Lawrence in the Fall (April, 2019)

Lawrence in the Fall (April, 2019)

โดย : ศุภสวัสดิ์

Loading

ฉันวางหนังสือนิทานระหว่างเรา คอลัมน์เกี่ยวกับ “นิทาน” ในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนทั้งที่เคยได้อ่านในวัยเด็กและวัยนี้ ที่ ‘ศุภสวัสดิ์’ คัดเลือกมาเล่าให้อ่านกันที่ อ่านเอา เว็บไซต์ที่ไม่ได้มีดีแค่นวนิยายออนไลน์ แต่เรายังมีคอลัมน์ต่างๆ รอให้คนรักการอ่านได้อ่านออนไลน์

**********************************

Matthew Farina เกิดและเติบโตที่รัฐวิสคอนซิน เข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในนิวยอร์กตั้งแต่จบชั้นมัธยมศึกษา ปัจจุบันทำงานเป็น Director of Admissions ของ School of Visual Arts ที่นิวยอร์ก เขาเรียนจบปริญญาตรีและโทสาขาศิลปกรรม (ภาพสีน้ำมัน) จาก University of Pennsylvania (2008) และ School of Visual Arts (2014) ตามลำดับ Matthew Farina เป็นจิตรกรที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในแถบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เขาจัดงานแสดงนิทรรศการภาพเขียนสีน้ำมันของเขาขึ้นเป็นประจำปีละสองครั้งทั้งที่ในนิวยอร์กและเพนซิลเวเนีย หากสนใจสามารถติดตามดูผลงานภาพเขียนของเขาได้ทาง www.matthewfarina.com สำหรับนิทานเรื่อง Lawrence in the Fall เล่มนี้ถือเป็นงานเขียนนิทานเล่มแรกและเล่มเดียวของเขาจนถึงปัจจุบัน

ส่วน Doug Salati ผู้วาดภาพประกอบนิทานเรื่องนี้ เขาเกิดและเติบโตขึ้นที่ใจกลางมหานครนิวยอร์ก Doug สำเร็จการศึกษาจาก Skidmore College และ Rochester Institute of Technology (RIT) จากนั้นจึงได้รับคัดเลือกเป็นนักศึกษาปริญญาโทในโครงการ Illustration as Visual Essay ที่ School of Visual Arts (2015) จนได้รู้จักกับ Matthew ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผลงานวาดภาพประกอบหนังสือนิทานชิ้นแรกของ Doug Salati คือเรื่อง ‘In a Small Kingdom’ (2016) แต่งโดย Tomie dePaola ซึ่งได้รับรางวัลและการตอบรับเป็นอย่างดี สำหรับนิทานเรื่อง Lawrence in the Fall นี้ถือเป็นผลงานการวาดภาพประกอบนิทานเรื่องที่สองของเขา ซึ่งก็สามารถคว้ารางวัลมาการันตีได้อีกหลายรางวัลเช่นกัน สามารถเข้าชมผลงานภาพวาดประกอบชิ้นอื่นๆ ของ Doug Salati เพิ่มเติมได้ที่ www.dougsalati.com

ทั้ง Matthew Farina และ Doug Salati ต่างรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ทั้งคู่ต่างมีวรรณกรรมเยาวชนที่ชื่นชอบมากมาย อย่างเช่น Fantastic Mr. Fox (1968) ของ Roald Dahl ที่มีบทพูดอันคมคาย และภาพประกอบที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของ Quentin Blake นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Charlotte’s Web (1952) ของ E.B. White ที่มีภาพวาดลายเส้นขาวดำคลาสสิกของ Garth Williams และเรื่องที่เป็นนิทานเล่มโปรดตลอดกาลและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาเรื่อยมานั่นคือเรื่อง Lon Po Po: A Red-Riding Hood Story from China (1989) ของ Ed Young ทั้งคู่กล่าวถึงนิทานเล่มนี้ว่ามีเสน่ห์ ชวนอ่าน สง่างาม และน่าตื่นเต้นอย่างแท้จริง Doug Salati ยังเสริมอีกว่าการอ่านหนังสือนิทานมาตั้งแต่เด็กช่วยให้เขาพัฒนาความรักในการอ่านและการเล่าเรื่อง และทำให้เขามีจินตนการที่ไร้ขอบเขตสามารถทำงานร่วมกับนักเขียนคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

Lawrence in the Fall (April, 2019)

เรื่องโดย Matthew Farina ภาพประกอบโดย Doug Salati

Lawrence in the Fall มีความยาวทั้งหมด 48 หน้า เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3-9 ขวบ ภาพประกอบในนิทานเรื่องนี้มีความสวยงามและโดดเด่นเป็นอย่างมาก จนได้รับการยกย่องจากสถาบันและสมาคมนักวาดภาพประกอบของสหรัฐอเมริกาอย่าง 3×3 Illustration, American Illustration (AI) และ the Society of Illustrators โดยในปี 2019 นิทานเรื่องนี้ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กที่ดีที่สุดแห่งปี พร้อมกับรางวัล Junior Library Guild Selection ในปีเดียวกัน แถมตบท้ายด้วยรางวัลนักเขียนนิทานและนักวาดภาพประกอบนิทานมือใหม่ยอดเยี่ยม (Ezra Jack Keats Honor Award) ในปี 2020 อีกหนึ่งรางวัล

นิทานเรื่องได้รับแรงบันดาลใจมาจากความทรงจำในวัยเด็กที่แสนงดงามของ Matthew Farina ในสมัยที่เขายังอยู่กับพ่อที่วิสคอนซิน พ่อของเขามีอาชีพเป็นรุกขกร (arborist) และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ (forester) วันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง พ่อของเขาชวนเขาออกไปเดินป่าและเก็บใบไม้แห้งด้วยกัน เขาได้เรียนรู้อะไรหลายจากจากป่าผืนนั้น ได้ค้นพบความงามอันเรียบง่ายของธรรมชาติจากการเดินเก็บใบไม้ต่างสีต่างชนิดที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้น

ประโยคแรกของหนังสือนิทานเล่มนี้เริ่มต้นจาก “ลอว์เรนซ์ยืนตัวแข็งทื่อ เมื่อเห็นการบ้านบนกระดานดำ” จากนั้น Matthew ก็นำผู้อ่านเข้าไปสู่เรื่องราวอันทรงพลัง พาเข้าไปผจญภัยในป่า ทำความรู้จักกับตัวเอง เผชิญหน้ากับความกลัว ความโดดเดี่ยวและความเป็นอิสระ ในนิทานอาจมีการสอดแทรกเรื่อง สังคมวัตถุนิยม การแบ่งปันให้กับคนรอบข้าง และการเสียสละให้คนที่เรารักอยู่บ้างประปราย ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่านจะหลงไปพบเจอประเด็นไหนเข้า ภาพวาดลายเส้นฝีมือของ Doug นั้นก็ทำงานสอดประสานกับเรื่องราวได้เป็นอย่างดี มีความสวยงาม นุ่มนวล ละเอียดอ่อน และเต็มไปด้วยการถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ บนสีหน้า โดยเฉพาะความวิตกกังวลที่เจืออยู่เสมอของใบหน้าลอว์เรนซ์ การใช้ลายเส้นดินสอ การคุมโทนด้วยสีฟ้า สีน้ำตาลอ่อน (Muted Brown) และสีเอิร์ธโทน (Earth Tone) หรือกลุ่มสีที่เลียนแบบสีของธรรมชาติ ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ไปสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ มากขึ้น

Doug เลือกวาดภาพผืนป่าจากหนึ่งหน้า แล้วค่อยๆ ขยายออกไปเป็นสองหน้าอย่างไม่รู้ตัว เขาทำให้ป่าดูสวยงามน่าทึ่งและกลับน่ากลัวมากขึ้นเมื่อลอว์เรนซ์ต้องพลัดหลงจากพ่อของเขา แต่เมื่อลอว์เลนซ์คุ้นเคยกับป่าและรู้สึกสบายใจมากขึ้น เขาก็ค่อยๆ รับรู้ถึงความมหัศจรรย์และความสวยงามของป่าไปทีละนิด เอกลักษณ์ของต้นไม้และใบไม้แต่ละต้นช่วยให้เขาทำการบ้านได้สำเร็จ สุดท้ายแล้วเขาก็มีของสะสมที่สวยงามไม่เหมือนใคร และในวันที่เขาต้องออกไปรายงานหน้าชั้น เขายังได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนๆ อีกมากมายเช่นกัน จนเมื่อเราเปิดหนังสือนิทานไปถึงหน้าสุดท้าย ภาพที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตรงหน้านั้นก็ช่างงดงามทั้งในด้านศิลปะ การวาด การลงสี และในแง่ของความหมายที่แอบซุกซ่อนอยู่ในนั้น เพียงแค่เราได้มองเห็นมัน..

นิทานเรื่องนี้ตั้งคำถามกับผมว่าการสะสมสิ่งของต่างๆ ในแต่ละช่วงของชีวิตเรานั้นทำให้เรามีความสุขมากน้อยแค่ไหน ของบางอย่างที่ผมสะสมมาในสมัยเด็กแม้ว่าจะดูเหมือนไร้ค่า ไร้ราคา และไร้สาระ แต่ก็นำมาซึ่งความสุขมากมาย ตั๋วรถเมล์ ฝาจีบน้ำอัดลม เปลือกลูกอม ไม้ไอติม แต่สำหรับตอนนี้ของสะสมของผมเริ่มมีราคามากขึ้น หาได้ยากขึ้น บางอย่างก็ต้องขวนขวายหามาจนเลือดตาแทบกระเด็น ก็อาจจะเป็นความสุขชั่วครั้งชั่วคราวเมื่อได้ครอบครอง แต่ถ้าได้ลองทบทวนดูดีๆ นี่เรามีความสุขน้อยลงหรือเปล่า หากวันหนึ่งถ้าเราลองตัดใจเลิกสะสมดู เราอาจจะรับรู้ถึงความสุขในอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนลอว์เรนซ์ก็เป็นได้…

ที่ปกในด้านหลังของนิทานเล่มนี้ยังมีภาพประกอบของใบไม้ต่างๆ ทั้ง Sugar Maple, Paper Birch, Red Oak, Weeping Willow, Horse Chestnut, Sycamore และอื่นๆ อีกมากมายที่เชิญชวนให้พวกเรา (เด็กๆ) ไปเดินเก็บกันในช่วงฤดูใบไม้ร่วงอยู่…

Don`t copy text!