเล็กให้สวัสดิ จะได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าพ่อได้ให้เมื่อจะตาย”

พ่อกลาง คือเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี พ่อเล็ก คือเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ทั้งสองพระองค์ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สวัสดิ คือพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหุ่น พ่อกรรณ คือพระองค์อุณากรรณ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม

เมื่อทอดพระเนตรพระเจ้าลูกเธอที่ฝ้าอยู่หลายพระองค์แล้วก็รับสั่งว่า “แหวนทองที่มีราคาจะแจกลูกเสียหมดเล่า พระเจ้าแผ่นดินที่เข้ามาใหม่จะว่าได้ ว่าของดีๆ ขนแจกลูกเสียหมด ต้องเอาไว้สำหรับแผ่นดิน แม่หนูใหญ่ แม่หนูโสม จงไปค้นแหวนข้างที่ซึ่งสำหรับแจกนั้นมาแจกให้น้องเสียคนละวงตามมีตามได้เถิด” พระเจ้าลูกเธอที่เฝ้าอยู่ได้ฟังรับสั่งแล้วก็กรรแสง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราโชวาทว่า “อย่าร้องไห้ไปเลย พ่อตายแล้วก็จงอุตส่าห์รักษาตัว แลให้รักใคร่กันพี่ๆ น้องๆ” และพระราชทานเงินสำหรับพระราชโอรสที่บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ 7 พระองค์ ไว้สำหรับสร้างวัง ส่วนพระราชโอรสธิดารุ่นเล็กนั้น ไม่ได้ขึ้นมาเฝ้า เพราะทอดพระเนตรเห็นแล้วยิ่งทรงห่วงใย

เวลา 5 โมงเย็น รับสั่งให้หาพระศรีสุนทรโวหารเข้าไปเฝ้า รับสั่งให้จดคาถาเป็นคำมคธพระราชนิพนธ์ แล้วรับสั่งถามพระศรีสุนทรว่า รับสั่งดั่งนี้ผิดเพี้ยนอย่างไรบ้าง พระศรีสุนทรโวหารกราบทูลว่า ที่ทรงตรัสดังนี้ไม่ผิดเพี้ยนแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเหมือนหนึ่งปกติไม่ประชวร จึงรับสั่งว่า พระอาการมากถึงเพียงนี้แล้ว ก็ยังไม่ฟั่นเฟือนสติทรงพระคาถาได้จนจบ ให้พระศรีสุนทรออกไปคัดลอก แล้วให้มหาดเล็กเชิญธูปเทียนเท่าพระชันษา และพระคาถาไปลาพระสงฆ์ราชาคณะ ทุกพระอารามหลวง

วันรุ่งขึ้น เวลาเช้า 3 โมงเศษ รับสั่งให้หาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กรมขุนวรจักรธรานุภาพ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนบำราบปรปักษ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัย เข้าไปเฝ้าในที่ทรงพระประชวร รับสั่งว่า วันนี้เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง นักปราชญ์ทั้งหลายก็ถึงความดับเป็นอันมากในวันเพ็ญดังนี้ ควรพระชนมายุจะหมดจะดับในวันนี้เป็นแน่แล้ว ซึ่งขัดเคืองว่ากล่าวแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงมาแต่ก่อนนั้น ขออโหสิกรรมกันเสียเถิด อย่าให้เป็นเวรกันต่อไป ขอฝากแต่พระเจ้าลูกยาเธอ และเจ้าลูกเธอด้วย ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ

ครั้นเวลาย่ำค่ำแล้ว รับสั่งให้หาพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเข้าไปเฝ้า ให้พยุงพระองค์พลิกพระเศียรทับพระพาหาเหมือนอย่างพระไสยาศน์ จึงตรัสว่าเขาตายกันดังนี้

รับสั่งให้จุดเทียนชัย และห้ามมิให้ถวายพระหนทาง แล้วก็ทรงเจริญพระกรรมฐานสมาธิภาวนานิ่ง เสด็จสวรรคตเวลายาม 1 กับ 5 นาที มีหมอกกลุ้มมัวเข้าไปทั่วพระที่นั่ง

…………………………………………………………………………………..

เชิงอรรถ

(1) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

(2) พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล) ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี และเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง

แหล่งข้อมูล

  • เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ 4. (พระนคร : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, 2477)
  • ปรามินทร์ เครือทอง, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 สวรรคต วันสุดท้ายของกษัตริย์นักปราชญ์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2543)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 52 จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พิมพ์พระราชทานในงานศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์. (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472)

 

 

Don`t copy text!