เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชิราซ (Shiraz) ไม่ได้มีแต่องุ่น

เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชิราซ (Shiraz) ไม่ได้มีแต่องุ่น

โดย : สองตา

Loading

อ่านสองตา คอลัมน์ที่ ‘สองตา’ เจ้าของเพจ “บันทึกของสองตา” จะพาคุณผู้อ่านเดินทางสู่โลกกว้างด้วยงบประมาณอันน้อยนิด เพราะเพียงแค่คลิกเดียวคุณก็จะได้ขึ้นเครื่องออนทัวร์อย่างเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวต่างแดนที่เธอคนนี้ได้นำมาแบ่งปันให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

มัสยิดสีชมพู-สวนสวรรค์แห่งเปอร์เซีย-ป้อมปราการ-ตลาดเก่า และสุสานกวีเอก คือโปรแกรมเที่ยวเมืองชิราซ ศูนย์กลางการปกครองของจังหวัดฟาร์ (Fars) ที่ต้องบรรจุในโปรแกรมเที่ยวอิหร่านของทุกทัวร์

เพราะที่นี่เป็นเมืองแห่งความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในศตวรรษที่ 13-14 และชื่อที่เราจะได้ยินทั้งวัน จำได้เกี่ยวกับชิราซคือชื่อราชวงศ์ซานด์และผู้ปกครองที่เป็นที่รักของชาวเมืองที่ชื่อ คาริม ข่าน (Karim Khan)

แม้เมื่อคืนเครื่องบินจะดีเลย์ ทำให้เราเข้าที่พักดึกไปหน่อย แต่เช้านี้ทุกคนก็ยินดีตื่นเช้าและเริ่มทัวร์เร็ว เพราะจุดแรกที่ต้องไปถึงไม่เกิน 9 โมงเช้าคือมัสยิดสีชมพู  (Pink Mosque หรือ Nasir-Ol Molk) หนึ่งในมัสยิดสำคัญที่สุดในตอนใต้ของอิหร่าน

เหตุผลที่ต้องมาเช้าเพราะเป็นช่วงที่แสงแดดส่องผ่านหน้าต่างกระจกสีเข้ามาสู่โถงของมัสยิด  ทำให้เกิดแสงสีมลังเมลือง สวยเหมือนอยู่ในแดนสวรรค์ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปสาย นอกจากจะพลาดแสงสวยแล้ว ยังต้องเผชิญกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ จนอาจเกิดการชิงจังหวะเพื่อเข้าไปถ่ายรูปมุมมหาชนนั้นอีกด้วย

ระหว่างนั่งรถไปก็ฟังเรื่องเมืองไปเพลินๆ โดยไกด์สาวประจำทริปของเราผู้เป็นชาวเมืองชิราซ บอกว่าเมืองนี้ผู้คนใจดี เป็นมิตร และภูมิใจในบ้านเกิด อันนี้เราได้เจอกับตัวมาแล้วเมื่อคืนแล้วที่สนามบิน เมื่อครอบครัวหนึ่งพุ่งตรงมาทักทายพวกเราด้วยรอยยิ้มและชวนคุยว่ามาจากไหน ชอบอิหร่านมั้ย แล้วจะไปไหนอีก พอบอกไปชิราซทุกคนหัวเราะดีใจบอกว่าไปแล้วต้องชอบแน่ๆ เมืองของเขาน่าอยู่กว่าเตหะรานมาก ไม่มีรถติดแบบที่เราเจอแน่นอน ขายกันขนาดนี้ก็ต้องพิสูจน์

ชิราซเป็นเมืองที่เคยปลูกองุ่น ทำไวน์ ค้าขายมาก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และแอลกอฮอล์เป็นของต้องห้าม ภูมิภาคนี้เคยทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก แต่ปัญหาความแห้งแล้งทำให้ผู้คนที่อพยพมาหางานทำในเมืองสูงขึ้นเรื่อยๆ ทะเบียนราษฎร์ชิราซบันทึกจำนวนประชากรไว้ที่ 2 ล้าน แต่ไกด์บอกว่าน่าจะเกินไปเยอะ

ความแห้งแล้งเห็นได้จากแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองนั้นแห้งสนิท ไกด์บอกว่าในชีวิตของตัวเอง เคยเห็นน้ำในแม่น้ำเอ่อท่วมขึ้นมาจนถึงริมฝั่งแค่สามครั้ง ช่างต่างจากบ้านเราที่ช่วงนั้นมีข่าวน้ำท่วมหลายจังหวัดให้ติดตามอยู่เสียจริง

ก่อนถึงที่หมาย ไกด์ย้ำอีกที (นวลบอกเราไว้แล้ว) ว่าที่นี่ ก่อนเข้าในบริเวณมัสยิด นักท่องเที่ยวผู้หญิงทุกคนต้องสวมชาดอร์ (Chador) ที่ทางมัสยิดจัดเตรียมไว้ให้

ตอนแรกเรานึกว่าเป็นชุดคลุมสีดำแบบที่เห็นผู้หญิงชาวมุสลิมในประเทศอิหร่านและในกลุ่มประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์สวมกัน ลักษณะจะเป็นผ้าคลุมยาวทรงรูปครึ่งวงกลม สามารถคลุมตั้งแต่ศีรษะจนถึงเท้า แต่ชาดอร์ที่มัสยิดสีชมพูเป็นผ้าฝ้ายสีขาวลายดอกไม้เล็กๆ ซอฟต์ๆ น่าเอ็นดู เข้ากับสถานที่ เจ้าหน้าที่ผู้หญิงตรงทางเข้าจะช่วยหยิบและสวมให้เรา เมื่อเรียบร้อยจึงอนุญาตให้เข้าไปในมัสยิดได้ ส่วนผู้ชายเดินเข้าไปได้เลย

ผังของมัสยิดคือมีสระน้ำตรงกลางลาน ทิศเหนือ-ใต้ของสระน้ำเป็นโดม 2 ด้าน มีอาคาร 2 หลังอยู่ด้านซ้าย-ขวา เป็นการออกแบบที่สมมาตรทุกมุมตามแบบสถาปัตย กรรมกาจาร์ (ตรงกับช่วงต้นรัตนโกสินทร์)

ฉันเข้าไปในอาคารด้านขวามือใกล้ทางเข้าก่อน พอเข้าไปก็ยกยกมือไหว้ทำความเคารพสถานที่ แล้วค่อยเดินดูงานตกแต่งที่กระเบื้องสีภายในนี่ต้องถอยให้กับแสงที่ส่องผ่านกระจกหลากสีจริงๆ  ปรกติเราจะเห็นงานกระจกสีในโบสถ์ฝรั่ง แต่มัสยิดนี่นำมาใช้กว่าร้อยปีแล้ว ใช้กรุประตูไม้ทุกบาน เพื่อให้สถานที่สวดมนต์ในฤดูหนาวมีความอบอุ่นและชีวิตชีวาจากแสงแดด  และอย่างที่ไกด์และอาจารย์ต้นเตือนว่าคนจะเยอะ แป๊บเดียวพี่น้องชาวรัสเซียก็มาถึงและถ่ายรูปกันอย่างจริงจังมาก จนฉันต้องล่าถอยออกมา ข้ามไปอาคารอีกฝั่งที่ปัจจุบันเปิดเป็นร้านของที่ระลึก แต่มีห้องด้านในเปิดให้ชม ภายในมีบ่อน้ำ ฝั่งนี้ไว้ใช้งานในฤดูร้อน เพราะอาคารที่สร้างแบบปิดทึบไม่ได้หรูหราเหมือนอีกฝั่ง เพื่อเก็บรักษาความเย็นให้ได้มากที่สุด

ชื่อ ‘มัสยิดสีชมพู’ ได้มาจากสีกระจกและลวดลายกระเบื้องตกแต่งที่ใช้สีชมพูเป็นหลัก กระเบื้องมี 5 สี แต่ที่เด่นคือชมพูจับคู่กับสีเหลืองตัดกันได้อย่างสวยงาม ในขณะที่มัสยิดส่วนใหญ่ใช้กระเบื้องสีฟ้า น้ำเงิน ซึ่งนอกจากสีสันโดดเด่นแล้วลวดลายกระเบื้องในมัสยิดยังสวยงามมาก โดยเฉพาะตรงที่เป็น muqarnas ที่เหมือนรวงผึ้งเกาะอยู่บนเพดานใต้โดมอย่างวิจิตร

อาจารย์ต้นอธิบายให้ฟังแล้วแต่นักเรียนสอบตก จำได้แค่ว่ารวงผึ้งนั้นออกแบบเพื่อช่วยซัพพอร์ตเรื่องโครงสร้างโค้งๆ ด้วย ไม่ได้ทำแค่เพื่อสวยงามอย่างเดียว

ไหนๆ ก็เล่าเรื่องสถาปัตยกรรมแล้ว อาจารย์เลยชี้ให้ดูเสาปูนที่มีอิฐแทรกอยู่ ดูดีๆ จะมีไม้ปนอยู่กับหินหรืออิฐด้วย เป็นการตั้งใจใส่ไม้เพื่อเป็นตัวช่วยในยามเกิดแผ่นดินไหว เพราะไม้จะมีความยืดหยุ่นในการรับน้ำหนักและแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น เรียกว่าเป็นการก่อสร้างอย่างใส่ใจทุกรายละเอียด จึงใช้เวลาในการสร้างกว่า 12 ปี  เวลาผ่านมาเกือบ 150 ปี มัสยิดสีชมพูยังอยู่ในสภาพดี ส่วนหนึ่งเพราะที่นี่เป็นมัสยิดของครอบครัวคหบดีของเมือง ใช้เฉพาะครอบครัว ไม่ได้เปิดให้ชาวบ้านใช้ด้วย

แม้พื้นที่มัสยิดสีชมพูไม่ได้กว้างใหญ่ แต่มีรายละเอียดให้ต้องพิศ ต้องดูมากมาย เลยใช้เวลาไปไม่น้อยกับการดูด้วยตาและเก็บภาพ จนไกด์ต้องเร่งให้นำหน้าทัวร์รัสเซีย ไปจุดหมายต่อไปให้ได้ก่อน

Don`t copy text!