ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 6 : บ้างร่วงโรยรา (1)

ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 6 : บ้างร่วงโรยรา (1)

โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ

Loading

ก่อนย่ำสนธยา โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 3 ที่มาพร้อมเรื่องราวของหญิงวัยเกษียณที่ต้องพบบททดสอบแห่งชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเธอมาเสียท่าให้มิจฉาชีพในคราบญาติมิตร เธอจะพลิกฟื้นให้กลับมามาดมั่นในตัวเองได้หรือไม่ พบคำตอบได้ใน anowl.co

ระยะเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลังจากตานะแต่งงานไปได้เพียงปีเดียวก็มีลูก ‘ณฤดี’ เป็นหลานสาวคนแรกของฉัน ปีณฤดีนี้ก็ถึงวัยเข้าโรงเรียนอนุบาล ฉันเคยถามนกุลกับฤดีว่าอยากให้หลานย้ายมาเรียนโรงเรียนดีๆ ในกรุงเทพฯ หรือไม่ แต่ก็ได้รับคำปฏิเสธอ้อมๆ ว่า “ลูกยังเล็กมากเลยครับ แม่แถมยังติดคุณยายแจอีก หากแยกออกมาน่าจะเสียใจกันทั้งยายทั้งหลาน รอให้โตกว่านี้สักหน่อย ผมคิดว่าจะให้ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพ จะได้มาอยู่เป็นเพื่อนคุณย่าบ้าง” ฉันพยักหน้ารับรู้แล้วก็เลิกเซ้าซี้เรื่องนี้อีก ฉันเข้าใจดีว่าเด็กโตมากับใครย่อมผูกพันกับคนนั้น ถึงแม้หลานจะเข้ากันได้ดีกับฉันในยามที่ตานะพามาเยี่ยมฉัน แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าแกจะสนิทใจกับฉันมากกว่าคุณยายที่เลี้ยงแกมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย

ฉันตื่นขึ้นมาอย่างไม่สดชื่นเลยในเช้าวันหนึ่ง เมื่อคืนกว่าฉันจะหลับลงได้ก็ดึกมากแล้ว ซ้ำร้ายยังสะดุ้งตื่นขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุในช่วงค่อนรุ่ง แม้จะพยายามข่มตาให้หลับอีกก็ไม่สามารถทำได้แล้ว ฉันเป็นเช่นนี้อยู่บ่อยๆ  ฉันพยุงร่างกายที่อ่อนเพลียสะโหลสะเหลมานั่งที่หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง พิศดูร่องรอยความร่วงโรยของสังขารร่างกายที่หนักหน่วงขึ้นทุกวัน ทั้งผมขาว ริ้วรอย และความหย่อนคล้อยต่างๆ  ปีนี้ฉันอายุ 66 ย่างเข้า 67 ปีแล้ว ฉันไม่ได้หวังว่าร่างกายฉันจะกลับมาสวยสดเช่นวัยสาว แต่ก็ขอแค่ว่าให้มีสุขภาพกายและใจที่สดใสแช่มชื่นพอที่จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขในทุกๆ วันก็พอ แต่ความหวังเรื่องสุขภาพที่มีอยู่น้อยนิดนั้นก็ถูกทำลายลงด้วยข่าวร้ายที่มาติดๆ กันถึงสองเรื่องในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

เรื่องแรกคือ ข่าวร้ายจากสวิสเซอร์แลนด์ ศศิเพื่อนรักของฉันที่เคยวางแผนว่าจะกลับมาอยู่ประเทศไทยในอีกสองปีหลังจากที่หลานๆ เข้าเรียนชั้นประถมแล้ว แต่เปล่าหรอกศศิยังไม่ได้กลับเมืองไทยตามที่ได้วางแผน เพราะลูกสาวของเธอตั้งครรภ์ลูกคนที่ 3  ศศิจึงไม่อาจตัดใจทิ้งลูกและหลานน้อยๆ ที่กำลังจะเกิดมาได้ลงคอ ศศิอยู่ช่วยลูกเลี้ยงหลานที่เพิ่งเกิด จนหลานโตพอสมควรจึงคิดจะกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวรตามที่ตั้งใจไว้ แต่ก่อนกลับศศิได้เลือกที่จะฉายเดี่ยวไปท่องเที่ยวประเทศที่ยังไม่เคยไปเสียก่อน

แม้ประเทศที่เราเชื่อกันว่าเจริญแล้วในยุโรปจะขึ้นชื่อว่ามีความปลอดภัยสูง แต่คำว่าว่าปลอดภัยสูงนั้นไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์

หากฉันจะคิดอย่างผู้ใหญ่สมัยก่อนเพื่อปลอบใจตนเอง ก็คงคิดได้แค่ว่าเป็นคราวเคราะห์ หรือเป็นเพราะกรรมเก่า จึงทำให้ยายศศิถูกโจรกรีดกระเป๋าภายในสถานีรถไฟใต้ดินกลางมหานครแห่งหนึ่ง คงเพราะคราวเคราะห์จริงๆ นั่นแหละ ที่ทำให้ยายศศิรู้ตัวทันว่าถูกกรีดกระเป๋าจึงตามไปเอาเรื่องโจรหนุ่มคนนั้นทันที เจ้าโจรหนุ่มโวยวายตอบโต้หวังให้ศศิปล่อยมันไป แต่คนอย่างศศิที่ถึงแม้จะดูเป็นคนบอบบางและนิ่งเงียบแต่เธอก็ไม่เคยยอมใคร ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าศศิเกาะกุมยึดมือโจรคนนั้นไว้แน่น แล้วตะโกนเรียกตำรวจให้ช่วย เจ้าโจรอารามตกใจจึงผลักเธอออก โดยลืมไปว่าศศิเป็นหญิงชราคนหนึ่ง

สุดท้าย…ศศิเพื่อนที่น่าสงสารของฉัน ก็หงายหลังลงหัวฟาดพื้นหมดสติอยู่ตรงนั้นเอง

พลเมืองดีพาศศิส่งโรงพยาบาล เป็นเพราะพาสปอร์ตทำให้เรื่องที่ศศิถูกทำร้ายส่งมาถึงสถานทูตไทยในประเทศนั้น ผ่านไปสามวันกว่าลูกสาว ลูกเขย และหลานๆ ของศศิจะมาถึงโรงพยาบาล ศศิที่น่าสงสารของฉันเนื้อสมองได้ตายเสียแล้วเนื่องจากการกระทบกระเทือนที่รุนแรง เพียงแค่ถอดบรรดาเครื่องพยุงชีพศศิก็พร้อมจะจากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ

คงเป็นเวลาที่ยากลำบากของลูกสาวศศิไม่น้อยที่ต้องตัดสินใจว่าจะยื้อหรือปล่อยศศิไป สุดท้ายลูกสาวของศศิก็ตัดสินใจปล่อยให้ศศิจากไป

หลังจากศศิจากไปแล้ว ลูกสาวจึงตัดสินใจปลงศพของเธอด้วยการเผา แล้วนำเฉพาะเถ้ากระดูกกลับมาบำเพ็ญกุศลที่ประเทศไทย

วันที่นายขวดนำข่าวมาแจ้งฉันและเครือแก้ว ฉันรู้สึกหูอื้อและสมองนิ่งอั้นว่างเปล่าไปเสียหมด

“วันเสาร์นี้ลูกสาวของศศิจะจัดงานที่วัด…ถวายสังฆทาน เลี้ยงพระเพลแล้วก็ชักผ้าบังสกุลให้ในคราวเดียวเลย ฉันปวารณาขอเป็นเจ้าภาพถวายสังฆทานไว้แล้วในนามพวกเรา” นายขวดสรุปความ

“ขวดฉันรบกวนเธอมารับฉันหน่อยได้ไหม ฉันคงขับรถไม่ไหว” เครือแก้วพูดขอร้องพร้อมซับน้ำตา ที่เอ่อออกมาอย่างยากจะห้าม ส่วนฉันเมื่อหันไปเห็นน้ำตาของเครือแก้วก็ปล่อยโฮออกมาอย่างยากจะระงับ เมื่อฉันร้องโฮออกมา ยายเครือก็เข้ามากอดแล้วโฮขึ้นอีกคน แต่ใครจะคิดว่าผู้ชายอย่างนายขวดก็สุดจะทนทานในความสูญเสีย ท้ายที่สุดเราสามคนก็กอดคอกันร้องไห้เหมือนเด็กน้อยไม่เดียงสาในชีวิต

‘ศศิ ฉันจะคิดถึงเธอตลอดไป…’ 

 

ฉันยังทำใจเรื่องศศิได้ไม่เท่าไร ข่าวร้ายเรื่องที่สองก็มาถึงฉัน

เสียงโทรศัพท์มือถือดังปลุกฉันในเช้าวันหนึ่ง ปลายสายคือเสียงของพี่ติ

“กุนพี่ขอโทษที่ต้องรบกวนแต่เช้า…”

“พี่ติมีอะไรด่วนหรือเปล่าคะ”

“กุนพอจะออกมาที่โรงพยาบาล…ได้ไหม” พี่ติเอ่ยชื่อโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง

“พี่ติเป็นอะไรหรือเปล่าคะ” ฉันถามเสียงตระหนก

“ไม่ใช่พี่ แต่เป็นนายขวด กุนรีบมาหน่อยเถอะนะ ถ้าขับรถไม่ไหวเรียกแท็กซี่มาก่อนเดี๋ยวขากลับพี่ไปส่ง ตอนนี้พี่ปลีกตัวไปรับไม่ได้จริงๆ อ่อพี่รบกวนโทรตามเครือแก้วให้ด้วยนะ นอกจากญาติๆ แล้วนายขวดไม่มีใครอีกแล้วจริงๆ”

ฉันวางสายจากพี่ติแล้วก็รีบโทร.แจ้งข่าวให้เครือแก้วทราบ จากนั้นก็อาบน้ำอย่างลวกๆ สวมเสื้อผ้าที่ทะมัดทะแมง แล้วเรียกแท็กซี่รีบไปโรงพยาบาลปลายทาง

เมื่อถึงโรงพยาบาล ฉันเห็นพี่ตินั่งนิ่งอยู่ที่เก้าอี้พักรอหน้าห้องฉุกเฉิน ก่อนจะเล่าให้ฉันฟังว่า

“เมื่อวานพี่มาทำธุระที่กรุงเทพ นายขวดเลยแวะมาคุยเล่นและกินข้าวเย็นกันที่คอนโดของพี่ ตกดึกหน่อยนายขวดมีอาการเดินเซ ตาลาย แล้วก็ปวดหัว พี่คิดว่านายขวดน่าจะเมาไวน์ที่ดื่มกัน จึงให้พักอยู่ที่ห้องก่อนไม่ยอมให้กลับ สักค่อนรุ่งนี้เอง พี่ลุกมาเข้าห้องน้ำ เห็นนายขวดนอนอยู่มีอาการผิดปกติ ปากเบี้ยว พอพี่เรียกให้ตื่นนายขวดก็เหมือนไม่ได้สติเต็มที่นัก พูดจาลำบาก ตอบสนองช้า พี่เลยตัดสินใจเรียกรถพยาบาลมารับ คุณหมอประเมินอาการคาดว่านายขวดน่าจะมีอาการหลอดเลือดสมอง ตอนนี้กำลังรักษาอยู่…คงต้องรอหมอแจ้งผลอีกที…พี่กังวลไม่รู้ว่านายขวดจะเป็นหลอดเลือดในสมองตีบหรือแตกกันแน่ เพราะถ้าเป็นอย่างหลังคงร้ายแรงกว่าที่พี่คิดไว้มาก นายขวดไม่มีใคร ญาติที่เหลือก็ไม่ค่อยดูดำดูดีกันนานแล้ว นอกจากพี่ก็มีแต่กุนกับเครือเท่านั้นละครับที่นายขวดเหลืออยู่ พี่เลยรบกวนโทรตามกุนและเครือมาดู มาเป็นกำลังใจให้นายขวด”

สักพักยายเครือกระกระหืดกระหอบตามมา ฉันเล่าอาการนายขวดทวนอีกครั้ง

“โธ่เอ๋ยเวรกรรมเสียจริง…แต่จะโทษเวรกรรมอย่างเดียวก็ไม่ได้หรอก เธอคงไม่รู้ว่านายขวดกินไม่เลือกขนาดไหน ทั้งของหวานของมัน แถมเวลาเครียดยังสูบบุหรี่แถมยังอัดเหล้าเข้าไปอีก ปีก่อนไปตรวจสุขภาพประจำปีคุณหมอก็ทั้งเตือนทั้งขู่ นายขวดยังไม่ยอมฟัง…” เครือแก้วสาธยายพฤติกรรมนายขวดยกใหญ่ “…นี่ไม่รู้จะเป็นยังไงบ้าง สาธุ ขออย่าให้เป็นอะไรมากเลย…” ยายแก้วยกมือไหว้ลมไหว้ฟ้าปลกๆ

สักสองชั่วโมงคุณหมอก็ออกมาแจ้งว่านายขวดมีอาการเส้นในสมองตีบ โชคดีมากที่พี่ติสังเกตอาการและนำส่งถึงมือหมอภายใน 4 ชั่วโมงหลังเกิดอาการจึงยังพอรักษาได้ แต่ถึงแม้จะรักษาชีวิตไว้ได้ แต่นายขวดอาจมีอาการอัมพาตได้

แม้ฉันจะโล่งใจที่หมอรักษาชีวิตนายขวดไว้ได้ แต่ก็อดสะท้อนใจไม่ได้ที่นายขวดอาจต้องเป็นอัมพาต คนที่มีชีวิตชีวาและไม่ชอบอยู่นิ่งอย่างนายขวดจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไรหากต้องเป็นอัมพาตไม่สามารถเคลื่อนไหวช่วยเหลือตัวเองได้

“สงสัยฉันต้องไปตรวจสุขภาพชุดใหญ่แล้วละ ยิ่งไม่มีครอบครัวกับเขาด้วย ถ้าป่วยอย่างนายขวดคงได้นอนจมกองฉี่กองอึตายไปเท่านั้นเอง เธอเองก็ต้องไปตรวจนะยายกุน นี่เห็นว่าไม่ได้ตรวจสุขภาพตัวเองมาหลายปีแล้วนี่” เครือแก้วเป็นคนปากตรงกับใจพูดไม่คิดมาตั้งแต่วัยรุ่นจนบัดนี้

บทสนทนาของเราไม่รอดพ้นหูของพี่ติ แต่พี่ติก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ฉันจึงเปลี่ยนเรื่องด้วยการถามพี่ติว่าจะจัดการอย่างไรกับรักษาอาการป่วยของนายขวด

“จัดการเรื่องค่ารักษาที่นี่แล้ว พี่คิดว่าน่าจะย้ายนายขวดไปรักษาโรงพยาบาลของรัฐที่เชี่ยวชาญ เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง เรื่องค่ารักษาหลังจากนี้คงไม่ต้องห่วงมาก นายขวดน่าจะใช้สิทธิ์ข้าราชการเกษียณได้ ส่วนอื่นๆ นายขวดพอมีสมบัติเก่าของคุณยายอยู่บ้าง น่าจะไม่ลำบากเรื่องการรักษา”

 

นายขวดนอนพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาลอยู่ร่วมเดือน กว่าคุณหมอจะให้ออกมาพักฟื้นที่บ้าน นายขวดแม้จะพอสื่อสารได้แต่ก็ลำบาก ผลจากการป่วยครั้งนี้นายขวดเป็นอัมพาตครึ่งซีกแต่คุณหมอก็ยังให้ความหวังว่านายขวดได้รับการรักษาที่ทันท่วงที มีโอกาสที่อาการจะดีขึ้น หากได้รับการรักษาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

พี่ติรับนายขวดกลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน โชคยังดีที่บ้านของนายขวดยังจ้างจิตลูกสาวของยายจวง คนงานเก่าแก่ของคุณยายเอาไว้ จิตอ่อนกว่านายขวด 5-6 ปี เป็นเด็กที่โตมาในบ้าน คุณยายของนายขวดเลี้ยงมาแบบกึ่งลูกหลานกึ่งบริวาร ส่งให้เรียนตามความสามารถ จิตจบวิชาการเรือนและเข้ามาช่วยยายตัวเองดูแลเจ้านายผู้มีบุญคุณ สำหรับจิตแล้วนายขวดคิดว่าเป็นญาติพี่น้องคนหนึ่งเสียมากกว่าคนงานหรือบริวาร เมื่อนายขวดป่วยจิตจึงยิ่งกุลีกุจอดูแลด้วยความยินดี แต่พี่ติเห็นว่างานจะหนักเกินไป จึงจ้างพนักงานบริบาลคู่หนึ่งมาช่วยกันสลับเฝ้าไข้และดูแลกันทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนจิตนั้นก็ช่วยดูแลบ้านและเรื่องจิปาถะประจำวันไป

“ค่าใช้จ่ายมากขนาดนี้นายขวดจะไหวเหรอคะ” ฉันถามด้วยความเป็นห่วง

“กุนอย่าลืมสิว่า นายขวดเป็นหลานคนเดียวของคุณนายเฉิดโฉม เศรษฐินีใหญ่ แค่ค่าเช่าห้องแถวรายเดือนย่านบรรทัดทองสามสี่ห้องก็พอเลี้ยงนายขวดไปจนตายแล้ว”

“แล้วใครจะเป็นคนจัดการให้นายขวดล่ะคะ”

“นายขวดเขามีสำนักงานทนายความที่ดูแลมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย ช่วยจัดเก็บผลประโยชน์ให้ทุกเดือนอยู่แล้ว แต่พอนายขวดป่วยอย่างนี้พี่คงต้องยื่นมือเข้าไปช่วยบ้างในบางคราว”

ฉันคลายความกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายของนายขวดไปได้ แต่ก็ย้อนคิดว่าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ได้มั่งมีอย่างนายขวดแถมยังไร้ญาติขาดมิตรเล่ามันจะเป็นเช่นไร คิดแล้วก็ได้แต่ระทดหดหู่ใจ

พี่ติคงเห็นฉันสีหน้าไม่สู้ดีจึงปลอบว่าไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องนายขวด เขาจะดูแลนายขวดอย่างดี และเตือนฉันให้ไปตรวจสุขภาพบ้างเพื่อที่จะได้ดูแลได้ถูกจุด

“ค่ะ” ฉันตอบรับสั้นๆ แบบขอไปทีเช่นนั้น

พี่ติเลิกพูดเรื่องตรวจสุขภาพของฉัน แต่ฉันรู้ดีว่าพี่ติต้องมอบหมายให้ยายนันท์มาจัดการแทน

 

เย็นวันหนึ่งเมื่อยายนันท์กลับมาถึงบ้าน “แม่ขา วันนี้นันท์โชคดีมากเลยค่ะ” ยายนันท์เกริ่นขึ้น

“โชคดีอะไรยายนันท์ ถูกสลากรางวัลที่หนึ่งหรือ” ฉันเงยหน้าจากหนังสือที่กำลังนั่งอ่าน

“ที่ทำงานนันท์มีกิจกรรมพิเศษค่ะ แล้วนันท์ก็ชนะได้รางวัลเป็นแพ็กเกจตรวจสุขภาพแม่ลูกสุขสันต์ ไว้เราไปตรวจกันนะคะ”

ฉันเกือบจะหลุดปากถามไปแล้วว่า ‘กิจกรรมนี้บริษัทศานติการละครเป็นผู้สนับสนุนหรือเปล่า’ แต่ก็ยังปากไว้ทัน ฉันสู้ทำเป็นนิ่งๆ ไว้ดีกว่า อยากรู้เหมือนกันว่าพ่อลูกจะมาไม้ไหนอีก

“ช่วงนี้แม่ไม่ค่อยว่างเลย” ฉันตอบ

ยายนันท์มองหน้าฉันอย่างรู้ทัน คนเกษียณอย่างฉันจะมีอะไรยุ่งกัน คำว่าไม่ว่างก็แค่เป็นข้ออ้างที่บ่ายเบี่ยง “ไม่เป็นไรค่ะ แพ็กเกจนี้มีอายุตั้ง 3 เดือน เราว่างเมื่อไรก็นัดเมื่อนั้น แถมเสาร์อาทิตย์ก็สามารถไปใช้บริการได้นะคะ เอาไว้เสาร์อาทิตย์ไหนว่างเราไปกัน” ยายนันท์อธิบายก่อนที่จะเดินขึ้นชั้นบนไปเพื่อปิดโอกาสไม่ให้ฉันปฏิเสธ

 

“สวัสดีกุน วันเสาร์นี้เธอว่างไหม ไปเยี่ยมนายขวดกัน” เสียงของเครือแก้วดังมาจากปลายสาย

“ว่างสิ ไม่มีอะไรทำอยู่แล้ว…” ฉันหมายความตามที่กล่าวจริงๆ เพราะตั้งแต่ศศิเสียชีวิต นายขวดป่วยจนเกือบจะเรียกได้ว่าป่วยติดเตียง ฉันก็แทบจะไม่ได้มีกิจกรรมอะไรทำอีก นอกจากอยู่บ้านไปวันๆ อย่างน่าเบื่อ สิ่งที่ศศิประสบทำให้ฉันเริ่มกลัวการออกไปพบผู้คนแปลกหน้าแต่ลำพัง ความเจ็บป่วยของนายขวดทำให้ฉันกลัวที่จะรับรู้ความจริงว่าแท้จริงแล้วฉันเองก็มีโรคภัยแฝงอยู่ในร่างกาย ความหวาดระแวงและความกลัวทำให้ฉันปฏิเสธทุกอย่างที่จะทำให้ฉันเข้าไปยืนอยู่ในสถานการณ์เช่นกัน

นี่คงเป็นนิสัยที่ซ่อนอยู่ของฉันละกระมัง นิสัยขี้ขลาดและหวาดกลัว กลัวจะต้องเผชิญความจริง โดยเฉพาะความจริงที่จะทำให้ฉันเจ็บปวดและเสียใจ ดังนั้นฉันจึงเลือกยืนอยู่บนความไม่รู้ ความคลุมเครือ แม้สุดท้ายความไม่รู้และความคลุมเครือนั้นจะย้อนมาทำร้ายฉันอย่างเจ็บปวดก็ตาม

ฉันซึ่งหมกตัวอยู่แต่บ้านอย่างเบื่อหน่าย เมื่อยายเครือโทร.มาชวนฉันก็รับปากทันที

“วันเสาร์นี้เก้าโมงนะ ฉันจะเข้าไปรับ เยี่ยมนายขวดเสร็จเราแวะหาข้าวเที่ยงกินกัน ฉันมีเรื่องสำคัญจะบอกเธอด้วย” เครือแก้วบอกฉันแค่นั้นก่อนวางสาย ทิ้งให้ฉันเฝ้าคิดว่าเรื่องสำคัญของเครือแก้วคืออะไร

 

เช้าวันเสาร์ฉันเลือกชุดที่ดูสดใสแล้วแต่งหน้าอ่อนๆ ฉันอยากให้นายขวดรู้สึกสดชื่นที่ได้เจอเพื่อนๆ เครือแก้วมารับฉันตรงตามเวลา ระหว่างทางเราคุยเรื่องสัพเพเหระ แม้เราทั้งสองจะพยายามพูดคุยกันในเรื่องที่น่าสนุก แต่ลึกๆ แล้วฉันก็รู้สึกได้ว่าเราทั้งสองไม่ได้รู้สึกรื่นเริงเหมือนอย่างเคยจริงๆ

นายขวดรู้สึกดีใจมากเมื่อพบฉันกับเครือแก้ว นายขวดแข็งแรงกว่าที่ฉันคิด เขาไม่ได้นอนติดเตียง ฉันสังเกตว่าทั้งจิตและพนักงานบริบาลที่จ้างมานั้นดูแลนายขวดเป็นอย่างดี นายขวดต้อนรับพวกเราบนเก้าอี้เข็น ฉันสังเกตเห็นว่าบ้านนายขวดมีการทำทางลาดเพิ่มขึ้นทั้งในตัวบ้านและสวน

‘คุณติให้ช่างมาทำเพิ่มค่ะ จะได้สะดวกในการดูแลคุณขวด’ จิตบอกฉันอย่างนั้น

นายขวดพยายามพูดคุยกับพวกฉัน แม้จะไม่ชัดแต่ก็พอฟังรู้เรื่อง ฉันรู้สึกสงสารนายขวดจับใจ คนที่ร่าเริงและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาต้องกลายเป็นคนป่วยเช่นนี้ เขาคงจะรู้สึกอึดอัดรำคาญไม่น้อย แต่นายขวดก็คือนายขวดผู้ที่ไม่ยอมให้ใครมาสงสารตัวเอง ยิ่งเขาพยายามทำตัวให้ร่าเริงฉันก็ยิ่งสงสารจนยากจะระงับ ก่อนน้ำตาฉันจะหยด ฉันรีบขอตัวไปเข้าห้องน้ำ ฉันใช้เวลาปรับอารมณ์ตัวเองในห้องน้ำพักใหญ่ ก่อนออกมาเห็นเครือแก้วจับมือนายขวดไว้ ทั้งสองคนมีน้ำตาเอ่อขึ้นจนสังเกตเห็นได้

เรานั่งเงียบๆ มองหน้ากันไปมากันอีกสักพัก เครือแก้วก็เอ่ยปากทำลายความเงียบว่า “นี่กุน เรามารบกวนนายขวดนานแล้ว กลับกันดีกว่านายขวดจะได้พักผ่อน”

ฉันเห็นดีด้วย ก่อนหันไปร่ำลานายขวด “ฉันจะมาเยี่ยมอีกบ่อยๆ นะ นายขวด”

 



Don`t copy text!