ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 10 : พังทลายในพริบตา (1)

ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 10 : พังทลายในพริบตา (1)

โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ

Loading

ก่อนย่ำสนธยา โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 3 ที่มาพร้อมเรื่องราวของหญิงวัยเกษียณที่ต้องพบบททดสอบแห่งชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเธอมาเสียท่าให้มิจฉาชีพในคราบญาติมิตร เธอจะพลิกฟื้นให้กลับมามาดมั่นในตัวเองได้หรือไม่ พบคำตอบได้ใน anowl.co

หลังจากวันที่สืบธารทำประกันชีวิตให้ฉันแล้วก็ไม่ได้มาเยี่ยมอีกเลย ธารีบอกว่าเขากำลังยุ่งกับธุรกิจและผู้ลงทุนรายใหม่ จึงไม่มีโอกาสแวะเข้ามาเยี่ยมเหมือนอย่างเคย ได้แต่ฝากความคิดถึงมาเท่านั้น การที่สืบธารห่างหายไปฉันเองก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก เพราะตอนนี้สิ่งที่ฉันกังวลคือสุขภาพของตัวเอง

ฉันสังเกตว่าสุขภาพของฉันถดถอยลงไปมาก โดยมีอาการอ่อนเพลียร่วมกับปวดหัว ช่วงแรกฉันคิดว่าอาจเป็นเพราะพักผ่อนน้อยไป จึงพยายามรีบนอนแต่หัวค่ำ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จากอาการอ่อนเพลีย ปวดหัวที่เป็นอยู่ประจำก็ทำให้ฉันเกิดอาการเบื่ออาหารขึ้นด้วย

ฉันพยายามบอกเล่าความกังวลให้ธารีฟัง “เพราะพี่กุนไม่ยอมกินอะไรนี่ไงคะ ร่างกายมันจะเอาพลังงานมาจากไหน มันก็ต้องอ่อนเพลียเป็นธรรมดา” ธารีอธิบาย ฉันจึงพยายามกินอาหารให้ได้ตามมื้อปกติ ฉันเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติไปของร่างกาย นานวันก็จะมีอาการต่างๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น ปัสสาวะน้อยลง ที่ว่าน้อยลงนี่ฉันสังเกตจากปริมาณน้ำที่ดื่มกับการปัสสาวะออกพบปริมาณไม่สัมพันธ์กัน ที่แย่กว่านั้นคือฉันก็มีอาการวูบในบางคราว แต่ที่ทำให้รู้สึกแย่กว่าคือ เมื่อตื่นเช้าวันนี้ ฉันสังเกตว่าแขนและขาของตัวเองบวมฉุขึ้น

ใจของฉันอยากปรึกษาลูกและขอให้พาไปหาหมอ แต่ด้วยทิฐิมานะที่คิดว่าลูกจ้องจับผิดว่าฉันไม่ดูแลสุขภาพ จึงห้ามใจไม่ยอมบอกลูก ได้แต่บอกความกังวลใจให้ธารีฟังแทบจะทุกวัน ธารีก็ปลอบว่า “พี่กุนน่ะคิดมากไปเอง น้องก็เห็นว่าพี่กุนปกติดี ไม่เห็นแขนขาจะบวมตรงไหน”

“พี่ไม่สบายใจเลยธารี ไหนๆ ตาสืบก็ทำประกันสุขภาพให้แล้ว พี่ว่าไปตรวจร่างกายดีไหม จะได้สบายใจ”

“ก็ดีค่ะ แต่สืบยังไม่ส่งกรมธรรม์มาให้เลย เราจะบอกโรงพยาบาลว่ายังไงดีล่ะคะ เอาอย่างนี้ไหมเดี๋ยวน้องโทรบอกลูก ว่าถ้าว่างวันไหนให้เจียดเวลาพาป้ากุนไปหาหมอ” ธารีเสนอ

ฉันพยักหน้าตอบรับ ธารีจึงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทร “สืบ…ช่วงนี้พอมีเวลาว่างบ้างไหม…”

“แม่อยู่กับป้ากุนสิลูก…มีเรื่องอะไร…” ธารีหันมามองหน้าฉันขณะคุยโทรศัพท์กับสืบธาร “…อืมๆ ได้ๆ” ธารีป้องโทรศัพท์แล้วหันมาบอกฉันว่า ตาสืบมีเรื่องจะปรึกษาเรื่องส่วนตัวมากๆ น้องขอออกไปคุยกับลูกตรงโน้นนะคะ” แล้วธารีก็เดินออกไป ฉันได้ยินเสียงแว่วๆ ไม่ปะติดปะต่อ

“ไหนแกว่าจะไม่มีปัญหาไง…”

“แล้วแกจะให้ฉันทำยังไง…”

เสียงคุยโทรศัพท์ของธารีห่างออกไป เมื่อคุยเสร็จแล้วก็กลับมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียดจนน่าเป็นห่วง

“มีปัญหาอะไรไหมธารี” ฉันถาม

ธารีกลอกตาทำท่าครุ่นคิด ก่อนตอบฉันว่า “สืบธารน่ะสิคะ ไปทำลูกสาวเขาท้อง โทรมาขอให้น้องไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงที่ต่างจังหวัด น้องโมโหจริงเชียว ห่วงว่าถ้าไปใครจะอยู่ดูแลพี่กุน แต่จะไม่ไปก็ไม่ได้ สืบเขารักผู้หญิงคนนี้จริงๆ กลัวว่าถ้าน้องไม่รีบไปขอสมา ไปไกล่เกลี่ยตกลง พ่อแม่ผู้หญิงเขาโกรธขึ้นมาจะเข้าหน้ากันไม่ติด”

“ให้พี่ไปเป็นเพื่อนไหม จังหวัดไหนกัน” ฉันอาสาจะไปด้วยกับน้อง

“อ่า…จังหวัด…อ่า หนองบัวลำภูโน้นแน่ะคะ สนามบินก็ไม่มี นี่ไม่รู้จะเดินทางลำบากลำบนแค่ไหน แต่น้องเป็นแม่นายสืบก็ต้องแบกหน้าไป ไม่รู้จะถูกพ่อแม่ฝ่ายหญิงเขาด่าว่าโขกสับเอาแค่ไหน ก็เพราะอย่างนี้ไงคะ น้องเลยไม่อยากให้พี่กุนต้องไปลำบากกับน้อง…น้องน่าจะไปสักสองวันค่ะ”

ฉันเห็นด้วยกับคำพูดของธารี หนองบัวลำภูเป็นจังหวัดที่ไกลสำหรับคนที่ไม่ค่อยจะได้เดินทางอย่างฉัน สนามบินที่ใกล้ที่สุดก็น่าจะเป็นสนามบินอุดรธานี แต่การต้องนั่งรถต่อไปอีกนี่สิ ไม่รู้ว่าต้องนานเท่าไร สุขภาพของฉันก็ย่ำแย่ลงกลัวจะไปป่วยเอากลางทางเป็นภาระให้น้องอีก นอกจากนี้ฉันคงปั้นหน้าไม่ถูก ถ้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงเขาตำหนิแรงๆ

“ธารีไปเถอะ พรุ่งนี้วันศุกร์แล้ว ส่วนเสาร์อาทิตย์พี่ก็มียายนันท์อยู่เป็นเพื่อน เห็นว่าเสาร์นี้ตานะจะพาณฤดีมาเยี่ยมย่าด้วย ธารียิ่งไม่ต้องเป็นห่วง”

“ดีจริงค่ะ น้องจะรีบไปรีบกลับค่ะ” ธารีพูดจบก็ขอตัวออกไปจัดกระเป๋า

 

ศาตนันท์กลับดึกกว่าปกติ ลูกเดินมาหาฉันที่เตียงซึ่งจัดไว้มุมหนึ่งชั้นล่างของบ้าน ตั้งแต่ฉันแขนหักเอ็นข้อเท้าฉีกคราวนั้นก็ยังไม่ได้กลับเข้าไปนอนในห้องส่วนตัวอีกเลย

“แม่หลับยังคะ”

“ยังไม่หลับลูก ช่วงนี้งานยุ่งใช่ไหมกลับดึกมาเกือบเดือนแล้ว” ฉันตอบ

“ยุ่งค่ะแม่ นันท์วางแผนกับพี่นะว่า แม่เริ่มเดินเองได้คล่องแล้ว พวกเราจะพาแม่ไปตากอากาศที่หัวหินสุดสัปดาห์นี้ แต่ถ้าแม่อยากพักต่ออีกสักสัปดาห์ก็ได้ นันท์ลาพักร้อนไว้แล้วเจ็ดวัน นันท์อยู่เป็นเพื่อนแม่ได้ค่ะ ส่วนพี่นะวันอาทิตย์คงต้องพาหนูณฤดีกลับบ้านก่อนเพราะยังไม่ปิดเทอม”

“ที่กลับบ้านดึกมาเป็นเดือน ก็เพราะเร่งสะสางงานก่อนพักร้อนใช่ไหม” ฉันถามเพราะเข้าใจดี ด้วยเคยทำงานในบริษัทเอกชนอย่างเดียวกับยายลูก

“ค่ะ เราไม่ได้ไปเที่ยวกันนานมากแล้วนะแม่”

ฉันยิ้มตอบลูก

“พรุ่งนี้นันท์ลาครึ่งวันค่ะ กะว่าจะกลับมาจัดกระเป๋าของแม่แล้วก็ของนันท์…แม่อยากให้น้าธารีตามไปพักผ่อนด้วยไหมค่ะ นันท์เตรียมที่พักไว้เผื่อน้าธารีแล้ว”

“แม่คิดว่าให้น้าธารีไปพักผ่อนส่วนตัวเองดีกว่าจ้ะ บางทีน้าธารีอาจอยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง” ฉันเลือกตอบลูกไปเช่นนั้น เพราะเกรงใจที่จะเล่าปัญหาที่ธารีต้องไปแก้ไขให้ตาสืบ

“ก็ดีค่ะ งั้นนันท์ไปนอนแล้วค่ะ แม่ก็พักผ่อนมากๆ พรุ่งนี้พี่นะ พี่ฤดีกับหลานก็ลาครึ่งวันเหมือนกันคงจะมาถึงบ้านเราสักบ่ายๆ พอมาถึงเราก็จะออกเดินทางไปหัวหินกันเลยค่ะ”

“นันท์ลูกก็ไปพักเถิด เหนื่อยมาทั้งวันแล้ว”

ยายนันท์เดินไปปิดไฟแล้วกลับขึ้นห้องตัวเองไป

ฉันยังนอนลืมตาในความมืดอย่างใช้ความคิด ความสับสนน้อยใจคิดว่าลูกไม่เป็นห่วงไม่สนใจคลายลงเป็นความรู้สึกผิด ฉันเพิ่งรู้ว่าการที่ลูกกลับบ้านดึกมาตลอดเดือนเพราะวางแผนพาฉันไปพักผ่อนตากอากาศ ลูกยังรักและเป็นห่วงฉันเสมอ

เมื่อคิดได้เช่นนี้ ฉันตัดสินใจว่าจะหาโอกาสดีๆ บอกลูกถึงความกังวลเรื่องสุขภาพตัวเอง เพื่อที่ลูกจะได้พาฉันไปตรวจให้คลายความกังวลเสียที

รุ่งเช้ายายนันท์รีบออกไปทำงานตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง และเมื่อยายนันท์ออกไปแล้วธารีก็ลากกระเป๋าเดินทางใบโตออกมา

“นี่จะไปกันสักกี่วันกันเชียวธารี กระเป๋าเดินทางถึงได้ใบใหญ่โตขนาดนั้น”

“น้องมีกระเป๋าเดินทางใบเดียวนี่คะ ข้างในไม่มีอะไรมากมาย กระเป๋ามันใบใหญ่เองแท้ๆ”

“ทำไมไม่บอกพี่ล่ะ กระเป๋าเดินทางที่บ้านเรามีตั้งหลายใบหลายขนาด”

“น้องเกรงใจค่ะ นี่จะรื้อจัดใหม่ก็เสียเวลา น้องขอตัวก่อนนะคะ เดี๋ยวจะไม่ทันเวลานัดกับตาสืบ” ธารีลุกลี้ลุกลนยกมือไหว้ลาฉัน

“เดี๋ยวสิธารี…” ฉันเรียกน้องให้หยุด “…มาหาพี่ประเดี๋ยวก่อน”

ธารีหน้าเสียเดินกลับมา เมื่อน้องมาใกล้ฉันหยิบซองที่เตรียมไว้ส่งให้น้อง “ถ้าเสร็จธุระของตาสืบแล้ว น้องเที่ยวพักผ่อนส่วนตัวบ้างก็ดีนะ สัปดาห์หน้านันท์เขาลาพักร้อนทั้งสัปดาห์ ไม่ต้องห่วงว่าพี่จะไม่มีคนดูแลไปพักผ่อนบ้าง ลำบากกับพี่มาหลายเดือนแล้ว…นี่เอาไว้ใช้จ่ายตอนพักผ่อน”

ธารีรับซองเงินมากำไว้ พร้อมสีหน้าที่ฉายความรู้สึกประหลาด ฉันคิดว่าธารีคงจะเกรงใจ ธารีเหมือนจะพูดอะไรแต่ก็ไม่พูด ก่อนยกมือไหว้ลา แล้วก็เดินออกจากบ้านขึ้นรถที่เรียกมารอรับ

บ่ายโมงไปแล้วเล็กน้อยยายนันท์กลับมาถึงบ้าน แม้ลูกจะมีสีหน้าเหนื่อยอ่อนอยู่บ้าง แต่ก็ดูร่าเริงเป็นพิเศษ ฉันกับลูกช่วยกันจัดกระเป๋าเดินทาง ยายนันท์บอกว่าเธอได้จองบ้านพักแบบบังกะโลริมทะเลเขาตะเกียบ ถามกันไปมาก็รู้ว่าคือหลังเดียวกับที่ฉันและเพื่อนๆ เคยไปพัก

“อ๋อ เรือนหลังนี้น่าจะเป็นของญาติๆ ของพ่อและอาขวดของนันท์แน่เลย”

“คงใช่มั้งคะ เพราะพ่อเป็นคนจองให้บอกว่าแม่ชอบ พ่อบอกว่าเจ้าของบ้านเป็นเครือญาติกัน เมื่อก่อนเป็นบ้านพักตากอากาศส่วนตัว หลังๆ มาเปิดให้คนเช่าหารายได้ไว้ดูแลบ้านดีกว่าปิดไว้เฉยๆ”

ฉันจำได้ว่าน่าจะเป็นเรือนพักริมทะเลหลังนั้นที่เคยไปเที่ยวกันเมื่อตอนเรียนจบใหม่ๆ ฉันคิดว่ามันนานจนรางเลือนจนลืมไปแล้ว ความจริงแล้วไม่เคยมีสิ่งใดเลยที่หายไปจากความทรงจำ

“น่าจะเป็นเรือนหลังที่แม่เคยไปพักตอนเรียนจบใหม่ๆ… ” ฉันรำลึกความทรงจำให้ลูกฟัง “…ตอนนั้นป้าศศิเปรยว่าอยากไปเที่ยวทะเลก่อนต้องแยกย้ายกันไปทำงาน เพราะอีกนานกว่าจะได้กลับมารวมตัวกันอีก แม่ก็นึกค้าน ในเมื่อก็ทุกคนอยู่กรุงเทพกันหมด ต่อให้ทำงานแล้วจะนัดกันทุกสัปดาห์ก็ยังไหว แต่ความจริงก็คือ ป้าศศิ ป้าเครือ แล้วก็อาขวดแกรู้ว่าพ่อของเราจะขอแม่แต่งงาน ถ้าแม่ตกลง เมื่อแต่งงานกันไปแล้ว แม่ก็คงต้องย้ายตามพ่อของนันท์ไปอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งอีกนานกว่าจะได้มารวมตัวกันอีก แต่แม่ไม่รู้เรื่องนั้นเลย…” ยายนันท์ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี มีการตั้งคำถามกระตุ้นให้ฉันเล่าบ้างในบางครั้ง ทำให้ฉันดื่มด่ำล้ำลึกไปในอดีตที่แสนสุข

“แม่ยังจำได้…พี่ติ…พ่อของนันท์ขับรถพาแม่และเพื่อนๆ ปุเลงๆ ไปเที่ยวกัน สมัยนั้นขับรถไปหัวหินไกลกว่าสมัยนี้มาก ต้องผ่านนครปฐม ราชบุรี เข้าเพชรบุรี พ้นชะอำแล้วถึงจะถึงหัวหิน แต่เขาตะเกียบต้องขับไปต่ออีกหน่อย แม่ถึงเรือนตากอากาศหลังนั้นก็บ่ายคล้อยมากแล้ว นันท์เอ๋ย แม่เห็นเรือนหลังนั้นแล้วนึกรักจับใจ มันเป็นเรือนหลังคาปั้นหยายกพื้นทาสีขาวหันหน้าออกทะเล มีห้องสามห้อง ห้องนอนใหญ่หนึ่งห้อง กลางหนึ่งห้อง และเล็กหนึ่งห้อง หน้าเรือนเป็นชานกว้างวางชุดโซฟาหวาย โต๊ะกินข้าว ใต้ถุนส่วนหนึ่งกันเป็นห้องครัว หน้าเรือนมีต้นลั่นทมยืนท้าลมทะเล พอไปถึงป้าศศิกับป้าเครือก็วิ่งจู๊ดไปจองห้องนอนใหญ่บอกว่าพวกผู้หญิงสามคนจะนอนห้องนี้เท่านั้น…น้าเครือเราจัดแจงเสร็จสรรพว่าห้องนอนใหญ่ให้ผู้หญิงสามคนนอน พ่อของเราในฐานะที่เสียสละขับรถพาพวกเรามาให้นอนห้องนอนกลางที่หันหน้าออกทะเล ส่วนอาขวดให้นอนห้องนอนเล็กสุดที่มีหน้าต่างเปิดไปเจอสวนหลังบ้าน และจะได้รับลมทะเลน้อยที่สุด”

“ทำไมป้าเครือถึงจองแต่ห้องนอนใหญ่เท่านั้นคะแม่” ยายนันท์ถามเพื่อชวนให้ฉันเล่าต่อ

“ก็ห้องนอนใหญ่มีหน้าต่างบานใหญ่ใหญ่ตลอดแนว นอกจากจะรับลมแล้ว ยังมอองออกไปเห็นทะเลได้ตลอดวัน อีกอย่างคือมีห้องน้ำในตัว ป้าศศิกับป้าเครือบอกว่าถ้าปวดท้องห้องน้ำดึกๆ จะได้ไม่ต้องออกมาเข้าห้องน้ำข้างนอก”

“แล้วอาขวดยอมหรือคะ”

“ยอมสิ อาขวดของเราไม่ทุ่มเถียงแย่งห้องนอนใหญ่เลยแม้แต่น้อย เดินหิ้วกระเป๋าเข้าห้องนอนเล็กไปแต่โดยดี”

“ผิดวิสัยอาขวดมากเลยค่ะ”

“เพราะอย่างนั้นไง ป้าเครือจึงไปแอบเลียบเคียงหาข่าว ว่าทำไมอาขวดถึงไม่แย่งห้องนอนใหญ่”

“ได้เรื่องไหมคะ”

“ได้สิ สักพักป้าเครือวิ่งหน้าตื่นมาหาแม่กับป้าศศิ…”

กุนตีเล่าเหตุการณ์ให้ศาตนันท์ฟังอย่างออกรสว่า เครือแก้วแอบได้ยินนายขวดใช้โทรศัพท์บ้านที่อยู่บริเวณระเบียงหน้าเรือนพัก นายขวดโทร.กลับบ้านเพื่อรายงานคุณยายของตนเองว่าถึงเรือนพักแล้ว แล้วก็นอนห้องเล็กด้านหลังตามที่คุณยายสั่งไว้ ‘โอ้ย…ให้สักพันผมก็ไม่กล้านอนห้องนอนใหญ่หรอกครับคุณยาย ก็หม่อมช้อยของท่านเจ้าคุณชวดเล่นนอนตายตาไม่หลับคาห้องขนาดนั้น ยิ่งป้านวลบอกว่าเคยมานอนห้องใหญ่แล้วโดยผีหม่อมช้อยดึงขาทั้งคืนยิ่งหวาดเสียว คิดแล้วยังขนลุก ให้ตายผมก็ไม่ยอมนอนเด็ดๆ’

ฝ่ายศศิผู้ที่กลัวผีเสียยิ่งกว่าสิ่งใด ได้ยินก็วิ่งแล่นไปดึงหูนายขวดเพื่อนรักมาซักฟอกเอาความ แรกๆ นายขวดก็ปฏิเสธว่า ‘ไม่มีอะไร พวกเธอคิดมากไปเอง’ แต่สุดท้ายเมื่อโดนซักฟอกหนักๆ เข้านายขวดก็สารภาพว่า ‘พวกเธอให้ฉันเล่าเอง อย่ามาโทษฉันทีหลังนะ ก็เรือนนี้เมื่อก่อนเป็นเรือนของหม่อมช้อยอนุภรรยาของท่านเจ้าคุณชวดของฉัน ท่านรักเมียน้อยคนนี้มาก จึงปลูกเรือนหลังใหญ่โตให้อยู่ ปรากฏว่าอยู่มาไม่เท่าไร หม่อมช้อยก็ป่วยด้วยโรคประหลาด ผู้ใหญ่เขาลือกันว่า เมียน้อยของท่านเจ้าคุณชวดคนอื่นอิจฉาที่ท่านเจ้าคุณชวดรักหม่อมช้อยมากกว่าใคร ถึงขั้นปลูกเรือนใหญ่โตให้อยู่ จึงแกล้งทำคุณไสยใส่หม่อมช้อย สุดท้ายหม่อมช้อยก็ตายคาเรือน ผู้ใหญ่ท่านเล่าว่าหม่อมช้อยตายตาไม่หลับ ก่อนตายก็อาฆาตว่าถ้าใครมานอนทับที่ของท่านจะได้เห็นดีกัน โอ๊ยเธอ…หม่อมช้อยนี่เฮี้ยนนก ใครเดินผ่านเรือนเป็นโดนดีทุกคน สุดท้ายท่านเจ้าคุณชวดกลัวคนในบ้านจะหวาดกลัวจนอยู่กันไม่ได้ จึงให้รื้อแล้วมาปลูกที่ริมทะเลเขาตะเกียบนี้แหละ…’

“แล้วยังไงต่อคะแม่” ศาตนันท์ถามฉันไปพลางพับผ้าใส่กระเป๋าเดินทางไปพลาง

“ป้าเครือและป้าศศิทั้งกลัวทั้งโกรธเป็นฟืนเป็นไฟที่นายขวดหลอกให้มานอนบ้านผีสิง จะหาที่นอนใหม่ก็ไม่ทันเสียแล้ว จึงลงโทษนายขวดให้มานอนห้องนอนใหญ่แล้วพวกแม่สามคนก็ย้ายไปนอนเบียดกันที่ห้องนอนเล็กแทน”

“อาขวดยอมหรือคะ”

“แรกๆ ก็อิดออด ป้าเครือเรานั่นละ ที่เดินไปหยิบกระเป๋าของอาขวดมาโยนใส่ไว้ในห้องนอนใหญ่ แล้วก็ถืออำนาจไปยึดห้องนอนเล็กแทน” ฉันเล่ายิ้มๆ

“อาขวดโดนผีหม่อมช้อยหลอกเอาไหมค่ะ นี่ถ้านันท์รู้ว่าเรือนนี้มีประวัติ นันท์ไม่มีทางยอมให้พ่อจองเด็ดขาด พูดแล้วขนลุก…” ยายนันท์ชี้ท่อนแขนที่ขนอ่อนลุกขึ้นชัน ฉันหัวเราะก่อนจะตอบลูกไปว่า

“ทีนี้ละทำเป็นกลัว แม่จำได้เมื่อตอนเราเรียนมอปลายถึงขั้นเคยคิดจะไปล่าท้าผีที่บ้านร้างผีสิงกันเลยไม่ใช่หรือยายนันท์”

“แม่ก็ ตอนนั้นมันยังเป็นเด็กวัยรุ่นนี่คะ ระหว่างกลัวผีกับกลัวเพื่อนเยาะเย้ยว่าปอดแหก ตอนนั้นนันท์กลัวอย่างหลังมากกว่า แต่สำหรับตอนนี้นันท์กลัวอย่างแรกมากกว่า ถ้าหม่อมช้อยท่านยังไม่ไปผุดไปเกิด โอ๊ยนันท์ไม่อยากจะคิด ถ้าตื่นมากลางดึกเห็นหม่อมช้อยมายืนดูนันท์กับแม่นอนอยู่ปลายเตียง”

ฉันหัวเราะร่วนก่อนพูดต่อไปว่า “หม่อมช้ง หม่อมช้อยที่ไหนมี ผีที่ไหนมี เปล่าทั้งเพ มันเป็นแผนชิงห้องนอนใหญ่ของอาขวดแท้ๆ พวกแม่สามคนมารู้ตัวว่าเสียทีนายขวดก็วันเดินทางกลับแล้ว”

กุนตีเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นต่อไปว่า

ขณะที่ศานติขับรถพาทุกคนกลับกรุงเทพฯ เครือแก้วก็ขอร้องศานติว่า ‘พี่ติขา…ถ้าถึงนครปฐมไม่เย็นมาก พวกเราขอแวะทำบุญที่องค์พระให้หม่อมช้อยเธอหน่อยนะคะ พวกเราบนบานเธอไว้ว่าตลอดสองวันที่พักที่เรือนนี้ ถ้าเธอไม่มาหลอกหลอนพวกเรา ขากลับพวกเราจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้’

ศานติทำหน้างงงวยก่อนถามว่า ‘หม่อมช้อยไหนกัน’

‘ก็หม่อมช้อยอนุของท่านเจ้าคุณชวดเจ้าของเรือนหลังนี้ไงคะ’ เครือแก้วตอบ ก่อนจะให้รายละเอียดทั้งหมดให้แก่พี่ติฟัง

พี่ติยังคงขับรถอย่างใจเย็นก่อนจะถามพวกเราว่า ‘พี่จำได้ว่าพวกเราเคยลงทะเบียนเรียนวิชาอารยธรรมไทยกับอาจารย์คุณชาย…ใช่ไหม’

‘ใช่คะ…’ ศศิตอบ

‘งั้นคงน่าจะจำได้ว่า เรือนปั้นหยาหรือที่เรียกว่าเรือนขนมปังขิงเป็นที่นิยมในช่วงปลายรัชกาลที่ห้า ต่อรัชกาลที่หก’ คำถามของพี่ติ พวกฉันก็ไม่เห็นว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังคุยกันตรงไหน

‘จำได้ค่ะ’ ฉันตอบ

‘อืม…งั้นพวกเราคงยังไม่ทราบว่าท่านเจ้าคุณชวดของพี่กับนายขวด พี่หมายถึงเจ้าพระยา…ท่านเป็นขุนนางสมัยรัชกาลที่สาม ต่อรอยกับสมัยรัชกาลที่สี่…’

ทุกคนในรถกำลังลำดับความคิดตามเรื่องที่พี่ติกำลังเล่า เรือนขนมปังขิงเป็นที่นิยมในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ห้าต่อรัชกาลที่หก ส่วนเจ้าพระยา…เจ้าคุณชวดของพี่ติและนายขวดเป็นขุนนางสมัยรัชกาลที่สามต่อรัชกาลที่สี่ซึ่งสมัยนั้นยังไม่นิยมเรือนแบบขนมปังขิง… ก่อนทุกอย่างจะเฉลย พี่ติมาจอดรถที่หน้าตลาดฉัตรไชยแล้วพูดขึ้นว่า ‘พี่ขออนุญาตแวะซื้อของทะเลแห้งไปฝากคุณยายนายขวด และแม่น้องกุนก่อน…’ พี่ติลงจากรถ และก่อนปิดประตูก็ชะโงกหน้ามาบอกพวกเราในรถว่า ‘ที่สำคัญท่านเจ้าคุณชวดไม่เคยมีเมียน้อยที่ชื่อหม่อมช้อย และเรือนหลังที่พวกเราไปพัก คุณตาน้อยน้องชายของคุณยายแท้ๆ ของพี่ท่านสั่งให้ช่างปรุงเรือนแถวบางโพปรุงขึ้นใหม่ๆ แล้วเอามาประกอบในที่ดินของท่านที่ชายหาดเขาตะเกียบ ไม่เคยเป็นเรือนพักของใครมาก่อนเลย…’ พูดเสร็จศานติก็ปิดประตูรถเดินเข้าตลาดไป ทิ้งให้ลูกพี่ลูกน้องของตนเองเผชิญชะตากรรมอันน่าหดหู่เพียงลำพังในรถกับสามแม่เสือสาว…

 



Don`t copy text!