เชาเชสคูและบูคาเรสต์

เชาเชสคูและบูคาเรสต์

โดย : วิฑูรย์ ทิพย์กองลาศ

Loading

“เที่ยวโทงเทง” คอลัมน์ท่องเที่ยวกับเรื่องเล่าจากสมุดบันทึกของ “วิฑูรย์ ทิพย์กองลาศ” ซึ่งได้แบกเป้เดินทางคนเดียวตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นบันทึกการโดยสารขนส่งสาธารณะ การพบปะและบทสนทนากับผู้คน (ตลอดจนหมาแมว) พร้อมแนบข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประจำเมือง แต่ละวันมักจบลงด้วยเบียร์เย็นๆ หรือวิสกี้ในบาร์ท้องถิ่น

เพื่อนชาวโรมาเนียของผม เธอเกิดและใช้ชีวิตที่เมือง Craiova ห่างจากกรุงบูคาเรสต์ 220 กิโลเมตร แนะนำว่าไม่ควรอยู่ในกรุงบูคาเรสต์เกิน 2 วัน ผมถามว่าทำไมถึงไม่ชอบเมืองหลวงประเทศตัวเองขนาดนั้น เธอว่า “ไม่ใช่ไม่ชอบ ฉันเกลียดต่างหาก” แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกลียดอะไร บอกแค่ว่าบูคาเรสต์สะท้อนความเป็นโรมาเนียได้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

ผมตื่นค่อนข้างสาย จึงขี้เกียจที่จะย้ายที่พักแม้ว่าไม่ค่อยพอใจตัวเจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่ให้พักห้องไม่ตรงสเปกกับที่จองไว้ เมื่อเดินไปซื้อกาแฟและอาหารจากซูเปอร์มาร์เกตมาอุ่นด้วยไมโครเวฟกินเป็นมื้อเช้าแล้ว ก็อาบน้ำแต่งตัวเดินออกไปยัง Piata Romana ลงรถไฟใต้ดิน ซื้อตั๋วจากเจ้าหน้าที่ราคา 5 เล หรือประมาณ 40 บาท โดยสารได้ 2 เที่ยว นั่งไป 2 สถานี โผล่ที่สถานี Piata Unirii (Union Square ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งอยู่ในบูคาเรสต์เขต 5 ถามเด็กสาว 2 คนที่เดินขึ้นมาจากรถไฟใต้ดินเที่ยวเดียวกันว่า Palace of the Parliament ไปทางไหน คนหนึ่งอธิบายว่าเดินไปตรงถนนใหญ่ข้างหน้า แล้วเลี้ยวขวา จากนั้นก็เดินตรงไปอย่างเดียว

Bulevardul Unirii ถนนแบบบูเลอวาร์ดที่มุ่งหน้าสู่ “วังรัฐสภา”

จากวงเวียน Piata Unirii ซึ่งเป็นแยกใหญ่ ตรงไปยัง Palace of the Parliament หรือ ‘วังรัฐสภา’ เรียกถนนนี้ว่า Bulevardul Unirii ยาวเกือบๆ 2 กิโลเมตร ผมข้ามถนนไปยังเกาะกลาง เห็นวังรัฐสภาเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ปลายถนน สองข้างทางเป็นอาคารที่อยู่อาศัยและห้างร้านสินค้าแบรนด์เนมที่สร้างขึ้นอย่างเป็นระเบียบ จนมีคนเรียกย่านนี้ว่า Little Paris เลยทีเดียว

ความเร็ว ควันรถ และเสียงเครื่องยนต์ ที่ “วังรัฐสภา” แห่งโรมาเนีย

เกาะกลางถนนปลูกหญ้าและตัดอย่างเป็นระเบียบสลับกับแอ่งน้ำพุ ไม่มีรถยนต์วิ่งบนถนนเส้นนี้ แต่เห็นมีจอดเรียงกันไปบนเลนนอกสุดของทั้งสองฝั่ง ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะปั่นจักรยานมุ่งหน้าวังรัฐสภา พวกที่เดินเป็นอาชีพอย่างผมก็มี แต่ไม่มาก เมื่อเดินไปได้ครึ่งทางก็เห็นควันสีขาวๆ อยู่หน้าอาคาร และได้ยินเสียงเครื่องยนต์ดังมาจากรถหลายคัน เดินเข้าไปใกล้ๆ จึงรู้ว่ามีการจัดแข่งรถโดยปิดลานหน้าอาคารทั้งหมด เก็บค่าเข้าชมคนละ 25 เล ผมเดินเลี้ยวไปทางซ้ายเพื่อหาทางเข้าวังรัฐสภาแต่ไม่เห็นว่าจะมีทางเข้า และไม่ได้เลี้ยวไปทางขวา เพราะเริ่มรำคาญเสียงรถแข่งที่ดังกวนประสาทหูทะลุไปถึงสมอง จึงตัดสินใจว่าค่อยมาใหม่วันหลัง และเป็นไปได้ที่วันนี้วังรัฐสภาอาจจะปิดให้เข้าชม

วังรัฐสภาแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นตามบัญชาของ ‘นิโคไล เชาเชสคู’ อดีตผู้นำเผด็จการคอมมิวนิสต์ของโรมาเนีย เริ่มต้นสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1984 แต่ไม่ทันจะเสร็จเรียบร้อย ปลายปี ค.ศ. 1989 ประชาชนลุกฮือขึ้นทั่วประเทศขับไล่เชาเชสคู หลังการนองเลือดก็จบลงด้วยเชาเชสคูและภริยาถูกทหารจับขณะหลบหนีโดยเฮลิคอปเตอร์ ทั้งคู่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า สรุปก็คือคนสั่งให้สร้างไม่ได้ใช้

ตอนที่เชาเชสคูสั่งให้สร้างนั้น อาคารแห่งนี้ใช้ชื่อว่า Casa Republici หรือ House of the Republic ตั้งใจจะเลียนแบบกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือ เผด็จการคอมมิวนิสต์ร่วมโลก แต่หลังการปฏิวัติในปี 1989 ก็เปลี่ยนมาเรียกว่า Casa Poporului หรือ People’s House ปัจจุบันเป็นอาคารของรัฐที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ 365,000 ตารางเมตร มีปริมาตร 2,550,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นรองเพียงเพนตากอน หรืออาคารกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา แต่ในส่วนของน้ำหนักนั้นถือเป็นอาคารที่หนักที่สุดในโลกเลยทีเดียว ที่ประมาณ 4,980,500,000 กิโลกรัม โดยอาคารยักษ์นี้มีชั้นบนดิน 12 ชั้น และชั้นใต้ดิน 8 ชั้น

วังรัฐสภาของโรมาเนียใช้แรงงานสร้างประมาณ 20,000-100,000 หมื่นคน เป็นแรงงานที่ถูกเกณฑ์มาและบรรดาทหารเพื่อประหยัดงบการก่อสร้าง มีสถาปนิก 10 คน ผู้ควบคุมการก่อสร้างอีกประมาณ 700 คน ด้วยสภาพการทำงานที่หนักหนาสาหัส ทำให้มีคนเสียชีวิตไปในระหว่างการก่อสร้างถึงประมาณ 3,000 คน

โบสถ์ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ โรงพยาบาล โรงงานและร้านค้า ที่อยู่บนพื้นที่เดิมซึ่งเป็นเนินเขาชื่อ Uranus ถูกทุบทิ้ง ประชาชนราว 40,000 คนต้องย้ายที่อยู่

จากที่วางแผนว่าจะสร้างเสร็จใน 2 ปี (1986) กลับบานปลายไป กำหนดเสร็จใหม่ในปี 1990 และความจริงแล้วจนทุกวันนี้ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จากทั้งหมด 1,100 ห้อง สร้างเสร็จและได้ใช้งานจริงไปเพียงราว 400 ห้องเท่านั้น แต่ค่าไฟฟ้าในแต่ละปีก็สูงถึงกว่า 5 ล้านยูโร

ปัจจุบันเป็นที่ประชุมและที่ทำงานของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย และห้องโถงต่างๆ ที่ตกแต่งประดับประดาด้วยวัตถุหายากราคาแพงจำนวนมาก ‘รูเพิร์ต เมอร์ด็อก’ มหาเศรษฐีจากออสเตรเลียเคยขอซื้อเมื่อปี ค.ศ. 1990 ในราคา 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่รัฐบาลโรมาเนียไม่ขาย ซึ่งมูลค่าที่ประเมินได้ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านยูโร

ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตระบุว่าการมาเยี่ยมชมควรจองล่วงหน้าด้วยการโทรศัพท์หรือทางเว็บไซต์ ค่าเข้าชมระหว่าง 25-45 เล ขึ้นอยู่กับว่าจะชมมากชมน้อยขนาดไหน นักเรียน นักศึกษา เข้าฟรี และหากประสงค์จะถ่ายรูปก็ต้องจ่ายเพิ่มคนละ 30 เล

ระหว่างที่ผมยืนถ่ายรูปอยู่นั้น มีชายคนหนึ่งทักขึ้นว่า “ที่นี่เขาเรียกว่าอะไร” ผมหันไปเห็นเป็นชายลักษณะคล้ายชาวอาหรับ และตอบเขาว่า “Palace of the Parliament” แล้วเขาก็บอกว่าเป็นคนกาตาร์ รอเครื่องบินทรานสิตกลับกรุงโดฮา จึงมีเวลาเข้าเที่ยวในเมือง เขาชวนผมเข้าไปเที่ยวในโบสถ์ ซึ่งน่าจะเป็นโบสถ์ที่ชื่อ Antim ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายที่ผมเพิ่งเดินออกมา แต่ไม่ได้แวะ

เขาว่าได้เข้าไปดูมาแล้ว สวยมาก ผมคิดในใจว่าจะเข้าไปดูทำไมอีก เริ่มรู้สึกแปลกๆ ที่ไม่รู้จักวังรัฐสภา ส่วนโบสถ์นี่ก็เป็นของศาสนาคริสต์ ถ้าเขามาจากกาตาร์ก็น่าจะเป็นมุสลิม เหตุใดถึงได้ประทับใจคริสต์ศาสนสถานถึงขั้นต้องชวนคนแปลกหน้าเข้าไปเป็นเพื่อนเพื่อจะชมรอบสอง เขาชวนอีกรอบ ผมบอกว่าตั้งใจจะกลับแล้ว เขาก็ตื๊อว่า “เอาน่า เข้าไปก่อน แล้วเดี๋ยวจะเดินกลับไปด้วยกัน” ผมเลยพูดว่า “จะไปอีกทาง ไม่ได้เดินกลับทางเดิม” เขาจึงเดินไปทางทิศที่โบสถ์ตั้งอยู่ หรือแค่ทำทีเป็นเดินไปทางนั้นเฉยๆ แล้วกลับออกมาหาเหยื่อคนใหม่หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ยังนึกไม่ออกว่าหากได้เหยื่อเข้าไปในโบสถ์แล้วเขาจะต้มตุ๋นด้วยวิธีการใด

หนึ่งในอาคารของ University of Bucharest

ผมเดินเลียบแถวอาคารฝั่งซ้ายมือของ Bulevardul Unirii ทิ้งวังรัฐสภาไว้เบื้องหลัง ถึง Piata Unirii ก็เลี้ยวซ้าย ลงรถไฟใต้ดิน นั่งย้อนไปสถานีเดียว โผล่ที่สถานี Universitate ใกล้ๆ กับมหาวิทยาบูคาเรสต์ บนถนน Bulevardul Nicolae Balcescu เดินต่อไปยังย่านเมืองเก่าเพื่อจะดูฟุตบอลที่ Fire Pub-Fire Club ร้านที่ไปนั่งเมื่อคืนวานกับเพื่อนชาวโรมาเนีย เดินผ่านพิพิธภัณฑ์ทหาร เข้าไปดูใกล้ๆ ปรากฏว่าด้านหน้าได้ทำเป็นร้านอาหาร แล้วฝนก็โปรยลงมา จึงต้องวิ่งหาที่หลบฝน ได้ชายคาของอาคารริมถนนหลังหนึ่งช่วยไว้ ฝนตกหนักขึ้นเรื่อยๆ และตกอยู่นานราวครึ่งชั่วโมง เมื่อเริ่มซาลงบ้างผมก็เดินต่อ แต่เริ่มจำทางไม่ได้ จนต้องถามบริกรร้านอาหารที่ออกมาสูบบุหรี่นอกร้าน เขาบอกทางได้มั่วมาก จนไปเจอคนกลุ่มหนึ่งหน้าอาคารเล็กๆ ที่น่าจะเป็นกาสิโน หนึ่งในนั้นพูดว่า “จะไปทำไมร้านนั้น ที่นี่มีเบียร์ขาย 200 บาทเอง” ผมได้ยินคำว่า ‘บาท’ จึงถามเขาว่ารู้ได้อย่างไรว่าผมเป็นคนไทย เขาตอบว่าดูหน้าก็รู้

สโมสรทหารแห่งชาติโรมาเนีย

อีกคนในกลุ่มบอกว่าเคยไปเที่ยวเมืองไทย แล้วคนแรกก็เริ่มคะยั้นคะยอ และคล้ายกำลังจะงัดเล่ห์เหลี่ยมบางอย่างออกมาใช้ คนที่สองก็รีบบอกทาง แล้วตบท้ายว่า “แต่มันไกลนะ ถามคนอื่นเอาอีกทีละกัน” ผมขอบคุณแล้วเดินออกมา

ที่มุมถนนหนึ่ง มีร้าน Vodafone จึงเข้าไปซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ ได้แพ็กเกจ 50 เล หรือประมาณ 400 บาท กำหนด 30 วัน ใช้อินเตอร์เน็ตได้ 17 GB โทรไปยังประเทศในสหภาพยุโรปได้ไม่จำกัดนาที นอกสหภาพยุโรปก็คิดตามราคา ส่วนค่าโรมมิ่งสัญญาณนอกโรมาเนียนั้นไม่คิด และทราบว่านับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 เป็นต้นไปประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปตกลงกันที่จะไม่คิดค่าโรมมิ่งอีกแล้ว

เมื่อใส่ซิมแล้ว ก็เปิดใช้ Google Maps เดินไปไม่ไกลก็ถึง Fire Pub – Fire Club แต่ไม่เปิดฟุตบอล จึงเดินไปร้านติดกันชื่อ Mojo Music ชายหนุ่มดูซอมซ่อและน่าจะเป็นขี้เมาเชื้อเชิญให้เข้าร้าน ปรากฏว่าที่นั่งเกือบทุกที่มีกระดาษเขียนไว้ว่าแฟนอาร์เซนอลจอง ผมนั่งที่เก้าอี้หน้าบาร์ตัวนอกสุด ซึ่งไม่ได้เขียนอะไรไว้ สั่งเบียร์ Ursus มา 1 ไพนต์ ในราคา 8 เล หรือประมาณ 70 บาท มีชายคนหนึ่งหน้าตาออกไปทางลูกครึ่งแอฟริกันเดินเข้ามาถามว่าเชียร์ทีมอะไร ผมตอบ “แมนฯ ยูไนเต็ด” เขาว่า “ที่นี่ร้านอาร์เซนอลนะ” ผมจึงถามว่า “แล้วผมนั่งได้ไหม” เขาตอบ “ได้ แต่อย่าเชียร์เสียงดังก็แล้วกัน”

ย่านผับบาร์ในเขตเมืองเก่ากรุงบูคาเรสต์

จิบเบียร์แล้วหันไปมองนอกร้าน ขี้เมาซอมซ่ออารมณ์ดีนอนเอกเขนกอยู่บนทางขึ้นอาคารฝั่งตรงข้าม สักพักเขาก็เดินมาหาก้นบุหรี่ที่ยังพอสูบได้ในที่เขี่ยบุหรี่นอกร้าน Mojo Music ซึ่งไม่มีคนนั่งเพราะยังมีละอองฝนโปรยปราย เขาหยิบไปได้หลายก้นแล้วใส่กระเป๋าเสื้อแจ็กเก็ต ผมต้องทำเป็นไม่มอง กลัวเขาจะอาย

ฟุตบอลจบลงด้วยผลที่คนในร้านล้วนมีความสุข ระหว่างที่แฟนอาร์เซนอลกำลังฉลองกันผมก็เดินไปเข้าร้าน Fire Pub-Fire Club สั่ง Ursus มา 1 ไพนต์ ราคา 7 เล แกล้มกับมิช ราคาชิ้นละ 2.5 เล ผมสั่ง 4 ชิ้น เท่ากับ 10 เล หรือประมาณ 80 บาท ถูกอย่างเหลือเชื่อทั้งอาหารและเครื่องดื่ม

เมื่อจัดการกับเบียร์และมิชเสร็จแล้วก็เดินไปลงรถไฟใต้ดินสถานี Universitate ไปโผล่ที่สถานี Piata Romana บันไดเลื่อนนำผู้โดยสารขึ้นมาจากชานชาลาใต้ดินสู่ทางเท้า เด็กวัยรุ่นชาย 2 คนวิ่งสวนลงไป แม้จะใช้เวลาแต่พวกเขาก็ทำสำเร็จ ส่วนบันไดทางเข้าปกติซึ่งต้องมีตั๋วไปสอดเข้าเครื่องนั้นก็อยู่ติดๆ กัน เท่ากับว่าสองวัยรุ่นไม่ต้องจ่ายค่าโดยสาร เพราะพวกเขาลงไปถึงชานชาลาโดยตรง

ผู้เก็บค่าคุ้มครองหน้าร้านอาหาร Arkuda Tavern ย่าน Piata Romana

ระหว่างทางเข้าที่พัก ผ่านร้านอาหารชื่อ Arkuda Tavern เขียนว่าเป็นร้านแกะย่าง เจอเจ้าเหมียวสามสี่ตัวที่เคยเจอเมื่อวานยืนอ้อนอยู่หน้าประตูร้านเหมือนเดิม สามีภรรยาคู่หนึ่งเดินออกมา ฝ่ายภรรยาแวะเล่นกับแมว สามีคงพูดประมาณว่าให้อาหารมันหน่อยสิ ภรรยาจึงหยิบเนื้อจากห่อที่เตรียมกลับบ้านออกมาวางให้ 2 ชิ้นใหญ่ๆ เจ้าเหมียวรอจนผู้ให้เดินจากไปก่อนจึงเริ่มพิจารณาชิ้นเนื้อ

แล้วบรรจงรับประทาน

 

Don`t copy text!