จากแดกู…สู่หัวใจ บทที่ 3 : ปฐมนิเทศ

จากแดกู…สู่หัวใจ บทที่ 3 : ปฐมนิเทศ

โดย : เนียรปาตี

จากแดกู…สู่หัวใจ ไพรัชนิยาย จาก เนียรปาตี ที่จะทำให้คุณหลงรัก ‘แดกู’ เมืองเล็กๆ ในประเทศเกาหลีที่มอบประสบการณ์อันแสนอบอุ่นให้กับ นัด เบียร์ พี่เม่น นักศึกษาไทยที่เดินทางมาเพื่อเรียนต่อ แต่เมื่อแดกูไม่ใช่โซลหรือปูซาน ที่นี่จะเป็นอย่างไร ร่วมซึมซับเรื่องราวของนิยายออนไลน์เรื่องนี้ที่อ่านเอา อยากให้คุณได้อ่านออนไลน์

****************************

– 3 –

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ภายในห้องประชุมสามร้อยกว่าที่นั่งดูโหรงเหรง เพราะผู้มาปฐมนิเทศมีเพียงร้อยกว่าคนนั่งกระจายกันไป นักเรียนทุนทุกคนรู้ว่า เมื่อมาถึงเกาหลีแล้วจะได้รับเงินค่าตั้งตัวคนละหนึ่งแสนวอน ในวันปฐมนิเทศนี้ จึงเป็นวันที่ทุกคนมาดหมายว่าจะได้รับเงินนี้ แต่เมื่อลงทะเบียนแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าใครจะพูดถึง ก็เฝ้ารอกันต่อไปด้วยใจจดจ่อ

อธิการบดีกล่าวต้อนรับเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงเกาหลีแบบอ่านตามสคริปต์ พอมาถึงผู้อำนวยการสถาบันภาษาค่อยฟังคล่องขึ้นหน่อย กล่าวแสดงความยินดีและต้อนรับเสร็จ ก็แนะนำเจ้าหน้าที่สองคน ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ที่จะคอยดูแลนักศึกษาทุนตลอดหนึ่งปีที่มหาวิทยาลัยนี้

“อันยองฮาเซโย…สวัสดีค่ะ ฉันชื่อ หวัง รันน่า จะคอยดูแลเรื่องคลาสเรียนของทุกคนนะคะ บ่ายวันนี้ หลังจากกินมื้อเที่ยงแล้ว ดิฉันขอให้ทุกคนไปที่ห้อง…” หล่อนบอกหมายเลขห้องและตึก “เพื่อกรอกเอกสารสำหรับทำบัตรนักศึกษา เปิดบัญชีธนาคาร และทำบัตรเอเลี่ยนการ์ดค่ะ” คำสุดท้ายหล่อนหมายถึงบัตรประจำตัวชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในเกาหลี เรียกว่าบัตรเอเลี่ยนการ์ด หรือบัตรต่างด้าว

เสียงปรบมือดังขึ้นต้อนรับหล่อน

“อันยองฮาเซโย…สวัสดีครับ ผม พัค จุงมิน จะคอยดูแลเรื่องหอพัก และเงินเดือนของทุกท่านครับ และผมเชื่อว่าในวันนี้ ทุกท่านคงรอฟังข่าวดีเรื่องเงินตั้งตัวหนึ่งแสนวอนใช่ใหมครับ เงินนั้นอยู่ที่ผมแล้ว เมื่อเสร็จพิธีปฐมนิเทศ ผมจะรออยู่ที่โต๊ะลงทะเบียนหน้าห้องนะครับ”

เสียงปรบมือในครั้งนี้ดังยาวนานกว่าครั้งแรก แทรกด้วยเสียงเป่าปากอย่างพอใจ

เมื่อจบการแสดงต้อนรับ นัดหมายเพื่อทำกิจกรรมในช่วงบ่ายแล้ว…ที่แน่นอนว่าแม่สาวจากพม่าไลฟ์สดให้สามีดูตลอดเวลา นักเรียนทุนทั้งหลายก็กรูกันไปที่โต๊ะลงทะเบียน พี่เม่นเป็นคนบอกน้องๆ และอายูนาว่า

“เราคอยอยู่ก่อนเถอะ ออกไปรับตอนท้ายๆ ก็ได้ เบียดกันออกไปตอนนี้วุ่นวาย ยังไงก็ได้ทุกคนอยู่แล้ว เงินของเรา”

ทั้งสามสาวเห็นด้วยจึงยังไม่ลุกจากที่นั่ง อายูนาสะกิดเบียร์เพื่อจะบอกว่า

“คุณพัคหล่อจังเลยนะเบียร์ สูง ขาว อย่างกับดาราเกาหลีสักคนแน่ะ”

เม่นรู้ในทันทีว่าสาวน้อยจากรัสเซียผู้มีใบหน้าคล้ายญี่ปุ่นคนนี้เป็น ‘ติ่ง’ นักร้องเกาหลีสักวงแน่ๆ เขาพอจะติดตามวงนักร้องเกาหลีอยู่บ้าง จึงพอรู้จัก แสดงความคิดเห็นไปว่า

“เหมือนซึงรีใช่ไหมล่ะ”

“ใช่ๆๆๆ” อายูนาตอบรับทันที “พี่ก็ชอบวงบิ๊กแบงเหรอ”

“ก็เคยฟังบ้าง เห็นลูกศิษย์กรี๊ดกันน่ะ”

ความวุ่นวายหน้าห้องซาลงแล้ว กลุ่มที่รออยู่จึงลุกไป นัดเป็นล่ามได้ดีเพราะพูดเกาหลีได้คล่อง ในขณะที่พัค จุงมิน แม้จะพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ก็ติดขัดบางคำจนพูดเป็นเกาหลีออกมา

“มาชิมักซารัม เอ…” เขาพึมพำออกมาคนเดียวว่า…คนสุดท้ายคือ…แล้วก็ติดอยู่อย่างนั้น เพราะชื่อเด็กไทยยาวเหยียดและอ่านยาก

“เอกบดินทร์” เม่นบอกเป็นภาษาอังกฤษ “คุณจะเรียกผมสั้นๆ ว่า เม่น ก็ได้”

“เม็น…นัมจา” มิสเตอร์พัคทวรคำ เม่นก็ทำหน้างงเพราะไม่เข้าใจ หันไปทางนัดหล่อนก็บอกว่า

“ภาษาเกาหลี นัมจา แปลว่าผู้ชายค่ะ เขาคงคิดว่าชื่อพี่เม่น มาจาก men ภาษาอังกฤษที่แปลว่าผู้ชายมังคะ”

เม่นพยักหน้าเข้าใจ คร้านจะอธิบายว่าเม่นคือ hedwig เจ้าสัตว์ขนแหลมนั่นต่างหาก เขาจึงยิ้มตอบไปว่า

“ใช่ครับ นัมจานั่นละ”

 

นักเรียนทุนถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มในตอนบ่าย กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีความรู้ภาษาเกาหลีอยู่แล้ว ถูกแยกให้ไปสอบเพื่อวัดระดับสำหรับการแบ่งชั้นเรียนก่อน ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่มีพื้นฐานเลย ต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นหรือ beginning อยู่แล้ว ไม่ต้องสอบวัดระดับ จึงไปกรอกเอกสารต่างๆ เลย

ในกลุ่มเด็กไทยจึงมีนัดคนเดียวที่แยกไปสอบ ส่วนคนที่เหลือก็ได้แต่กรอกเอกสารรอ เขียนไปได้นิดหน่อยก็ไม่รู้จะเขียนอะไร เพราะส่วนใหญ่เป็นภาษาเกาหลี นักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะเด็กๆ เหล่านี้มาเป็นอาสาสมัครเพื่ออยากได้คะแนนเสริม และอยากฝึกภาษาอังกฤษกับเด็กต่างชาติ ในขณะที่เด็กต่างชาติมองว่า อาสาสมัครเหล่านี้ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีจึงจะมาช่วยได้

กลายเป็นว่าทุลักทุเลกันไปทั้งสองฝ่าย

มิสเตอร์พัควิ่งวุ่นไปที่โต๊ะนั้นโต๊ะนี้เมื่อแต่ละคนร้องเรียกขอความช่วยเหลือ อายูนายกมือค้างไว้นานแล้วไม่ยอมเอาลง ในที่สุดมิสเตอร์พัคก็เข้ามาหาหล่อน ตอบคำถามที่ช่วยทำให้หล่อนกรอกเอกสารไปได้อีกสองสามข้อ แล้วแม่สาวกางเกงขาสั้นก็ปรี่เข้ามาดึงเสื้อเขา

“มิสเตอร์พัคคะ ฉันมีเรื่องให้คุณช่วยเหมือนกัน คุณอยู่ที่โต๊ะนี้นานแล้ว” หล่อนมิได้สะกิดเตือน แต่หล่อนลากไปเลยทีเดียว อายูนาจึงทำหน้าแหยเหมือนเด็กถูกแย่งตุ๊กตาไปจากมือ

“ไร้มารยาทจัง” อายูนาบ่นแล้วก็เปลี่ยนเป็นเพ้อ “เสียงคุณพัคนุ่มจังนะเบียร์ ตอนเขาอยู่ใกล้ๆ ตะกี้ เธอได้กลิ่นน้ำหอมเขาหรือเปล่า”

“ฉันไม่ได้สังเกตอะไรเลย” เบียร์บอกตามตรง เพราะหล่อนพยายามจะกรอกเอกสารฉบับนั้นให้สำเร็จด้วยตัวเอง มันมีภาษาจีน และหล่อนมาจากครอบครัวจีนที่ยังสอนให้รู้จักการใช้ภาษาจีนอยู่บ้าง ในบรรดาคนที่นั่งด้วยกันนี้ เอกสารของเบียร์จึงมีความคืบหน้ามากที่สุด

สามสิบนาทีที่ทำอะไรไม่ได้เหมือนเป็นสามชั่วโมงที่ทุกข์ทรมาน ความรู้สึกเหมือนสวรรค์มาโปรดเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มที่ไปสอบวัดระดับทยอยมาที่ห้องกรอกเอกสาร นักเรียนทุนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นล่ามและผู้ช่วยไปโดยปริยาย

“ทำไมเสร็จเร็วล่ะนัด ข้อสอบง่ายเหรอ” เบียร์ถาม

“ก็ไม่ได้ยากอะไรนะ มันก็มีทั้งข้อง่ายๆ แบบง่ายมาก กับข้อที่มันเป็นไวยากรณ์ยากๆ เลยอะ” นัดบอก

“ข้อสอบที่ดี จำนวนข้อไม่ต้องมากก็วัดได้ คนออกข้อสอบเขาอยู่รู้แล้วว่าข้อไหนต้องการวัดอะไร” พี่เม่นบอกในฐานะผู้มีประสบการณ์ออกข้อสอบมาหลายปีจนขึ้นชื่อลือชาในกลุ่มนักศึกษาว่า ข้อสอบอาจารย์เม่นยากจนต้องร้องขอชีวิต…คนที่เข้าเรียนไม่เคยขาดเท่านั้นที่จะทำได้

“แกมาช้าไปนิดเดียว นัด อดเห็นช็อตเด็ดเลย” เบียร์เปรยให้อยากรู้

“ช็อตเด็ดอะไรเหรอ” นัดมองไปรอบห้องก็เห็นว่ารูมเมตของหล่อนยังคงวิดีโอคอลกับสามี จึงเดาว่า “รูมเมตนัดทะเลาะกับผัวเหรอ”

“บ้า…แต่ก็ใกล้เคียงว่ะ” เบียร์เปลี่ยนมาเล่าเป็นภาษาอังกฤษเพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับอายูนา “ยายเช็คเด้งน่ะสิ มาดึงตัวคุณพัคออกไปจากวงเราเลย ทั้งที่เขากำลังช่วยอายูนากรอกเอกสารอยู่…ใช่ไหมพี่เม่น”

คำถามสุดท้ายเบียร์ถามเม่น เม่นพยักหน้ารับ ส่วนอายูนาตอบเป็นภาษาไทยที่หล่อนพอรู้ความหมายบางคำแล้ว

“ใช่ๆๆๆ” หล่อนตอบ “แปลว่า เยส ใช่ไหม”

นัดพยักหน้าแล้วก็ทำท่าเสียดาย ฉากชิงนายเล็กๆ นี้ หล่อนไม่น่าพลาด

อายูนาหันมาทางเม่น ขอร้องว่า “พี่เม่น…พี่เม่นต้องช่วยฉันนะ เมื่อเช้าฉันเห็นว่ายายคนนั้นทำเฟลิตใส่พี่ พี่ช่วยกันท่าเขาออกไปอย่าให้มายุ่งกับคุณพัคได้ไหมอะ คนนี้หนูขอจองนะ”

เม่นอยากจะบอกอะไรกับหล่อนสักอย่าง แต่ก็ตัดสินใจไม่พูดออกมา อายูนาตีความเอาว่าสีหน้าอิหลักอิเหลื่อของเม่นเป็นการแสดงว่าเขารับปากจะช่วยหล่อนแล้ว แม้ไม่เต็มใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าช่วยละ

 

กรอกเอกสารที่เกี่ยวข้องเสร็จแล้วก็ถือเป็นอันสิ้นสุดกิจกรรมในวันนี้ ยังเหลือเวลาอีกมากกว่าจะหมดวันในความรู้สึกของนักเรียนทุน โรงอาหารร้านค้าต่างๆ ในมหาวิทยาลัยยังไม่เปิด นอกจากมินิมาร์ตเล็กๆ หน้าหอพักแห่งเดียวเท่านั้น

เด็กทุนทั้งหลายจึงชวนกันไปหาที่เที่ยวเพื่อใช้เวลาในวันนี้ให้หมดอย่างไม่น่าเบื่อจนเกินไปนัก หลายคนรู้จักกันมาก่อนหน้านี้ผ่านทางกลุ่มโซเชียลมีเดีย เมื่อได้มาพบตัวจริงก็สนิทสนมกันได้รวดเร็ว บางคนเพิ่งทักทายทำความรู้จักกันเมื่อตอนกินข้าวเที่ยง ก็ยังลังเลกับการชักชวนของเพื่อนใหม่อยู่บ้าง

ริคาโด หนุ่มหล่อจากอิตาลีเป็นตัวตั้งตัวตีในการชวนเพื่อนๆ หาที่ ‘แฮงก์เอาต์’ สำหรับเย็นนี้ ริคาโดมีนิสัยเป็นนักเดินทางและนักผจญภัย เขาจากอิตาลีมาเมื่อเรียนจบปริญญาตรี จากนั้นก็ท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ผ่านการเป็นคนของ NGOs ริคาโดมิได้ ‘อิน’ กับประเด็นที่องค์กรไม่แสวงหากำไรเหล่านั้นดำเนินการ เขาแค่ใช้เป็นทางผ่านสำหรับการได้เดินทางรอบโลกแบบประหยัดค่าใช้จ่ายเท่านั้น

ริคาโดมีรูปเป็นทรัพย์ ประกอบกับเป็นหนุ่ม ‘อิตาลี’ ที่ใครได้ยินก็ตาลุกบวกคะแนนความมีเสน่ห์เพิ่มให้อย่างไม่รอช้า ทั้งที่ในความคิดของริคาโดเอง…เขาบอกเมื่อวันที่ใกล้จะต้องแยกย้ายกัน…ว่า

ถ้าเป็นไปได้ ฉันขอไม่กลับไปอยู่ที่อิตาลีเลย

ไม่กี่นาทีที่ริคาโดชักชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยว สมาชิกกลุ่มก็มีเกินสิบคน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากยุโรปและอเมริกา เห็นได้ชัดว่าคนจากเอเชียมีเพียงสามคนเท่านั้น คือกลุ่มเด็กไทย พ่วงด้วยอายูนาจากรัสเซีย ด้วยความคิดว่า จะชวนไปไหนก็ยังไม่รู้ แต่ก็ดีกว่ากลับไปนอนแกร่วอยู่ที่หอ

“ถ้าเราอยากรู้ว่าวัฒนธรรมของคนที่ไหนเป็นอย่างไร ให้ไปดูที่ตลาด” ริคาโดเอ่ยขึ้นมาเป็นการเกริ่นนำ และบอกเป็นนัยให้รู้ว่าที่เขาชักชวนนั้น เขามีจุดหมายตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่ยังไม่แย้มออกมาเท่านั้นเอง

“ฉันก็เซิร์ชมาแล้วว่า ที่แดกูนี้มีตลาดใหญ่ติดหนึ่งในสามของเกาหลี”

หลายคนตื่นเต้นรอฟัง ในขณะที่พวกเรารู้แล้วว่าคือที่ไหน ก็เพิ่งไปมาเมื่อวานนี้เอง แต่วันนี้ไปอีกก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อวานก็เดินดูยังไม่ทั่ว และต่อให้ไปที่เดิม แต่ไปกับกลุ่มใหม่ ยังไงความรู้สึกมันก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

“เราไปเที่ยวตลาดซอมุนกันนะ แล้วกินมื้อเย็นกันที่นั่นเลย”

พวกเราหันไปที่อันนาเป็นตาเดียว เพราะหล่อนรวมอยู่ในกลุ่มที่จะไปเที่ยวนี้ และจากที่สังเกตโดยไม่ตั้งใจหลายครั้ง ก็เห็นว่าสายตาของหล่อนยามมองริคาโดมีความปลาบปลื้มอะไรบางอย่าง

โดยไม่คาดคิด หล่อนก็พูดออกมาว่า

“ดีจัง ตั้งแต่มาถึงเกาหลีก็ยังไม่ได้ออกไปไหนเลย อยากเห็นตลาดที่เกาหลีเหมือนกัน ว่าจะเหมือนโคเรียนทาวน์ที่อเมริการึเปล่า”

พวกเราหันมามองหน้ากัน แม้ไม่มีคำพูด แต่ทุกคนก็นึกคำเดียวกันออกมาว่า…ตอแหล

นับจากวินาทีนั้น ริคาโดจะพูดนัดหมายหรือโน้มน้าวคนอื่นๆ ให้เห็นดีด้วยว่าการไปเที่ยวตลาดนั้นสนุกอย่างไร พวกเราก็เห็นอันนาคอยพยักพเยิดเห็นพ้องไปด้วยกับทุกอย่างที่ชายหนุ่มจากอิตาลีพูดออกมา

ชิฮะชอล หรือรถไฟใต้ดินขบวนที่เรานั่งตอนนี้เต็มไปด้วยกลุ่มเด็กต่างชาติ ภาษาอังกฤษสำเนียงต่างๆ โต้ตอบกันไปมาจนอาจุมม่าและอาจ็อดชี (ลุง) สูงวัยหลายคนทำเสียงจิ๊กจั๊กอย่างไม่พอใจ แต่ก็ไม่อาจจะโต้แย้งหรือบอกอย่างไรได้ เพราะยังกลัวพวก ‘เวกุกกิน’ หรือคนต่างชาติอยู่

บางคนก็ย้ายไปโบกี้อื่นที่มีที่นั่งว่าง บางคนก็พึมพำออกมาเป็นภาษาเกาหลีทำนองไม่สบอารมณ์ แต่คงไม่ทันคิดว่าจะมีคนในกลุ่มแปลออก

“เขาบอกว่าพวกคนต่างชาตินี้ มาอยู่เกาหลีไม่รู้จักใช้ภาษาเกาหลี”

และเมื่อเสียงเจี๊ยวจ๊าวของพวกเราดังขึ้นเพราะคุยกันสนุกจนลืมตัว เสียงตอบโต้จากคุณลุงคุณป้าก็ดังขึ้นตาม จนใกล้ถึงสถานีหนึ่งที่อาจุมม่าจะลง หล่อนคงอดไม่ไหวแล้วจึงเดินมาหยุดตรงหน้าอันนาและนัดเพราะเห็นชัดว่าเป็นคนเกาหลี ต่อว่าเสียงดัง

“เธอสองคนเป็นคนเกาหลีแท้ๆ แต่ทำไมพูดภาษาอังกฤษกับคนพวกนี้ ภูมิใจในความเป็นเกาหลีของตัวเองบ้างสิ”

อันนาคอแข็งขึ้นทันทีในขณะที่นัดนึกอยากหาป้ายมาแขวนจริงๆ ว่า…หนูไม่ใช่คนเกาหลีค่ะ

 

นัดกลับเข้าห้องด้วยความรู้สึกผิดคาดว่ารูมเมตของหล่อนมิได้วิดีโอคอลอย่างที่คิดไว้ แต่หล่อนกำลังจัดแจงห้องใหม่เพราะเพิ่งเรียบร้อยจากการต่อโมเด็มเราเตอร์หรือเครื่องขยายสัญญาณไวไฟที่ปลั๊กเสียบอยู่ในซอกหลืบ

“พี่ซื้อเราเตอร์มาต่อ ไวไฟจะได้แรงขึ้น” หล่อนบอกโดยไม่รอให้นัดถาม “ยูสเซอร์กับพาสเวิร์ดแปะไว้ตรงนี้นะ อ้อ…กล้วยหอมนี่เธอกินได้นะ เผื่อหิว แต่ราคามันแสนโหดจัง ที่บ้านเรานี่ราคาถูกแทบว่าจะกินทิ้งกินขว้างเท่าไรก็ได้”

นัดได้แต่พยักหน้าตอบว่า…ค่ะ เพราะหล่อนยังงงว่านี่ใช่คนเดียวกับรูมเมตของหล่อนที่มึนตึงใส่กันเมื่อวานนี้เหรอ งานปฐมนิเทศวันนี้ทั้งวัน หล่อนก็ไม่เข้ามาร่วมวงในกิจกรรมใดๆ เลย แต่แบบนี้ก็ดี หล่อนยังมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่บ้าง

หรือหล่อนจะมีสองภาค…นัดอดคิดไม่ได้แม้เมื่อกำลังอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดและรู้สึกสดชื่น จนเมื่อออกมาจากห้องน้ำในสภาพแต่งตัวเรียบร้อยจากด้านในแล้วก็พบว่า ขิ่นทินยี่กำลังวิดีโอคอลกับสามีของหล่อน นัดจึงมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้เข้ามาผิดห้อง และนั่นคือรูมเมตของหล่อนจริงๆ

 

การเรียนภาษาเกาหลีวันละ 6 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่พวกเราไม่คาดคิดว่าในวันหนึ่งเราจะเรียนวิชาเดียวได้ถึง 6 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งการบ้านและแบบทดสอบวันเว้นวัน

พี่เม่นส่งภาพถ่ายเข้ามาในไลน์กรุ๊ปตั้งแต่เช้า เป็นประกาศรายชื่อว่าใครอยู่ห้องเรียนไหน

นัดกับเบียร์ยังงัวเงียอยู่บนเตียงอยู่เลยเวลานั้น แต่ก็ตอบแชตพร้อมจัดการตัวเองให้เรียบร้อยทันเวลา

ประกาศนั้นมีเพียงรายชื่อนักเรียนที่เป็นภาษาอังกฤษ นอกนั้นเป็นภาษาเกาหลีทั้งหมด นัดจึงต้องแปลให้พี่เม่นกับพี่เบียร์เข้าใจ

ก่อนเก้าโมงเล็กน้อย นักเรียนต่างชาติทั้งหลายก็มารวมอยู่ที่สถาบันภาษาหรือออฮักตัง แยกย้ายไปตามห้องเรียนที่ประกาศไว้ ในห้องหนึ่งมีนักเรียนไม่เกิน 15 คน จัดเก้าอี้เรียงไว้รอบห้องเป็นรูปตัว U เพื่อให้เห็นหน้ากันทุกคนและสะดวกในการโต้ตอบหรือแสดงความคิดเห็น

เบียร์กับอายูนา นอกจากจะเป็นรูมเมตกันแล้ว ยังเรียนห้องเดียวกัน ทั้งสองคนจึงดีใจและยิ่งสนิทกันมากขึ้น ชั่วโมงแรกของการเรียนเป็นการแนะนำตัว ชื่ออะไร มาจากไหน สาขาวิชาและมหาวิทยาลัยที่จะไปเรียนต่อหลังจากนี้คือที่ใด เมื่อคนหนึ่งพูดจบคนที่เหลือก็ปรบมือ รู้สึกตื่นเต้นที่เพื่อนร่วมชั้นมีความหลากหลาย ชื่อของใครที่ยาวหรือเรียกยาก ก็ปรับหรือตั้งใหม่ให้เหลือ 2 หรือ 3 พยางค์

เป็นต้นว่า วิไลลักษณา ชื่อของนัดที่เพื่อนๆ พยายามจะพูดแล้วก็ยังฟังตลกอยู่ดี นัดจึงบอกกับเพื่อนๆ ว่า หล่อนชื่อ ‘นารี’

ส่วนเบียร์นั้น ภาษาเกาหลีคือ เมกจู แต่หล่อนไม่ยอมให้เรียกชื่อนี้เด็ดขาด เพราะคอยจะนึกถึงหมาจูอยู่ตลอดเวลา เบียร์มีชื่อจริงว่า ชนนิกานต์ เมื่อเขียนเป็นภาษาเกาหลีแล้วจึงออกเสียงไม่ลำบากนัก

สำหรับพี่เม่น ครูจะเรียกชื่อเต็มว่า เอกบดินทร์ ในขณะที่เพื่อนๆ เรียก เม็น

แม้ว่าบรรยากาศในห้องเรียนจะสนุกแค่ไหน แต่ความอึดอัดใจก็มีอยู่ จนกระทั่งถึงช่วงเบรกพวกเราจึงแจ้นออกมาระบายแก่กัน

“ห้องพี่เม่นเป็นไงมั่งคะ เบียร์งงไปหมดแล้ว ครูไม่พูดภาษาอังกฤษเลย ใส่แต่เกาหลีรัวๆ” เบียร์เริ่ม

“ห้องพี่ก็เหมือนกัน เข้ามาก็พ่นเกาหลีใส่เลย คงเป็นวิธีสอนของเขามั้ง แต่พี่ยังรู้สึกแปลกๆ ที่ต้องมานั่งเรียนในห้องเรียนแบบนี้ ชักเข้าใจความรู้สึกของนักศึกษาเวลาเข้าเรียนแล้วฟังไม่รู้เรื่อง”

“ครูนัดบอกว่า ห้องเรียนระดับหนึ่งเขาจะรีบอัดเนื้อหาให้สอบให้ผ่าน ถ้าสอนสลับภาษาอังกฤษ-เกาหลี จะยิ่งเข้าใจยากขึ้น” นัดบอกอย่างไม่ทุกข์ร้อนกับห้องเรียนของตนเอง เพราะมีพื้นฐานดีกันอยู่แล้ว ในชั้นเรียนของหล่อนจึงเป็นการทบทวนเพื่อต่อยอดความรู้ ต่างกับระดับหนึ่งที่ต้องเริ่มตั้งแต่สอนตัวอักษร

“รูมเมตแกอยู่ห้องเดียวกับฉันด้วย ท่าทางตั้งอกตั้งใจดีนะ” เบียร์บอก “ชื่อป้าแกอ่านยาก ครูก็เลยให้คิดชื่อใหม่เรียกง่ายๆ ป้าแกบอกอย่างภูมิใจมากว่า…ถ้าอย่างนั้นเรียกฉันว่า ทีน่า ก็แล้วกัน”

“เหรอ แล้ววิดีโอคอลไปด้วยปะ” นัดถามเย้าๆ

“แกเอ๊ย…ทีแรกพี่แกก็ตั้งท่าจะทำแหละ พอซอนเซงนิมบอกว่าระหว่างเรียนห้ามใช้โทรศัพท์เท่านั้น ป้าแกรีบเก็บเลย”

“พี่อยู่ห้องเดียวกับริคาโด กับเชเคอร์ ยัยนั่นมองพี่สลับริคาโดใหญ่เลย เหมือนนางจะคิดนะ ว่าจะทอดสะพานให้ใครดี” เม่นพูดอย่างรู้เท่าทันความคิดของเจ้าหล่อน

เวลาพัก 15 นาทีหมดไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนกลับเข้าห้องเรียน ได้พบกันอีกครั้งตอนบ่ายโมงเพื่อพักกินมื้อเที่ยง และกลับเข้าห้องเรียนตอนบ่ายสอง เรียนถึงสี่โมงเย็น เดินขึ้นเนินกลับหอพักด้วยพละกำลังเฮือกสุดท้ายแล้วก็สลบไสลไปด้วยความเหนื่อยแบบไม่เคยรู้สึกมาก่อนว่าการเรียนภาษาทั้งวันจะดึงพลังชีวิตไปได้ขนาดนี้

 

สัปดาห์แรกของการเรียนภาษาเกาหลีถือเป็นช่วงปรับตัว ทั้งปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการเรียน และปรับตัวเข้าหากันเพื่อรวมกลุ่ม ไม่กี่วันในชั้นเรียนก็เริ่มเห็นว่าใครเกาะกลุ่มอยู่กับใคร นักเรียนเอเชียส่วนใหญ่ก็จับกลุ่มเฉพาะเอเชีย เช่นเดียวกับกลุ่มผิวสีและยุโรป แต่ละกลุ่มจะมีนักเรียนจากทวีปอื่นมาแซมบ้างก็เล็กน้อย

กลุ่มที่โด่งดังที่สุดคือกลุ่ม ‘จตุรเทพ’ แน่นอนว่าชื่อนี้พี่เม่นเป็นคนตั้ง ในขณะที่คนอื่นที่กรี๊ดซีรีส์เกาหลีเรียกกลุ่มนี้ว่า F4 เพราะ 4 หนุ่มหล่อนี้ประกอบด้วย ริคาโด จากอิตาลี ชาร์ลส์ จากเบลเยียม คริสเตียน จากเดนมาร์ก และเรนโฮลด์ จากกัวเตมาลา เป็นหนุ่มละตินตาคมคนเดียวในกลุ่ม

และหากกลุ่มนี้จะขยายจำนวนสมาชิกออกไปเป็นกลุ่มใหญ่ ก็จะมีอันนา จากอเมริกาที่คุณรู้จักแล้ว อารุชา จากอิหร่าน ผู้สลัดฮิญาบตั้งแต่ออกจากสนามบิน เผยให้เห็นรูปร่างและดวงหน้างามอย่างนางแบบอินเตอร์ ตลอดทั้งหนึ่งปีที่เรียนที่แดกู และอีกหลายปีที่อยู่ในเกาหลี มีเพียงพวกเราเท่านั้นที่ได้เห็นอารุชาในฮิญาบจากรูปในพาสปอร์ตของหล่อน เฮกเตอร์ จากสเปน ซึ่งแม้จะเป็นผู้ชายแต่ไม่ถูกนับให้อยู่ในกลุ่มจตุรเทพ และแน่นอนว่า เล่ามาถึงตรงนี้ คุณก็คงรู้แล้วว่าพวกเราสามคนจากสยามเมืองยิ้มอยู่ร่วมในกลุ่มนี้ด้วย

กลายเป็นที่ถูกซุบซิบในกลุ่มเด็กเอเชียด้วยกันว่า พวกเราเป็นกลุ่มเดียวที่ ‘เข้า’ กับกลุ่มเด็กยุโรปได้ ในขณะที่หลายคนพยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้ถ้า ‘เข้าไม่ได้’ ก็ ‘เข้าไม่ถึง’ จนต้องรวมกลุ่มกันเองอย่างที่เล่าไปตอนต้น

ในช่วงบ่ายของสัปดาห์แรก นักเรียนทุนต้องไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อการโอนเงินทุนเข้าแต่ละเดือน พร้อมด้วยบัตร ATM ที่เป็นมากกว่าบัตรกดเงินสด แต่เป็นบัตร ‘ครอบจักรวาล’ ที่แทบจะใช้ได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นขึ้นรถไฟ รถบัส ซื้อของในร้านค้าหรือซื้อของราคาไม่กี่วอนจากตู้ขายของอัตโนมัติ

อีกบัตรหนึ่งที่ต้องทำก็คือ ‘เอเลี่ยนการ์ด’ หรือ ‘บัตรต่างด้าว’ ที่พอแปลเป็นไทยแบบนี้ ก็อดคิดไม่ได้ว่าเรามาเป็นแรงงานมากกว่าเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล แว่วๆ มาว่าเร็วๆ นี้เขาจะไม่เรียกว่า ‘เอเลี่ยน’ แล้ว ก็น่าจะดีขึ้นหน่อย

เมื่อมีบัตรเอเลี่ยนการ์ดสีฟ้าใส ก็เป็นอันว่าเราสามารถทำธุรกรรมอะไรหลายอย่างในเกาหลีได้ นักเรียนที่ได้บัตรแล้วจึงนำไปใช้ในเรื่องจำเป็น นั่นก็คือการซื้อซิมโทรศัพท์ และเชื่อมต่อทุกอย่างกับแอปลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ผู้ที่มีพร้อมทั้งบัตรเอเลี่ยนและบัญชีธนาคารแล้ว ในวันต่อมาก็เหมือนว่าชีวิตจะดีขึ้น กลุ่มสุดท้ายที่ต้องรอถึงเกือบสองสัปดาห์คือเด็กเอเชีย เพราะมีเอกสารประกอบเพิ่มเติมคือใบตรวจวัณโรค

ใช่แล้ว…อย่างที่คุณคิด พวกเราคือกลุ่มสุดท้ายที่ได้ซื้อซิมโทรศัพท์และพ็อกเก็ตไวไฟ

คุณคงคิดว่าระยะเวลาสองสัปดาห์นั้น คงไม่มีอะไรน่าสนใจอีกนอกเหนือจากการเรียนและรอรับบัตรต่างด้าว ขอบอกว่าคุณคิดผิดถนัด เพราะเมื่อพวกเราเรียนได้หนึ่งสัปดาห์ เด็กเกาหลีก็เริ่มเข้ามาในหอพักตามภาคเรียนปกติ และความวุ่นวายก็เกิดขึ้นในวันแรกที่โรงอาหารเปิด แทบจะเกิดเป็นสงครามย่อมๆ เลยทีเดียว



Don`t copy text!