จากแดกู…สู่หัวใจ บทที่ 1 : บัดดี้

จากแดกู…สู่หัวใจ บทที่ 1 : บัดดี้

โดย : เนียรปาตี

Loading

จากแดกู…สู่หัวใจ ไพรัชนิยาย จาก เนียรปาตี ที่จะทำให้คุณหลงรัก ‘แดกู’ เมืองเล็กๆ ในประเทศเกาหลีที่มอบประสบการณ์อันแสนอบอุ่นให้กับ นัด เบียร์ พี่เม่น นักศึกษาไทยที่เดินทางมาเพื่อเรียนต่อ แต่เมื่อแดกูไม่ใช่โซลหรือปูซาน ที่นี่จะเป็นอย่างไร ร่วมซึมซับเรื่องราวของนิยายออนไลน์เรื่องนี้ที่อ่านเอา อยากให้คุณได้อ่านออนไลน์

****************************

– 1 –

คลิกซื้อ E-Book ‘ในสวนอักษร’ ที่นี่

นัดส่งบะหมี่เข้าปากอีกหนึ่งคำด้วยความรู้สึกให้พอประทังความหิวไปอีกมื้อ นั่งอยู่บนชั้นสองมองลงไปที่สนามเบสบอล นักกีฬาหลายคนกำลังซ้อมอย่างเต็มที่ท่ามกลางแดดร้อนตอนสายของเดือนสิงหาคม ในขณะที่เบียร์ลากปากกาไปมาบนกระดาษเพื่อแก้โจทย์สมการหลายข้อ

“เบื่อกินรามยอนอะ ไม่คิดว่ามื้อแรกที่เกาหลีจะต้องเป็นบะหมี่ถ้วย” นัดบ่น แต่ก็เห็นชัดว่าบ่นไปอย่างนั้น เพราะยังส่งเข้าปากอีกคำ

“ทำไงได้ โรงอาหารยังไม่เปิดนี่นา” เบียร์ตอบทั้งที่ยังไม่เงยหน้าจากการแก้โจทย์ นัดเห็นแล้วละ ว่ามันเป็นโจทย์สมการที่หล่อนไม่มีวันเข้าใจ เพราะหล่อนจบอักษรศาสตร์ภาษาอังกฤษ โทเกาหลี มิใช่วิศวกรรมศาสตร์อย่าง ‘พี่เบียร์’ ความไม่เข้าใจของนัด เป็นเพียงโจทย์ง่ายๆ ของเบียร์ เหมือนหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองนั่นละ

เบียร์วางปากกา ยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปกระดาษที่หล่อนแก้โจทย์เรียบร้อยส่งให้เพื่อน รวดเร็วทันใจ ปลายทางก็ส่งสติกเกอร์รูปหน้ายิ้มและขอบคุณอย่างซาบซึ้งตอบกลับมา หล่อนว่า

“ช่วยมันซะหน่อย เพื่อนๆ บางคนเรียนจบแต่งงานมีลูกกันไปแล้ว จนฉันเรียนจบโทแล้ว มันยังไม่จบตรีเลย” เบียร์เล่าถึงเพื่อนคนที่หล่อนช่วยแก้โจทย์ให้แล้วก็รำพึง “พี่เม่นถึงไหนแล้วนะ”

นัดเปิดกรุ๊ปไลน์ที่ตั้งไว้เฉพาะกลุ่ม ข้อความสุดท้ายที่พี่เม่นส่งมาราวตีห้าครึ่ง บอกว่ามาถึงสนามบินอินชอนแล้ว กำลังต่อรถบัสมาแดกู ไม่รู้ว่าจะถึงกี่โมง…นัดและเบียร์ตอบกลับไปว่าไม่น่าเกินบ่ายสอง แต่พี่เม่นก็ยังไม่อ่าน สงสัยว่าตอนที่ส่งข้อความมาจะใช้ไวไฟสนามบิน และตอนนี้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

นึกถึงเมื่อวานนี้ เป็นวันที่นัด เบียร์ และนักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลีคนอื่นๆ พบกันเป็นครั้งแรกที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะในปีนี้ไม่มีการจัดปฐมนิเทศที่สถานทูตก่อนเดินทางเหมือนปีก่อนๆ นักเรียนทุนสิบกว่าชีวิตจึงติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย ตั้งกรุ๊ปใหญ่ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเกาหลีที่เคยได้ยินได้ฟังมา มีทั้งเรื่องเฮฮาและเรื่องน่าวิตก ว่ากันตั้งแต่จะผ่าน ตม. หรือด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ไหม ไปจนถึงเรื่องการเรียนที่ ‘เข้มข้น’ จนสะพรึงชวนให้อยากสละสิทธิ์ไม่รับทุนเลยทีเดียว

เงื่อนไขหนึ่งของการเป็นนักเรียนทุนก็คือ จะต้องเรียนภาษาเกาหลีก่อนหนึ่งปี และสอบผ่านกึบ 3 หรือระดับ 3 ให้ได้ก่อน จึงจะไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่สมัครไว้ได้ และสถาบันภาษานี้เองที่นักเรียนไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะไปเรียนที่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ให้ทุนจัดสรรมาอย่างไร ในการประกาศผลรอบสุดท้าย เมื่อได้รู้ว่าตนเองต้องไปเรียนภาษาเกาหลีที่ไหน กลุ่มใหญ่ในกรุ๊ป ก็แยกเป็นกลุ่มย่อยตามสถาบันภาษา

แดกู!

นัดเป็นคนบอกเบียร์และพี่เม่นว่ามันอยู่ตรงไหน น้ำเสียงที่หล่อนบอกตอนนั้นออกจะผิดหวังเล็กน้อย เพราะมิใช่เมืองในฝันหรือเมืองที่คนรู้จักอย่างโซลหรือปูซาน ในขณะที่เบียร์และพี่เม่นไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับประเทศนี้ ก็ปลอบใจนัดพร้อมกับปลอบใจตัวเองว่า ทนๆ ไปละกัน แค่ปีเดียวเอง

ในเวลาต่อมานักเรียนทุนจึงได้รู้ว่า การเรียนภาษาเกาหลีก่อนเข้าเรียนตามโปรแกรมโทหรือเอกนั้น ก็เพื่อให้มีความรู้พอสื่อสารได้ และเข้าใจวัฒนธรรมเกาหลี นักเรียนทุนที่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองหลวงอย่างโซลหรือปูซานก็จะถูกจับให้ไปเรียนภาษาที่จังหวัดไกลๆ ก่อน ในขณะที่นักเรียนที่ต้องมาเรียนปริญญาในต่างจังหวัดไกลโพ้น ก็จะได้โปรโมชันเรียนภาษาในเมือง ให้ได้เห็นแสงสีให้เต็มที่ก่อนที่หลังจากนั้นอีกสองหรือสามปีจะต้องอยู่แต่ในห้องแล็บหรือทุ่งนาป่าเขา

เที่ยวบินจากไทยมาเกาหลีถูกจัดไว้ให้มาถึงไล่เลี่ยกัน นักเรียนทุนส่วนใหญ่พบกันที่สุวรรณภูมิ หลังจากเช็กอินและโหลดสัมภาระเรียบร้อยแล้วก็จับกลุ่มสนทนากันด้วยความตื่นเต้น บางคนแยกไปอีกสายการบินหนึ่งลงที่สนามบินกิมแฮ…ปูซาน ในขณะที่ส่วนใหญ่ปลายทางอยู่ที่สนามบินอินชอน กรุงโซล และในจำนวนนี้ไม่มีพี่เม่นรวมอยู่ด้วย

พี่จะขึ้นเครื่องจากเชียงใหม่ไปเกาหลีเลย ไม่อยากโหลดของไปๆ มาๆ…พี่เม่นบอกเหตุผล

พี่เม่นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ จึงสะดวกที่จะเดินทางจากเชียงใหม่ไปเกาหลีมากกว่าจะต้องแบกสัมภาระไปที่กรุงเทพฯ แล้วเดินทางพร้อมกับนักเรียนทุนคนอื่นๆ

ระยะเวลาห้าชั่วโมงบนเครื่องบินนับว่าไม่นาน เมื่อถึงสนามบินอินชอน ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อยแล้วออกมาด้านนอก ก็พบอาสาสมัครของหลายมหาวิทยาลัยชูป้ายรอรับนักเรียนทุนจากประเทศต่างๆ บนป้ายเขียนชื่อทุน KGSP และชื่อมหาวิทยาลัยที่นักเรียนทุนเหล่านั้นต้องไปเรียนภาษาเกาหลี

นักเรียนไทยโบกมือร่ำลากัน เพราะครั้งนี้อาจเป็นครั้งเดียวที่ได้พบกันตลอดช่วงเวลาที่อยู่เกาหลี นัดและเบียร์ลากกระเป๋าไปยังเด็กสาวคนหนึ่งที่ชูป้ายชื่อมหาวิทยาลัย พร้อมกับคำว่าแดกู ตรวจสอบรายชื่อแล้ว หล่อนก็ส่งตั๋วรถบัสให้ทั้งสอง เด็กสาวอีกคนพาไปที่จุดจอดรถบัส ยกกระเป๋าไว้บนรถแล้ว นัดกับเบียร์ก็นั่งคอยเวลารถออก นักเรียนทุนจากชาติอื่นๆ มาสมทบอีกหลายคนจนเต็ม เมื่อถึงเวลารถออก อาสาสมัครคนหนึ่งนั่งมาด้วยกันเพื่อมุ่งหน้าไปยังเมืองแดกู ในขณะที่อาสาสมัครอีกหลายคนยังปักหลักอยู่ที่สนามบินคอยต้อนรับนักเรียนทุนจากทั่วโลกที่จะมาถึงในเที่ยวบินถัดไป

นัดและเบียร์นั่งหลับบนรถบัสด้วยความอ่อนเพลีย หล่อนตื่นตั้งแต่เช้าเพื่อมาสนามบินสุวรรณภูมิ นั่งเครื่องอีกห้าชั่วโมง ถึงกรุงโซลก็บ่าย รอเที่ยวรถไปแดกูกว่าจะได้ออกก็ราวสามโมง อาหารที่ตกถึงท้องมีแค่ข้าวปั้นเย็นชืดที่ซื้อจากมินิมาร์ตในสนามบิน จากสนามบินอินชอนถึงสถานีขนส่งแดกูใช้เวลาอีกราวสี่ชั่วโมง เมื่อมาถึงแล้วก็มืด

ซูจอง…บัดดี้ของนัดมารอรับที่สถานีขนส่ง เมื่อพบหน้ากันแล้วก็เรียกแท็กซี่ไปยังมหาวิทยาลัย แท็กซี่มาส่งถึงแค่ทางเข้าหอพัก เพราะได้รับอนุญาตเท่านั้น ซูจองติดต่อขอกุญแจห้องพักแล้วก็ร่ำลาสองสาว เพราะหล่อนมีภาระต้องรีบไปต่อ ไม่อาจส่งนัดกับเบียร์ถึงห้องพักได้

แต่นั่นก็ถือว่าดีมากแล้ว ที่อย่างน้อยเด็กสาวสองคนก็ไม่ต้องมะงุมมะงาหราอยู่ในเมืองที่ตัวเองไม่รู้จัก

ต่างจากพี่เม่นที่บัดดี้

บัดดี้พี่ไม่มารับ!

แม้จะยังไม่เคยเจอตัวกัน แต่นัดและเบียร์ก็แทบจะได้ยินเสียงพี่เม่นแล่นออกมาจากข้อความพร้อมท่าทางเลยทีเดียว

“พี่เม่นจะมาถูกไหมเนี่ย” นัดเปรยขึ้นมา

“นั่นดิ ขนาดแกพูดเกาหลีได้ เมื่อวานยังแทบตาย ถ้าฉันมาคนเดียวแบบพี่เม่น ฉันก็คงประสาทแด- อย่างนี้ละ”

“แล้วถ้าพี่เม่นเจอเนินขึ้นหอพักนะ จะต้องบ่นอีกแน่ๆ” นัดคาดเดา

เพราะเมื่อวานนี้ ท่ามกลางความมืดและอ่อนเพลียจากการเดินทาง หลังจากได้กุญแจห้องพักและซูจองจากไปแล้ว หล่อนก็ต้องเข็นกระเป๋าหลายใบหนักหลายกิโลกรัมจากป้อมยามไปยังอาคารหอพักซึ่งเป็นเนิน เหนื่อยก็เหนื่อย กระเป๋าเจ้ากรรมก็คอยจะไหลลงเนินอยู่ตลอดเวลา ใบหนึ่งหลุดมือไป หล่อนคว้าไม่ทัน จังหวะที่เงอะงะอยู่นั้น หนุ่มเกาหลีคนหนึ่งก็เข้ามาช่วยหล่อนไว้ เขาเข็นขึ้นไปจนถึงหน้าอาคารหอพักหญิง นัดกล่าวขอบคุณเป็นภาษาเกาหลี แล้วเสียงท้องร้องของหล่อนก็ดังขึ้นมาประกอบ

ดีที่ตอนนั้นมืดแล้ว ไม่อย่างนั้นเขาคงได้เห็นแน่ว่าหน้าหล่อนแดงขึ้นมาด้วยความอาย

เขาหัวเราะน้อยๆ อย่างมีมารยาท มีมารยาทที่พยายามกลั้นหัวเราะแล้วนั่นละ แล้วเขาก็จากไปโดยที่นัดก็จำไม่ได้ว่าหน้าเขาเป็นอย่างไร และจะพบเขาอีกหรือไม่เพื่อขอบคุณ

 

นักกีฬาที่ซ้อมในสนามเลิกแล้ว นาทีต่อมาทั้งทีมก็เข้ามาในอาคารที่หล่อนนั่งอยู่ กรูกันเข้าไปในมินิมาร์ต หรือ ‘พยอนีจอม’ เพื่อซื้อเครื่องดื่มบ้าง ไอศกรีมบ้าง แล้วก็ลงไปชั้นล่าง ซึ่งในเวลาต่อมานัดจึงรู้ว่ามันเป็นยิมและห้องชมรมกีฬาหลายอย่าง

ชายหนุ่มคนหนึ่งนั่งลงที่เก้าอี้ใกล้กับที่หล่อนนั่ง เปิดโทรศัพท์ดูแล้วคิ้วหนาก็ลู่ลงมาแทบจะชนกัน ส่งข้อความกลับไปแล้วก็คอยอย่างหงุดหงิด คงทนไม่ไหวกระมัง เขาจึงกดโทร. พอปลายสายกดรับเขาก็พ่นภาษาเกาหลีรัวเร็ว แล้วก็ฉุนเฉียวขึ้นกว่าเดิมเมื่อวางสาย

เบียร์สะกิดนัด ถามเบาๆ เพราะหล่อนไม่รู้ภาษาเกาหลี

“เป็นอะไรของเขาวะ”

“เขาว่าอะไรไม่รู้ แต่เหมือนด่าเลย ด่าว่าขอให้ช่วยแค่นี้ก็ทำไม่ได้”

อาการของหนุ่มเกาหลีดูร้อนรนพะวักพะวนขึ้นจริงๆ นักกีฬาบางคนกลับขึ้นมา ทักทายบ้าง อำลาบ้าง พูดถึงนัดหมายในวันพรุ่งนี้บ้าง เขาก็แค่พยักหน้ารับทราบและโบกมือให้เป็นการลา ทว่าสีหน้าเขายังยุ่ง และหงุดหงิดกับการโทรศัพท์ไม่ติด

“นัด แกว่าคนนี้หน้าคุ้นๆ ป่าววะ” เบียร์ถามอีก พร้อมกับย้อนดูในกรุ๊ปไลน์ เจอภาพหนึ่งก็ขยายยื่นให้นัดดู หนุ่มน้อยแต่งเครื่องแบบทหารในภาพนั้นคล้ายกับคนที่นั่งหน้าหงิกอยู่ข้างๆ นี้ ราวกับเป็นคนเดียวกัน “แกพูดเกาหลีได้ ถามเขาดิ ว่าชื่อคูยุนหรือเปล่า”

“ไม่เอาหรอก เกิดไม่ใช่ก็หน้าแตกดิ พี่เบียร์ถามเองดิ ถามภาษาอังกฤษเขาก็ตอบได้อยู่มั้ง”

ชายหนุ่มหันมามองสองสาวที่กระซิบกระซาบอะไรบางอย่างแก่กัน ในจังหวะที่นัดทนเบียร์รบเร้าไม่ไหวจะลุกมาถาม เขาก็ลุกพรวดออกไปจากตรงนั้น

ราวสิบนาทีที่เขาลุกออกไป ข้อความในกรุ๊ปไลน์ก็เด้งขึ้นมา แต่คงไม่ทันใจ พี่เม่นจึงโทร.เสียเลย

“พี่มาถึงหอพักแล้วนะ ให้ตายเถอะ ร้อนนรกแตกอะไรอย่างนี้”

“พี่เม่นมีเน็ตแล้วเหรอคะ” นัดถามไป

“ก็ใช้ไวไฟหอนี่แหละ บ่ายนี้ว่างไหม เจอกันปะ บัดดี้พี่บอกจะพาไปตลาดหน้ามหา’ลัย ซื้อพวกเครื่องนอนกับของใช้จำเป็น ไปด้วยกันไหม”

“บัดดี้ของนัดกับพี่เบียร์จะพาไปซื้อวันพรุ่งนี้อะ วันนี้ว่างๆ นะ เบื่อด้วย ไปกับพี่เม่นก็ได้ เจอกันที่ไหนล่ะ”

“เออ นั่นดิ เจอกันหน้าหอพักไหม แต่มันก็มีตั้งหลายหอ เอางี้นะ เจอกันที่ป้อมยาม ตรงที่เรารับกุญแจก็ได้”

เสียงพี่เม่นเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษ คงคุยกับบัดดี้ที่พามาที่หอพัก เมื่อคุยกับน้องๆ อีกครั้งจึงบอกว่า

“บัดดี้พี่บอกว่า เธอสองคนคอยอยู่ที่มินิมาร์ตก็ได้ เดี๋ยวเขาพาพี่ไปเจอเอง”

แม้จะงงๆ แต่เม่นก็เดินตามบัดดี้ของเขาไปที่มินิมาร์ต เมื่อพบหน้ากันแล้วเม่นจึงเป็นคนแนะนำอย่างเป็นทางการ

“นี่คูยุน บัดดี้ของพี่เอง”

หนุ่มเกาหลียิ้มให้สองสาวเหมือนคนที่เพิ่งเจอกัน ‘ครั้งแรก’ แต่สายตาเขามิได้ใสซื่อเช่นท่าทีเลย

“มันนะซอ พังกะวาโย…ยินดีที่ได้รู้จักครับ” เขาจงใจพูดเป็นภาษาเกาหลี

นัดจึงตอบกลับด้วยภาษาเดียวกัน เดินตามคูยุนและพี่เม่นไปตามทางลาดจากหอพักสู่หน้ามหาวิทยาลัย กระทุ้งสีข้างกับเบียร์ไปมาที่ไม่เผลอ ‘ปล่อยไก่’ ไปมากกว่านี้

หน้าสถาบันภาษาหรือ ‘ออฮักตัง’ มีคนกลุ่มหนึ่งคุยกันรออยู่ เมื่อคณะของคูยุนและ ‘เด็กไทย’ ไปถึงก็ทักทายกันอย่างง่ายๆ แล้วเคลื่อนไปจากตรงนั้น อากาศร้อนจัดในเดือนสิงหาคมทำให้อ่อนเพลีย เดินไม่กี่นาทีก็เหงื่อไหลโซมกาย พลอยจะหน้ามืดเป็นลมกันได้ง่ายๆ เด็กสาวชาวเกาหลีที่เห็นชัดว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มจึงชวนให้นั่งพักในคาเฟ่แห่งหนึ่งก่อนเพื่อรับไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศ

เม่นสั่งกาแฟมาก่อนเป็นอันดับแรก เพราะความอ่อนเพลียจากอากาศร้อนและไม่ได้พักมาเต็มอิ่มจนตาจะปิดอยู่รอมร่อ ไม่สนใจกับบิงซูผลไม้หลายถ้วยที่คนอื่นๆ จ้วงตักด้วยกัน

“เม่นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย…” คูยุนบอกกับเพื่อนเกาหลีด้วยความภูมิใจว่า ‘บัดดี้’ ของเขาน่าจะมีเครดิตดีกว่าใครเพื่อน เม่นก็ยิ้มให้คนอื่นๆ อย่างเป็นมิตร…อย่างผู้ใหญ่มองเด็กที่น่าเอ็นดู เพราะปีนี้เม่นก็อายุ 35 ปีแล้ว ในขณะที่ ‘เด็กๆ’ กลุ่มนี้ทั้งไทย เกาหลี และชาติอื่นๆ ไม่น่าจะมีใครอายุเกิน 25 ปี

คนฟังทั้งหลายตาโตเมื่อรู้ภูมิหลังของเม่น

“ฉันชื่อนัด หรือจะเรียกว่า ‘นารี’ ก็ได้” นัดบอกกับเพื่อนในกลุ่ม “นารีเป็นชื่อเกาหลีของฉัน”

เม่นสะกิดนัด ถามขึ้นมาว่า

“หนูชื่อนี้จริงๆ เหรอ ทำไมเชยจัง”

“ตอนเรียนที่ไทยนัดเคยเป็นล่ามงานเกาหลีค่ะ แล้วก็มีคุณป้าเกาหลีคนหนึ่งตั้งชื่อให้ว่า นารี ก็เลยใช้มาตั้งแต่นั้น”

“เสียดายที่ตอนนี้เป็นหน้าร้อน แต่ถ้าดอกแคนารีบาน ฉันจะเก็บมาฝากนะ” คูยุนบอกกับนารีเป็นภาษาเกาหลี ทำให้หล่อนมองหน้าเขาอย่างทำตัวไม่ถูกอีกครั้ง พี่เม่นจับสังเกตได้ไว ก็ถาม

“เขาว่าอะไรเหรอ”

“เขาว่า…ต้องรอฤดูใบไม้ผลิ ถึงจะเห็นดอกแคนารี”

 

จากคาเฟ่ถึงตลาดด้วยการเดินเท้าราว 2 กิโลเมตร เป็นการเดินทางปกติสำหรับเด็กเกาหลี แต่เป็นการเดินทางที่ไกลสำหรับเด็กต่างชาติ นึกถึงวินมอเตอร์ไซค์หรือรถรับจ้างเสียเหลือเกิน แต่ระยะทางนี้ไม่น่าเบื่อเพราะคุยกันไป ชี้ชวนกันไปสองข้างทาง เด็กเกาหลีก็อยากจะอวดความสวยงามของบ้านเมือง และเล่าถึงธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ของคนที่นี่ ในขณะที่เด็กต่างชาติก็ตื่นตาตื่นใจกับความแปลกใหม่ที่เพิ่งเคยได้พบเจอเป็นครั้งแรก ทั้งถ่ายรูปและเซลฟีกันไม่หยุดหย่อนจนถึงตลาดโดยไม่รู้สึกว่าเดินมาไกล

ตลาดก็เหมือนกับตลาดทั่วไป เพียงแต่การจัดวางข้าวของที่อาจจะแตกต่างไปบ้าง โดยเฉพาะพวกผักและผลไม้ ที่มิได้ตั้งเป็นกองใหญ่ รอใส่ถุงชั่งกิโลตามที่ลูกค้าต้องการแล้วคิดราคา ทว่าจะจัดเป็นกองเล็กๆ ใส่ถาด บอกราคาไว้พร้อม เมื่อถูกค้าเลือกก็เทใส่ถุงพลาสติกสีดำให้ บางทีให้ไปทั้งถาดก็มี

เบียร์สังเกตการซื้อขายอยู่พักหนึ่งก็เปรยขึ้นมาว่า

“ถุงพลาสติกที่นี่มีแต่สีดำเหรอ ไม่เห็นถุงสีอื่นเลย”

เม่นมองตามที่สาวน้อยสังเกต ส่วนนารีนั้น ค่าที่หล่อนคล่องทั้งภาษาอังกฤษและเกาหลี จึงกลายเป็นล่ามสำหรับเด็กเกาหลีและเด็กต่างชาติอื่นๆ ไปโดยปริยาย ไม่ได้คุยกับเบียร์ในเรื่องนี้

“พี่ว่าก็ดีเหมือนกันนะ ซื้ออะไรก็ใส่ถุงดำหมด คนอื่นไม่ต้องรู้ว่าเราซื้ออะไร” พี่เม่นแสดงความคิดเห็น

“แต่มันดูเหมือนถุงขยะยังไงก็ไม่รู้” เบียร์บอก

เม่นยักไหล่ บอกให้รู้ว่าไม่ใส่ใจเรื่องนี้อีก “เอาเหอะ อีกหน่อยก็ชิน”

 

กลุ่มเด็กทุนออกจากร้านเครื่องนอนเป็นร้านสุดท้าย ในมือหอบหิ้วผ้าปูที่นอน หมอนหนุน หมอนข้างกันพะรุงพะรัง บ้างใส่ถุง บ้างก็ช่วยกันหอบเพราะไม่อยากจ่ายค่าถุงเพิ่ม บางคนจึงซื้อตะกร้าแล้วก็ใส่ของอื่นๆ ที่ซื้อไว้ในนั้น ภารกิจต้อนรับของกลุ่มบัดดี้จบลงที่ร้านอาหารใกล้มหาวิทยาลัย เพราะโรงอาหารในหอพักยังไม่เปิด ควรกินอาหารเย็นให้เรียบร้อยก่อนกลับหอพัก คนเป็นหัวหน้าทีมจึงนำเข้าไปในร้าน สั่งอาหารอย่างคล่องแคล่ว

“บูแดจิแก…” หล่อนสั่งให้พอกับจำนวนสมาชิกในกลุ่ม

บูแดจิแก คือ ซุปเกาหลีที่ใส่ทุกอย่าง หากจะเรียกอย่างไทยก็น่าจะเป็น หม้อไฟทหาร หรือบะหมี่ทรงเครื่อง เพราะในกระทะใบใหญ่นั้นมีไส้กรอก แฮม หมู ผักกาด ต้นหอม เรียงไว้รอบ ตรงกลางมีบะหมี่หนึ่งก้อนตอกไข่ไว้ด้านบนและพริกเกาหลีโกชูจัง

คูยุนแอบเย้านัดเบาๆ ด้วยภาษาเกาหลี

“กินบะหมี่อีกมื้อ คงไม่เบื่อไปเสียก่อนนะ”

นัดยิ้มน้อยๆ ไม่ตอบอะไร หากในใจคิดว่าบัดดี้ของพี่เม่นคนนี้ดูจะ ‘อะไร’ กับหล่อนเป็นพิเศษ คงเพราะหล่อนพูดเกาหลีได้มั้ง หล่อนเดา แต่แล้วก็กลับมาคิดอีกเมื่อออกจากร้านอาหาร คูยุนถามหล่อนว่า

“เธอไม่ซื้ออะไรเลยเหรอ”

“ยังหรอก บัดดี้ของฉันจะพาไปซื้อที่ตลาดพรุ่งนี้”

คูยุนพยักหน้าเข้าใจ บัดดี้ของนัดหรือนารีเป็นคนละกลุ่มกับเขา กลุ่มนั้นคงนัดหมายพาเด็กทุนไปทัวร์วันพรุ่งนี้ แล้วเด็กหนุ่มก็ถอนหายใจอย่างให้รู้ว่าผิดหวัง บอกเสียงเบาให้ได้ยินเพียงสองคน ทว่านัดได้ยินชัดทีเดียวว่า

“เสียดายจัง พรุ่งนี้ผมไม่ว่างไปด้วย”

 

คณะนักเรียนทุนและบัดดี้แยกย้ายกันที่ออฮักตัง พวกเราไม่มีใครจำทางกลับหอพักได้ เพราะตอนที่มานั้นมัวแต่คุยจนลืมสังเกตสองข้างทางว่าผ่านอะไรบ้าง ความทรงจำรางเลือนมีแค่ทางขึ้นหอพักเป็นเนิน เดินขึ้นไปจนเหนื่อย โชคดีที่เด็กทุนจากแอฟริกาและปากีสถานที่มาถึงก่อนจำทางกลับได้ พวกเราจึงเดินตามไปจนถึงหอพัก พยายามสังเกตระหว่างทางท่ามกลางความมืดในยามค่ำที่ไม่เห็นอะไรนอกจากแนวทิวสน

ถึงห้องพักอาบน้ำเรียบร้อยก็แทบสลบไสล โดยเฉพาะเม่นที่เพิ่งเดินทางมาถึงวันนี้

ราวตีสาม รูมเมตของเม่นก็มาถึง ตื่นมาทักทายแล้วก็หลับต่อ

เก้าโมงเช้า พวกเรานัดพบกันที่มินิมาร์ต พี่เม่นมาถึงก่อนน้องๆ ซื้อกาแฟและขนมปังกินรองท้องรอ เลยเวลานัดหมายเล็กน้อยนัดกับเบียร์ก็เดินมาคู่กัน คำถามแรกที่ถามแก่กันคือ

“รูมเมตพี่เม่นมาถึงหรือยังคะ”

“มาแล้วหนึ่งจากกาน่า เหลืออีกหนึ่ง คงถึงวันนี้” เม่นตอบ “ของนัดล่ะ”

“มาแล้วค่ะ เมื่อวานนี้ แต่ว่า…”

นัดไม่รู้จะบอกอย่างไร แต่เม่นเห็นว่าสีหน้าเด็กสาวแม้จะสดใสด้วยวัย ทว่าวันนี้หล่อนดูอิดโรยราวคนอดนอนมาทั้งคืน เม่นจึงสรุปให้ว่า

“เป็นรูมเมตนรกแตกใช่มะ ของพี่ก็เหมือนกัน”

นัดและเม่นหันมาหาเบียร์เป็นตาเดียว เพื่อจะถามว่ารูมเมตของเบียร์เป็นอย่างไร พอรู้ว่าจะมาถึงวันนี้ ทั้งสองเลยขู่ว่า

“มาคอยดูกัน ว่ารูมเมตใครจะนรกที่สุด”



Don`t copy text!