เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : เยือนเปอร์เซโพลิส (Persepolis) นครที่ร่ำรวยที่สุดใต้ดวงตะวัน

เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : เยือนเปอร์เซโพลิส (Persepolis) นครที่ร่ำรวยที่สุดใต้ดวงตะวัน

โดย : สองตา

Loading

อ่านสองตา คอลัมน์ที่ ‘สองตา’ เจ้าของเพจ “บันทึกของสองตา” จะพาคุณผู้อ่านเดินทางสู่โลกกว้างด้วยงบประมาณอันน้อยนิด เพราะเพียงแค่คลิกเดียวคุณก็จะได้ขึ้นเครื่องออนทัวร์อย่างเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวต่างแดนที่เธอคนนี้ได้นำมาแบ่งปันให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

 

วันนี้เป็นอีกวันที่เราต้องเช็กเอาต์ พร้อมเคลื่อนกองคาราวานแต่เช้า เพื่อเดินทางสู่เมืองโบราณเปอร์เซโพลิส หรือนครปาร์ซา ที่อยู่ห่างจากเมืองชิราซไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 80 กิโลเมตร  เราจึงไปงีบเก็บแรงต่อบนรถต่อได้อีกหน่อย แต่เอาเข้าจริง นั่งรถดูวิวข้างทาง ฟังอาจารย์ต้นปูพื้นฐานเรื่องเปอร์เซโพลิสแค่แป๊บเดียวก็ถึง

สิ่งที่นวลเตือนพวกเราตั้งแต่เมื่อวานคือ โปรแกรมวันนี้ค่อนข้างยาว เวลาช่วงสายถึงบ่ายต้นๆ ส่วนใหญ่เราจะอยู่กลางแจ้ง ถ้ามีหมวกติดไปด้วยจะดีมาก แล้วหลังจากนั้นจะนั่งรถอีกหลายชั่วโมงเดินทางไปยังเมืองอิสฟาฮาน ขนมขบเคี้ยวที่เตรียมมา เอาออกมาใช้ได้เลย กระติกเก็บความร้อน เติมชากาแฟจากห้องอาหารเช้ามาด้วยก็ดี ส่วนน้ำดื่มบนรถมีให้ไม่ขาด ทุกคนจึงต้องเตรียมตัวเผชิญแดด การเดินบนพื้นหิน ทราย และนั่งรถยาวนานกันพร้อม

ก่อนมาอิหร่าน ได้เห็นภาพ อ่านเรื่องราวของนครที่เหลือเพียงซากปรักของเสาหิน (ถ้าสร้างด้วยทรายคงปลิวหายไปกับสายลมสายฝนหมดแล้ว) ฉันจินตนาการไม่ออก คิดตามตัวหนังสือที่อ่านไม่ทันว่า นครอันเป็นศูนย์กลางจักรวรรดิเปอร์เซียยุคราชวงศ์อเคเมนิด (Achaemenid) อันรุ่งโรจน์เมื่อราว 2,500 ปีที่แล้ว สำคัญและยิ่งใหญ่เพียงใด

สำหรับชาวเปอร์เซีย ภูเขาคือที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การเลือกทำเลที่จะสร้างพระราชวังจึงอยู่ใกล้ภูเขา เพื่อให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฉันจึงมองเห็น Kuh-e-Rahmut หรือ ‘ทิวเขาแห่งความการุณย์’ แต่ไกลก่อนเข้าเขตพระราชวังโบราณ  เป็นปราการธรรมชาติที่ปกป้องเปอร์เซโพลิสไว้ได้นานหลายร้อยปี

ราชวงศ์อเคเมนิดมีกษัตริย์พระองค์แรกชื่อพระเจ้าไซรัสมหาราช ส่วนผู้ที่สร้างพระราชวังแห่งนี้คือพระเจ้าดาริอุสมหาราช (Darius The Great) หรือพระเจ้าดาริอุสที่ 1 และสร้างต่อขยายออกไปอีกโดยพระเจ้าเซอร์ซิสมหาราช (Xerxes The Great) พระโอรสของพระองค์

ในสมัยนั้นเปอร์เซียมีนครซูซา (Susa) เป็นศูนย์กลางการปกครองอยู่ก่อน  การสร้างเปอร์ซิสโพลิสเพื่อเป็นพระราชวังในฤดูร้อน ใช้ในพิธีการรับทูตจากแว่นแคว้นต่างๆ จึงสร้างให้ยิ่งใหญ่ ออกแบบอาคารให้ผู้ที่ได้มาเยือนประทับใจ และยำเกรง

เมื่อลงจากรถและมองเห็นเสาหินบนฐานหินสูงตระหง่านเบื้องหน้า ชาวคณะก็เดินตามไกด์และอาจารย์ต้นไปอย่างไม่อิดออดหรือกลัวแดดเลย เพราะอยากเห็นด้านในแล้ว บันไดทางขึ้น 2 ข้างซ้ายขวาตรงลานด้านหน้า เป็นหินขั้นเตี้ยๆ ทอดสูงขึ้นไปถึง 15 เมตร ตอนนี้ถูกปิดด้วยบันไดไม้ขนาดเดียวกัน เราต้องก้าวช้าไปตามจังหวะของขั้นบันได

จุดแรกที่คอยต้อนรับเราคือประตูแห่งปวงประชาชาติ (Gate Of all Nations) พระเจ้าเซอร์ซิสมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นประตูต้อนรับตัวแทนจากแคว้นต่างๆ ที่เดินทางมาเฝ้า แค่ประตู (ที่เหลือนี้) ก็ทำให้เรารู้สึกตัวเล็กลงแล้วเมื่อเดินผ่าน แล้วคนเมื่อหลายพันปีก่อนเดินลอดซุ้มประตูที่สมบูรณ์แบบจะรู้สึกอย่างไร

ปัจจุบันกำลังมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เปอร์เซโพลิส จึงมีกองหิน รูปปั้น เสาต่างๆ วางไว้เป็นจุดเหมือนมาร์กตำแหน่งที่เคยมีไว้ การเดินเที่ยวชมค่อนข้างสะดวก โดยแนะนำให้เดินทวนเข็มนาฬิกา หรือตามเส้นทางที่ผู้มาเฝ้าเดิน จะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของโบราณสถานแห่งนี้ ส่วนเราเดินตามอาจารย์ต้น ไม่พลาดของดีแน่นอน

อาคารประธานของที่นี่คือพระราชวังอปาดานา (Apadana Palace) มี The Throne Hall หรือท้องพระโรงที่มีเสาสูงถึง 20 เมตรและมีทางเข้าถึงหกทาง พระเจ้าดาริอุสมหาราชจะเสด็จออกรับราชทูตที่นี่ แต่ถึงท้องพระโรงจะอยู่แค่ทางขวามือของประตูต้อนรับ ก็ใช่ว่าเหล่าราชทูต หรือผู้มาเฝ้าจะเดินเลี้ยวเข้าไปได้เลย ทุกคนต้องเดินตามเส้นทางเพื่อชมความอลังการของเปอร์เซโพลิสกันก่อนตามความตั้งใจของเจ้าของพระราชวัง

นอกจากเสาหินที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามาได้อย่างน่าทึ่งแล้ว สิ่งที่ผู้มาเยือนทุกคนต้องมาดูมาถ่ายรูปไว้ คือภาพสลักหิน บันทึกเรื่องราวการเข้าเฝ้าของราชทูตจากเมืองต่างๆ (ประมาณ 23 เมือง) จากตะวันออกกลาง แอฟริกา ซึ่งสังเกตเชื้อชาติได้จากการแต่งกาย หมวก อีกทั้งยังมีขบวนของที่นำมาถวายที่มีตั้งแต่ผ้าแพรพรรณ สัตว์ อาหาร สินแร่ อาวุธ สิ่งมีค่าต่างๆ

แต่ละภาพสลักไม่เหมือนกันเลย ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะตรงบันไดด้านตะวันตกของอปาดานา ที่ตอนนี้ได้ทำหลังคาคลุมไว้  นอกจากเพื่อรักษางานศิลปะนี้แล้วยังทำให้เราชมผลงานได้อย่างใกล้ชิด ไม่มีแสงแดดรบกวนนั่นเอง

นอกจากพระราชวังอปาดานา อาคารในเปอร์เซโพลิส ยังมีพระราชฐานชั้นในอีกหลายหลัง เช่น

-พระราชวังฮาดิช (Hadish Palace) และพระราชวังเฮซ ที่ประทับส่วนพระองค์ของพระเจ้าเซอร์ซิส ที่ 1

-ไตรไพลอน (Tripylon) อาคารปริศนากลางกลุ่มพระราชวังเชื่อมโยงกับโถงอปาดานา และโถงร้อยเสาเข้ากับพื้นที่ส่วนหลัง

-พระราชวังของดาริอุส (Tachara Palace) เป็นตัวอย่างของที่ประทับส่วนพระองค์ของกษัตริย์ราชวงศ์อเคเมนิดที่อยู่ในสภาพดีที่สุด และสิ่งที่ห้ามพลาดคือ ตรงฐานอาคารด้านใต้ที่มีภาพสลักทหารองครักษ์ ที่ชาวกรีกเรียกว่า ‘นักรบอมตะ 10,000 นาย’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นนักรบที่ไม่มีวันตาย แต่หมายถึงไม่มีวันน้อยกว่า 10,000 จำนวนนี้จะถูกทดแทนอยู่ตลอดเวลา

-โถงร้อยเสา มองไปเห็นเพียงฐานกับเสาไม่ครบจำนวนให้เห็น เป็นอาคารใหญ่รองจากอปาดานา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเซอร์ซิสที่ 1

-อาคารคลังสมบัติ วันนี้เหลือเพียงฐานเสา 200 ต้นและแนวกำแพง เป็นที่เก็บสมบัติจำนวนมหาศาลที่บันทึกเล่าว่า เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาเซโดเนีย รบชนะมีชัยเหนือพระเจ้าดาริอุสที่ 3 ทรงนำกำลังไพร่พลเข้ายึดเมืองซูซา ก่อนจะนำกำลังและลากับอูฐหลายพันตัวมาขนสมบัติออกไปจากคลังสมบัตินี้ได้หมด ซึ่งก่อนที่เปอร์เซโพลิสจะมอดไหม้ด้วยพระเพลิงของกองทัพอเล็กซานเดอร์มหาราช  พระองค์และสถาปนิกชาวกรีกได้ใช้เวลาทำความเข้าใจกับองค์ประกอบ เทคนิคการก่อสร้าง และความหมายของนครอันเป็นที่สุดแห่งสถาปัตยกรรมแห่งโลกโบราณนี้ไว้ แล้วนำไปสร้างเมืองอันยิ่งใหญ่ขึ้นมาแทน

เราใช้เวลาที่นี่กว่าสองชั่วโมงอย่างไม่เบื่อเลย เดินออกจากพระราชวังด้วยจินตนาการที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ยอมรับว่าเปอร์เซโพลิสเป็นแหล่งโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ของอิหร่านจริงๆ และสมควรแล้วที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ในปี ค.ศ. 1979

หลังอาหารกลางวันแบบด่วนๆ ที่ร้านระหว่างการเดินทาง เราไปชม Naqsh e Rustam สุสานหลวงที่พระเจ้าดาริอุสมหาราชสร้างขึ้นเพื่อฝังพระศพของพระองค์และกษัตริย์อีกสามพระองค์แห่งราชวงศ์อเคเมนิด เป็นสุสานขนาดมหึมาบนหน้าผาที่มองเห็นได้แต่ไกล เพราะมีการแกะสลักหินหน้าผาเป็นรูปกากบาท มีช่องตรงกลางเข้าสู่ภายในภูเขาที่เป็นคูหาฝังพระศพ โดยสุสานหันไปทางที่ตั้งของเปอร์เซโพลิส

ปัจจุบันภายในสุสานไม่มีอะไรเหลือ เชื่อว่าถูกปล้นไปพร้อมกับที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมาบุกเปอร์เซโพลิส แต่ความสำคัญของสุสานที่สร้างเพื่อประกาศพระราชอำนาจราชวงศ์อเคเมนิดก็ไม่ได้ลดน้อยลง เพราะในเวลาต่อมา มีกษัตริย์ ผู้ปกครองจากราชวงศ์อื่นพยายามเติมบันทึกเรื่องราวของตนลงบนหินผานี้ เพื่อประกาศว่าตนคือผู้สืบทอดสิทธิธรรมจากกษัตริย์ยุคอเคเมนิด

สุสานนี้ฝังพระศพกษัตริย์พระองค์ใดบ้าง  มาดูกัน

เริ่มจากซ้ายมือ เมื่อเราหันเข้าหาหน้าผา อันแรกเป็นสุสานของพระเจ้าอาร์ทาเซซิสที่ 1 อันที่สองเป็นที่ฝังพระศพของพระเจ้าเซอร์ซิสที่ 1 อันที่สามมีจารึกบอกชัดเจนว่าเป็นของพระเจ้าดาริอุสมหาราช หรือพระเจ้าดาริอุสที่ 1 และด้านขวาสุดเป็นของพระเจ้าดาริอุสที่ 2

นอกจากนี้บริเวณเชิงผายังมีหอสูงทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่เชื่อว่าเป็นสถานที่เก็บไฟศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์หรือผู้บูชาไฟ ซึ่งยังสบูรณ์มาก

เก็บได้ครบจบเรื่องโบราณสถานเพียงเท่านี้ แล้วกองคาราวานก็มุ่งหน้าสู่อิสฟาฮาน (Esfahan) เมืองที่มีสิ่งสวยงามอีกมากมายรอเราอยู่

Don`t copy text!