เครมบูเล หวานอมขมรัก บทที่ 3 : ทบทวนความหลัง
โดย : คุนนภา
เครมบูเล หวานอมขมรัก นวนิยายโดย คุนนภา หนึ่งในผู้เข้าประกวดจากโครงการช่องวันอ่านเอาครั้งที่ 2 เมื่อรสชาติความรักประหนึ่งรสชาติเครมบูเลที่ทั้งขมและหวาน เหมือนความรักที่มีอุปสรรคดั่งไฟที่เผาไหม้ หากทนร้อนได้ก็จะได้รสชาติความรักที่กลมกล่อมยิ่งขึ้น แต่ณมินจะทนได้ไหม เมื่อเธอคือหน้าใหม่ในวงการความรักที่มีสองหนุ่มมาให้เลือก
พวกเธอรู้เหตุผลที่เราถูกสร้างขึ้นมาให้มีแค่ปากเดียวมั้ย! ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่นต่างก็มีเป็นคู่ๆ อย่างเช่น -แขน -ขา -ตา -หู -ปอด แม้แต่จมูกยังมีสองรูเลย
ฉันว่าเหตุผลนึงที่ฟังขึ้นที่สุด นั่นก็เป็นเพราะ…เราควรลิ้มรสของอร่อยทีละอย่าง
จะเป็นยังไงนะ ถ้าเราใส่ของกินเข้าปากทั้งสองพร้อมๆ กัน รสชาติจากปากไหนกันแน่ที่ส่งสัญญาน ความชอบขึ้นไปสู่สมอง? แล้วยังตำแหน่งของปากด้วย มันควรจะเรียงต่อกันบนกับล่าง หรือเรียงจากซ้ายไปขวา แล้วลิ้นนั่นอีก ว้า!…แค่ลิ้นเดียวโลกก็ยุ่งเหยิงจะแย่อยู่แล้ว ฉะนั้นมีแค่ปากเดียวก็เพียงพอแล้ว (เว้นเสียแต่เธออยากมีอีกปากไว้พูดไปด้วยกินไปด้วย ซึ่งแบบนั้นฉันก็ขอบาย)
นอกจากมีปากเดียว หัวใจเราก็มีเพียงแค่คนละหนึ่งดวง และคงมีเหตุผลคล้ายกันกับปาก…เพื่อให้เรารักใครได้ทีละหนึ่งคน
ฉันคนหนึ่งแหละ ที่มีปากและใจเพียงอย่างละหนึ่ง ฉันกินของอร่อยได้ทีละอย่าง และแน่นอนว่ามีหัวใจไว้รักใครทีละคน และเป็นรักข้างเดียวอีกต่างหาก
เขาเป็นรุ่นพี่สมัยม.ปลาย ที่โตกว่าฉันหนึ่งชั้นปี ถ้าดูกันอย่างผิวเผิน เขาเป็นแค่เด็กมัธยมหัวเกรียนที่ไว้ผมทรงร.ด.ธรรมดาๆ แทบไม่มีอะไรโดดเด่น การเรียนก็ห่วย ไม่ใช่นักกีฬา ไม่บ้ากิจกรรม แถมหน้าตาก็งั้นๆ และยังทะเลาะกับมีดโกนหนวดอยู่เป็นประจำ (มีดชนะ! พิสูจน์จากพลาสเตอร์ปิดแผลที่ติดบนหน้าเขาทุกครั้งที่เจอ) เล่าให้ฟังแค่นี้พวกเธออาจสงสัยว่า แล้วเขาทำให้สาวสวยหน้าตาพอใช้ได้อย่างฉันตกหลุมรักได้อย่างไรกัน?
ถ้าตัดเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกออกไป ฉันว่าน่าจะมาจาก…ฉันตกหลุมรักในวิธีคิดของเขา
อย่าคิดเถียงเป็นอันขาด…พวกเธอไม่เคยตกหลุมรักข้อความซาบซึ้งตรึงใจกันเลยหรือไง พวกเขียนเพลง เขียนเรื่องรักๆ คนพวกนี้เหมือนร่ายเวทย์มนต์ผ่านตัวหนังสือได้ยังไงยังงั้น ด้วยคำบรรยายเพียงไม่กี่คำ ถ้อยคำไม่กี่ประโยค ก็สามารถเปลี่ยนโลกได้ทั้งใบทั้งที่เรายังคงยืนอยู่ในโลกใบเดิม…สำหรับฉันแล้ว การตกหลุมรักถ้อยคำหรือความคิด มันมีอานุภาพรุนแรงกว่ารูปลักษณ์ภายนอกเสียอีก หรือไม่จริง!
เพราะความที่เขาเป็นพี่รหัส ฉันเลยต้องรับมรดกตำราเรียนต่อจากเขาตามนโยบายประหยัดทรัพยากรของกระทรวงฯ แรกทีเดียวนั้นฉันหงุดหงิดเป็นบ้าที่เขาชอบเขียนอะไรต่อมิอะไรเลอะเทอะเต็มหนังสือเรียน ทั้งๆ ที่มันเป็นการกระทำที่ต้องห้าม แต่พอฉันเอาเรื่องนี้ไปบ่นกับเพื่อนสนิทก็ได้คำอธิบายที่ฟังขึ้นว่า
“แกก็อย่าไปโทษพี่เขาเลย …โทษไอ้ระบบเฮงซวยที่มันชอบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาดีกว่า…ทีแรกก็ออกนโยบายยกเลิกใช้หนังสือต่อๆ กัน แต่ไปๆ มาๆ ดันเลื่อนให้ใช้ต่ออีกปีนึง พี่เขาคงคิดว่าไม่มีใครใช้ต่อแล้วก็เลยเขียนอะไรระบายลงไปให้สะใจละมั้ง เออแล้วเขาเขียนอะไรไว้บ้างล่ะ เก็งข้อสอบหรือเปล่า ไหนเอามาดูหน่อยสิ”
ฉันเปิดหนังสือวิชาสังคมสุ่มๆ ไปหน้าที่เขาเขียนจนเปรอะให้ดูเป็นตัวอย่าง …อียิปต์ไม่ใช่แค่สร้างปิรามิด แต่ยังให้กำเนิดขนมปังครั้งแรกของโลก…
“อะไรของเขาเนี่ย โคตรเพ้อเจ้อเลยแก” เพื่อนของฉันคนนี้ชื่อนิดหนึ่ง เราต่างคนต่างก็ย้ายมาสอบจากที่อื่น ในขณะที่ส่วนใหญ่ของห้องได้โควต้าจากม.สาม เราสองคนก็เลยสนิทกันเป็นพิเศษ
“แล้วยังมีอะไรแปลกๆ อีกมั้ย ขอดูหน่อยสิ ”
นิดหนึ่งดึงหนังสือเล่มนั้นไปพลิกๆ ดู แล้วก็อ่านตั้งแต่หน้าปกใน มีรอยจารึกนามเจ้าของเขียนเรียงรายต่อๆ กันมาสามชื่อไม่รวมฉันเพราะไม่ได้เขียนไว้ เธออ่านออกเสียงจนมาหยุดอยู่ชื่อสุดท้าย “เฮ้ยมิน ชื่อพี่รหัสแกสะกดแบบนี้เหรอว่ะ พพาย พะ -ไม่มี -ร เรือ สระ-อะ หรือว่าเขาเขียนย่อๆ เอาเท่”
นิดหนึ่งสังเกตเห็นเหมือนฉันเลย
“ไม่หรอก เขียนอย่างนั้นแหละ ในภาษาอังกฤษก็ยังเขียน PaPye คงเป็นชื่อที่มีความหมายอย่างอื่น หรือไม่งั้นก็สงสัยแม่ขี้เกียจเขียนยาวๆ ตอนแจ้งเกิด”
“แหมๆๆๆๆ แล้วชื่อแกละ ณ มิน ยาวตายเลย แม่ขี้เกียจเขียนยาวๆ ตอนแจ้งเกิดด้วยหรือเปล่า”
นิดหนึ่งชอบอำเรื่องชื่อ นางหาว่าชื่อฉันทั้งสั้น และไร้ความหมาย แต่ฉันขี้เกียจเถียงให้เมื่อยปากว่าชื่อนี้ไม่เกี่ยวกับแม่ เพราะพ่อเป็นคนตั้งให้ พ่อเป็นนักกวี เขาบอกว่า ชื่อฉันบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นแห่งความกล้าหาญและงดงาม มาจากคำเต็มๆ ว่า ‘ณ หนึ่งมิลลิเมตรคือก้าวแรกของทุกสิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของทุกอย่างที่พร้อมจะเติบโตและไปให้ไกลสุดฝัน’ เอิ่ม…คิดๆ แล้วฉันไม่ควรอธิบายความหมายนี้ให้ใครรู้เลยดีกว่าว่ามั้ย แต่ฉันก็ยังแอบให้เครดิตพ่อนักกวีของฉันทุกครั้งที่ใครพูดถึงชื่อฉัน
มีหลักฐานร่องรอยทางความคิดอีกมากมายจารึกอยู่แทบทุกวิชา แต่พออ่านไปอ่านมาเรื่อยๆ ก็สนุกดี รู้สึกได้เลยว่าพี่รหัสของฉันคนนี้คลั่งไคล้และหมกมุ่นกับเรื่องการทำขนมมากถึงขนาดจดทุกเรื่องเกี่ยวกับขนม มีทั้งเรื่องการเลี้ยงยีสต์ สูตรการทำขนม แล้วก็อะไรอีกจิปาถะ เดาได้เลยว่าพี่คนนี้จะต้องเรียนต่อด้านทำอาหารอะไรอย่างนั้นแน่ๆ
แล้วฉันไปเริ่มมีใจให้นายเลอะเทอะคนนี้เมื่อไหร่นะเหรอ?
ก็เพราะรอยเลอะของเขารอยนี้แหละ…
ตอนขึ้นม.หก ฉันรับมรดกชุดสุดท้ายมาจากเขาเหมือนเดิม คิดว่าปีนี้หนังสือคงจะสะอาดสะอ้านขึ้นบ้าง แต่ที่ไหนได้มันถูกจดจนเลอะเหมือนปีก่อนๆ แต่ทว่า…
…มีข้อความในเล่มนึงที่แตกต่างออกไป ไม่ใช่มีแค่ตัวหนังสือแต่มีภาพประกอบด้วยเป็นภาพวาดลายเส้นมองดูคล้ายถ้วยหรือชามกลมๆ แบนๆ คำอธิบายนั้นเขียนว่า ….แครมบรูว์เล แปลตามอักษรในภาษาฝรั่งเศสว่าครีมที่ถูกเผาไหม้ ความรู้สึกที่กินน้ำตาลไหม้แบบคาราเมลกรุบกรอบตัดกับรสหวานละมุนของเนื้อขนมครีมก็ไม่ใช่คัสตาร์ดก็ไม่เชิง ได้รสขมอมหวาน เหมือนความรักที่มีปัญหาและอุปสรรคดั่งไฟที่เผาไหม้ หากทนร้อนได้เราจะได้รสชาติความรักที่กลมกล่อมยิ่งขึ้น…
นี่แหละ…คือข้อความที่กุมหัวใจฉันไว้ ฉันตกหลุมรักวิธีคิดเทียบเปรียบเปรยและชวนให้เห็นสัจธรรมของความรักทั้งที่ยังไม่ทันได้รู้จักกับมัน
ฉันไม่เคยกินขนมชื่อแครมบรูว์เลนี้มาก่อน ไม่รู้ว่าพลาดได้ยังไง ทั้งๆ ที่ฉันก็ที่หนึ่งในสายหวาน หลังจากนั้นก็เลยต้องไปตามหามากินจนได้เพราะว่าอยากจะพิสูจน์ที่รุ่นพี่พรรณาทิ้งไว้
แล้วทันทีที่ขนมมาเสริฟตรงหน้า เออเนอะ แค่ถ้วยที่ใส่มาก็ทำให้มันดูแตกต่างกว่าใครๆ มันไม่เหมือนมัฟฟิ่น ซูเฟล่ ชูครีม หรือเค้ก หรืออื่น ๆ แครมบรูว์เลต้องมีถ้วยเฉพาะของมันเอง เหมือนขนมถ้วย ที่ทำสุกมาในถ้วย แต่ที่พิเศษกว่าก็คือน้ำตาลไหม้กรอบๆ อยู่บนหน้าครีมนิ่มๆ
วันนั้นเอง พอได้ชิม ฉันก็หยิบหนังสือเล่มที่รุ่นพี่เขียนถึงแครมบรูว์เลออกมาเขียนแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ ฉันเขียนยาวไปถึงปกหลังด้วย เพราะที่ไม่พอ แล้วนี่ก็คือสิ่งที่ฉันเขียนบรรยายไว้เกี่ยวกับมัน…..
เปลวไฟสีฟ้าพุ่งลำเฉียงๆ เหนือผิวหน้านวลสีครีมที่เซ็ทตัวได้ที่แล้วภายในถ้วยเซรามิกทรงกลม ผู้เผาชำนิชำนาญและรู้จังหวะดีว่า ต้องลนไฟนานแค่ไหนน้ำตาลถึงจะไหม้กลายเป็นคาราเมล เมื่อนั้นเขาก็จะหยุดแล้วผายมือเชิญชวนให้ลูกค้าลิ้มรสแครมบรูว์เลในถ้วยนั้น กรรมวิธีนี้กลายเป็นความพิเศษของร้านขนมแห่งนี้ หลังเช็คอิน เลือกถ้วยขนมก็คือการตั้งตารอชมการเผาไฟสดๆ พร้อมกับคอยส่งเสียงฮื้อฮ้าเมื่อไฟร้อนลามเลียไปบนน้ำตาลก่อนจะทิ้งให้เย็นจนกลายเป็นเกราะเคลือบ จากนั้นจึงค่อยใช้ช้อนเคาะดังเปาะแล้วก็ตักขนมเข้าปากพร้อมๆ กันทั้งเนื้อนุ่มสีครีมและน้ำตาลไหม้สีคล้ำกรุบกรอบ…..
ฉันจะเสริฟแครมบรูว์เลแบบนี้แหละให้กับลูกค้าของฉัน
ฉันจะครีเอทวิธีกินที่แตกต่างกว่าขนมชนิดอื่นๆ มันจะกลายเป็นวิถีฮิปๆ สร้างกระแส แล้วฉันก็จะแอบขโมยไอเดียของรุ่นพี่มาใช้ด้วยนิดหน่อย ฉันจะอธิบายลงในคำแนะนำเมนูว่า แครมบรูว์เล หรือครีมที่ถูกเผาไหม้ เหมือนความรักที่ผ่านไฟลนจนมีทั้งขมทั้งหวานปะปนกันไป อย่าเพิ่งริรักใครถ้ายังไม่ได้ชิมแครมบรูว์เล…
(คัดลอกจากลายมือของรุ่นพี่ในตำราเรียนมัธยมปลาย…หลายๆ วิชา…นี่แค่บางส่วน)
อับไซด์ดาวน์เค้ก: การกลับหัวกลับหาง ทำน้ำเชื่อมไซรัพเข้มข้นเอาไว้รองด้านล่าง ให้ผลไม้ติดกัน เวลาพลิกขึ้นมาจะไม่เละลองทำกับแอปเปิล แอบปริคอท สัปปะรด
ทาร์ตตาแตง : ทาร์ตแอปเปิล เป็นอับไซด์ดาวน์ โน๊ตวิธีทำ: แอปเปิ้ลเขียวเชื่อมกับเนยน้ำตาลบนกะทะจนขึ้นคาราเมล ใส่แอปเปิลก่อนอัดในพิมพ์ให้แน่น โปะแป้งทาร์ตไว้บนแล้วอบ คว่ำออกมาแอปเปิลจะอยู่ข้างบน
Starter ยีสต์ที่ดี ต้องมีกลิ่นหอมออกเปรี้ยวๆ มีฟองผุดในแป้ง ต้องไม่มีจุดสีดำ สีส้ม ของเชื้อรา เวลาเอาช้อนเขี่ยจะเห็นเส้นใยแป้ง ไม่แห้งไม่แข็ง
ครีมมันม่วง
ผงคัสตาร์ด 50 g. ผงนมข้นจืดเย็นจัด 50 g. น้ำตาลไอซิ่ง 40 g. น้ำเปล่าเย็นจัด 50 g. มันม่วงนึ่งสุกบด 300 g. เนยสดเค็มละลาย 50 g.วิปครีมจืด 100 g.
ช็อกโกแลตเดลิซ : เป็นขนมกึ่งพุดดิ้งกึ่งมูส
ครัวซองค์ : ขนมปังอบเนยที่มีแป้งซ้อนกันเป็นชั้นๆ รูปพระจันทร์เสี้ยวเลียนแบบสัญลักษณ์บนธงของพวกเติร์ก เรียกว่าคิปเฟล (Kipfel ภาษาเยอรมันแปลว่าพระจันทร์เสี้ยว)
ซูเฟล่ (การระเบิด การหายใจ การพองตัว) ต้นกำเนิดจากต้นศตวรรษที่ 18 ของฝรั่งเศส เนื้อเบานุ่มฟู ละลายในปาก ญี่ปุ่นนำมาผสมกับแพนเค้กเรียกว่า ซูเฟล่แพนเค้ก รูปร่างแบบแพนเค้กแต่สูงกว่า และนุ่มกว่า เราทำสูตรเป็นลูกเล่นไวท์ช็อกโกแลต หรือครีมชีสได้ ตีครีมชีสกับไวท์ช็อกโกแลตให้เข้ากัน ตีไข่ขาวกับน้ำตาลทรายต้องให้ขึ้นฟูตั้งยอด แล้วค่อยตะล่อมให้เข้ากันค่อยตักใส่พิมพ์ (แบบถอดก้นได้)